จิตวิทยาสังคมเบื้องหลังพฤติกรรมการหยิบขนมของเด็กในวันฮาโลวีน
- ความเป็นปัจเจกบุคคลสัมพันธ์กับพฤติกรรมการแสดงออกของคนเราในทุกมิติ เราอาจไม่กล้าทำอะไรไม่ดี ถ้าคนอื่นรู้ว่าเราเป็นใคร
- พฤติกรรมการโกงของมนุษย์เป็นหนึ่งในพฤติกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นปัจเจกบุคคล
ฮาโลวีนปีนี้มีคอสตูสเก๋ ๆ ไว้ใส่กับเพื่อนแล้วหรือยัง….
ถึงเมืองไทยจะไม่ได้เป็นเมืองคริสต์เหมือนอย่างหลายประเทศทางตะวันตก แต่เราก็มักจะขอหยิบยืมความสนุกสนานของเทศกาลฝั่งนั้นมาสร้างสีสันในบ้านเราด้วย เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลที่สนุกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้คนแต่งกายเป็นผีในวันฮาโลวีนจนแทบจำไม่ได้ว่า ใครเป็นใคร เรากลายเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จัก สำหรับเด็ก ๆ ที่เฉลิมฉลองเทศกาลนี้อยู่ พวกเขาเฝ้ารอที่จะได้ขนมฟรีจากผู้ใหญ่ที่อาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน เด็ก ๆ ดูเหมือนจะมีอิสระมากขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้ Makeup และเครื่องแต่งกายที่ใคร ๆ ก็จำไม่ได้ จนน่าตั้งคำถามว่า เมื่อความเป็นปัจเจกบุคคลหายไป พฤติกรรมของคนเราจะเปลี่ยนไปได้หรือไม่
การทดลองในวันฮาโลวีน
ในปี 1976 Ed Diener และเพื่อนร่วมงานของเขาได้ทำการวิจัยดูพฤติกรรมเด็ก 1,352 คน ในบ้าน 27 หลัง ที่ซีแอตเทิลในเย็นวันฮัลโลวีน ภายในบ้านจะมีชามวางอยู่บนโต๊ะ 2 ใบ ใบหนึ่งมีขนม ส่วนอีกใบจะใส่เหรียญไว้ เมื่อเด็ก ๆ มาถึง เด็กจะได้รับอนุญาตให้หยิบขนมได้คนละ 1 ชิ้น โดยที่ห้ามแตะต้องเงินในชามอีกใบ จากนั้นเจ้าของบ้านก็จะบอกเด็กว่า ตัวเองต้องไปทำงานอีกห้องหนึ่ง งานที่ว่าก็คือแอบดูว่า เด็กจะหยิบขนมหรือเงินไปหรือเปล่านั่นเอง

เราอาจจะนึกว่า นี่คือการทดสอบความซื่อสัตย์ของเด็ก แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ซะทีเดียว สิ่งที่นักวิจัยอยากรู้ คือ ปัจจัย 3 อย่างที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อสิ่งที่เด็กทำอย่างไร
- กลุ่ม – เด็กมาคนเดียว หรือมากับกลุ่มเพื่อน
- การไม่เปิดเผยชื่อ – บางครั้งเจ้าของบ้านก็จะถามชื่อและที่อยู่ของเด็กด้วย
- การโยนความรับผิดชอบ – เจ้าของบ้านบางคนจะบอกให้เด็กที่อายุน้อยสุดในกลุ่มเป็นผู้รับผิดชอบ หากมีขนม หรือเงินถูกหยิบไปมากกว่าที่ได้รับอนุญาต
โดยภาพรวมแล้วนักวิจัยพบว่า 2 ใน 3 ของเด็กมีความซื่อสัตย์โดยสมบูรณ์ พวกเขาไม่ได้หยิบขนม หรือแตะต้องเงินมากกว่าที่ได้รับอนุญาต แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปัจจัย 3 อย่างข้างต้นส่งผลอย่างเห็นได้ชัดต่อพฤติกรรมของเด็ก ๆ

ภาพจาก www.spring.org.uk
จากกราฟจะเห็นได้ว่า เด็กที่มาคนเดียว และถูกระบุตัวตน มีเพียง 8% เท่านั้นที่โกง แต่ตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 80% ทันที ถ้าเด็กมากันเป็นกลุ่ม ไม่ได้ถูกถามชื่อ และสามารถโยนความรับผิดชอบไปยังเด็กที่อายุน้อยสุดได้
ผลลัพธ์ทำให้เราเห็นว่า แต่ละปัจจัยไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งกระตุ้นเท่านั้น แต่ปัจจัยทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กัน และยิ่งกระตุ้นให้เด็กโกงในสัดส่วนที่มากขึ้น
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ข้อมูลปลีกย่อยที่น่าสนใจอีกว่า สาเหตุที่เด็กโกงเป็นเพราะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมจากเพื่อนในกลุ่ม เมื่อมีเด็กคนแรกโกง คนที่เหลือก็จะเริ่มโกงตาม ไม่ได้เป็นผลมาจากการไปกับกลุ่มเพื่อนอย่างที่เราเข้าใจกัน งานวิจัยชิ้นนี้จึงทำให้เราเห็นว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะโกงมากขึ้นถ้าอยู่ภายใต้ 4 สถานการณ์เหล่านี้
- อยู่กันเป็นกลุ่ม
- ไม่มีการเปิดเผยชื่อ
- สามารถลอกเลียนแบบคนอื่นได้
- โยนความรับผิดชอบไปที่คนอื่นได้
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยอีกทีมหนึ่งได้ทำการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน ในการวิจัยนี้เด็กทุกคนจะสวมหน้ากาก นักวิจัยจะถามชื่อและที่อยู่ของเด็กบางคน แล้วก็ปล่อยให้เด็กหยิบขนมจากชาม ซึ่งมีทั้งชามที่วางอยู่หน้ากระจก และไม่มีกระจก นักวิจัยพบว่า เด็กที่ถูกถามชื่อ ที่อยู่ และหยิบขนมจากชามที่อยู่หน้ากระจกมีเพียง 9% เท่านั้นที่หยิบขนมมากกว่าที่ได้รับอนุญาต กระจกในการทดลองนี้จะสะท้อนให้เด็กเห็นพฤติกรรมของตัวเอง เป็นการสร้าง Self-Awareness ให้กับเด็กนั่นเอง
การวิจัยทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Self-Awareness กับการตัดสินใจของคนเรา ไม่แปลกเลยถ้าคนที่ใส่ชุดมาสคอตมักจะทำอะไรแปลก ๆ ตลก ๆ หรือการที่เราเพ้นต์ใบหน้าด้วยลวดลายอะไรสักอย่างจะทำให้เรารู้สึกสนุกหลุดโลกขึ้นมา หากวันหนึ่งข้างหน้าเราเกิดอยากทำอะไรที่ปกติมักจะไม่กล้าทำ (ในทางที่ดี) ให้ลองแต่งหน้า แต่งตัวอีกแบบ ไปในที่ที่ไม่มีคนรู้จัก หรือเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์บางอย่างข้างต้น มันอาจจะทำให้เราได้ลืมตัวตนของตัวเองชั่วคราว และสนุกไปกับสถานการณ์ตรงหน้ามากขึ้น
อ้างอิง
https://www.spring.org.uk/2021/07/deindividuation-psychology.php
https://everydaypsych.com/unmasking-halloween-psychology/
https://www.psychologytoday.com/us/blog/science-small-talk/201110/unmasking-halloween-and-the-power-anonymity