เมื่ออารมณ์ระบาดได้ จะรักษาสมดุลชีวิตอย่างไรให้อยู่ดีมีสุข ไม่ทุกข์จากคนรอบข้าง

A A
Mar 20, 2023
Mar 20, 2023
A A

เมื่ออารมณ์ระบาดได้ จะรักษาสมดุลชีวิตอย่างไรให้อยู่ดีมีสุข ไม่ทุกข์จากคนรอบข้าง

 

  • อารมณ์ระบาด คือ การที่มนุษย์สามารถรับอารมณ์จากคนรอบข้าง และรู้สึกไปในทิศทางเดียวกับคน ๆ นั้นได้ไม่ต่างจากติดหวัด
  • วัยรุ่นเป็นวัยที่รับอารมณ์จากผู้อื่นได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ใส่ใจและอ่อนไหวต่ออารมณ์ของผู้อื่น หรือคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากกว่าความเป็นอิสระ
  • การรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ของผู้อื่นอย่างถูกต้องจะช่วยให้เรารักษาอารมณ์เชิงบวกของตัวเองได้

 

วันนี้คุณมีความสุขดีอยู่หรือเปล่า ลองสังเกตดูเราอาจพบว่า ในแต่ละวันเราแสดงออกถึงอารมณ์ที่ไม่เหมือนกันเลย วันนี้ยิ้มมีความสุขดี พรุ่งนี้อาจร้องไห้ วันถัดไปอาจรู้สึกเครียด ไม่แปลกที่อารมณ์ของเราจะมีขึ้นมีลงสลับกันไป เพราะมีปัจจัยมากมายเหลือเกินที่ส่งผลต่ออารมณ์เหล่านั้น นอกจากตัวเราเองและสภาพแวดล้อมแล้ว หนึ่งในนั้น คือ คนรอบข้าง ใช่แล้ว อารมณ์ระบาดกันได้ไม่ต่างจากติดหวัดเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจู่ ๆ เราถึงหัวเราะออกมาได้แบบไม่มีสาเหตุเมื่ออยู่ในกลุ่มคนที่หัวเราะท้องคัดท้องแข็งกันอยู่ อารมณ์ที่แพร่ระบาดกันได้ง่าย ๆ แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี มันมีอิทธิพลต่อเราในแง่ไหนบ้าง ทำอย่างไรเราถึงจะปรับเปลี่ยนสัญชาตญาณเหล่านี้เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อตัวเราเอง

 

ทำไมเรารับอารมณ์จากคนอื่นได้ง่าย ๆ 

 

หลายครั้งในชีวิตเราอาจไม่ทันสังเกตว่า วันไหนที่อารมณ์ดี พอฟังเพลงเศร้าปุ๊บ อารมณ์เราอาจเปลี่ยนไปเป็นอีกโหมดอย่างรวดเร็ว เพื่อนรักนักฟังที่ดีอาจรู้สึกเศร้าหรือเป็นทุกข์ได้ง่าย ๆ เมื่อรับฟังปัญหาของเพื่อนอีกคน ทำไมมนุษย์เราถึงรับอารมณ์จากคนรอบข้างได้ง่ายดายเช่นนี้ คำตอบก็เป็นเพราะเราเป็นสัตว์สังคมนี่เอง Jaak Panksepp นักประสาทวิทยาและนักจิตวิทยาชีววิทยาให้เหตุผลว่า สมองของมนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมทางสังคมและการทำงานร่วมกัน ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับอารมณ์ของผู้อื่นถือเป็นทักษะที่ทำให้เราได้เปรียบในการเอาชีวิตรอด มันอาจเป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็เป็นได้

 

 

หลายอารมณ์

 

 

 

ลองนึกดูเล่น ๆ ว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หรืออยู่ในการแข่งขันบางอย่าง แต่เราไม่รู้เลยว่า คนอื่นเขารู้สึกอย่างไร หรือสภาพแวดล้อมตอนนั้นมีบรรยากาศเป็นอย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเราได้บ้าง

 

ถ้าอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ เรื่องนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทกระจกที่อยู่ในสมอง มีการค้นพบครั้งแรกในทศวรรษ 1990 นักประสาทวิทยาชาวอิตาลีได้ทำวิจัยแล้วพบว่า เมื่อลิงคว้าวัตถุอย่างหนึ่งขึ้นมา เซลล์ประสาทตัวหนึ่งจะทำงาน พอให้ลิงอีกตัวนั่งเฉย ๆ ดูลิงที่คว้าวัตถุ ปรากฏว่า เซลล์ประสาทตัวเดียวกันนี้ก็ทำงานด้วย ซึ่งเซลล์ประสาทกระจกนี้เองที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเลียนแบบ (Mimicry) ที่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์สังคมอื่น ๆ 

 

กระบวนการสะท้อนที่คล้ายกันแบบนี้อาจเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ เมื่อเรานั่งอยู่คนเดียวแล้วยิ้มให้กับประสบการณ์บางอย่างที่น่าพอใจ เซลล์ประสาทบางส่วนในสมองเราก็จะได้รับการกระตุ้น เมื่อคนอื่นยิ้มให้เรา มันก็จะกระตุ้นเซลล์ประสาทแบบเดียวกันกับตอนที่เรายิ้มกับตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องการระบาดของอารมณ์เชื่อว่า กระบวนการนี้มักเกิดขึ้นใน 3 ขั้นตอน คือ การเลียนแบบ การตอบสนอง และการแพร่กระจาย (ประสบการณ์)

 

1. การเลียนแบบ

ก่อนที่เราจะเลียนแบบอารมณ์ของใครสักคนได้ เราต้องรู้จักอารมณ์นั้นเสียก่อน แต่สัญญาณทางอารมณ์มักจะละเอียดอ่อน เราจึงไม่ค่อยรับรู้ถึงมันได้มากเท่าไร โดยทั่วไป การเลียนแบบมักเกิดขึ้นผ่านภาษากาย เช่น เมื่อพูดคุยกับเพื่อน เราอาจเริ่มเลียนแบบท่าทางหรือสีหน้าของเพื่อนโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น เรากำลังคุยกับเพื่อนด้วยสีหน้าวิตกกังวล แต่เพื่อนเรากลับมีสีหน้าที่ดูผ่อนคลายและเปิดเผย สีหน้าของเพื่อนอาจทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ การเลียนแบบยังช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ของผู้อื่น ดังนั้น มันจึงเป็นส่วนสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แต่ก็ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการการระบาดทางอารมณ์เท่านั้น

 

2. การตอบสนอง

เราเริ่มสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับผู้อื่นได้ด้วยการเลียนแบบอารมณ์อย่างที่กล่าวไปแล้ว หากเราทำสีหน้าให้ผ่อนคลายมันก็อาจช่วยให้เรารู้สึกสงบขึ้น Dr. Maury Joseph นักจิตวิทยาในวอชิงตัน ดี.ซี. บอกว่า สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ฝังลึกลงไป เช่น ภาวะซึมเศร้า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจแสดงความรู้สึกผ่านภาษากาย รูปแบบการพูด หรือสีหน้าเช่นเดียวกับคำพูดที่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่คล้ายคลึงกันในคนที่มีความอ่อนแอต่อสัญญาณเหล่านี้

 

3. การแพร่กระจาย

การเลียนแบบอารมณ์มักจะกระตุ้นอารมณ์นั้นในตัวเรา เราจึงเกิดอารมณ์นั้นตามไปด้วย จากนั้นเราจะเริ่มแสดงอารมณ์ออกมา หรือส่งต่ออารมณ์ไปยังผู้อื่นด้วยวิธีการเดียวกัน

 

ข้อดีของการระบาดทางอารมณ์

 

Jack Andrews นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย ได้เสนอเหตุผลที่เป็นไปได้ไว้ในบทความของเขาว่า การที่เรารับอารมณ์ของผู้อื่นได้ง่าย  เพราะเรามักจะใช้การตอบสนองของคนอื่นต่อสถานการณ์ทางสังคมมาช่วยในการตัดสินใจว่า เราควรตอบสนองทางอารมณ์อย่างไรให้ที่ดีที่สุด

 

แน่นอนว่า คงไม่มีใครไม่อยากอยู่ท่ามกลางคนอารมณ์ดี เพราะเรานี่แหละที่จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย แต่หลายครั้งเราอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่แวดล้อมไปด้วยคนที่มีอารมณ์เชิงลบ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือ โซเชียลมีเดียในปัจจุบัน พอมีประเด็นดราม่าอะไรขึ้นมา คนที่เสพประเด็นเดียวกันก็อาจจะมีอารมณ์ในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าเราเลือกที่จะเอาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่มีความสุข เราก็อาจมีความสุขเพิ่มขึ้นได้อีกทวีคูณ ประเด็นนี้เคยมีงานวิจัยว่า คนที่มีความสุขมักจะอยู่ในศูนย์กลางของโซเชียลเน็ตเวิร์กของกลุ่มคนที่มีความสุข หากเรามีเพื่อนใหม่ที่มีความสุขเพิ่มขึ้นอีก 1 คน โอกาสที่เราจะมีความสุขจะเพิ่มขึ้นอีกราว 9% ถ้าเปรียบเป็นการลงทุน นี่อาจเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีเลยทีเดียว

 

Nicholas Christakis ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ James Folwer รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก เป็นผู้ทำวิจัยในเรื่องนี้ พวกเขา

กล่าวว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กมีทั้งกลุ่มคนที่มีความสุขและที่ไม่มีความสุข โดยความสุขของคนเราจะสัมพันธ์กับความสุขของเพื่อน เพื่อนของเพื่อน และเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน ซึ่งเป็นคนที่อยู่นอกวงโคจรทางสังคมของเรา 

 

ข้อเสียของการระบาดทางอารมณ์

 

การหลีกเลี่ยงอารมณ์เชิงลบจากผู้อื่นอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เช่น ความหดหู่ ความโกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดีย ความโกรธอาจระบาดได้อย่างง่ายดายจากการอ่านความคิดเห็นของคนที่คิดไม่เหมือนเรา อารมณ์โกรธที่แพร่กระจายได้กลายเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับปัจเจกบุคคลและสังคมในปัจจุบันไปแล้ว ขณะที่แพลตฟอร์มโซเดียลมีเดียต่าง ๆ อาจเห็นประโยชน์ของความโกรธที่ทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับคนวัยทำงาน เรามักจะใช้เวลาส่วนมากอยู่ที่ทำงาน จะเป็นอย่างไรถ้าอารมณ์เชิงลบแพร่ระบาดขึ้นที่นี่ ประเด็นนี้เคยมีการศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์และป้องกันอุบัติเหตุ” พบว่า การระบาดของอารมณ์เชิงลบ เช่น ความโกรธทำให้เกิดข้อผิดพลาดทางความคิดและอุบัติเหตุในที่ทำงานมากขึ้น ขณะที่การระบาดทางอารมณ์เชิงบวกนำไปสู่ข้อผิดพลาดทางความคิดและอุบัติเหตุที่น้อยลง

 

ใครรับอารมณ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าคนอื่น

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่นบอกว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่รับอารมณ์จากผู้อื่นได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัยนี้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์มากกว่าคนวัยอื่น จึงมีความอ่อนไหวได้ง่าย โดยเฉพาะกับเพื่อน ๆ อย่างไรก็ตาม การอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีความสุขจะส่งผลดีต่อเด็ก เพราะการศึกษาในปี 2015 พบว่า เด็กที่มีเพื่อนที่มีความสุขจะมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าน้อยกว่า หรือหากพวกเขาเป็นโรคซึมเศร้าก็จะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า

 

ไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้นที่รับอารมณ์จากผู้อื่นได้ง่าย แต่คนทั่วไปที่ใส่ใจและอ่อนไหวต่ออารมณ์ของผู้อื่น หรือคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากกว่าความเป็นอิสระและความเป็นเอกลักษณ์ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มได้รับการแพร่ระบาดทางอารมณ์จากผู้อื่นได้ง่ายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังพบว่า Introvert มักจะได้รับผลจากอารมณ์เชิงบวกของผู้อื่น ในขณะที่คนที่รับรู้สิ่งภายนอก หรือความเป็นจริงทางสังคมมากกว่ามักจะได้รับผลจากการแสดงออกทางอารมณ์เชิงลบของผู้อื่น ในบางบริบทยังพบว่า ผู้หญิงมีความอ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดทางอารมณ์มากกว่าทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

 

คำแนะนำในการรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อรักษาอารมณ์เชิงบวก

1. รู้ทันสัญชาตญาณ

ตระหนักถึงสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเรามากขึ้นในการเลียนแบบสภาวะทางอารมณ์ของผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้ใช้มันให้เป็นประโยชน์เมื่อเราสามารถทำได้ และลดผลกระทบต่อความเป็นอยู่เมื่อเราต้องการ 

 

2. ตระหนักรู้สิ่งที่เกิดขึ้น

การตระหนักรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นว่า ความรู้สึกของเราเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของอีกฝ่ายอย่างไร จะช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องลงมือทำอะไร ยิ่งหากเราเรียนรู้ที่จะรับรู้เมื่อมีอารมณ์ด้านลบของใครมาส่งผลกระทบต่อเราได้แล้วล่ะก็ เราก็จะยิ่งสามารถฝึกพาตัวเองออกจากสถานการณ์เหล่านั้นได้

 

3. อย่าเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว

การระบาดทางอารมณ์สัมพันธ์กับความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เมื่อคนที่เรารักกำลังเผชิญกับความยากลำบากทางอารมณ์ เราอาจเผลอตอบสนองด้วยการซึมซับอารมณ์เหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว นั่นเป็นวิธีการที่เราเชื่อมโยงเข้ากับผู้อื่น แต่ที่มันเป็นเช่นนี้ก็เพราะความเป็นมนุษย์ของเรานั่นเอง สิ่งที่เราควรพยายามระลึกไว้ คือ

  • เราไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรู้สึกของคนอื่น
  • เราอาจไม่สามารถช่วยเขาได้
  • คนอื่นกำลังแบ่งปันประสบการณ์ของเขาด้วยวิธีเดียวที่เขารู้

 

จาก 3 ข้อข้างต้น เราอาจใช้เวลาคิด และถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ก็ได้

  • เราแสดงอารมณ์ประเภทใด สิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมห้อง เพื่อนร่วมทีม เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ อย่างไร
  • เราปล่อยให้คนอื่นมากระทบอารมณ์ของเราได้ง่ายแค่ไหน เรารู้ไหมว่ามันกำลังเกิดขึ้น
  • เพื่อนในโซเชียลเน็ตเวิร์กของเราเป็นคนประเภทที่เราอยากอยู่ด้วยหรือไม่
  • เราต้องลงมือทำอะไร หรือเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

 

นอกจากการถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้แล้ว หากเป็นไปได้ให้ลองจำกัดเวลาใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวันลง เพราะมีงานวิจัยว่า การพักจากสื่อสังคมออนไลน์สามารถเพิ่มอารมณ์เชิงบวกได้ เป็นไปได้กว่า อาจทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบทางสังคม และมองโลกในแง่ลบน้อยลง ลองไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายมากกว่ากิจกรรมที่อยู่กับที่ ซึ่งงานวิจัยที่ว่านี้ นักวิจัยได้ทดลองกับนักเรียนที่ใช้โซเชียลมีเดียพบว่า นักเรียนที่จำกัดการใช้ Facebook Instagram หรือ Snapchat เพียง 30 นาที/วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จะมีความเหงาและอาการซึมเศร้าลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ใช้โซเชียลมีเดียตามปกติในช่วงเวลาดังกล่าว นี่อาจเป็นวิธีสร้างความสุขได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลย

แม้ว่าการหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบจากคนรอบข้างอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ทุกครั้งเมื่อเกิดขึ้น แต่การระบาดทางอารมณ์เป็นทักษะที่เราสามารถฝึกฝนได้ด้วยการตระหนักถึงอารมณ์ของเราที่อาจแพร่ไปยังผู้อื่น รวมถึงอารมณ์ของผู้อื่นไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีที่แพร่มายังเรา เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์เราก็ยังเป็นสัตว์สังคมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

อ้างอิง

https://www.discovermagazine.com/mind/why-are-emotions-contagious

https://www.healthline.com/health/emotional-contagion

https://www.canr.msu.edu/news/emotions_are_contagious_learn_what_science_and_research_has_to_say_about_it

https://www.psychologytoday.com/us/blog/high-octane-women/201210/emotions-are-contagious-choose-your-company-wisely

https://positivepsychology.com/emotional-contagion/

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS