ข้อสอบแบบที่เด็กไม่ชอบ สร้างการเรียนรู้ได้ดีกว่า

A A
Aug 17, 2022
Aug 17, 2022
A A

ข้อสอบแบบที่เด็กไม่ชอบ สร้างการเรียนรู้ได้ดีกว่า

 

 

  • แม้ว่าจะมีเทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสอบที่น้อยลง แต่งานวิจัยพบว่า การสอบยังคงเป็นเครื่องมืออันมีค่าที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้หากมีการออกแบบที่ดี และมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการพัฒนาการเรียนรู้
  • การสอบบ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการฝึกดึงข้อมูลที่อยู่ในหัวของเราออกมา ช่วยให้นักเรียนจดจำข้อมูลได้ดีกว่าการเรียนรู้จากเนื้อหาอย่างเดียว
  • การสอบยังทำให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึก ซึ่งเกิดจากกระบวนการดึงข้อมูลจากหน่วยความจำ นักเรียนจะมีทักษะในการสรุป สร้างความเชื่อมโยงระหว่างข้อเท็จจริงที่ตัวเองรู้ และประยุกต์ใช้ความรู้ในบริบทที่หลากหลายได้
  • แม้นักเรียนจะชอบข้อสอบที่เรียงลำดับเนื้อหาตามที่เรียนมามากกว่า แต่ข้อสอบที่ไม่ได้เรียงลำดับเนื้อหาช่วยให้จดจำข้อมูลในระยะยาวได้ดีกว่า แม้สมองจะต้องทำงานหนักขึ้นเล็กน้อยก็ตาม

  

คุณเคยลองถามเด็ก ๆ ไหมว่า พวกเขาชอบข้อสอบแบบไหนมากที่สุด ส่วนมากน่าจะตอบคล้าย ๆ กันว่า ข้อสอบปรนัย เพราะง่ายกว่าข้อสอบอัตนัย ถ้าไม่รู้ก็ยังพอเดาสุ่มได้สักข้อ แล้วถ้าถามให้ลึกลงไปอีกหน่อย อย่างลำดับเนื้อหาของข้อสอบ เด็กน่าจะชอบแบบไหนมากกว่า ระหว่างข้อสอบที่เรียงเนื้อหาตามที่ครูสอน หรือข้อสอบที่สลับเนื้อหาไปมา เด็กส่วนมากก็น่าจะเลือกข้อสอบแบบแรกเป็นแน่ แม้เด็ก ๆ ดูจะชอบข้อสอบที่ง่าย แต่งานวิจัยพบว่า ข้อสอบแบบที่เด็กไม่ชอบจะสร้างการเรียนรู้ในระยะยาวได้ดีกว่า ไม่เพียงเท่านั้น การให้เด็กได้ทำแบบทดสอบ หรือทำข้อสอบบ่อย ๆ ยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้มากกว่าเด็กที่ไม่มีการสอบเลยอีกด้วย นี่น่าจะดูขัดกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

 

การทำข้อสอบเป็นเรื่องดี ถ้าช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง

แม้ว่าเทรนด์ในโลกยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับการสอบที่น้อยลง แต่ถ้าดูจากผลการวิจัยแล้ว เราอาจจะได้คำแนะนำอีกแบบ ครูอาจจะยังไม่ควรยกเลิกการสอบแบบเดิม ๆ ไปทั้งหมด เพราะงานวิจัยพบว่า

การสอบยังคงเป็นเครื่องมืออันมีค่าที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ หากมีการออกแบบที่ดี และมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการพัฒนาการเรียนรู้

ครูจึงกลายเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากกับนักเรียนในฐานะผู้ออกข้อสอบ เพราะแบบทดสอบมาตรฐานอาจไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้มากเท่าแบบทดสอบที่ครูสร้างให้กับนักเรียนโดยตรง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถ และความสนใจของพวกเขา

 

ทำไมการสอบบ่อยครั้งถึงดี

นี่เป็นคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัย ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปดูรูปแบบของข้อสอบกันก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะจริง ๆ แล้วข้อสอบทุกแบบไม่ได้แย่ แต่ข้อสอบที่ดีควรต้องสะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนมีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง และสาเหตุที่การสอบบ่อย ๆ (จากข้อสอบที่ดี) เป็นเรื่องดีก็เพราะการสอบเป็นการฝึกดึงข้อมูลที่อยู่ในหัวของเราออกมา ซึ่งการฝึกดึงข้อมูลนี้อาจมีวิธีง่าย ๆ ที่ไม่ใช่การสอบก็ได้ เช่น ให้นักเรียนเขียนสิ่งที่ได้เรียนเมื่อวันก่อนสัก 2-4 ข้อ หรือทำควิซสั้น ๆ ว่าคาบที่แล้วเรียนอะไรไปบ้าง

งานวิจัยยังพบอีกว่า การฝึกดึงข้อมูลให้ผลดีเพราะช่วยให้นักเรียนจดจำข้อมูลได้ดีกว่าการเรียนรู้จากเนื้อหาอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังพบว่า เวลาก็มีผลต่อการจดจำข้อมูลเช่นกัน นักเรียนจะทำข้อสอบได้ดี ถ้าเพิ่งเรียนไปได้ไม่นาน แต่หากเรียนมาเกิน 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น นักเรียนจะจำข้อมูลได้น้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ได้มีการฝึกหัดด้วยการทำข้อสอบในระหว่างนั้น 

 

การทำข้อสอบช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น

งานวิจัยในปี 2006 ก็พบตัวเลขที่น่าสนใจของนักเรียนที่ได้ทำแบบทดสอบสั้น ๆ กับนักเรียนที่เรียนเพียงอย่างเดียวว่า กลุ่มแรกจะจดจำเนื้อหาได้ถึง 60% ขณะที่กลุ่มที่สองจำได้ 40% แบบทดสอบสั้น ๆ จึงช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนเข้าใจเนื้อหาดีเพียงใด และต้องเรียนอะไรซ้ำอีกบ้าง ฉะนั้น แบบทดสอบระหว่างเรียนจึงตอบโจทย์เรื่องนี้ได้มากกว่าแบบทดสอบเพื่อวัดความรู้รวบยอด เช่น การสอบปลายภาคที่วัดว่า นักเรียนได้เรียนรู้มากแค่ไหน แต่ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะ หรือการเรียนรู้ด้านใดเลย

ในการทดลองอีกชิ้นที่เปรียบเทียบระหว่างเกรดของนักเรียนที่เรียนแล้วทบทวน กับนักเรียนที่เรียนแล้วต้องสอบ ก็ได้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน การทดลองนี้มีครู 9 คน และนักเรียนจากเกรด 6-8 มากกว่า 1,400 คน เข้าร่วม นักเรียนจะเรียนวิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธี คือ 

                    1.เรียนเนื้อหา 1 ครั้ง จากนั้นครูทบทวนกับนักเรียน 3 ครั้ง 

                    2.เรียนเนื้อหา 1 ครั้ง จากนั้นนักเรียนถูกทดสอบ 3 ครั้ง 

พบว่า นักเรียนกลุ่มแรกได้เกรด C+ ส่วนกลุ่มที่สองได้ A- และในการสอบเพื่อติดตามผลอีก 8 เดือนต่อมาพบว่า นักเรียนกลุ่มที่ทำแบบทดสอบยังคงจำข้อมูลได้ดีกว่ากลุ่มที่ทบทวนกับครู

ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 2008 ก็ยืนยันผลลัพธ์เดียวกัน พบว่า นักเรียนที่ทบทวนคำศัพท์ด้วยการถามตอบคำศัพท์กับตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไปจะยังจำคำศัพท์ได้ถึง 80% ขณะที่นักเรียนที่ทวนศัพท์ด้วยการอ่านซ้ำ ๆ จะจำได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น 

การสอบไม่เพียงทำให้เราจดจำข้อมูลได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดสิ่งที่นักวิจัยเรียกว่า การเรียนรู้เชิงลึก ซึ่งเกิดจากกระบวนการดึงข้อมูลจากหน่วยความจำ ข้อดี คือ นักเรียนที่มีการเรียนรู้เชิงลึกจะสามารถดึงข้อสรุป สร้างความเชื่อมโยงระหว่างข้อเท็จจริงที่ตัวเองรู้ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในบริบทที่หลากหลายได้

แล้วการฝึกดึงข้อมูลถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยในเรื่องการเรียนรู้หรือเปล่า ถ้าเราลองนำวิธีนี้มาเปรียบเทียบกับกิจกรรมยอดฮิตอย่างการทำผังมโนทัศน์ (Concept Mapping) ซึ่งดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงลึกที่ครูชอบให้นักเรียนทำในชั้นเรียนแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร อะไรช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีกว่ากัน

การศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสาร Science นักวิจัยให้อาสาสมัครระดับปริญญาตรี 200 คน อ่านข้อความที่มาจากหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ จากนั้นให้กลุ่มแรกเขียนผังมโนทัศน์จากสิ่งที่ได้อ่าน ซึ่งการทำผังมโนทัศน์ คือ การวาดแผนภาพที่แสดงองค์ความรู้ที่นักเรียนกำลังเรียนอยู่ โดยมีจุดต่าง ๆ เชื่อมโยงแนวคิดที่สัมพันธ์กัน ส่วนกลุ่มสองจะถูกขอให้จำเอาอย่างเดียว อีก 1 สัปดาห์ต่อมาทุกคนจะต้องทำแบบทดสอบ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่มีการฝึกหัดดึงข้อมูลจะสามารถจดจำข้อมูลจากหนังสือเรียนได้ดีกว่ากลุ่มที่เขียนผังมโนทัศน์ นอกจากนี้ ยังสามารถสรุป และเชื่อมโยงแนวคิดต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือเรียนได้ดีกว่าอีกด้วย นักวิจัยจึงได้ข้อสรุปว่า การฝึกดึงข้อมูลช่วยส่งเสริมทั้งการเรียนรู้ตามข้อเท็จจริง และการเรียนรู้เชิงลึกได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้นราว 50 % 

 

ข้อสอบปรนัยกับอัตนัย แบบไหนดีกว่ากัน

เมื่อเรารู้แล้วว่า การสอบมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างไร คำถามต่อมา คือ ข้อสอบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างปรนัยกับอัตนัย ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนต่างกันไหม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อสอบที่ครูออกมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมาก เพราะข้อสอบบางประเภทก็ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนจดจำข้อมูลได้ แม้ว่าการออกข้อสอบปรนัยจะค่อนข้างง่าย แต่ตัวเลือกแต่ละข้อก็อาจทำให้นักเรียนเข้าใจผิด มีความคลุมเครือ หรือเป็นตัวเลือกที่ไม่รู้ว่า ควรตอบข้อไหนดี ข้อสอบปรนัยจึงยิ่งกระตุ้นให้เกิดการเดามากยิ่งขึ้น ขณะที่ข้อสอบอัตนัยที่ใช้คำถามปลายเปิด หรือคำถามที่ให้ตอบสั้น ๆ อาจให้พื้นที่กับความคิดของนักเรียนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าข้อสอบปรนัยจะไม่ดี เพราะตราบใดที่ข้อสอบได้รับการออกแบบมาอย่างดี มีคำถามที่ชัดเจน และคำตอบที่เป็นไปได้ แบบที่ไม่ใช่ถูกทุกข้อ หรือผิดทุกข้อ  ข้อสอบปรนัยก็ยังคงมีประโยชน์ในการประเมินความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาของนักเรียนอยู่

ข้อสอบปรนัยที่ดียังคงมีประโยชน์ต่อการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน

ลำดับเนื้อหาของข้อสอบมีผลต่อการจดจำของนักเรียนหรือไม่

นอกเหนือจากเรื่องประเภทของข้อสอบแล้ว นักวิจัยยังเคยวิจัยเปรียบเทียบเรื่องลำดับเนื้อหาของข้อสอบอีกด้วยว่า มีผลอย่างไรต่อการจดจำของนักเรียนบ้าง ซึ่งบทความในวารสาร Psychological Science เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2022 ก็เล่าถึงการเปรียบเทียบการสอบ 2 แบบในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของแคนาดา โดยที่นักเรียนจะได้เรียนวิทยาศาสตร์หัวข้อต่าง ๆ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นก็จะต้องทำข้อสอบ 3 หัวข้อจากทั้งหมด 6 หัวข้อเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ โดยที่คำถามครึ่งแรกของข้อสอบจะเรียงลำดับเนื้อหาไปตามที่นักเรียนได้เรียนมา ส่วนอีกครึ่งหลังคำถามจะสลับกันไปมา แน่นอนว่า นักเรียนชอบคำถามที่เรียงลำดับเนื้อหามากกว่า เหมือนกับชอบข้อสอบปลายภาคที่เน้นเฉพาะเนื้อหาช่วงท้ายของการเรียนมากกว่าข้อสอบที่รวมเนื้อหาทั้งหมดในภาคการศึกษานั้น และอีก 1 เดือนหลังจากการสอบครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้นลง ก็จะมีการสอบอีกครั้ง ซึ่งเนื้อหามีทั้งที่เคยอยู่ในข้อสอบประจำสัปดาห์มาแล้ว และเนื้อหาที่ไม่ได้อยู่ในข้อสอบมาก่อน

แล้วผลลัพธ์ของการสอบทั้ง 2 แบบเป็นอย่างไร ข้อมูลพบว่า นักเรียนทำข้อสอบประจำสัปดาห์ได้ดีกว่าเล็กน้อยเมื่อข้อสอบนั้นมีการเรียงลำดับของเนื้อหา นี่อาจสะท้อนว่า สมองคนเราอาจดึงข้อมูลได้ง่ายกว่าถ้าเรากำลังนึกถึงเรื่องนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องนึกถึงเรื่องอื่นสลับไปมา สมองก็อาจต้องใช้เวลานานขึ้นในการดึงข้อมูล แต่ถ้าพูดถึงการเรียนรู้ในระยะยาว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากนี้อาจชี้ให้เห็นว่า

สิ่งที่นักเรียนชอบอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะนักเรียนจะทำคะแนนได้ดีกว่า หากเนื้อหานั้นเคยอยู่ในข้อสอบประจำสัปดาห์มากกว่าเนื้อหาที่ไม่ได้อยู่ในข้อสอบ และในการสอบครั้งสุดท้าย นักเรียนทำคะแนนได้ดีกว่าในเนื้อหาที่เคยอยู่ในข้อสอบที่ไม่เรียงลำดับเนื้อหามากกว่าเนื้อหาในข้อสอบที่มีการเรียงลำดับเนื้อหา แสดงว่าข้อสอบที่ไม่ได้เรียงลำดับเนื้อหา ถึงจะทำให้สมองต้องทำงานหนักขึ้นเล็กน้อย แต่นักเรียนจะจดจำข้อมูลในระยะยาวได้ดีกว่า

ข้อสอบอาจเป็นได้ทั้งพิธีกรรมที่เสียเวลาเปล่า และไม่ได้ให้ประโยชน์กับทั้งครูและนักเรียน หากข้อสอบนั้นไม่ได้มีการออกแบบที่ดี ขณะเดียวกันข้อสอบที่ไม่ว่าจะเป็นปรนัยหรืออัตนัยก็เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียนได้ ทั้งนี้อยู่ที่ตัวครูผู้สอนว่า จะออกแบบข้อสอบเหล่านั้นให้สะท้อนความสามารถของนักเรียน และชี้ให้เห็นแนวทางที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของพวกเขาได้มากเพียงใด

 

 

อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/blog/ulterior-motives/202206/the-best-tests-are-ones-students-hate
https://www.edutopia.org/article/what-does-research-say-about-testing
https://www.scientificamerican.com/article/researchers-find-that-frequent-tests-can-boost-learning/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS