The Playscape สนามเด็กเล่น ที่ไม่มีของเล่นเด็ก

A A
Jan 12, 2022
Jan 12, 2022
A A

The Playscape สนามเด็กเล่น ที่ไม่มีของเล่นเด็ก

 

ถ้าพูดถึงสนามเด็กเล่นสมัยใหม่ หลายคนคงนึกถึงสไลเดอร์ ม้าหมุน ชิงช้า บาร์โหนเด็กเล่น กระบะทราย และห้องเด็กเล่น ฯลฯ แต่ถ้าสนามเด็กเล่นที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ไม่มีของเล่นเด็กเลย จะเรียกว่าเป็นสนามเด็กเล่นได้ไหม…
วันนี้อยากพาทุกคนไปรู้จักสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ ที่แตกต่างจากสนามเด็กเล่นทั่วไป เพราะสนามเด็กเล่นที่เราจะพาไปทำความรู้จักนี้ไม่มีของเล่นที่ว่ามาข้างต้นสักชิ้น แต่อยากให้ลองจินตนาการดูว่าพื้นที่ที่มีแค่ ท่อ หลังคา และเนินดิน แล้วถูกเนรมิตแปลงโฉมให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นพื้นที่แห่งการเรียนรู้แบบอิสระ จะมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร?

The Playscape สนามเด็กเล่นแห่งใหม่ ของเด็กในมณฑลเฉาหยาง เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

ถ้าให้นับเมืองหลวงที่มีสถาปัตยกรรมแปลกตาล้ำสมัย กรุงปักกิ่งก็คงเป็นหนึ่งในลิสต์ ที่ใครหลาย ๆ คนอยากเข้าไปสัมผัสด้วยตาตัวเองดูสักครั้ง เพราะการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมแบบใหม่ ๆ ที่ใครต่างก็คาดไม่ถึง หรือการปรับปรุงอาคารเก่าที่มักจะสอดแทรกการออกแบบสิ่งใหม่ ๆ ผนวกเข้าไปอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ The Playscape สนามเด็กเล่นแห่งใหม่ของเด็กปักกิ่ง โดยคิดและออกแบบมาอย่างดีจากความร่วมมือของ We Architech Anonymous (WAA) ทีมสถาปนิกชาวจีน เจ้าของการออกแบบ The Playscape และ Beijing NuanQin ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการการเคลื่อนไหวสำหรับเด็ก ที่ปรับโฉมจากโกดังเก่าในปี 1970s ให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ฉีกออกไปจากแบบเดิม ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของ The Playscape แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ไว้เหมาะเจาะ มีอุปกรณ์หลัก ๆ อยู่ไม่กี่ชิ้นที่ออกแบบเพื่อให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กเมืองใหญ่ที่ขาดพื้นที่เล่นกลางแจ้งและโตมากับหน้าจอได้ออกไปเล่นนอกบ้านทำกิจกรรมขยับร่างกาย ออกมาสัมผัสและเรียนรู้สิ่งใหม่ สร้างจินตนาการที่ไม่มีขีดจำกัดภายใต้สนามเด็กเล่นแห่งนี้ เช่น ท่อที่ถูกสร้างเป็นสะพานและบันไดเชื่อมต่อกันให้เด็กได้วิ่งเล่น ขยับร่างกายเคลื่อนไหว หลังคาที่ถูกออกแบบให้เป็นสไลเดอร์ไว้ปลดปล่อยพลังการเล่นให้สุดแรง เนินดินที่ให้เด็กได้สัมผัสธรรมชาติของผิวดินและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

The Playscape

ขอบคุณภาพประกอบจาก : https://worldarchitecture.org/

เสน่ห์ของ The Playscape สู่การเล่นแบบ Looseparts

การออกแบบที่นอกกรอบ เน้นใช้วัสดุที่หาง่ายมาปรับเป็นพื้นที่และของเล่นแนวใหม่ ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการเล่นแบบ Looseparts การเล่นที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเล่นใด ๆ มีแต่การสร้างสรรค์วิธีการเล่นจากสิ่งรอบตัวของเด็กเท่านั้น และไม่จำกัดพื้นที่การเรียนรู้จะเป็นที่บ้าน โรงเรียน โกดัง พื้นที่โล่งกว้างก็สามารถเล่นแบบ Looseparts ได้ เฉกเช่นเดียวกับ The Playscape ที่นำพื้นที่โล่งหรือพื้นที่ว่างเปล่าไร้ประโยชน์มาใช้เป็นสนามเด็กเล่นที่ไม่ต้องเน้นเครื่องเล่นและของเล่นราคาแพง แต่เน้นของที่มีรอบตัวมาดัดแปลงสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งที่เด็กได้จะได้มากกว่า ตอบโจทย์สำหรับเด็กที่ขาดโอกาสหรือไม่มีพื้นที่กลางแจ้งไว้เล่นแบบธรรมชาติได้อย่างลงตัว

The Playscape

ขอบคุณภาพประกอบจาก : https://worldarchitecture.org/

สนามเด็กเล่นที่ไม่มีของเล่นเด็ก แต่ออกแบบพื้นที่มาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะ

The Playscape คือผลงานชิ้นเอกของ WAA ที่ได้สร้างสรรค์การออกแบบสนามเด็กเล่นนี้เป็นโซนต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว และเหมาะสำหรับเด็กทุกวัย

โซนที่ 1 Hide and seek

โซนนี้จะเป็นสนามพื้นเรียบมีผิวอ่อนนุ่มเพื่อรองรับเด็กเล็ก ๆ ได้คลานตัวได้อย่างปลอดภัย หรือเป็นพื้นที่เล่นซ่อนหา สร้างจินตนาการหรือทำกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาการแบบกลุ่ม เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2-4 ขวบ นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารและห้องสมุดไว้บริการเมื่อเด็ก ๆ หิว หรือไว้ให้คุณพ่อคุณแม่นั่งรอเด็ก ๆ เล่นได้อย่างสบายใจ

โซนที่ 2

เป็นพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สำหรับเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป ออกแบบให้สามารถปีนป่ายไปบนโครงตาข่ายที่มีความลาดเอียง หรือเรียกว่า Adventure playground ส่วนของชั้น 2 และ 3 ประกอบไปด้วยห้องเรียนแบบ Multifunction (Nook and Cranny) ทั้งหมด 6 ห้อง จากชั้นนี้มีเนินดินขนาดความสูง 7 เมตร (Maze) เชื่อมลงไปจากเนินหนึ่งไปยังอีกเนินหนึ่งได้ โดยทุกอาคารจะมีเนินหลังคาที่เชื่อมต่อกันหมด เอื้อให้พ่อแม่สามารถดูแลลูก ๆ ได้อย่างทั่วถึง

โซน 3 Fantasy พื้นที่กว้าง

นอกจากพื้นที่กลางแจ้งที่ให้เด็กเล่นแล้ว ยังมีพื้นที่เล่นในร่ม ภายในอาคารเก่าที่ถูก Renovateไว้ให้เหมาะกับเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องการปล่อยให้เล่นซนได้อย่างเต็มที่ เพราะอุปกรณ์ของทุกชิ้นเป็นพื้นผิวนุ่มที่เด็กสามารถวิ่งเล่นและหกล้มได้อย่างปลอดภัย

สนามเด็กเล่น คือเครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน “การเล่น” ก็สร้างจินตนาการ และพัฒนาการของพวกเขาได้อย่างอิสระ ถ้าบ้านเรามีสนามเด็กเล่นแบบนี้บ้าง พื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะไม่เหงาอีกต่อไป มันคงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ อีกมากมายเลยทีเดียว

 

ที่มา
http://w-a-a.cn/project/haxxy/

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS