ให้โอกาส “ความผิดพลาด” เป็นจุดเริ่มไม่ใช่บทสรุป

A A
Oct 16, 2021
Oct 16, 2021
A A

       จะมีสักครั้งไหมที่เราตั้งคำถามกับเด็ก ๆ หลักจากเฉลยการบ้านหรือทำแบบฝึกหัดแล้วพบว่ามีบางข้อที่พวกเขาทำพลาดไป คนส่วนใหญ่สนใจกับรอยปากกาสีแดงที่เขียนเป็นตัวเลขเพื่อบอกผลประเมิน เราให้ความสำคัญกับส่วนที่ทำถูกมากกว่าส่วนที่ทำผิด (แน่นอนยกเว้นว่าถ้าส่วนใหญ่คือส่วนที่ทำผิด) และสรุปเอาดื้อ ๆ จากเกรดผลการประเมินที่ได้ แต่ถ้าเรานึกดูดี ๆ และลองใช้เวลาให้นานขึ้นเราจะพบว่าไอ้ข้อที่เด็ก ๆ ทำผิดพลาดนั่นแหละคือทั้งปัญหาและเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้อีกมาก 

 

ทำให้กระจ่างและหาต้นตอที่แท้จริง

     อันที่จริงข้อผิดพลาดนั้นมีหลายประเภท ทั้งเกิดจากความประมาท ความผิดคลาดด้วยระบบความคิด หรือการเข้าใจผิดในคอนเซ็ปต์ เด็ก ๆ ไม่ควรรู้แค่ว่าพวกเขาทำโจทย์ผิดแต่พวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับคำติชมหรือข้อแนะนำว่าความผิดพลาดอยู่ที่ไหน การวิเคราะห์ถึงสาเหตุรากเหง้าของความผิดพลาดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนรูปแบบความคิดและป้องกันไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำอีก 

 

     ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ เด็กส่วนใหญ่ชี้ว่าความผิดพลาดในการทำโจทย์ของพวกเขามาจากความประมาท ซึ่งเป็นสุดยอดคำตอบที่ฮิตที่สุดที่เราด่วนสรุป หลายครั้งที่นักเรียนมีความรู้มากเพียงพอที่จะทำแต่ยังไม่สามารถรวบรวมความเข้าใจของตัวเองเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาก เนื่องจากสมองของเราถูกหันเหความสนใจไปกับความซับซ้อนของปัญหาจนไม่สามารถจับประเด็นสำคัญของปัญหาได้ 

 

     มีวิธีที่จะทำให้เด็ก ๆ ให้ความสำคัญกับความถูกต้องของคำตอบ คือ ถามคำถามที่เด็กต้องการทราบคำตอบจริง ๆ เช่น ถ้าเราต้องการสอนเรื่องการหาพื้นที่ของผิวและปริมาตร โดยให้คำนวณจำนวนกระดาษแข็งให้ได้เพียงพอเพื่อนำไปทำกล่องที่มีปริมาตรตามที่กำหนด จากนั้นเราก็ให้กระดาษจำนวนนั้นแก่พวกเขาและถ้าหากจำนวนที่ขอไปไม่เหมาะสมพวกเขาจะไม่สามารถทำกล่องได้ปริมาตรตามที่ต้องการ วิธีแบบนี้จะทำให้ทุกคนเห็นจุดสำคัญของการได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องและแม่นยำ 

 

ผลงานไม่ได้แสดงถึงความพยายาม

     ความผิดพลาดจากผลงานไม่สามารถอ้างอิงถึงความทุ่มเท ความพยายาม หรือความใส่ใจในงานของตัวเองมากเท่าที่ควร แน่นอนว่าเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผลลัพธ์นั้นเกิดจากความพยายามมากแค่ไหนแต่เราสามารถประเมินได้จากผลลัพธ์ว่านักเรียนบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ การด่วนสรุปความผิดพลาดจะเป็นการบดบังสาเหตุที่จริงของปัญหา เด็ก ๆ อาจจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ในสาระหลักไม่มากพอ ขาดการสนับสนุนจากครูในบางจุด ยังไม่สามารถนำความรู้ที่มีไปใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เพียงพอเนื่องจากขาดการฝึกฝน หรือแม้แต่เด็กอาจจะมีปัญหาส่วนตัวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางบ้านก็อาจจะเป็นสาเหตุได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ได้ 

 

ลองให้เครดิตกับความผิดพลาดกันหน่อย

     ผิด ก็แค่ ผิด? ความผิดพลาดมีหล่ายแง่มุมแต่สิ่งสำคัญจะทำให้เราได้รู้จักสถานการณ์และจุดยืนของนักเรียนแต่ละคน ทำให้รู้ว่าเขาขาดความรู้ในเรื่องไหน อะไรคืออุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเขา และเราจะทำอย่างไรเพื่อเชื่อมโยงความรู้ที่มีมาก่อนหน้านี้เข้ากับความรู้ใหม่ให้เหมาะสมได้มากที่สุด เด็กที่ทำผิดพลาดและพยายามหาแนวทางในการแก้ไขให้สำเร็จจะสามารถรับมือกับการจัดการปัญหาได้ดีมากกว่าเด็กที่ทำโจทย์ถูกต้องมาตลอดและจดจำเอาเฉพาะวิธีการทำเพื่อให้ถูกต้องนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าเด็ก ๆ รับรู้และเข้าใจสาเหตุของข้อผิดพลาดได้ดีพอ ด้วยวิธีนี้จะทำให้พวกเขามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นและเรียนรู้กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา การแก้ไขบางสิ่งได้ประสบความสำเร็จพวกเขาจะสัมผัสได้ว่าความพยายามของเขาคุ้มค่ามากแค่ไหน และเห็นถึงการพัฒนาในเชิงความสามารถ ประสบการณ์แบบนี้จะทำให้เด็กมีความพากเพียรและพยายามมากขึ้นในอนาคตเมื่อต้องทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เพราะพวกเขารู้ว่าถ้าพยายามมากพอเค้าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้นั่นเอง สิ่งนี้น่าจะเป็นวิธีการเปลี่ยนแรงจูงใจในการเรียนรู้ได้จริงมากกว่าการสร้างแรงจูงใจด้วยเกรดหรือผลการเรียน 

 

ถ้าความผิดพลาดเป็นบ่อเกิดของความเข้าใจคุณต้องปล่อยให้พวกเขาได้เรียนรู้มัน

     คนส่วนใหญ่เคยได้ยินหรือพูดว่า “จงเรียนรู้จากความผิดพลาดของคุณ” “ความผิดพลาดเปรียบเสมือนโรงเรียนแห่งปัญญา” หรือ “ถ้าจะล้มก็ให้ล้มไปข้างหน้า” ถ้าความผิดพลาดคือโอกาสทองของการเรียนรู้จริงคุณควรปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้นั้น (แบบจริงจัง) ทำให้ชัดเจนว่าการเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาดจะถูกจัดการในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปจากการประเมินผลงานโดยปกติ (ทั้งนี้พวกเขาต้องยอมรับว่าการทำผิดพลาดจะมีผลในเชิงลบเสมอ) เราจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตรกับความผิดพลาดโดยไม่ทำให้รู้สึกละอายใจกับความผิดพลาดของตัวเอง กระตุ้นให้ไม่ยอมแพ้และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องต่อไป ด้วยวิธีการแบบนี้จะทำให้การเรียนรู้ถูกให้ความสำคัญมากกว่าความรู้สึกที่เกิดจากความผิดพลาด และเป็นวิธีการจัดการกับความผิดพลาดอย่างสร้างสรรค์ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเรื่องนี้เลยทีเดียว

 

ให้ข้อเสนอแนะในเวลาที่เหมาะสม

     กระบวนการตรวจสอบการเรียนรู้ที่ดีควรเริ่มจาก ฝึกให้ลองทำ-ทำผิดพลาด-รับคำติชม-คิดทบทวน-และกลับมาลองอีกครั้ง ยิ่งกระบวนการนี้ถูกขัดจังหวะน้อยลงเท่าไหร่การเรียนรู้ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยิ่งเราพบปัญหาเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งแก้ไขง่ายขึ้นเท่านั้น หากเราพบว่าพวกเขาเข้าใจผิดและปล่อยให้เวลาได้ล่วงเลยไปนานก่อนที่จะค้นพบว่าตัวเองเข้าใจผิด กระบวนการความคิดนี้อาจฝังแน่นในจิตใจของนักเรียน การให้โอกาสได้ค้นคว้าและแก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันทีจะทำให้ส่งผลดีต่อการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ขณะเดียวกันการเรียนรู้จะค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและแหล่งที่มาของข้อผิดพลาดเพื่อพัฒนาความเข้าใจผิดในแนวคิด

 

     ตัวอย่างเช่น ในวิชาคณิตศาสตร์ เด็ก ๆ มักจะเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการท่องจำมากกว่าที่จะเข้าใจในแนวคิดจริง ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเด็ก ๆ มองหาที่มาของข้อผิดพลาดด้วยตนเอง พวกเขาจะตระหนักถึงสาเหตุและปรับปรุงความเข้าใจด้วยตนเอง สิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้ในลักษณะนี้จะกลายเป็นทักษะบางอย่างและสามารถนำไปใช้กับหัวข้อทางคณิตศาสตร์อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น 

 

หากอยากช่วยเด็กของเราเปลี่ยนความผิดพลาดให้กลายเป็นความสำเร็จเรามีอยู่หลายวิธี :

  • เราเป็นต้องสังเกตเด็ก ๆ เป็นรายบุคคล
  • เราจำเป็นต้องใช้ความพยายามและให้เวลามากขึ้นในการวิเคราะห์ความผิดพลาด (ของแต่ละคน)
  • เราจำเป็นต้องให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะเป็นรายบุคคล
  • เราจำเป็นต้องให้ข้อเสนอแนะหรือหาแนวทางแก้ไขที่รวดเร็วมากพอ

 

     ตรวจดูว่าวัฒนธรรมในห้องเรียนของคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า ผิดพลาด = ลงโทษ หงุดหงิดหลังจากพบข้อผิดพลาด หรือแจ้งให้ทราบแล้วเงียบไปเฉย ๆ แล้วเปลี่ยนมาทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่อทำความเข้าใจข้อผิดพลาด แล้วเราอาจจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้พวกเขามีโอกาสในการเรียนรู้เพิ่ม กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาจะอยู่กับเรานั่นดีกว่าการท่องจำวิธีแก้ปัญหาเป็นไหน ๆ

อ้างอิง

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS