เรื่องขี้ ๆ ที่ไม่ขี้ของส้วม

A A
Nov 19, 2021
Nov 19, 2021
A A

        พาราเซตามอลอาจเป็นยาสามัญประจำบ้านราคาถูกที่สุดสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ถ้าเราจะบอกว่า ห้องส้วมคือยารักษาโรคที่มีราคาถูกที่สุดล่ะ คุณจะคิดอย่างไร คำกล่าวนี้ไม่มีอะไรเกินจริงเลย ถ้าเรารู้ว่ามีคนจำนวน 1.5 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงต่อปี ในประเทศที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องระบบสุขาภิบาลที่ยังน่าเป็นห่วงติดอันดับโลกอย่างอินเดีย มีอัตราการตายของเด็กจากโรคท้องร่วงอยู่ที่ 7:10,000 คน ทำไมคนทั่วโลกถึงยินดีบริจาคเงินให้ฟิลิปปินส์ตอนเกิดไต้ฝุ่นถล่ม มีผู้เสียชีวิตราว 6,000 คน แต่พอบอกว่ามีคนเสียชีวิตจากท้องร่วงทุก 3 วันเหมือนไต้ฝุ่นถล่ม กลับไม่มีใครสนใจ ในยุคที่เราส่งยานอวกาศไปลงดาวอังคารได้แล้ว แต่ทำไมคนอีก 2,500 ล้านคน บนโลกใบเดิมถึงยังไม่มีระบบสุขาภิบาลที่เหมาะสม

        นี่คือคำถามที่ แจ็ก ซิม ชายชาวสิงคโปร์ตั้งคำถามกับตัวเองและคนทั้งโลก เขามีประสบการณ์ทำงานธุรกิจมาหลากหลาย เรียกได้ว่ามีชีวิตสุขสบายในประเทศที่เจริญแล้วประเทศหนึ่งของโลก แต่ปัญหาเรื่องส้วมและการขับถ่ายของคนในอีกหลายประเทศทำให้เขาไม่สามารถอยู่เฉยเสียได้

        เมื่อแจ็กอายุ 40 ปี เขาเริ่มคำนวณว่าตัวเองน่าจะมีชีวิตเหลืออีกกี่วันบนโลกหากมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยของผู้ชายสิงคโปร์ คำตอบที่เขาได้คือ 14,600 วัน แจ็กถามตัวเองว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้จะทำอะไรให้ชีวิตมีคุณค่าได้บ้าง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชายผู้มีฉายว่า Mr.Toilet บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ปี 2008 ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เสนอให้สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันส้วมโลก” และยังเป็นผู้ก่อตั้ง WTO ที่ไม่ได้แปลว่า องค์การการค้าโลก แต่ย่อมาจาก World Toilet Organization ที่แปลว่า องค์การส้วมโลก แค่ชื่อองค์กรของเขา ไม่ต้องบอกก็รู้แล้วใช่ไหมล่ะว่าคาแร็กเตอร์ของแจ็กเป็นคนแบบไหน

ภารกิจขององค์การส้วมโลก
        งานของ WTO ไม่ใช่การเดินทางไปสร้างส้วมให้ประเทศที่มีปัญหาสุขาภิบาล แต่งานหลักขององค์กรนี้คือ การขายไอเดียด้วยการเล่าเรื่อง เพื่อดึงองค์กรพัฒนาเอกชน คนดัง คนบริจาค นักการเมืองและชุมชนท้องถิ่นมาทำงานร่วมกัน เป็นการกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นนั้น ๆอยากสร้างส้วมของตัวเอง

        ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากสร้างส้วมเท่านั้น แต่ WTO ยังมีวิทยาลัยส้วมโลก (World Toilet College: WTC) อีกด้วย สิ่งที่วิทยาลัยแห่งนี้ทำไม่ใช่แค่การฝึกสอนพนักงานทำความสะอาดว่าต้องทำความสะอาด และดูแลส้วมอย่างไร แต่ยังทำการตลาดเรื่องสุขอนามัย การส่งเสริมสุขลักษณะที่ดี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นโยบายสาธารณะ การประกอบการเพื่อสังคม และการดำเนินการซ่อมเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้วย

อินเดีย ดินแดนส้วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
        แจ็กเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคืออินเดีย ประเทศที่มีส้วมกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าไม่นับบ้านคนรวยแล้ว บ้านของคนอินเดียทั่วไปจะไม่มีส้วม ส้วมของพวกเขาจะเป็นที่ไหนก็ได้ รางรถไฟ ข้างถนน ท้องทุ่ง และถึงแม้จะมีส้วมเคลื่อนที่อยู่ในสลัมบ้าง แต่ก็ยังสกปรกอยู่ดี เพราะของเสียถูกปล่อยออกมานอกรถ และก็ไม่มีใครคอยทำความสะอาดส้วมเหล่านี้เลย

บ้านของคนอินเดียทั่วไปจะไม่มีส้วม

        ถึงจะดูเป็นเรื่องยากสักหน่อยกับการเปลี่ยนแปลงระบบสุขาภิบาลในประเทศที่มีการขับถ่ายกลางแจ้งมาหลายพันปีให้ถูกสุขอนามัยขึ้น แต่อินเดียก็เคยตั้งเป้าว่าจะทำให้การขับถ่ายกลางแจ้งหมดไปในเดือนตุลาคม 2019 (แต่ก็มาเจอโควิดซะก่อน รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญกับโควิดมากกว่า) แล้วทำไมการมีห้องน้ำในบ้านหรือตามสถานที่ต่าง ๆ ถึงเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับที่นี่นัก

        นั่นก็เป็นเพราะศาสนา วัฒนธรรมและความเชื่อของอินเดียเองที่เชื่อว่าการมีห้องน้ำในบ้านเป็นสิ่งสกปรก ผู้คนเลยต้องออกไปขับถ่ายให้ไกลจากบ้านตัวเอง อีกทั้งการที่อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน และคาดว่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทนจีนในอีก 6 ปีข้างหน้า อินเดียจึงมีระบบวัฒนธรรมและราชการที่แตกต่างกันไป การจะออกไปสร้างห้องน้ำให้ชาวอินเดียก็ใช่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะอาจจะถูกคนอินเดียใช้เป็นห้องเก็บของแทนได้ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอินเดียทุกคนไม่ได้อยากมีห้องน้ำ จากการลงพื้นที่ของแจ็ก เขาได้พูดคุยกับคนท้องถิ่นพบว่า คนยากจนอยากมีห้องน้ำใช้ในบ้านกันทั้งนั้น ติดตรงที่พวกเขาก็ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะสร้างได้เอง การสร้างระบบสุขาภิบาลที่ดีในอินเดียจึงเรียกได้ว่าเป็นภารกิจระดับชาติขององค์กรท้องถิ่นและรัฐบาลอินเดียเลยทีเดียว

       หากวันหนึ่งข้างหน้าอินเดียสามารถทำให้การขับถ่ายกลางแจ้งหมดไปได้จริง ๆผู้หญิงอินเดียจำนวนมากก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทันที เพราะการขับถ่ายกลางแจ้งในแต่ละครั้งนั้นแลกมาด้วยความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืน จากข้อมูลพบว่า ผู้หญิงอินเดียถูกข่มขืนทุกวัน เพียงเพราะไม่มีห้องน้ำ หลายคนบอกว่าทุกครั้งที่อยากขับถ่าย หากมีผู้ชายอยู่แถวนั้น เธอก็ต้องอั้นไว้ก่อนสักครึ่งชั่วโมงเพื่อรอให้ผู้ชายไปที่อื่นเสียก่อน

        ข้ามฝั่งไปดูสถานการณ์ที่จีนกันบ้าง ประเทศที่ครองแชมป์ประชากรสูงสุดของโลก ภาพห้องน้ำที่มีกองซากอารยธรรมทับถมกัน บางแห่งไม่มีประตูบ้าง ที่กั้นบ้าง หรือไม่ก็มีลักษณะเป็นรางยาว ๆให้กองอารยธรรมได้ไหลผ่านไปให้ทุกคนได้เห็น เหล่านี้กลายเป็นเรื่องเล่าชวนขนลุกของนักเดินทางทั่วโลกที่เคยมาเยือนจีน

ปฏิวัติส้วมในจีน 
        ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศปฏิวัติส้วมในชนบทของประเทศ โดยมีเป้าหมายว่าจะมีส้วมที่สะอาดทั่วประเทศ ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศนี้ จีนไม่ได้มองว่าระบบสุขาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญเท่าไร เมื่อแจ็กลงพื้นที่ไปพูดคุยกับนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจีน แม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะมีนักเรียนจำนวนมาก แต่จำนวนห้องน้ำกลับมีอยู่เพียงน้อยนิด แน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนทั้งโรงเรียน แถมยังมีสภาพชวนขนลุก ไม่ถูกสุขอนามัยอย่างยิ่ง

        เมื่อแจ็กถามนักเรียนว่า ได้บอกให้พ่อแม่สร้างห้องน้ำดี ๆที่บ้านบ้างไหม นักเรียนหลายคนกลับมองว่า ห้องน้ำไม่ใช่เรื่องสำคัญสักเท่าไร ถึงเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตและพัฒนาไปเร็วมาก แต่ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงปี 1990-2008 จะพบว่าจำนวนคนที่ขับถ่ายกลางแจ้งกลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

        แม้ว่าการปฏิวัติส้วมจะช่วยให้เกิดการขยายตัวของระบบท่อระบายน้ำทิ้งสาธารณะในเมืองใหญ่ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ แต่ไม่ได้แปลว่าชาวจีนทุกคนจะเข้าถึงสุขาภิบาลที่ดี เพราะถึงแม้จะมีการพัฒนาพื้นที่อย่างรวดเร็ว แต่ชุมชนในย่านเก่า ๆก็ยังไม่ได้รับพัฒนาเท่าที่ควร พื้นที่เหล่านี้มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่มาก พวกเขายังใช้กระโถน และยังเอาของเสียไปทิ้งยังจุดทิ้งขยะของชุมชน วิถีชีวิตรูปแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่เท่าไร พวกเขาจึงออกจากชุมชน ทิ้งให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอยู่กันตามลำพัง

        เมื่อชาวจีนจากชนบทจำนวน 225 ล้านคน อพยพเข้าเมืองใหญ่ พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าที่พักในราคาสูงลิ่วได้ ก็เลยต้องอยู่ในที่พักที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบสุขาภิบาลที่ดี จึงถูกคนเมืองที่มีฐานะร่ำรวยกว่าดูถูกว่าทำให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่สกปรก เมื่อโดนต่อว่าแบบนี้ ประกอบกับอยากมีความสะดวกเหมือนคนเมือง ชาวจีนจากชนบทเลยติดตั้งส้วมแบบชักโครกกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำของชุมชน ของเสียทั้งหมดจึงไหลลงถนนโดยตรง เทศบาลจีนจึงต้องพัฒนาส้วมในย่านเก่า ๆโดยสร้างให้อยู่ในที่พัก และเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำ แต่ของเสียก็ยังไม่ได้ถูกกำจัดที่โรงบำบัด เช่นเดียวกับอินเดียที่ส่วนมากทำลายแหล่งน้ำโดยรอบ และปะปนเข้าสู่ระบบนิเวศ

ส้วมดี เศรษฐกิจดี
        สื่อจีนรายงานในปี 2017 ว่ารัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมมีแผนตั้งและพัฒนาส้วมอีก 64,000 แห่งตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในปี 2018-2020 เนื่องจากเศรษฐกิจในหลาย ๆจังหวัดขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยิ่งส้วมได้รับการพัฒนามากเท่าไร นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะยิ่งกล้ามาเที่ยวมากขึ้น

        ถือเป็นเรื่องดีที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสุขาภิบาลมากขึ้น เพราะตราบใดที่เรายังไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อให้รวยแค่ไหน เราก็มีสิทธิ์ท้องร่วงจากอาหารที่ปะปนเชื้อโรคได้อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราต้องทำไปพร้อม ๆกันคือการปกป้องชีวิตคน สภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนให้เรื่องส้วม ๆกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเท่าเทียมกัน เหมือนกับที่แจ็กบอกว่า “เมื่อเราเปิดประตูส้วม ข้างในมันไม่ใช่แค่ส้วม แต่มันคืออนาคตของเรา” Happy World Toilet Day !!

อ้างอิง
https://bit.ly/3qJe44Z
https://bit.ly/3qLdgN8
https://bit.ly/3DvUb5a
https://bit.ly/3nmS4uD
https://bit.ly/3cgmVmm

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS