สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา ประจำเดือนพฤศจิกายน

A A
Nov 28, 2021
Nov 28, 2021
A A

     อีกเพียง 1 เดือนเราก็จะผ่านปี 2021 ไปแล้วแต่ที่น่าเศร้าคือโลกของเรายังคงต่อสู้กับโควิด-19 มาอย่างยาวนานและไม่มีแนวโน้มที่โรคนี้จะหายไป สถานการณ์การศึกษาทั่วโลกจึงยังคงต้องดูท่าทีของโควิด-19 ต่อไป อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ถูกกระทบจนส่งผลต่อการศึกษาด้วยเช่นกันในหลาย ๆ ประเทศ ในเรื่องของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนเฉียบพลัน การเรียนรู้ถดถอยที่เป็นกันทั่วโลก และปัญหาการตกงานจนส่งผลกระทบต่อตัวเด็กในครอบครัวและเด็กจบการศึกษาใหม่

ถึงอย่างนั้นโลกเราก็ยังไม่หมดศรัทธา องค์กรสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ได้มีโครงการเข้ามาช่วยเหลือเหล่าเด็ก ๆ ยากจนโดยมีโครงการชื่อว่า School Meals Coalition หรือ “ความร่วมมือเพื่อมื้ออาหารโรงเรียน” จัดทำร่วมกับรัฐบาลนานาประเทศมากกว่า 60 ชาติ รวมไปถึงหน่วยงาน และองค์กรพันธมิตรในสังกัดของ UN อีก 50 แห่ง โดย 5 หน่วยงานหลักคือ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (U.N. Children’s Fund), โครงการอาหารโลก (WFP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) มีฝรั่งเศสและฟินแลนด์เป็นแกนนำหลัก และเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการแล้วในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการอาหารกลางวันช่วยยกระดับโภชนาการ สุขภาพ และยังดึงดูดเด็ก ๆ ให้มาโรงเรียนเพื่อพัฒนาการการเรียนรู้ และดูแลความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว โดย UN ได้มีเป้าหมายระยะยาวคือการสร้างหลักประกันเพื่อรับรองว่าเด็กทุกคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทั่วโลก จะได้รับมื้ออาหารเปี่ยมโภชนาการ และเต็มไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่โรงเรียนภายในปี 2030 โครงการนี้กล่าวได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการช่วยฟื้นฟู รักษาความเท่าเทียมทางสังคม และสร้างเครือข่ายที่มั่นคงในชุมชนหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

องค์กรสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN)

        อินเดีย หนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และอัตราการเรียนรู้ถดถอยสูงมากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน กับโครงการ ‘Education at doorstep’ หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นว่า ‘Illam Thedi Kalvi’ เปิดรับอาสาสมัครที่มีระดับการศึกษาตั้งแต่เกรด 8 (มัธยมต้นปีที่2) ขึ้นไปเข้าร่วมการคัดเลือกเพื่อช่วยสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ตามชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนในอินเดีย โดยเฉพาะเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งได้รับผลกระทบด้านการศึกษาอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีการนำร่อง 8 เขตการศึกษาหลักพื้นที่ตอนใต้ของอินเดีย ถึงแม้ว่าโครงการนี้จะมีเจตนาที่ดีและน่าสนับสนุนเพียงใดแต่คุณครูและนักการศึกษาบางส่วนยังแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการสอนเนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้ไม่ใช่ครูมืออาชีพ

อินเดีย หนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

        และในประเทศไทยของเราเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ ได้มีการร่วมมือกันของกระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาช่วยเหล่าเด็ก ๆ หลายคนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจ การยากจนเฉียบพลันรวมถึงเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่มีมาแต่เดิมอีกด้วย ผ่านโครงการ “นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การวิจัยพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา” โดยการใช้เครื่องมือการคัดกรองความยากจนด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ของ กสศ. เพื่อให้รัฐบาล รัฐสภา สำนักงบประมาณ มั่นใจว่าสนับสนุนงบประมาณถูกคน ยากจนจริง ยังนำมาสู่การเชื่อมต่อระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สช.กว่า 3,902 แห่ง ในปีแรกนี้ กสศ.จะเริ่มต้นทำงานกับโรงเรียนเอกชนประเภทการกุศล 566 แห่งจากการคัดกรอง สามารถช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค สังกัด สช.ได้จำนวน 2,500 คน คนละ 3,000 บาท/ปี เพื่อบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน ค่าครองชีพ ค่าอาหารเช้า พร้อมทั้งมีระบบติดตามการมาเรียน ผลการเรียน และการเจริญเติบโตของนักเรียนอย่างต่อเนื่องและในปีถัดไปคาดหวังว่าระบบการคัดกรองจะรวดเร็วขึ้นเพื่อสำรวจและจัดทำงบประมาณเข้าช่วยเหลือเด็ก ๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

การศึกษาในประเทศไทย

นอกจากนี้ที่ สหรัฐอเมริกา ยังเล็งเห็นปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการเรียนรู้ถดถอยเพราะโควิด-19 เท่านั้น แต่เป็นการสอนให้เหล่าเด็ก ๆ ปรับตัวและคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยได้ยกโครงการ Canopy Project เข้ามาเป็นแบบอย่างในการแนะนำ ซึ่งโครงการนี้ได้ทำการติดตามโรงเรียนหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐฯ ว่ามีการปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง โรงเรียนเหล่านี้ปรับตัวโดยเน้นรูปแบบการวางนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนที่มีศักยภาพในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ฝังรากลึกยาวนานในอเมริกา และได้ยกตัวอย่างวิธีการที่โรงเรียนในสหรัฐฯ นำมาใช้สรุปมาเป็น 3 บทเรียนสำคัญที่จะนำไปต่อยอดและปรับใช้ได้ ดังนี้

  1. ปรับปรุงการสื่อสารและผนึกกำลังร่วมกับครอบครัว (Strengthening communication and partnership with families) เป็นวิธีที่ให้คุณครูสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวของเด็กนักเรียน โดยการใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองกรอกอุปกรณ์สำหรับเรียนทางไกลที่ขาดเหลือ ปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก ความมั่นคงด้านอาหาร และประเด็นอื่นๆ ทุกอาทิตย์ที่ให้ผู้ปกครองอัปเดตและขอความช่วยเหลือได้หากมีปัญหาในขณะเดียวกันก็ไม่รบกวนเวลาของผู้ปกครองมากจนเกินไป ซึ่งจากการทำแบบสอบถามนี้เป็นประจำทำให้ทางโรงเรียนติดตามผลเด็ก ๆ ได้และประสานกับผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางแก้ไขหากพบว่าเด็กมีแนวโน้มภาวะถดถอยหรือเจ็บปวดทางจิตใจ
  2. ออกแบบกระบวนการสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของเด็กแต่ละคนเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสที่พวกเขาแสวงหา (Personalizing supports to ensure all students get the opportunity they need) โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐคอนเนตทิคัต ได้มีโครงการรับฟังเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ “What you need Wednesdays” โดยทุกวันพุธจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมตามใจชอบ และมีช่องทางให้เปิดอกคุยกับคุณครูตัวต่อตัว ส่งเสริมคณะตัวแทนนักเรียน รวมถึงจัดหาทุนการศึกษาที่เหมาะกับความต้องการและความสนใจของเด็กในโรงเรียน
  3. ขยายแนวคิดว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ไม่จำกัดสถานที่ (Expanding the idea of where learning can happen) อย่างที่ทั่วโลกเป็นเนื่องจากโควิด-19 ทำให้การศึกษาต้องปรับรูปแบบมาเป็นออนไลน์ และแม้ว่าผลที่ออกมาจะไม่ดีนักเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่กะทันหันแต่ก็มีข้อดีและสามารถต่อยอดจุดประกายสิ่งใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้นอกกรอบและทักษะการปรับตัวอีกด้วย โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐได้ค้นพบมุมมองใหม่ ๆ และอยากที่จะเรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตมากขึ้น อีกทั้งในหลายโรงเรียนได้ตระหนักถึงสิ่งนี้และริเริ่มหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดรับกับโลกดิจิทัลในอนาคตอีกด้วย
แนวโน้มเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงานเป็นระยะเวลานาน

        และปัญหาที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กบางคนต้องหลุดจากระบบการศึกษาอย่างปัญหาเศรษฐกิจไม่ว่าจะผู้ปกครองต้องตกงานกะทันหัน ยากจนเฉียบพลัน หรือจำนวนเด็กจบใหม่ที่ว่างงาน อย่างในสหราชอาณาจักรที่มีโครงการสนับสนุนเด็กจบใหม่อย่างโครงการ Kickstart มูลค่า 2,000 ล้านปอนด์ในการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทั่วอังกฤษที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาและแนวโน้มเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงานเป็นระยะเวลานาน ที่ภาครัฐได้ร่วมมือกับภาคเอกชนชั้นนำในประเทศ โดยคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16- 24 ปี ที่เข้าร่วมโครงการจับคู่กับหน้าที่ตามความถนัดและมีโค้ชในศูนย์จัดหางานคอยสอนและดูแลก่อนเข้าสัมภาษณ์กับเหล่านายจ้างเพื่อพิจารณาการจ้างงานต่อไป ในระหว่างการฝึกปฏิบัติรัฐบาลจะสนับสนุนค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 6 เดือนและเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาทักษะ 1,500 ปอนด์ต่อตำแหน่ง ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาในระยะ 1 ปี และเปิดเผยผลความสำเร็จของโครงการในเดือนพฤศจิกายนนี้สามารถผลักดันเด็กให้เรียนจบและมีการงานมั่นคงกว่า 100,000 คน

 

อ้างอิง
https://www.eef.or.th/news-school-lunches-hunger-children/?fbclid=IwAR1PMEbPrOZ18PehLg6wrhwvS4vXexxMPn5AaAs1PpV3SUlQCO3_MK0Qn00
https://time.com/6120401/school-lunches-hunger-children/
https://www.eef.or.th/news-education-at-doorstep-india/?fbclid=IwAR2vjfn1JF-BafhewTt59klv74WMMzQPzeK7JPBE18OoQDv0DibeXN1vV7Y
https://www.eef.or.th/news-innovation-to-screen-poor-and-disadvantaged-children-181121/?fbclid=IwAR21A9KKsegeJihVmm-AVEUp0KCpTSmkwjEprVr4pvaiIKoCaIJk2yxrwfc
https://www.eef.or.th/news-commentary-not-just-recovery-but-reinvention-3-lessons-from-schools-where-covid-innovations-offer-new-solutions/?fbclid=IwAR047j3zohQtj5LMSVKrf2QvWnqm5qOeXaw3Aj5HQlC–NVcWxHgNYlbXXg
https://www.eef.or.th/news-budget-2021-rishi-sunak-to-pledge-funding-for-t-levels/?fbclid=IwAR27gFYhAzcsYqlNuGHfS8berBJ8B4CL4-lYP4rdcpfz2jUgjrAlFWywEuY

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS