The CHAIR ซีรีส์โลกของการศึกษาที่หยุดนิ่งไม่ได้ สู่คำถามถึงการศึกษาในอนาคต

A A
Oct 7, 2021
Oct 7, 2021
A A

The CHAIR ซีรีส์โลกของการศึกษาที่หยุดนิ่งไม่ได้ สู่คำถามถึงการศึกษาในอนาคต

 

     โสเครติส นักปราชญ์กรีกโบราณ ผู้วางรากฐานปรัชญาตะวันตกเคยกล่าวไว้ว่า ‘Education is the kindling of a flame, not the filling of a vessel’ แม้เวลาจะผ่านไปหลายพันปี แต่คำกล่าวนี้ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ หากใครมีโอกาสได้ดู The CHAIR ทาง Netflix ซีรีส์ที่เล่าเรื่องของ “คิม จียุน” อาจารย์ชาวเกาหลีที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวรรณคดีภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเพมโบรคอันโด่งดัง เธอจึงกลายเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เราอาจเห็นภาพของการศึกษาอยู่หลายประเด็นที่ชวนตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้วการศึกษาในอนาคตต้องเป็นอย่างไรกันแน่

 

ซีรีย์ The CHAIR

ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีย์ : The CHAIR

The CHAIR โลกเปลี่ยนไปทุกวัน เราจะสอนแบบเดิม ๆ ไม่ได้

     หนึ่งในประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนจาก The CHAIR คือปัญหาของอาจารย์ยุคเก่าที่ยังคงใช้วิธีการสอนเดิมๆ กับนักศึกษารุ่นใหม่ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ผลที่ตามมาไม่เพียงแค่ยอดนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนจะน้อยจนน่าใจหายเท่านั้น แต่อาจารย์เจ้าของรายวิชายังอาจโดนเพ่งเล็งให้ต้องเกษียณก่อนกำหนด หรือถูกถอดออกจากรายวิชานั้นได้ ในเรื่องเราเห็นว่าอาจารย์รุ่นใหม่หยิบยกเอาวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง  Moby Dick ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ มาสอน แต่ปรับรูปแบบการสอนเสียใหม่ เลยดึงดูดความสนใจจากนักศึกษาได้มากกว่า และยังเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์รุ่นเก่าพยายามจะหลีกเลี่ยงมาตลอด ชั้นเรียนของอาจารย์คนนี้จึงแทบจะไม่มีที่นั่งว่าง บรรยากาศในห้องเต็มไปด้วยสีสันและพลังอันล้นเหลือ 

     การปรับรูปแบบการสอนของอาจารย์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนจึงไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ที่ครูทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ เมื่อโควิดระบาดครูต้องหันมาสอนออนไลน์แทน ทั้งๆ ที่ครูส่วนมากไม่เคยทำมาก่อน ชีวิตจริงของเราต่อให้ไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น ครูก็ยังคงต้องพัฒนารูปแบบการสอนของตัวเองอยู่เสมอ เพราะเวลาเปลี่ยน ผู้เรียนเปลี่ยน ปัจจัยหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป คำถามสำคัญคือ ผู้เรียนยุคใหม่ต้องการอะไร โลกยุคใหม่มองหาทักษะอะไรจากผู้เรียน แล้วเราได้ให้สิ่งนั้นกับนักเรียนของเราแล้วหรือยัง

ยิ่งรู้หลายศาสตร์ ยิ่งได้เปรียบในซีรีย์เรื่อง The CHAIR

     มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 นักเรียนส่วนใหญ่ทั่วโลกจะเรียนรู้ได้โดยที่ไม่ต้องมาโรงเรียน มหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจมีจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนน้อยลง เพราะผู้เรียนสามารถเรียนหลักสูตรของต่างประเทศแบบออนไลน์ได้ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้มากถึงขนาดนี้ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัวกันใหม่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน ทปอ. มองว่า เมื่อโลกเปลี่ยนไป หลักสูตรเดิมที่เคยสอนกันมาหลายสิบปีก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนใหม่ โลกต้องการคนที่มีความรู้หลายศาสตร์มากกว่าศาสตร์เดียว

สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้ มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 

  1. หลักสูตรที่มีอยู่ตอบสนองความต้องการของสังคมหรือไม่ 
  2. ต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม 
  3. ต้องทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังต้องมีบทบาทเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ คือ 

  1. เป็นสถานที่ให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ทดลองความรู้ ความคิดใหม่ๆ 
  2. ต้องเชื่อมโยงกับภายนอกมากขึ้น ทั้งภาครัฐ เอกชนและสังคม จะอยู่บนหอคอยงาช้างไม่ได้ 
  3. ต้องสร้างนวัตกรรม เพราะไม่มีที่ไหนในโลกนี้ดีไปกว่ามหาวิทยาลัยที่จะเปิดโอกาสให้บุคลากรของตนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อนาคตจะไม่มองถึงการผลิตคนสายวิทยาศาสตร์ สายสังคมศาสตร์แล้ว แต่จะมองถึงการผลิตคนที่มีความรู้ในหลายๆ ศาสตร์แทน ดังนั้น หลักสูตรที่มีการข้ามศาสตร์ หรือรวมหลายศาสตร์จะมีความต้องการมากขึ้น

บริษัทชั้นนำระดับโลกไม่ต้องการใบปริญญาอีกต่อไป

     เมื่อมองภาพของการศึกษาในบริบทโลก การมีทักษะที่บริษัทต้องการดูจะเป็นสิ่งที่โลกยุคใหม่ให้ความสำคัญมากกว่าใบปริญญาหรือการเรียนจบในมหาวิทยาลัยจริงๆ เสียอีก ถึงขนาดที่อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla ยังออกมาประกาศว่า ใบปริญญาไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรามีความสามารถอะไรที่โดดเด่น บริษัทของเขาไม่ได้สนใจว่าพนักงานจะจบมหาวิทยาลัยหรือไม่ มหาวิทยาลัยสำหรับเขาดูจะไม่ใช่ที่ที่เรามาเรียนรู้ แต่เป็นที่ที่เรามาเล่นสนุกกันมากกว่า เพราะเราสามารถเรียนอะไรบนโลกออนไลน์ก็ได้แบบไม่เสียเงิน แถมมหาเศรษฐีระดับโลกหลายคนก็ยังเคยดร็อปเรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

     ทิม คุก ซีอีโอของ  Apple กล่าวไว้เมื่อปี 2019 ว่าการจ้างงานเกือบครึ่งของบริษัทมาจากพนักงานที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย เหตุผลก็เป็นเพราะมหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ได้สอนทักษะที่องค์กรต้องการ เช่น Coding สิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla, Apple, Google และ Netflix สนใจจริงๆ คือ คน ๆ นั้นมีทักษะที่บริษัทต้องการหรือไม่มากกว่า ข้อมูลจาก LinkedIn ยังพบว่าบริษัทดังๆ ในหลายประเทศก็ไม่ได้บังคับว่าต้องมีใบปริญญาถึงมาสมัครงานได้ งานหลายประเภทก็ยังรับคนที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยอยู่

     อาชีพที่มีอยู่ตอนนี้รวมถึงอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นจนถึงปี 2050 จึงมีความสำคัญต่อทิศทางและรูปแบบของการศึกษาในปัจจุบัน ต่อไปนักเรียนต้องเรียนรู้เรื่องการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ (Additive manufacturing) อย่าง 3D printing การเที่ยวอวกาศ พลังงานหมุนเวียน การสร้าง Virtual environment บล็อกเชน และแอปพลิเคชันต่างๆ เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โรงเรียนจึงต้องปรับหลักสูตร ลดการแบ่งแยกรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี สังคมศึกษา ฯลฯ แล้วปรับมาเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบผสมผสานให้มากขึ้น

 

tesla

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.thetimes.co.uk

 

Ad Astra โรงเรียนพิเศษ เน้นฝึกคิดแก้ปัญหา

     แนวคิดนี้กลายเป็นแนวคิดหลักของอีลอนในการสร้างโรงเรียนที่ชื่อว่า Ad Astra (ภาษาละติน แปลว่า ไปสู่ดวงดาว) สำหรับลูกของเขา 5 คน รวมถึงลูกๆ ของพนักงาน SpaceX ในปี 2014 จากเดิมเขาเองก็ไม่ได้ต่างจากพ่อแม่ทั่วไปที่ส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ แต่เมื่อเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้เตรียมทักษะให้เด็กๆ พร้อมเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง เขาจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนขึ้นมาเองเสียเลย โดยมีโจชัว ดาห์น ครูจากโรงเรียนเอกชนที่ลูกของเขาเคยเรียนอยู่ ซึ่งเป็นครูที่เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษา มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเด็กปัญญาเลิศและยังสามารถออกแบบหลักสูตรได้ มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนนี้

 

     ความพิเศษของ Ad Astra คือการนำเด็กอายุ 7-14 ปี มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกระดับชั้น และไม่มีการให้เกรด เพราะเด็กมีความถนัดและความสนใจที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ที่นี่เน้นฝึกให้เด็กได้แก้ปัญหา เรียนรู้เรื่อง AI และการสร้างสิ่งต่างๆ เช่น บอลลูนอากาศ หุ่นยนต์นักสู้ แต่ไม่มีบางวิชาที่โรงเรียนทั่วไปมี เช่น กีฬา ดนตรี และภาษาต่างประเทศ เพราะอีลอนมองว่าโปรแกรมแปลภาษาจะเข้ามาแทนที่ได้ นอกจากนี้โรงเรียนยังมีหน่วยเงินของตัวเองที่เรียกว่า ‘Astra’ อีกด้วย เป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รู้จักการเป็นผู้ประกอบการ

 

ต่อยอดสู่ ‘Synthesis’ แพลตฟอร์มออนไลน์ ตอบโจทย์การศึกษาในอนาคต

หลายปีต่อมาโรงเรียนและวิธีการสอนแบบนี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ รวมถึงพ่อแม่ที่อยู่ใน

     แคลิฟอเนียซึ่งเป็นที่ตั้งของ SpaceX ด้วย พวกเขาเริ่มมองหาโรงเรียนแบบนี้ให้ลูกหลานตัวเอง ความสำเร็จของ Ad Astra แว่วมาถึงหูของคริสแมน แฟรงค์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์การศึกษาที่มีผลงานอันโดดเด่น เขาเคยเป็นวิศวกรให้กับ ClassDojo ซึ่งเป็นแอปที่ช่วยให้ครูและผู้ปกครองสื่อสารกันได้สะดวกยิ่งขึ้น วันหนึ่งแฟรงค์และซีอีโอของบริษัทมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม Ad Astra แฟรงค์ประทับใจสิ่งที่เขาได้เห็นที่โรงเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคลาสที่ชื่อว่า  ‘Synthesis’ (การสังเคราะห์) ที่นักเรียนจะได้มีส่วนร่วมกับการเล่นเกมแบบทีมที่มีความซับซ้อน ซึ่งโจชัวครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นคนคิดขึ้นเอง มีการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา การจำลอง สิ่งท้าทายต่างๆ โดยมีเกมเป็นฐาน ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และที่นี่เองที่แฟรงค์ได้รู้จักกับโจชัวจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Synthesis’ ที่ทั้งคู่มองว่านี่แหละคือการศึกษาที่จะตอบโจทย์โลกสมัยใหม่

 

     Synthesis จึงเป็นการนำเอาโมเดลคลาส Synthesis ของ Ad Astra มาพัฒนาสเกลให้ใหญ่ขึ้น โดยก่อนหน้าที่ Synthesis จะเกิดขึ้นนั้น แฟรงค์และโจชัวได้ออกมาทำโรงเรียนร่วมกันที่ชื่อว่า ‘Astra Nova’ แปลว่าดาวดวงใหม่ในภาษาละติน  เป็นโรงเรียนอิสระสำหรับพ่อแม่ทั่วไปที่สนใจอยากส่งลูกหลานที่มีอายุระหว่าง

 

     10-14 ปี เข้ามาเรียน โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นลูกหลานของพนักงาน SpaceX เท่านั้น พูดง่ายๆ คือเป็นโรงเรียนที่ได้แนวคิดมาจาก Ad Astra แต่ต่อยอดให้เด็กทั่วไปมีสิทธิ์เข้าเรียนได้ด้วย

 

     จนกระทั่งเมื่อโลกเกิดวิกฤตโควิดระบาด แฟรงค์และโจชัวเห็นว่า นี่เป็นโอกาสดีที่จะทำให้เด็กทั่วโลกได้เข้าถึงโรงเรียนแบบ Astra Nova พวกเขาจึงนำแนวคิดของโรงเรียนมาขยายต่อ สร้างเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ Synthesis ที่เด็กทั่วโลกเข้าถึงได้ ถึงเด็กๆ จะไม่ได้เจอกันตัวเป็นๆ แต่พวกเขาจะได้ฝึกคิดอะไรที่ยากซับซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หายไปจากหลักสูตรทั่วไป และที่สำคัญคือสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ทุกวันบนแพลตฟอร์มนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาจะได้ใช้จริงในอนาคตแน่นอน

 

 

     ถึงโลกยุคใหม่จะต้องการคนที่มีทักษะที่เก่งและหลากหลายขึ้น ความท้าทายดูเหมือนจะตกอยู่กับครูที่ต้องช่วยเตรียมทักษะเหล่านี้ให้เด็กของเราพร้อมที่สุดเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น มองในมุมกลับกันเราเห็นทางเลือกและโอกาสมากมายที่เกิดขึ้นกับโลกการศึกษาที่พร้อมจะสนับสนุนครูและเด็กให้มีทักษะที่โลกต้องการมากที่สุด คำถามจึงน่าจะอยู่ที่เรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องหรือเปล่า การจัดการเรียนรู้ของเรายังตอบโจทย์สิ่งที่สังคมคาดหวังไหม คงไม่เป็นไรถ้าเราเคยหลงทางมาบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้เรากลับมายังเส้นทางที่ถูกต้องได้เร็วที่สุด เพราะคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเด็กๆ ของเราเอง

 

อ้างอิง

 

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS