อุปสรรคยุ่งเหยิง ยิ่งเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

A A
Jan 23, 2022
Jan 23, 2022
A A

อุปสรรคยุ่งเหยิง ยิ่งเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

 

ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานแล้วมักจะหมดไอเดียอยู่บ่อย ๆ บางทีเราอาจจะต้องใส่ความยุ่งเหยิงให้ชีวิตดูบ้าง ใช่แล้วล่ะ ความยุ่งเหยิงนี่แหละที่ทำให้เราสร้างสรรค์ขึ้น เรื่องนี้มีการวิจัยและพิสูจน์มาแล้วมากมายจนเรียกว่าได้เป็นทางลัดของการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ หรือใช้แก้ปัญหาที่ยุ่งยากในเวลาที่สั้นที่สุดได้ ประเด็นสำคัญคือมันต้องยุ่งเหยิงมากพอ ถึงขนาดที่ว่าถ้าคุณเป็นนักร้องก็อาจปาไมค์ใส่ผนังห้องอัดไปแล้ว อะไรทำให้สองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันได้ เรามาหาคำตอบกัน

เปียโนที่ไม่น่าจะเล่นได้

สมมติว่าเราเป็นนักเปียโนฝีมือดีที่กำลังจะแสดงโชว์ที่โอเปร่าเฮ้าส์ต่อหน้าผู้ชม 1,400 คน ก่อนที่คอนเสิร์ตจะเริ่มไม่เพียงนาน เราเพิ่งรู้ว่าเปียโนที่ทางผู้จัดเตรียมให้นั้นไม่เหมาะที่จะใช้แสดง เนื่องจากมีแป้นช่วงเสียงสูงที่แข็งและเล็ก เพราะค้อนเคาะโน้ตสึกหมดแล้ว แป้นสีดำก็หนืด แป้นสีขาวก็เสียงเพี้ยน คันเหยียบใช้งานไม่ได้ แถมเปียโนก็ยังตัวเล็กไป ไม่สามารถสร้างพลังเสียงที่ดังพอสำหรับสถานที่ใหญ่โตเช่นโอเปร่าเฮ้าส์ได้ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์นี้เราจะทำอย่างไร

แน่นอนว่าเราจะขอให้ผู้จัดหาเปียโนให้ใหม่ ไม่งั้นก็เล่นไม่ได้ แต่ในชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ผู้จัดหาคนปรับเสียงเปียโนได้ แต่ไม่สามารถหาเปียโนตัวใหม่ได้ทัน สุดท้าย เราอาจนึกถึงทางเลือกเดียวที่มีคือ เลื่อนหรือยกเลิกคอนเสิร์ตไปเสียเลย แต่ถ้าเรารู้ว่าผู้จัดคอนเสิร์ตคนนี้อายุแค่ 17 ปี เราเห็นเธอวิ่งวุ่นพยายามแก้ปัญหาให้ ตัวเปรอะเปื้อน เปียกปอนเพราะฝนตก แถมยังขอร้องไม่ให้เรายกเลิกคอนเสิร์ตอีก แล้วเรายกเลิกได้ลงคอจริง ๆ เหรอ

แล้วถ้าไม่ยกเลิกล่ะ เราจะเล่นเปียโนที่อยู่ในสภาพไม่พร้อมต่อหน้าผู้ชม 1,400 คนได้อย่างไร เป็นไปได้ไหมที่เราจะลองเล่นเปียโนตัวนั้นโดยเลี่ยงใช้โน้ตเสียงสูง พยายามใช้ช่วงเสียงกลาง สร้างเสียงฮึมซ้ำ ๆ ในช่วงเสียงเบส เพื่อแก้ปัญหาเปียโนเสียงเบา หรืออาจจะต้องยืนขึ้น บิดตัว แล้วกระหน่ำดีดแป้นให้ผู้ชมแถวหลังได้ยิน
ถ้ามันยากขนาดนี้เราอาจถอดใจและยอมยกเลิกคอนเสิร์ตไปเลยชนิดไม่แคร์เสียงด่า แต่มีคน ๆ หนึ่งที่ไม่ยอมถอย เขาคือ คีธ จาร์เรทท์ นักเปียโนชาวอเมริกัน ผู้ยอมเล่นเปียโนที่ไม่น่าจะเล่นได้ ค่ำคืนนั้นคนดูประทับใจมาก เทปบันทึกคอนเสิร์ตนี้เป็นอัลบั้มเปียโนที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังเป็นอัลบั้มเดี่ยวแจ๊สที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย คืนนั้นคีธถูกหยิบยื่นความยุ่งเหยิงให้ แต่เขานำมันมาใช้ และทำให้มันงดงาม
และนี่คือเรื่องจริงที่ถ่ายทอดบนเวที TED Talk โดย ทิม ฮาร์ฟอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ในหัวข้อ How frustration can make us more creative แรกเริ่มเดิมที คีธก็ไม่ได้ต่างจากเราทุกคน ไม่มีใครอยากทำสิ่งดี ๆ ด้วยเครื่องมือที่แย่ ๆ เราไม่อยากเผชิญกับความลำบากที่ไม่จำเป็น แต่เพราะความสงสาร เวร่า บรานเดส ผู้จัดคอนเสิร์ตที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 17 ปี นี่จึงเป็นการพิสูจน์ว่าสัญชาตญาณของเราทุกคนที่อยากจะยอมแพ้นั้นผิด ความยุ่งเหยิงนี่แหละที่ผลักดันให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่เราก็คาดไม่ถึง

ไม่เฉพาะแค่เหตุการณ์นี้เท่านั้น ทิมยังได้ยกตัวอย่างในเชิงจิตวิทยาการรู้คิด จิตวิทยาสังคม และวิทยาศาสตร์เชิงซับซ้อน ให้เราได้เห็นภาพเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้นักจิตวิทยาที่ชื่อ แดเนียล ออพเพนไฮเมอร์ เคยร่วมมือกับครูมัธยมฯ ขอให้เปลี่ยนรูปแบบเอกสารที่ต้องแจกให้นักเรียน จากที่เคยใช้ฟอนต์อ่านง่าย เช่น เฮลเวติกา หรือทามส์ นิว โรมัน ก็เปลี่ยนมาเป็นฟอนต์ที่ดูแน่น ๆ หรือสนุก ๆ เช่น โคมิค แซนส์ แบบเอนขวา ปรากฏว่านักเรียนที่ต้องอ่านตัวอักษรที่อ่านยากทำคะแนนสอบได้ดีกว่าในหลายวิชา เพราะยิ่งอ่านยากก็ยิ่งต้องอ่านช้าลง เป็นการบังคับให้นักเรียนต้องพยายาม หรือตีความถึงเรื่องที่อ่านอยู่ให้มากขึ้น เลยได้เรียนรู้มากขึ้นตามไปด้วย

ปรับแก้ทีละนิดไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

แม้แต่เรื่องการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมาก ๆ ในการทำงานก็สามารถใช้หลักการนี้ได้เช่นเดียวกัน สมมติเราจะสร้างเครื่องบินไอพ่นสักลำหนึ่ง แน่นอนว่า Prototype อันแรกจะไม่ใช่เวอร์ชันไฟนอลที่พร้อมใช้งาน เพราะจะมีปัญหาที่ต้องค่อย ๆ ปรับแก้ไปทีละขั้น การแก้ปัญหาทั้งหมดในครั้งเดียวดูเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เราแก้ไปเรื่อย ๆ จนได้เครื่องบินที่ดีที่สุด นักออกแบบเว็บไซต์ก็ใช้หลักการปรับทีละขั้นให้เว็บออกมาดีที่สุดเช่นกัน จนเราเชื่อว่าการปรับแก้ทีละนิดคือแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยาก

เรากำลังเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ทิมแนะว่าวิธีที่ดีกว่าคือ ให้ใส่ความยุ่งเหยิงเข้าไปเลย ลองทำอะไรเพี้ยน ๆ โง่ ๆ วิธีแบบนี้จะทำให้การแก้ปัญหาดีขึ้น เพราะการปรับให้ดีขึ้นทีละนิดอาจพาเราไปสู่ทางตันทีละนิด แต่ถ้าเราเริ่มจากการสุ่ม โอกาสที่จะเจอทางตันจะน้อยลง การแก้ปัญหาจะได้ผลมากกว่า

ทำงานกับคนแปลกหน้าจะได้งานที่ดีกว่าทำกับเพื่อน

งานวิจัยในเชิงจิตวิทยาสังคมโดยแคทเธอรีน ฟิลลิปส์ และเพื่อนร่วมงานของเธอ ยังพบว่าการทำงานกับคนที่เราไม่รู้จักมาก่อนจะได้งานที่ดีกว่าการทำงานกับคนรู้จักเพียงอย่างเดียว ในการทดลองนี้เธอให้โจทย์ปริศนาฆาตกรรมกับนักศึกษาแต่ละกลุ่ม มีข้อมูลเป็นตั้ง ๆ เกี่ยวกับการฆาตกรรม แต่ละกลุ่มจะมี 4 คน ทุกกลุ่มจะต้องหาว่าใครเป็นฆาตกร บางกลุ่มทุกคนเป็นเพื่อนกัน บางกลุ่มมีเพื่อน 3 คน คนแปลกหน้า 1 คน
ข้อมูลพบว่ากลุ่มที่มีคนแปลกหน้าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า เพราะกลุ่มเพื่อน 4 คนจะมีโอกาสตอบถูกแค่ 50% แต่กลุ่มเพื่อน 3 คน คนแปลกหน้า 1 คน มีโอกาสตอบถูก 75% สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่กลุ่มที่มีคนแปลกหน้าตอบถูกมากกว่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรู้สึกของคนแต่ละกลุ่มด้วย กลุ่มเพื่อน 4 คน บอกว่ามีช่วงเวลาที่ดีด้วยกัน คิดว่าตัวเองก็ทำได้ดี รู้สึกพอใจ แต่กับกลุ่มเพื่อนที่มีคนแปลกหน้า กลุ่มนี้ไม่ได้มีช่วงเวลาที่ดี บรรยากาศค่อนข้างอึดอัด เต็มไปด้วยข้อสงสัย ต่างคนต่างคิดว่าทำได้ไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ทำได้ดี

ในวงการร็อกแอนด์โรลล์เองก็มีเคสหนึ่งที่พิสูจน์ได้ชัดมาก ไบรอัน อีโน คือนักแต่งเพลงชื่อดัง ที่อยู่เบื้องหลังอัลบั้มร็อกแอนด์โรลล์เยี่ยม ๆ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ไบรอันทำเพื่อพัฒนาวงร็อกเหล่านี้คือสร้างความยุ่งยาก ก่อกวนความคิดสร้างสรรค์ของวง บทบาทของเขาคือคนแปลกหน้าที่น่าอึดอัด บอกให้วงร็อกเล่นเปียโนที่เล่นไม่ได้ เขามีปึกการ์ดที่เรียกว่า กลยุทธ์บิดเบือน เมื่อไรที่ไอเดียมาถึงทางตัน เขาจะสุ่มจับการ์ดมาใบหนึ่ง แล้วให้ทั้งวงทำตามการ์ดนั้น เช่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีกัน หรือรวมหัวกันทำอะไรที่กะทันหัน ทำลายล้าง และคาดเดาไม่ได้ การ์ดนี้เป็นตัวพลิกผันสถานการณ์มากนักต่อนัก แต่นักดนตรีเกลียดมาก

ไบรอัน อีโน นักแต่งเพลงชื่อดัง

(ไบรอัน อีโน นักแต่งเพลงชื่อดัง ผู้อยู่เบื้องหลังอัลบั้มร็อกแอนด์โรลล์เจ๋ง ๆ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา)
ภาพจาก : https://pitchfork.com/features/interview/10023-a-conversation-with-brian-eno-about-ambient-music/

ประเด็นที่ทิมชี้ให้เห็นคือ การที่เราไม่ชอบมัน ไม่ได้หมายความว่ามันจะช่วยเราไม่ได้ ในตอนแรกกลยุทธ์บิดเบือนไม่ได้เป็นการ์ดแบบนี้ มันเป็นแค่ข้อความบนกำแพงของสตูดิโอเพลง เป็นลิสต์ให้ลองทำเวลาคิดอะไรไม่ออก แต่มันไม่ได้ผล เพราะไม่ยุ่งเหยิงพอ เราจะแค่กวาดสายตาไปตามลิสต์แล้วหยุดตรงอันที่ทำให้เราติดขัดน้อยที่สุด เกิดปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งผิดประเด็นมาก ๆ เราต้องมีแรงจูงใจด้วยถ้าเราจะยอมรับมัน ไม่ว่าเราจะทำเพราะความตั้งใจ เพราะเปิดการ์ด หรือเพราะรู้สึกผิดต่อวัยรุ่นชาวเยอรมันคนหนึ่ง

ความโกรธช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

งานวิจัยในปี 2014 ยังพบอีกว่า ความโกรธหรืออารมณ์เชิงลบนั้นช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้ ขณะที่อารมณ์เชิงบวกกลับจำกัดต่อมคิดสร้างสรรค์ของคนเรา อีกงานวิจัยหนึ่งก็อธิบายเรื่องความโกรธกับสมองไว้ว่าโดยธรรมชาติแล้วจะมีแรงกระตุ้นพื้นฐานสองอย่างที่สนับสนุนพฤติกรรมของเรา อันแรกจะกระตุ้นให้เราเข้าใกล้สิ่งที่ต้องการ ส่วนอันสองจะกระตุ้นให้หนีออกจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เราอาจคิดว่าความโกรธจัดอยู่ในประเภทสอง แต่ดร.เนอุส เอร์เรโร จากมหาวิทยาลัยวาเลนเซียในสเปนพบว่า ความโกรธจะกระตุ้นเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าด้านซ้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่สำคัญต่อการสร้างพฤติกรรมเข้าใกล้ที่ผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ พูดง่าย ๆ คือเมื่อเราโกรธอะไร เรามักเข้าใกล้สิ่งนั้นมากกว่าพยายามกำจัดมัน

นี่คือตัวอย่างของความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ ทั้งตัวอักษร คนแปลกหน้า การทำอะไรแบบสุ่ม สิ่งรบกวนเหล่านี้ช่วยเราแก้ปัญหา ช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ แต่เรากลับคิดว่ามันเป็นอุปสรรคก็เลยต่อต้าน เหตุการณ์ที่เป็นที่ประจักษ์ของคนทั้งโลกคือช่วงวิกฤตโควิด เราทุกคนถูกหยิบยื่นเปียโนให้คนละตัว ความยุ่งเหยิงเข้ามาถึงชนิดที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ ผลักดันให้เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ถึงขีดสุดเพื่อพาให้ชีวิตและธุรกิจอยู่รอด แล้วมันก็พิสูจน์จริง ๆ ว่าสถานการณ์ป่วน ๆ พัง ๆ แบบนี้แหละที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของตัวเอง บางครั้งเราทุกคนก็ต้องนั่งลงและพยายามเล่นเปียโนที่ไม่น่าจะเล่นได้

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/tim_harford_how_frustration_can_make_us_more_creative#t-2814
https://www.fastcompany.com/90529214/anger-and-frustration-can-jumpstart-creativity-use-these-3-tricks-to-channel-it-productively

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS