ยอดไลก์ที่เด็กสนใจ เพราะอะไรหรือแค่อยากให้โลกยอมรับ

A A
Apr 10, 2022
Apr 10, 2022
A A

ยอดไลก์ที่เด็กสนใจ เพราะอะไรหรือแค่อยากให้โลกยอมรับ

  • เป็นเรื่องน่าสนใจว่าอะไรทำให้เด็กเล็กที่กล้าใส่ชุดนอนออกไปเดินนอกบ้านได้สบาย ๆโดยที่ไม่สนใจสายตาคนอื่น เริ่มกลายเป็นเด็กที่แคร์ความคิดของคนอื่นมากขึ้น แม้คนคนนั้นจะไม่ใช่พ่อแม่ตัวเองก็ตาม
  • นักจิตวิทยาพัฒนาการคนหนึ่งได้ออกแบบการทดลองสำหรับเด็กที่อยู่ในรูปแบบเกม Robot Task ที่ไม่เพียงทำให้เรารู้ว่าเด็กจะเริ่มอ่อนไหวต่อการตัดสินของผู้อื่นเมื่อไรเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นด้วยว่า เมื่อไรที่เด็กจะเริ่มปรับพฤติกรรมตัวเองตอนที่รู้ว่ามีคนคอยดูอยู่ ซึ่งนี่แหละคือพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่อย่างเราทำกัน

มนุษย์เรามีพฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างหลาย หนึ่งในนั้นคือเรามักจะสนใจตัวเอง เราหันมองกระจกทุกครั้งที่เดินผ่าน ให้ความสำคัญกับยอดไลก์ ยอดคนติดตามในโซเชียลมีเดีย แต่งตัวให้ทันกับเทรนด์แฟชั่นที่มาไวไปไว เราอาจจะคิดว่าพฤติกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะเราอยากจะเป็นที่ยอมรับของคนอื่น แต่สิ่งที่น่าคิดคือพฤติกรรมนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร รู้ตัวอีกก็เหมือนว่าเราทุกคนมีพฤติกรรมนี้แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วการรู้เรื่องนี้มันให้ประโยชน์อะไรในแบบที่เราคิดไม่ถึงบ้าง ประโยชน์ที่พ่อแม่และครูไม่ควรมองข้าม

ซาร่า วาเลนเซียร์ บอตโต นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอมโมรีใช้เวลา 4 ปีศึกษาเรื่องนี้ เธอถามคำถามที่เราอาจจะไม่ทันฉุกคิดมาก่อนว่า ทำไมเราถึงไม่ใส่ชุดนอนออกไปเดินในที่สาธารณะ ขณะที่เด็กเล็กทำเรื่องแบบนี้ได้โดยไม่รู้สึกอะไร ทำไมเราถึงกลัวว่าคนอื่นจะมองเราไม่ดี

ที่จริงแล้วการที่เรารู้สึกแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ไร้สาระ แต่มันซ่อนลักษณะที่น่าสนใจของมนุษย์ไว้ 2 อย่างคือ

  1. เรารับรู้ว่าคนอื่นให้ค่ากับอะไร อะไรที่คนอื่นยอมรับหรือไม่ยอมรับ 
  2. เราใช้ข้อมูลเหล่านี้กำหนดพฤติกรรมของเรา

และเพื่อหาคำตอบว่าเด็กเริ่มสนใจความคิดของคนอื่นตั้งแต่เมื่อไร เธอและ ดร.ฟิลลิป โรชาต์ นักจิตวิทยาพัฒนาการ ได้ออกแบบการทดลองสำหรับเด็กที่อยู่ในรูปแบบเกม Robot Task การทดลองนี้ไม่เพียงจะทำให้เรารู้ว่าเด็กจะเริ่มอ่อนไหวต่อการตัดสินของผู้อื่นเมื่อไรเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นด้วยว่า เมื่อไรที่เด็กจะเริ่มปรับพฤติกรรมตัวเองตอนที่รู้ว่ามีคนคอยดูอยู่ ซึ่งนี่แหละคือพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่อย่างเราทำกัน

การทดลองนี้ใช้เด็กอายุ 14-24 เดือน เป็นการทดลองเพื่อดูปฏิกิริยาของเด็กกับการกดรีโมตในเกม ทีมวิจัยจะสาธิตให้เด็กดูว่าทำอย่างไรให้หุ่นยนต์ของเล่นเคลื่อนไหวโดยการกดรีโมต แต่จะมีการให้คุณค่าด้านบวกและลบหลังจากที่เด็กกดรีโมตโดยการใช้คำพูด “ว้าว มันเจ๋งมากเลย” สำหรับคุณค่าด้านบวก และ “โอ้ว โอ้ ไม่นะ” สำหรับคุณค่าด้านลบ ทีมวิจัยจะคอยดูเด็กเล่นกับรีโมต บางทีก็ทำเป็นหันหลังกลับไปอ่านนิตยสาร สมมติฐานคือถ้าเด็กมีความอ่อนไหวต่อการตัดสินของคนอื่นจริง พฤติกรรมการกดปุ่มของเด็กน่าจะได้รับแรงจูงใจไม่เฉพาะแค่ตอนถูกเฝ้าดูอยู่หรือไม่เท่านั้น แต่ยังมาจากคุณค่าที่นักวิจัยตอบสนองตอนที่เด็กกดรีโมตด้วย การทดลองนี้จึงแบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน

  1. ให้สถานการณ์ที่กำกวมมาก ๆ กับเด็ก จะดูว่าเด็กจะเล่นของรีโมตอย่างไรถ้าไม่มีการให้คุณค่าหรือคำสั่งใด ๆ นักวิจัยจะแค่แสดงให้เด็กดูว่าทำอย่างไรให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหว และก็ไม่ได้บอกเด็กด้วยว่าเด็กสามารถเล่นกับรีโมตได้ 
  2. วางรีโมต 2 อันไว้ให้เด็ก รีโมตสีฟ้าเป็นรีโมตคุณค่าด้านบวก ส่วนอันสีส้มเป็นคุณค่าด้านลบ แล้วดูว่าเด็กจะทำอย่างไรต่อ
  3. มีรีโมตแค่อันเดียว แต่มีนักวิจัย 2 คน คนหนึ่งจะแสดงคุณค่าด้านลบต่อการกดรีโมตของเด็ก โดยพูดว่า “อึ๋ย ของเล่นขยับด้วย” ขณะที่อีกคนจะแสดงคุณค่าด้านบวกด้วยคำพูด “เย้ ของเล่นขยับด้วย” 

เด็กตัวน้อยก็สนใจความคิดคนอื่น

      สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างที่คาด การกดปุ่มของเด็กได้รับแรงจูงใจจากคุณค่าและคำสั่งของนักวิจัยจริงตามการทดลอง 3 แบบ ดังนี้

สถานการณ์แรก เด็กไม่รู้ว่าอะไรจะถูกประเมินค่าเป็นบวกหรือลบ เด็กเลยมีแนวโน้มจะเลือกอะไรที่ปลอดภัยที่สุด และจะรอจนกว่าทีมวิจัยจะหันหลังกลับถึงจะกดรีโมต

สถานการณ์สอง เด็กเลือกกดรีโมตคุณค่าด้านบวกมากกว่าขณะนักวิจัยมองดูอยู่ แต่เมื่อนักวิจัยหันหลังกลับ เด็กจะหยิบและเริ่มเล่นรีโมตคุณค่าด้านลบทันที ในการทดลองแบบที่สองนี้ ยังมีการศึกษาที่มีการควบคุมเอาคุณค่าของรีโมตออกไปด้วยการพูดว่า “โอ้ ว้าว” ไม่ว่าจะกดรีโมตอันไหนก็ตาม พฤติกรรมการกดปุ่มของเด็กก็ไม่แตกต่างกัน

สถานการณ์สาม เด็กเลือกกดรีโมตมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนักวิจัยที่แสดงคุณค่าด้านบวกเฝ้ามองอยู่

นี่แสดงให้เห็นว่าก่อนที่เด็กจะพูดได้หรือนั่งกระโถนเป็น เด็กก็เริ่มสนใจแล้วว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง และยังนำสิ่งนั้นมากำหนดพฤติกรรมของตัวเองอีกด้วย เด็กในช่วงอายุนี้จึงเริ่มแสดงความเขินอายในสถานการณ์ที่ตัวเองอาจถูกคนอื่นประเมินค่าด้านลบ เช่น ถ้าส่องกระจกแล้วเห็นว่ามีอะไรติดหน้า เด็กก็จะพยายามกำจัดออก คล้าย ๆ กับการที่ผู้ใหญ่เจอว่ามีผักติดฟัน

สิ่งที่น่าเอามาคิดหลังได้รู้ข้อมูลนี้คือ คุณค่าที่เราให้กับอะไรก็ตามมันขัดเกลาพฤติกรรมผู้คนรอบตัวเราอย่างไร เช่น ทำไมเราถึงใช้เวลากับโลกออนไลน์ ยิ้มให้กับเพื่อนบนโลกใบนั้นมากกว่าเพื่อนและครอบครัวที่อยู่ข้าง ๆ  เราชอบกินโค้กมากกว่าเป๊ปซี่จริง ๆ หรือเปล่า หรือเพราะทุกคนเขาชอบกัน ทำไมเราถึงซื้อเสื้อลายขวางมาใส่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ชอบใส่มาก่อน เราทุกคนต่างก็ถูกขัดเกลาพฤติกรรมโดยผู้คนรอบข้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขณะเดียวกันเราเอง พ่อแม่และครูก็มีสิทธิ์ที่จะขัดเกลาพฤติกรรมเด็ก ๆ และคนรอบข้างไปพร้อม ๆ กัน นี่อาจเป็นบทสนทนาหรือหัวข้อชวนคุยที่น่าสนใจในชั้นเรียน ในครอบครัว หรือในกลุ่มเพื่อนฝูงว่า เราโดนคนรอบข้างขัดเกลาพฤติกรรมในแบบที่เราไม่รู้ตัวอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันเราทำอะไรเพื่อขัดเกลาพฤติกรรมคนอื่น และพฤติกรรมอะไรในสังคมที่น่าจะลองตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการขัดเกลา หรือเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้บ้าง

 

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/sara_valencia_botto_when_do_kids_start_to_care_about_other_people_s_opinions
https://neurosciencenews.com/toddler-judgement-others-9751/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS