โรงเรียนในป่า จงส่งลูกเข้าป่า ถ้าเรารักลูกมากพอ

A A
Apr 12, 2022
Apr 12, 2022
A A
  • โรงเรียนในป่าเป็นโรงเรียนทางเลือกที่เกิดขึ้นครั้งแรกในเดนมาร์ก และได้รับความนิยมในหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ป่าสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่พิเศษ เด็กที่ได้อยู่กับธรรมชาติจะมีพัฒนาการหลายด้านที่ดีกว่า ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกับเด็กไปตลอดชีวิต
  • เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่เด็กเรียนเยอะ เรียนหนักคล้ายบ้านเรา นักการศึกษาชาวเกาหลีคนหนึ่งเห็นว่าเด็กยุคใหม่ขาดโอกาสและพื้นที่ที่จะได้เรียนรู้จากธรรมชาติ เธอจึงบุกเบิกแนวคิดโรงเรียนในป่าที่เกาหลีใต้เป็นคนแรก จนปัจจุบันมีโรงเรียนแนวนี้มากถึง 2,000 แห่ง

ถ้าเราไม่นับว่าโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ที่มีรั้วรอบขอบชิด มีเสาธงตั้งตระหง่าน มีอาคารเรียน โต๊ะ เก้าอี้ ถ้าโรงเรียนเป็นที่ไหนก็ได้ แค่เป็นสถานที่ที่เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุก ป่าอาจเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่เคยสอนทักษะต่าง ๆ ทั้งการใช้ชีวิต และการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นให้กับมนุษย์ เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่ตอนนี้กลายเป็นเพียงทางเลือกสำหรับพ่อแม่บางกลุ่ม บางประเทศ ที่รู้จักกันว่า “โรงเรียนในป่า” (Forest School) สำหรับคนทั่วไปป่าอาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจในยามต้องการหลีกหนีความวุ่นวายจากโลกภายนอกเพื่อมาเติมพลังให้ชีวิตอีกครั้ง อะไรทำให้เราทำตัวแปลกแยกจากป่าที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรกของมนุษย์ ทั้งที่ลึก ๆ แล้วเราล้วนโหยหาธรรมชาติอยู่ในใจ ท่ามกลางระบบการศึกษากระแสหลัก โรงเรียนแห่งนี้มีอะไรพิเศษที่โรงเรียนคอนกรีตให้ไม่ได้

 

โรงเรียนในป่าแห่งแรกของโลก

ในอดีตมนุษย์เรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่ไหนแต่ไร การจัดการเรียนรู้จากธรรมชาติ หรือกลางแจ้งนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น ค่ายฤดูร้อน ค่ายลูกเสือ หรือโรงเรียนในป่า สำหรับโรงเรียนในป่าแห่งแรกของโลกเพิ่งเกิดขึ้นในเดนมาร์กเมื่อปี 1952 โดย Ella Flautau เมื่อลูกๆ ของเธอและเพื่อนบ้านรวมตัวกันทุกวันในป่าใกล้บ้าน ป่าจึงเป็นคล้าย ๆ กับที่รับเลี้ยงเด็กแบบไม่เป็นทางการ พ่อแม่ในชุมชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก พาเด็กอนุบาลเดินเข้าป่าตามแนวทางของ Waldorf-Steiner ที่เน้นให้เด็กเรียนรู้แบบนำตนเองและเรียนรู้จากการเล่น ไม่มีครูมาคอยสอน แต่มีผู้ใหญ่คอยอำนวยความสะดวกให้

ปัจจุบันโรงเรียนในป่าจะมีครูที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นผู้ดูแลเด็ก ๆ ปล่อยให้เด็กได้สำรวจและค้นพบอะไรด้วยตัวเอง ครูจะให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของเด็ก ตระหนักว่าความต้องการทางสังคม อารมณ์และร่างกายของเด็กจะเป็นสิ่งที่นำทางพวกเขาให้ได้เรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติ

จุดมุ่งหมายคือการสร้างประสบการณ์ที่เด็กได้นำตนเอง หล่อเลี้ยงพวกเขาให้เป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง กล้าเสี่ยง เห็นคุณค่าและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

มองเผิน ๆ อาจดูเหมือนว่าครูจะไม่ได้มีภาระหน้าที่มากมายเมื่อเทียบกับครูในระบบปกติ รายการ บินสิ ทาง TPBS เคยพาไปดูโรงเรียนในป่าที่ออสเตรีย ครูที่โรงเรียนนี้มีแค่ 3 คน ทีมงานรายการให้ข้อสังเกตว่าครูดูเหมือนจะปล่อยเด็ก เหมือนจะไม่ระวัง แต่ก็ระวัง แล้วอะไรคือสิ่งครูต้องดูแลเมื่อพาเด็ก ๆ เข้าป่า ครูคนหนึ่งเล่าไว้ได้อย่างน่าสนใจว่ามีอยู่ 2 เรื่องด้วยกันคือ

1. บาดแผลทางกาย (Physical Pain) เด็กเล็กอาจเกิดอุบัติเหตุ ลื่นล้ม หรือตกต้นไม้ได้ สิ่งที่ครูทำไม่ใช่การรีบเข้าไปประคบประหงม เยียวยา แต่เป็นการคอยสังเกตว่าเมื่อเด็กล้มแต่ละครั้ง เขาลุกเองได้เร็วหรือเปล่า มีพัฒนาการในการลุกไหม เมื่อล้ม ลื่นหรือเจ็บ เด็กมองหาคนอื่นให้ช่วยดูแลหรือดูแลตัวเองก่อน

2. บาดแผลทางอารมณ์ (Emotional Pain) เมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่างเด็ก ๆ ครูจะเข้าไปช่วยสร้างความเข้าใจในความขัดแย้งนั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์ด้านลบพอกพูนกลับไปที่บ้าน บาดแผลทางอารมณ์นี้จะเป็นปมลึกฝังในตัวเด็กจนเติบโต หากไม่ได้รับการคลี่คลายแต่เนิ่นๆ เด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์

 

 ต่อมาแนวคิดโรงเรียนในป่าเริ่มแผ่ขยายออกจากสแกนดิเนเวีย จากเดนมาร์กจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงเอเชีย หนึ่งในประเทศที่น่าสนใจคือ เกาหลีใต้ เพราะมีแนวคิดและค่านิยมทางการศึกษาหลายอย่างที่คล้ายกับบ้านเรา

 

ระบบการศึกษาและค่านิยมที่ฝังรากลึก

หลายประเทศในเอเชียมีระบบการศึกษาที่ยังให้ความสำคัญกับผลการเรียนของเด็ก ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ ยังเป็นที่ต้องการ นักเรียนจำนวนมากใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษเพื่อให้ตัวเองมีผลการเรียนดีที่สุด เกาหลีใต้และบ้านเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โรงเรียนในป่าจึงดูเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างจะฉีกไปอีกทางเมื่อเทียบกับการศึกษากระแสหลัก แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้มีโรงเรียนอนุบาลและกลุ่มเด็กเล่นในป่าประมาณ 2,000 แห่งที่เกิดมาจากการผลักดันของ Hee Jung Chang นักการศึกษาชาวเกาหลีที่เคยศึกษาและใช้ชีวิตที่เยอรมันมาก่อน เธอรู้จักแนวคิดโรงเรียนในป่าจากประเทศแถบนั้น เรียกได้ว่าเธอคือนักการศึกษาผู้บุกเบิกโรงเรียนในป่าของเกาหลีเลยก็ว่าได้

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีคะแนน PISA สูงในอันดับต้น ๆ ของโลก หลายประเทศทางตะวันตกจึงมองเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ แต่เอเชียมีระบบการศึกษาที่เข้มงวดและมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมาก ซึ่งต่างจากประเทศตะวันตก รายงานจาก OECD ระบุว่า 70% ของคนอายุ 25-34 ปีในเกาหลีใต้เรียนจบระดับปริญญา คนหนุ่มสาวถูกกดดันให้เข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับในประเทศ ครูสอนพิเศษและสถาบันกวดวิชาบางแห่งเปิดสอนจนถึง 4 ทุ่มเป็นเรื่องปกติ  เด็กประถมใช้เวลาไปกับการเรียน 13 ชั่วโมงต่อวัน การเล่นและการนอนถูกมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ไม่มีการส่งเสริมทักษะทางสังคม ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นอิสระ วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวถูกกดดันให้ต้องทำตามความคาดหวังของครอบครัว เกาหลีใต้จึงกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศกลุ่ม OECD แม้ว่าตัวเลขในช่วงปีหลัง ๆ จะลดลงจาก 10 ปีก่อนแล้วก็ตาม

เมื่อระบบการศึกษาของที่นี่ค่อนข้างจะเข้มงวดและเต็มไปด้วยความกดดัน การเดินทางกลับเกาหลีใต้ของ Chang พร้อมสามีและลูกชาย 2 คน เมื่อปี 1994 หลังจากไปเรียนและใช้ชีวิตที่เยอรมันในช่วงทศวรรษ 1980 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เธอเห็นว่าเด็กเกาหลีไม่ได้มีพื้นที่กลางแจ้งให้ออกมาเล่นมากมายนัก เด็ก ๆ ขาดโอกาสที่จะเล่นหรือเคลื่อนไหวอย่างอิสระท่ามกลางธรรมชาติ สมัยนั้นไม่มีโรงเรียนทางเลือกเลยในเมืองหลวง ครอบครัวของเธอจึงย้ายไปยังชนบทที่มีโรงเรียนทางเลือก เพราะตอบโจทย์สิ่งที่ครอบครัวต้องการได้มากกว่า แม่ของเธอบอกว่า “ฉันนึกว่าเธอจะส่งหลาน ๆ ไปเรียนต่อที่สแตนฟอร์ดหรือไม่ก็ฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ภูเขาหรือป่าอะไรแบบนี้”

 

โรงเรียนในป่าแห่งแรกของเกาหลี

Chang มองเห็นปัญหานี้จึงอยากที่จะสร้างโรงเรียนในป่าให้เกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ เธอและทีมงานบินไปดูโรงเรียนในป่าจากหลายประเทศเพื่อเรียนรู้ปรัชญาและแนวทางการสอน จนในปี 2010 โรงเรียนอนุบาลในป่าแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นที่กรุงโซล ปัจจุบันมีมากถึง 2,000 แห่ง แนวทางการสอนของโรงเรียนคือจะแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน เด็กจะได้อยู่ในป่าจนถึงบ่ายสามโมง ได้เล่น สำรวจและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรก็ตาม ฝนตกหรือหิมะตก

ธรรมชาติมีผลต่อเด็กอย่างมาก เด็กจะมีอิสระมากขึ้น มีการพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม เพราะเด็กช่วยเหลือกันมากขึ้น นอกจากนี้ เด็กยังสงบลง มีความสมดุลมากขึ้น และมีความขัดแย้งน้อยลง

ด้านคุณแม่คนหนึ่งที่ส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนในป่าที่ออสเตรียมองว่า ระบบการศึกษาระดับปฐมวัยในกระแสหลักไม่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กเล็ก ลูกชายของเธอ 2 คนแรกเคยเรียนในโรงเรียนอนุบาลทั่วไป ต้องนั่งเรียนเขียนอ่านอยู่ในห้องเรียนทั้งวัน พอกลับบ้านมามักจะมีปัญหา มีพลังเหลือเฟือที่ยากจะจัดการ แต่โรงเรียนอนุบาลในป่าให้เด็ก ๆ อยู่ข้างนอกและเล่นทั้้งวัน เธอคิดว่าทำให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการ และได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

ความสนใจโรงเรียนในป่าที่เกาหลีใต้กำลังเพิ่มขึ้น พ่อแม่อยากให้ลูก ๆ ได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ไร้กังวล อย่างน้อยก็ในช่วงที่เข้าโรงเรียนครั้งแรก แต่สุดท้ายแล้ว แม่พ่อบางส่วนเท่านั้นที่ตัดสินใจส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาลในป่าหรือโรงเรียนทางเลือก ด้วยเหตุผลว่ายังกังวลว่าลูกจะปรับตัวกับระบบโรงเรียนปกติไม่ได้

งานของ Chang จึงมาพร้อมกับความท้าทาย พ่อแม่กลัวว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนในป่าจะไม่สามารถปรับตัวเมื่อเข้าโรงเรียนรัฐบาลได้ หรือเมื่อลูกเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะไม่ชินกับการรับมือกับแรงกดดันต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ใจหนึ่งก็อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนในป่า แต่ระบบการศึกษาที่เป็นอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไรทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องตัดใจเบนเข็มออกจากโรงเรียนทางเลือก Chang ทำงานเพื่อต่อต้านความกลัวนี้ เธอทำให้พ่อแม่เห็นว่าการเล่นอย่างอิสระและการเรียนรู้จากธรรมชาติมีผลดีต่อเด็กทุกคน ลูกชายของเธอทั้ง 2 คนที่เข้าเรียนโรงเรียนในป่าก็ไม่ได้มีปัญหาเมื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย คนหนึ่งเรียนกฎหมาย อีกคนก็เรียนชีวการแพทย์

 

ประโยชน์ของโรงเรียนในป่า

ถ้าพ่อแม่เอเชียไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางสังคมเหมือนที่เป็นอยู่ ถ้าระบบการศึกษาเปิดกว้างกว่านี้ ถ้าสังคมให้ค่าทักษะแรงงานมากกว่าใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง นี่คือสิ่งที่เด็กทั่วโลกจะได้จากโรงเรียนในป่า

1.เด็กเล็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก

2. มีจิตสำนึกรักธรรมชาติ ซึ่งสำคัญต่อสวัสดิภาพทางร่างกายและจิตใจของเด็ก

3. พัฒนาการทำงานเป็นทีมและการแก้ปัญหา

4. เด็กมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง

5. พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และทักษะต่าง ๆ เพื่อเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

6. ตระหนักรู้เรื่องสภาพอากาศ ระบบนิเวศ พืชและสัตว์ต่าง ๆ

เรารู้กันดีกว่าเด็กที่ได้อยู่กับธรรมชาติจะมีพัฒนาการหลายด้านที่ดีกว่า ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกับเด็กไปตลอดชีวิต เราไม่สามารถย้อนเวลาให้พวกเขากลับมาเป็นเด็กได้อีก หรือย้อนเวลากลับไปเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ได้ใหม่อีกครั้ง เวลาของเด็กเล็กมีจำกัด และมันคือโอกาสทองของชีวิตที่พ่อแม่จะหยิบอื่นประสบการณ์แบบนี้ให้ลูกได้ เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาหรือค่านิยมของสังคมได้ในวันสองวัน มันจึงต้องอาศัยความใจกล้าของพ่อแม่ หรือการพยายามที่จะเติมเต็มช่องว่างที่ระบบการศึกษากระแสหลักให้ไม่ได้ด้วยการพาพวกเขาออกไปเรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรกของมนุษย์ทุกคนให้ได้มากที่สุด

 

อ้างอิง
https://www.growingwildforestschool.org/post/the-brief-history-heritage-of-forest-schools-around-the-world
https://wuethrich.eu/en/2020/04/14/dont-send-your-kids-to-harvard-go-to-the-forest/
https://www.sassymamasg.com/learn-forest-schools-singapore-preschool-enrichment/
https://afnorth-is.com/forest-schools/
https://www.statista.com/statistics/789337/south-korea-suicide-death-rate/
https://readthecloud.co/nature-kinder-school-austria/

 

 

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS