เลือกกิน VS กินไม่เลือก อะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้

A A
Jan 2, 2022
Jan 2, 2022
A A

เลือกกิน VS กินไม่เลือก อะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้

 

อะไรทำให้คนเรามีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกัน ทำไมบางคนกินได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ของเบสิกทั่วไปจนถึงของแปลกพิสดารที่บางคนไม่กล้ากินอย่างแมลง แต่ทำไมคนอีกกลุ่มถึงเลือกกินเฉพาะอาหารที่ตัวเองเคยกินแล้วเท่านั้น พอให้ลองอะไรใหม่ๆ กลับไม่กล้า ไม่สบายใจที่จะลอง นี่เป็นเพียงแค่นิสัยการเลือกกินของคนเรา หรือมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่หลังพฤติกรรมเหล่านี้กันแน่

ยีนเลือกกิน

ถ้าเราเคยคิดว่านิสัยการเลือกกินของคนเราเป็นเพราะนิสัยของคน ๆ นั้น เราอาจจะต้องคิดใหม่แล้ว เมื่อลองถามชาวอเมริกันในเรื่องนี้ พบว่าชาวอเมริกัน 29% จาก 2,200 คน เชื่อว่านิสัยการเลือกกินไม่ได้เป็นเพราะคน ๆ นั้นมีนิสัยแบบนั้น พวกเขาเชื่อว่ายีนต่างหากที่เป็นตัวกำหนดนิสัยการกินของเรา ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่นักวิจัยค้นพบจริงๆ สังเกตได้จากคนทุกชาติ ทุกภาษา มีคนที่มีนิสัยเลือกกินเหมือนกันหมด โลกเราจึงมีทั้งคนเลือกกินและกินไม่เลือก ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า ในอดีตสมัยที่บรรพบุรุษเรายังต้องออกล่าสัตว์ หาของป่า การลองกินอาหารใหม่ ๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าอาหารนั้นมีพิษหรือเปล่า แต่ในยุคนี้ถ้าเราเลือกกินมากเกินไปในช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร เราก็เสี่ยงที่จะอดตาย สังคมที่มีคนทั้งสองแบบในปริมาณที่พอดีจึงมีโอกาสที่จะอยู่รอดได้มากกว่า

เลือกกิน สุขภาพ

นักวิจัยได้ทำการทดลองเรื่องนี้โดยสำรวจยีนการเลือกกินของฝาแฝด เรารู้กันว่าแฝดเหมือนจะมียีนที่เหมือนกัน ส่วนแฝดไม่เหมือนจะมียีนคล้ายๆ กันเหมือนคนเป็นพี่น้องกัน ซึ่งดีเอ็นเอที่อยู่ในยีนเหล่านี้นี่แหละที่ส่งผลต่อนิสัยการกินของเรา จากการสังเกตรูปแบบการกินของฝาแฝดกว่า 3,000 คน อายุระหว่าง 18-79 ปี พบว่าแฝดเหมือนจะชอบกินอาหารคล้ายๆ กันมากกว่าแฝดไม่เหมือน นักวิจัยจึงได้ข้อสรุปว่า เกือบครึ่งของอาหารที่เราชอบและไม่ชอบมีผลมาจากยีนของเราเอง ถึงจะเป็นอาหารชนิดเดียวกัน แต่ละคนจะได้กลิ่นและรสชาติที่ไม่เหมือนกันเลย เช่น ผักชี บางคนมียีนที่ทำให้ไวต่อกลิ่นของสมุนไพร เรื่องแบบนี้จึงทำให้คน ๆ นั้นดูกินยากกว่าคนอื่น

ยิ่งลองเยอะ โตมายิ่งกินง่าย

แต่ถ้าไม่นับเรื่องยีนแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรอีกที่ส่งผลต่อนิสัยการกินของเรา คำตอบก็คือประสบการณ์ในวัยเด็กของเรานั่นเอง งานวิจัยพบว่าเด็กที่ได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ จะเปิดใจลองอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อนได้มากกว่า โดยคาดว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นทารกในท้องแม่เลย นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมพ่อแม่ควรให้ลูกๆ ได้ลองอาหารหลากหลายแบบ ทั้งในแง่รสชาติและเนื้อสัมผัสหลังจากที่เด็กหย่านมแล้ว ถ้าเรามีอาหารที่ชอบตอนเด็กๆ โตขึ้นเราก็มักจะยังชอบสิ่งนั้น

เด็กในวัย 3 ขวบจึงถือเป็นช่วงพีคที่สุดของการเลือกกิน สิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักคือการเลือกกินถือเป็นพฤติกรรมปกติ และวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ลูกเลิกพฤติกรรมนี้ได้คือต้องไม่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ผู้ใหญ่ที่เลือกกินมักจะมีพ่อแม่ที่บังคับให้กินอะไรบางอย่างที่ตัวเองไม่ชอบตอนที่เป็นเด็ก ฉะนั้น แนวทางสำหรับพ่อแม่คือให้ทดลองให้ลูกกินอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ

คนชอบผจญภัยมักชอบลองอาหารแปลกๆ

นอกจากประสบการณ์ในวัยเด็กแล้ว ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีผลด้วยเช่นกัน ไม่แค่เฉพาะเรื่องกินเท่านั้น งานวิจัยพบว่าคนที่กลัวอะไรใหม่ๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน ถ้าพ่อแม่เราไม่ชอบลองอะไรใหม่ๆ โอกาสที่เราจะได้ลองกินอาหารแปลกใหม่ก็จะน้อยลงไปด้วย ส่วนคนที่ชอบลองอาหารใหม่ๆ และมีประสบการณ์ที่ดีกับอาหารนั้นก็มีแนวโน้มจะลองอาหารแปลกๆ ในอนาคตมากขึ้น

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ลักษณะนิสัยของคนยังมีผลต่อพฤติกรรมการกินอีกด้วย คนที่ไม่ค่อยชอบการผจญภัยอาจไม่ค่อยชอบลองอาหารใหม่ๆ เท่าไร เพราะการลองอะไรใหม่ๆ รวมถึงอาหารก็คือการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้เป็นคนชอบผจญภัย การลองอาหารแปลกๆ ก็อาจเป็นเรื่องยาก แต่คนที่ชอบผจญภัยหรือความตื่นเต้นก็มักจะชอบลองอาหารใหม่ๆ ตามไปด้วย
รู้เหตุผลเบื้องหลังความเรื่องเยอะของคนกินยากกันไปแล้ว น่าจะช่วยให้เราเข้าใจคนกลุ่มนี้ และปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกันได้ง่ายขึ้น แล้วคุณล่ะเป็นคนแบบไหน เลือกกินหรือกินไม่เลือก เคยรับมือกับคนกินยากด้วยวิธีไหนกันมาบ้าง

อ้างอิง
https://www.discovermagazine.com/health/picky-eating-can-we-blame-genetics
https://www.self.com/story/the-scientific-reason-you-are-a-picky-eater

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS