ศูนย์เด็กเล็ก 24 ชั่วโมง แนวคิดดูแลเด็กแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

A A
May 30, 2023
May 30, 2023
A A

ศูนย์เด็กเล็ก 24 ชั่วโมง แนวคิดดูแลเด็กแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

  • ศูนย์เด็กเล็กส่วนมากมักเปิดให้บริการในช่วงเช้าจนถึงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานข้างนอก แต่ยังมีพ่อแม่ส่วนหนึ่งที่ต้องทำงานกลางคืน หรือเข้างานเป็นกะ
  • แนวคิดศูนย์เด็กเล็ก 24 ชั่วโมง เริ่มเกิดขึ้นในหลายประเทศ เพื่อช่วยพ่อแม่ดูแลเด็กในช่วงที่ต้องออกไปทำงาน แต่ยังคงมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับศูนย์ที่เปิดช่วงกลางวัน

 

         6 ปีแรกของเด็กถือเป็นปีทองของการพัฒนาด้านสติปัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่สังคมเมืองที่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้พ่อแม่บางคนต้องทำงานช่วงกลางคืน ไม่สามารถอยู่ดูแลลูกได้อย่างเต็มที่แม้ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ หลายประเทศก็พบปัญหาคล้าย ๆ กัน พ่อแม่บางคนทำงานกลางคืน บางคนเข้างานเป็นกะ แต่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนมากมักจะเปิดในเวลากลางวันตามเวลาทำงานปกติ ซึ่งไม่ตอบโจทย์พ่อแม่กลุ่มนี้ แนวคิดสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กแบบ 24 ชั่วโมงจึงเกิดขึ้น สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงสร้างความอุ่นใจและเป็นที่พึ่งพิงให้พ่อแม่และเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ศูนย์เหล่านี้ยังมองตัวเองไปไกลกว่านั้น พวกเขามองว่า ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ช่วยสร้างเด็กที่มีคุณภาพในอนาคตได้ ประเทศไหนมีแนวคิดแบบนี้บ้าง แต่ละที่มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 24 ชั่วโมงถึงเป็นแนวคิดในการดูแลและพัฒนาเด็กที่เราควรให้ความสนใจในสังคมเมืองที่กำลังเติบโตไปข้างหน้า

 

ศูนย์เด็กเล็กในญี่ปุ่น

The Night Kindergarten เป็นสารคดีจากญี่ปุ่นที่บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนเตรียมอนุบาลเอบีซี ซึ่งเป็นศูนย์เด็กเล็กที่เปิด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ปี 1983 แม้จะเปิดมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว แรกเริ่มเดิมทีศูนย์แห่งนี้เริ่มต้นจากการเป็นโรงแรมสำหรับทารกที่ยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ต่อมาในปี 1981 กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้เปิดศูนย์เด็กเล็กช่วงกลางคืนได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์เด็กเล็กในช่วงกลางคืนของญี่ปุ่น 

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีศูนย์ลักษณะนี้ 80 แห่ง มีเด็กที่พ่อแม่นำมาฝากให้ดูแลราว 2,500 คน ถือว่ายังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงแรมทารกที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องที่มีถึง 1,749 แห่ง มีเด็กใช้บริการ 33,000 คน สะท้อนถึงความต้องการของพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก แต่ยังต้องทำงานช่วงกลางคืน ปัจจุบันโรงเรียนเตรียมอนุบาลเอบีซีมีเด็กแรกเกิดถึงเด็กก่อนวัยอนุบาล 90 คน ครูพี่เลี้ยง 35 คน พยาบาล 2 คน มาสลับเวรกัน 4 กะ เพื่อดูแลเด็ก ๆ 

ทาเคชิ คาราซาวะ อดีตผู้อำนวยการกองสวัสดิการเด็ก กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ บอกว่าสิ่งที่เขาประทับใจอย่างแรกในโรงเรียนแห่งนี้คือ จิตวิญญาณความเป็นแม่ ทุกคนทุ่มเทชีวิตโดยนำการเติบโตของเด็ก ๆ มาคล้องกับความหมายในชีวิตตัวเอง แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วประเทศ 20,000 แห่ง แต่เขามองว่า ในสายตาคนทั่วไปศูนย์เลี้ยงเด็กแบบนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไร

ความทุ่มเทที่โรงเรียนนี้มอบให้เด็ก ๆ ยังสะท้อนผ่านความใส่ใจในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการซื้อผักจากฟาร์มออร์แกนิกโดยตรงมาทำอาหารที่สะอาดและปลอดภัยให้เด็ก เด็กที่นี่จะได้ทานอาหาร 2 มื้อ คือ กลางวันและเย็น รวมถึงยังมีครูฝึกพัฒนาการเด็กพิเศษคอยประจำในโรงเรียนแห่งนี้ด้วย

ในมุมของพ่อแม่โรงเรียนแห่งนี้เป็นเสมือนเพื่อนยามยาก ครูพี่เลี้ยงทำหน้าที่เป็นทุกอย่างให้ลูกของพวกเขา ทั้งคอยปลอบโยน เล่นด้วย ดูแลอาหารการกิน อาบน้ำและพาเข้านอน พ่อแม่ชาวไทยคู่หนึ่งก็ใช้บริการที่นี่ เพราะพ่อรับงาน 2 จ็อบ กลางวันเป็นพนักงานบริษัท ส่วนกลางคืนก็ช่วยภรรยาที่ร้านอาหารไทยที่ทั้งคู่เป็นเจ้าของ ด้านพ่อแม่ญี่ปุ่นที่ต้องฝากลูกไว้ที่โรงเรียนนี้ต่างก็มีอาชีพที่แตกต่างกันไป บางคนทำงานกระทรวง บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากให้ลูกได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด 

ในมุมของเด็ก บางคนอาจจะยังไม่ชินในช่วงแรก แต่สุดท้ายเมื่อปรับตัวได้ พวกเขาก็สนุกสนานกับการได้เจอและเล่นกับเพื่อนใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์รับเลี้ยงเด็ก พ่อแม่และครูพี่เลี้ยง จึงเป็นไปในลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทุกคนอยากให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด

 

ศูนย์เด็กเล็กในสวีเดน ประเทศที่เหมาะแก่การสร้างครอบครัว

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว สวีเดนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กเล็ก และได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดในการสร้างครอบครัว เด็กที่นี่ทุกคนจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียนของรัฐ โดยที่พ่อแม่จ่ายเงินไม่เกิน 3% ของเงินเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด 

ศูนย์เด็กเล็กที่เปิดบริการตอนกลางคืนของที่นี่เริ่มมีขึ้นในปี 1993 เมืองทางตอนใต้ที่ชื่อ Norrkoping เป็นหนึ่งในเทศบาล 120 แห่งที่ให้บริการกับพ่อแม่ที่มีหลักฐานมาโชว์ว่า ต้องทำงานช่วงกลางคืน เมื่อสวีเดนสร้างระบบการดูแลเด็กในช่วงต้นทศวรรษ 1970 คณะกรรมการแห่งชาติด้านการดูแลเด็กมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ

  1. เพื่อให้พ่อแม่สามารถประสานความเป็นพ่อแม่กับการจ้างงานหรือการศึกษาและอื่น ๆ ได้
  2. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก และช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดี

เป้าหมายข้อสองนี้มีความชัดเจนมากที่สุดในปี 1996 สวีเดนมีการเปลี่ยนเขตอำนาจการดูแลเด็กจากกระทรวงสุขภาพและกิจการสังคม ไปเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรแห่งชาติสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนปี 1998 ทำให้ระบบการดูแลเด็กของสวีเดนเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะ “Educare” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการศึกษาและการดูแลเด็ก

Maria Arnholm อดีตรัฐมนตรีด้านความเท่าเทียมทางเพศเคยกล่าวไว้ว่า สวีเดนแซงหน้าประเทศอื่นในเรื่องการเพิ่มจำนวนแรงงานผู้หญิง และแนวคิดการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กก็เป็นวิธีที่ทำให้เรื่องนี้เป็นจริงได้ ฉะนั้น ประเทศจึงต้องมีแผนเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่ไม่ได้ทำงานในเวลา 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นด้วย

นอกจากแนวคิดดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่ปี 2018 สวีเดนยังมีแนวคิดสนับสนุนพ่อแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 3 ขวบ แต่เลือกที่จะดูแลลูกแทนการไปทำงานด้วยการให้เงินช่วยเหลือพิเศษกับพ่อแม่ เงินจำนวนนี้คิดเป็น 8% ของเงินเดือนเฉลี่ย แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความเชื่อที่ว่า การให้เงินพ่อแม่มากขึ้นน่าจะช่วยเพิ่มจำนวนพ่อแม่ให้อยู่บ้านเลี้ยงลูกได้

 

ศูนย์เด็กเล็กในสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจของโลก

ด้านฝั่งสหรัฐอเมริกาที่เป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหลายด้านก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน 

  • พนักงานอเมริกัน 1 ใน 5 ทำงานในเวลาที่ไม่เหมือนคนทั่วไป 
  • เด็กอเมริกัน 31 ล้านคน หรือคิดเป็น 43% มีพ่อหรือแม่ที่ต้องทำงานนอกเวลาปกติ 
  • 64.2% ของผู้หญิงที่มีลูกอายุต่ำกว่า 6 ปี ยังทำงานอยู่ 
  • 1 ใน 5 ของแม่ที่มีลูกเล็กทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำ $10.50 ต่อชั่วโมง ส่งผลให้ต้องทำงานมากขึ้น เพื่อหารายได้มาส่งลูกเข้าศูนย์เด็กเล็ก 

 

 

 

Angels of Essence ที่ดีทรอยต์เป็นหนึ่งใน 6% ของศูนย์ดูแลเด็กที่เปิดถึงกลางคืนในรัฐมิชิแกน แม่คนหนึ่งเล่าทั้งน้ำตาว่า เธอต้องทำงานที่โรงพยาบาลเป็นกะ บางครั้งเจอกะกลางคืนก็ต้องทำ เพราะไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ถ้าไม่มีศูนย์แห่งนี้ เธอก็ไม่รู้จะเอาลูกไปฝากไว้ที่ไหน เมื่อความต้องการศูนย์เด็กเล็กแบบนี้ยังคงมีอยู่ รัฐมิชิแกนได้ประกาศโครงการ Caring for MI Future ขึ้น เป็นโครงการที่มีเป้าหมายจะเปิดศูนย์เด็กเล็กเพิ่มอีก 1,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2024

หากเราดูข้อมูลสำนักงานอ้างอิงประชากรที่เผยแพร่ในปี 2008 ที่ทำการวิเคราะห์แนวโน้มทางประชากรเรื่องเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงาน จะพบว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายสถานะและอาชีพ แต่คนที่มีแนวโน้มทำงานนอกเหนือจากวันทำงานปกติ คือ กลุ่มคนมีรายได้น้อย คนผิวสีและผู้หญิง ผู้หญิงจำนวนมากเริ่มเข้ากะเวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น. จะเห็นได้ว่า แรงงานกลางคืนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ทุกข์ยากพออยู่แล้ว การไม่มีทางเลือกอื่นในการดูแลลูกของตนเท่ากับยิ่งเป็นการซ้ำเติมคนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

สำหรับในบ้านเรา ศูนย์เด็กเล็ก 24 ชั่วโมงยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย โดยในปี 2020 มีการเปิดศูนย์ดูแลเด็ก Day care Night care (เฮือนอุ่นใจ๋) จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถือเป็นศูนย์แห่งแรกที่มีการเปิดรับดูแลเด็กในช่วงกลางคืนด้วย โดยบริการแบบ Night care จะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 – 08.00 น. ของวันถัดไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ที่ต้องประกอบอาชีพทั้งในภาคกลางวันและกลางคืน และยังถือเป็นโมเดลต้นแบบในการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งต่อมามีการขยายผลไปยัง จ.ชลบุรี ในชื่อ Night Care บ้านเปี่ยมสุข ภายในโครงการบ้านเอื้ออาทร จ.ชลบุรี (เนินพลับหวาน) เป็นศูนย์ดูแลเด็กเล็กช่วงกลางคืนแห่งแรกของจังหวัดเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ที่มีอาชีพในสถานประกอบการภาคกลางคืน มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 

แม้ว่าศูนย์เด็กเล็กในบ้านเราจะเป็นสวัสดิการที่เข้าถึงได้ฟรี แต่ยังประสบปัญหาและอุปสรรคอยู่หลายอย่างในการพัฒนาต่อ ทั้งเรื่องงบประมาณ ระเบียบและปัญหาด้านบุคลากร

จะเห็นได้ว่า 4 ประเทศที่เรายกตัวอย่างมาให้ดู พ่อแม่ที่ต้องทำงานตอนกลางคืนมีได้หลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม คนทำความสะอาด คนขับแท็กซี่ คนดูแลผู้สูงอายุ Sex Worker พนักงานสายการบิน คนทำงานราชการ และถึงแม้พ่อแม่จะทำงานในเวลากลางวันเหมือนคนทั่วไป อาจมีบางวันที่ต้องทำงานล่วงเวลา ไม่สามารถอยู่ดูแลลูกในช่วงกลางคืนได้ ศูนย์เด็กเล็ก 24 ชั่วโมงเหล่านี้ก็อาจเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เพราะการดูแลเด็กไม่ใช่เรื่องของปัจเจกอย่างเดียว แต่รัฐยังถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่สามารถโอบอุ้มเด็กทุกคนได้ด้วยการสร้างระบบดูแลเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

 

 

อ้างอิง
https://vipa.me/th/play/the-night-kindergarten/942619
https://documentaryclubthailand.com/the-night-kindergarten/
https://www.theguardian.com/us-news/2018/feb/28/americas-24-hour-daycare-centers-a-visit-in-pictures
https://www.freep.com/in-depth/news/local/michigan/2022/10/27/24-hour-child-care-detroit-fragile-lifeline/69573122007/ 
https://www.bbc.com/news/magazine-21784716
https://womenfriendlycitieschallenge.org/blog/swedens-night-nurseries-after-hours-preschool/ 
https://plus.thairath.co.th/topic/spark/102483
https://mgronline.com/entertainment/detail/9630000088570
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/34244

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS