ASMR เสียงบำบัดสมอง

A A
Apr 17, 2023
Apr 17, 2023
A A

ASMR เสียงบำบัดสมอง

 

เพื่อให้อ่านบทความนี้แบบเข้าใจมากขึ้น ลองหลับตา…แล้วฟัง

ฟังว่าเราได้ยินอะไรกันบ้าง เสียงลม เสียงแอร์ เสียงเพื่อนโต๊ะข้าง ๆ กำลังเขียนสมุด กดแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด

 

เสียงเหล่านี้นี่แหละจะไปกระตุ้นระบบประสาทการฟังของเรา ส่งต่อไปยังสมองให้เกิดเป็นความความรู้สึก เป็นอารมณ์ผ่อนคลายปน ๆ ความสยิวหูเล็กน้อย ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยออกมาเป็นสักขีพยานว่า “ฟังแล้วมันได้ผลดี” ถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่ได้ฟังก่อนนอนจะนอนไม่หลับกันเลยทีเดียว

 

“ ฟังแล้วมันได้ผลดี ” หมายถึงผลดีต่ออะไร 

คำตอบก็คือผลดีต่อความเครียดนั่นเอง เพราะเจ้าความเครียดนี่แหละที่เป็นศัตรูตัวร้ายคอยกัดกินเราในแต่ละช่วงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเรียน การสอบ การทำงาน สังคมรอบข้าง สภาพเศรษฐกิจ ไปจนถึงปัญหารถติดในเช้าวันจันทร์ เมื่อเรื่องเหล่านี้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มขาดสมาธิในการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อเครียดเกร็ง เสียสภาวะสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน 

 

เราสามารถสังเกตความเครียดของคนอื่นได้ตั้งแต่วัยเรียน จากมุมมองของครูหรือเพื่อนรอบข้าง เมื่อมีคนเดินมาบอกว่าช่วงนี้เรามีอาการมักเหม่อลอย หันหน้าไปยังหน้าต่างบ้าง ประตูห้องเรียนบ้าง ตอบคำถามท้ายคาบเรียนว่า “เข้าใจแล้ว” ทั้งที่ความเป็นจริงแทบไม่เข้าใจอะไรเลย ถ้ามีอาการแบบนี้ขึ้นแสดงว่านักเรียนของเรากำลังประสบปัญหาการขาดสมาธิ

 

เพราะขาดสมาธิ คนก็เลยเครียด

ช่วงระหว่างการทำงานหรือระหว่างชั่วโมงเรียน หากเราไม่จดจ่อ หลุดโฟกัสบ่อย ๆ จะส่งผลให้มีปัญหากับการจัดการเวลา ทำอะไรผิดพลาด เมื่อความผิดพลาดเยอะมากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลสะสมจนกลายเป็นความเครียด

ทุกคนมีประตูทางออกให้กับความเครียดของตัวเองอยู่เสมอ

แตกต่างกันไปตามความชื่นชอบ บางคนก็อาจจะออกกำลังกาย ทำอาหาร เล่นโยคะ หรืออะไรทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้ผ่อนคลายจนสามารถหลับสนิทได้ตลอดคืน เตรียมความพร้อมต่อสู้กับเช้าวันใหม่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งปัจจุบันนี้มีอีกเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เป็นที่ยอมรับว่ามันจะทำให้เราลืมความเครียดจนทำให้คล้อยหลับโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว “ASMR”

 

 

Autonomous

ASMR ( Autonomous Sensory Meridian Response )

คือ การอธิบายความรู้สึกทางประสาทที่ถูกกระตุ้นอัตโนมัติจากการฟังเสียงที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น เสียงหายใจ เสียงทำอาหาร เสียงกระซิบ หรือจะเป็นเสียงการแกะสิ่งของ จนพัฒนาเป็นคลิปวิดีโอ เพิ่มมิติการรับชมให้มากกว่าแค่การฟังเพียงอย่างเดียว เช่น นำสัตว์หรือคนมากินอาหารให้ชม ให้มีเสียงเคี้ยว , มีคนมานั่งทำงานให้เราดู ให้เราได้ฟังเสียงกดแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด เสียงเหล่านี้จะเน้นไปที่ระบบประสาทรับความรู้สึกจากการฟัง ส่งผลให้ผู้ตอบสนองเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย พูดง่าย ๆ คือ ฟังแล้วเคลิ้ม ฟังแล้วฟิน เหมือนได้รับการบำบัดทางอารมณ์นั่นเอง

 

ASMR มีทั้งหมด 3 รูปแบบ

 

1. เสียงของธรรมชาติ

ที่อาจเกิดจากการอัดเสียงของธรรมชาติจริงหรือผ่านการใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่เลียนเสียงธรรมชาตินั้นขึ้นมาเช่น เสียงน้ำตก เสียงน้ำไหล เสียงทะเล เสียงนก เสียงลมพัด โดยเสียงในรูปแบบนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับคนที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ

2.เสียงภายในห้อง

ที่เป็นการจำลองบรรยากาศเสียงให้เสมือนเรานั่งอยู่ในพื้นที่นั้นจริง ๆ นิยมใช้เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการอ่านหนังสือ ช่วยเพิ่มสมาธิให้โฟกัสกับสิ่งตรงหน้าได้มากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงในห้องสมุด เสียงในคาเฟ่ เสียงในร้านอาหาร เป็นต้น

3.เสียงจากร่างกาย

เป็นหมวดหมู่ ASMR ที่พบเห็นได้มากที่สุดบน Youtube บรรดาสาวกแฟนพันธุ์แท้ต่างลงความเห็นว่าแค่ได้ยินก็รู้สึกฟินขึ้นมาทันที โดยแหล่งกำเนิดของเสียงเกิดจากการกระทำบางอย่างกับร่างกาย เช่น เสียงซดน้ำซุป เสียงกินอาหาร เสียงแคะหู เสียงขบฟัน เสียงตัดผม เสียงเกา เป็นต้น

จริง ๆ ปรากฏการณ์ทางอารมณ์นี้มีเกิดขึ้นนานแล้ว
เว็บบอร์ดด้านสุขภาพของต่างประเทศช่วงก่อนปี 2000 คนมักจะไปโพสต์ตั้งกระทู้ถามว่า “ทำไมเวลามีคนมาตัดเล็บให้แล้วมันรู้สึกอบอุ่นสบายใจอย่างบอกไม่ถูก?” หรือ “ทำไมเวลาได้ยินเสียงคนกระซิบกันแล้วเราถึงรู้สึกผ่อนคลายจัง”

ตัวอย่างที่ดีของ ASMR ในยุคนั้นคงหนีไม่พ้น วิดีโอสอนศิลปะของ Bob Ross จิตรกรและนักสอนศิลปะชื่อดังผู้ล่วงลับพราะการสอนวาดภาพวิวด้วยสีน้ำมันของเขาในวิดีโอนั้น ไม่มีเสียงดนตรีใดๆ ประกอบ มีเพียงแค่ผืนผ้าใบ เสียงนุ่มๆ ของคุณ Bob ประกอบกับเสียงแปรงที่เสียดสีกับผ้าใบไปมา ทำให้หลายต่อหลายคน หลงในมนต์สะกดนี้มาแล้ว

ASMR ถูกผลิตขึ้นภายใต้ภารกิจเดียวคือ “นักบำบัด”
โดยปกติเราสามารถเห็นหรือได้ยินเสียงเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เสียงฝนตก เสียงลม เสียงคลื่นกระทบ อย่างที่เราได้ยกตัวอย่างไป มีหลาย ๆ คลิป Youtube ที่หยิบเสียงธรรมชาติมาใส่ White Noise เข้าไป คลื่นเสียงบำบัดสำหรับกระตุ้นความทรงจำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่จะช่วยสร้างสมาธิต่อการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และมีหลากหลายงานวิจัยออกมาให้การรับรองประสิทธิภาพของ ASMR ด้วยเช่นกัน

 

 

ASMR Giulia Poerio

Giulia Poerio อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยา University of Sussex เริ่มทดลองงานวิจัย ASMR กับกลุ่มอาสาสมัครที่มีปัญหาการนอนไม่หลับจากภาวะเครียดสะสม ภายใต้คำถามงานวิจัยว่า “ASMR ทำงานต่อสมองของคนเราได้อย่างไร”  ผลสแกนสมองปรากฎว่ากลุ่มอาสาสมัครผุ้เข้าร่วมทดลองสามารถหลับได้ง่ายขึ้นจริงจากการฟัง ASMR  

 

ปี 2018 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sheffield (University of Sheffield) แบ่งผู้ทดลองเป็น 2 กลุ่มเพื่อศึกษาผลของ ASMR ที่มีต่อร่างกาย  พบว่า ขณะฟังเสียง หรือดูวิดีโอ ASMR กลุ่มผู้ทดลองมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำลงเฉลี่ย 3.14 bpm เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ดู ถือเป็นสัญญาณของร่างกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น สร้างอารมณ์บวกได้เช่นเดียวกับการฟังเพลงอีกด้วย

 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Swansea ทำแบบสอบถามกับอาสาสมัครหลังจากเข้าร่วมทดลองฟังเสียง ASMR เป็นระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง ผลปรากฏว่ากว่า 80% ของผู้ร่วมทดลองยืนยันว่ามันช่วยลดอาการซึมเศร้า และขจัดอารมณ์ด้านลบได้ 

 

อย่างที่เราเห็นกันว่า ASMR ทำหน้าที่เปรียบเสมือนนักบำบัดสมาธิ 

การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ต้องเกิดจากผู้เรียนที่มีความพร้อมเสียก่อน ลองจินตนาการเล่น ๆ ว่าเด็ก ๆ ของเราจะเพิ่มระดับความสามารถในการจดจ่อต่อการเรียนได้ดีแค่ไหน ถ้าเราได้เห็นนักบำบัดเหล่านี้ในห้องเรียน คุณครูอาจจะใช้ช่วงเวลาพักสั้น ๆ ระหว่างคาบเรียน เพื่อลดความเครียด ความกดดันจากเนื้อหา ดึงสมาธินักเรียนให้กลับมาจดจ่ออยู่กับบทเรียนอย่างละมุนละม่อมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสอดแทรกกิจกรรมเล็กน้อยระหว่างจัดการเรียนการสอน การฟังเพลง หรือดูวิดีโอที่ปลุกการตื่นตัวของระบบประสาท 

 

เมื่อสมอสมองนักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ชั่วโมงการสอนในวันนั้นก็จะมีประสิทธิภาพตามมา

 

ลองเปิดใจให้เขาฟัง ASMR ถ้าวันนี้เจ้าหญิงเจ้าชายตัวน้อยของคุณกำลังเผชิญปัญหาหลับยาก

 

ลองเปิดใจให้เขาฟัง ASMR ถ้าวันนีี้ลูกศิษย์คนเก่งของคุณเริ่มเหม่อลอยไปนอกหน้าต่างในชั่วโมงสอบครั้งสำคัญ

 

ใครจะไปรู้ว่านวัตกรหน้าใหม่อาจมีเสียงเล็ก ๆ ของ ASMR เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้นก็เป็นได้

 

อ้างอิง

https://www.gold.ac.uk/news/brain-study-shows-asmr-afterglow/

https://www.health.com/condition/neurological-disorders/what-does-asmr-mean

https://www.wired.com/story/soothing-power-asmr-youtube-videos/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS