Context is king เมื่อการเข้าใจบริบท คือ ทักษะสำคัญก่อนเข้าอนุบาล

A A
Sep 6, 2023
Sep 6, 2023
A A

 

Context is king เมื่อการเข้าใจบริบท คือ ทักษะสำคัญก่อนเข้าอนุบาล

 

  • พ่อแม่ยุคใหม่อาจรู้สึกว่า การรีบสอนให้เด็กนับตัวเลข ท่องพยัญชนะได้เร็ว ๆ ก่อนจะเข้าเรียนอนุบาล คือ การการสร้างทักษะสำคัญให้กับเขา
  • แท้จริงแล้วทักษะที่เด็กวัยนี้ต้องการไม่ได้มีอะไรเยอะอย่างที่ผู้ใหญ่เร่งฝึกฝน และที่สำคัญยังไม่นับรวมการท่องจำอีกด้วย
  • สิ่งที่เด็กท่องจำจะไม่เกิดประโยชน์มากนักหากความรู้นั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับบริบทใด ๆ ในชีวิตของเขา

 

การเป็นพ่อแม่ในยุคนี้อาจเต็มไปด้วยความกดดันมากมาย ลูกคนอื่นเขานับเลขได้แล้ว ร้องเพลง ABC กันได้คล่องตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าอนุบาล แต่ทำไมลูกเราถึงยังไปไม่ถึงไหน แม้เด็ก 4 ขวบที่สามารถนับเลข 1-100 ได้อย่างถูกต้อง หรือร้องเพลง ABC ได้คล่องจะเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากก็ตาม แต่ทักษะเหล่านี้ใช่ทักษะสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้จริงหรือเปล่า แล้วถ้าไม่ใช่ อะไรคือทักษะสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับเด็กก่อนเข้าอนุบาลที่ผู้ใหญ่ควรเตรียมความพร้อมให้กับเขา 

 

ทักษะหลายอย่างที่ผู้ใหญ่เคยคิดว่า ยิ่งเตรียมให้เด็กเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เขาจะได้เก่งกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันเมื่อเข้าเรียนอนุบาล จริงไหมที่ทักษะเหล่านี้สำคัญต่อเด็กวัยนี้มากที่สุด หากเราลองวิเคราะห์กันดูเราจะพบว่า ทักษะที่เด็กวัยนี้ต้องการไม่ได้มีอะไรเยอะอย่างที่ผู้ใหญ่เร่งฝึกฝน และที่สำคัญยังไม่นับรวมการท่องจำอีกด้วย

 

เราอาจเกิดคำถามว่า ทำไมการท่องจำพยัญชนะหรือตัวเลขถึงยังไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะน่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานของการเรียนรู้ที่เด็กจะได้เรียนกับครูอยู่ดี เหตุผลหนึ่งก็เพราะเด็กทุกคนที่เรียนอนุบาลจะมีระดับพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับเด็กได้เรียนเตรียมอนุบาลที่ไหนมา ฉะนั้น ต่อให้เด็กเก่งเกินเพื่อน หรือรู้น้อยกว่าเพื่อน ทุกคนก็จะได้รู้จักกับตัวเลข พยัญชนะ และสีเมื่อเรียนในระดับชั้นที่กำหนดอยู่ดี

 

เหตุผลอีกข้อหนึ่งก็คือ การท่องจำตัวเลข พยัญชนะ ชื่อสัตว์ หรือจังหวัดไม่ได้มีประโยชน์มากนักหากความรู้ที่เด็กท่องจำมานั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับบริบทใด ๆ เด็กอาจท่องชื่อจังหวัดภูเก็ตได้ แต่ไม่รู้ว่า ภูเก็ตเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในไทยที่อยู่ทางใต้ และยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก

 

Dr.Kathryn Smerling นักบำบัดครอบครัวและอดีตครูอนุบาลกล่าวว่า “ช่วงชีวิต 5 ปีแรกของเด็กควรเป็นเรื่องของประสบการณ์” ซึ่งประสบการณ์นั้นควรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของเด็ก ให้เขาได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโลกใบนี้ เรียนรู้ชีวิตที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม

 

สอนอย่างไรให้เด็กเข้าใจบริบท

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่า การสอนให้เด็กร้องเพลง ABC หรือก – ฮ เป็นเรื่องที่ผิด หากเราสามารถสอนให้เขาเห็นบริบทที่เชื่อมโยงกันได้ เช่น สอนให้เด็กรู้ว่า กลุ่มตัวอักษรไทยประกอบไปด้วยพยัญชนะหลายตัว เราใช้พยัญชนะเหล่านี้ในการสร้างคำ และคำเหล่านั้นก็สามารถสร้างเป็นเรื่องราวได้ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลว่า ทำไมการที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังถึงเป็นกุญแจสำคัญของการอ่านออกเขียนได้ในเด็ก และวิธีการที่เราจะสร้างบริบทให้เขาเข้าใจได้ คือ พ่อแม่ต้องคอยชี้คำที่ปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะในหนังสือ หรือป้ายร้านค้าตามท้องถนนให้เด็กเห็นอยู่เสมอ

 

 

การอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นการสร้างบริบทให้เด็กเห็น<br />
ความเชื่อมโยงระหว่างพยัญชนะกับเรื่องราว<br />

ชื่อภาพ : บริบท

 

 

 

ส่วนการสร้างบริบทในเรื่องตัวเลขนั้น Dr.Kathryn เห็นว่า เด็กควรได้รู้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เพราะเป็นเรื่องของตัวเลขล้วน ๆ และเราก็ใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว ผู้ใหญ่น่าจะเคยใช้วิธีนี้สอนเด็กกันอยู่แล้ว นั่นคือการให้เด็กหยอดกระปุก คอยนับเหรียญว่ามีเท่าไรแล้วนำไปแลกเหรียญอื่น หรือแลกขนม หรือถ้าไม่ใช้เหรียญจริงก็ให้เด็กสะสมลูกแก้วใส่ขวดโหล เมื่อไรที่เด็กทำอะไรก็ตามได้ถูกต้อง ลูกแก้วก็จะถูกนับและนำมาแลกเป็นขนมหรือของเล่น วิธีการเหล่านี้ทำให้เด็กเข้าใจถึงบริบทของตัวเลขว่า เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาอย่างไร เขานำมันมาใช้ได้อย่างไรบ้าง

 

นอกจากเรื่องพยัญชนะและตัวเลขแล้ว บริบทยังสำคัญต่อทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่เด็กจำเป็นต้องรู้ก่อนเข้าเรียนชั้นอนุบาลด้วย เรามักจะบอกเด็กให้ตั้งใจเรียน เชื่อฟังครู และทำตัวดี ๆ แต่เด็กจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่าในบ้านของเขาเองที่แวดล้อมไปด้วยผู้ใหญ่ที่อยู่ในชีวิตของเขาอยู่แล้ว ถ้าไม่นับเรื่องเหล่านี้แล้ว เด็กไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากไปกว่าความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมกับโลกใบนี้ ทั้งทางสติปัญญา อารมณ์ และร่างกาย ซึ่งนั่นก็คือ การสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับพวกเขานั่นเอง

 

บริบทไม่ได้สำคัญเฉพาะกับเด็กที่จะเข้าเรียนอนุบาลเท่านั้น Robert T. Kiyosaki ผู้เขียนหนังสือขายดี “ พ่อรวยสอนลูก ” มีมุมมองว่า หากเราต้องการเตรียมเด็กให้มีอนาคตที่มั่งคั่ง บริบท คือ สิ่งสำคัญที่สุด การศึกษาแบบเดิมให้ความสำคัญกับเนื้อหาเป็นสำคัญ ครูและโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับการอ่าน การเขียน และเลขคณิตมากที่สุด ถ้าลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เขามองว่า เนื้อหาที่ครูสอนเป็นเหมือนกับน้ำ ในขณะที่นักเรียนแต่ละคนเป็นแก้วน้ำ 

 

ในความเป็นจริงนักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทุกคนอาจไม่ได้เป็นแก้วน้ำแบบเดียวกันเหมือนอย่างที่ครูคิด Robert คิดว่า เขาเป็นแก้วเบียร์ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ใส่น้ำเปล่า ขณะที่นักเรียนบางคนอาจโอเคดีกับการเป็นแก้วน้ำ เมื่อครูบอกเขาว่า ต้องเก่งการอ่าน การเขียน และเลขคณิตมาก ๆ สิ ต่อไปจะได้มีงานดี ๆ ทำ เขาจึงตั้งคำถามว่า นั่นคือบริบทของครูที่พยายามทำให้เป็นบริบทของนักเรียนด้วยหรือเปล่า เพราะการได้งานทำในฐานะลูกจ้างไม่ใช่บริบทของเขาเลย Robert ต้องการเป็นนายจ้างต่างหาก เมื่อนักเรียนเจอสถานการณ์แบบนี้เข้า นักเรียนจำนวนมากจึงจำใจต้องเปลี่ยนบริบทในชีวิตตัวเองไปโดยปริยาย เพราะการที่ครูเพิกเฉยต่อบริบทของนักเรียนด้วยการป้อนเนื้อหาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริบทของเขาเลย

 

การเข้าใจบริบทไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่สำคัญต่อคนทุกช่วงวัย แต่ตั้งเด็กเล็กที่กำลังเตรียมความพร้อมจะเข้าสู่ระบบการศึกษา พ่อแม่ที่ต้องสร้างบริบทให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้ รวมถึงครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการศึกษาทุกคนที่ต้องเข้าใจบริบทของนักเรียนแต่ละคน เพื่อสร้างการศึกษาและทักษะที่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของนักเรียนได้

 

อ้างอิง

https://www.fatherly.com/parenting/the-skills-a-child-really-needs-before-kindergarten

https://www.richdad.com/content-and-context

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS