ทำไมเด็กถึงนอนเยอะกว่าผู้ใหญ่

A A
Dec 18, 2023
Dec 18, 2023
A A

 

ทำไมเด็กถึงนอนเยอะ

 

 

 

  • เด็กทารกมักใช้เวลานอนเยอะกว่าเด็กโตมากนัก หน้าที่ของทารกแรกเกิดคือการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับทุกสิ่งในสภาพแวดล้อม แต่ทารกแรกเกิดใช้เวลาร้อยละ 70 ไปกับการนอนหลับ แล้วพวกเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างไรทั้ง ๆที่พวกเขานอนเยอะขนาดนี้
  • จากงานวิจัยพบว่าการงีบหลับของทารกจะช่วยให้ทารกปรับตัวให้เข้ากับประโยคใหม่ที่เกิดขึ้นได้ Rebecca Gómez กล่าวว่าการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าการงีบหลับช่วยให้เด็กทารกคาดเดาสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ และนำไปใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้
  • เมื่อการหลับสำคัญทำไมโตแล้วไม่นอนเยอะเหมือนตอนเด็ก เด็กๆจะงีบหลับน้อยลง หรือเลิกงีบหลับตั้งแต่อายุ 3 ถึง 6 ปี ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสมองที่อาจจะเปลี่ยนไป ณ จุดหนึ่งซึ่งต่างกันไปในเด็กแต่ละคน

 

   เราต่างรู้ดีว่า เด็กทารกมักใช้เวลานอนเยอะกว่าเด็กโตมากนัก หน้าที่ของทารกแรกเกิดคือการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับทุกสิ่งในสภาพแวดล้อม   นักวิจัยพบว่าเด็กทารกอายุเพียงหนึ่งหรือสองวันก็สามารถเรียนรู้จากเสียงได้แล้ว ซึ่งการรับรู้ของเด็กทารกนั้นสามารถสังเกตได้จากการกระพริบตา เด็กจะกระพริบตาเมื่อพวกเขาได้ยินเสียง แต่ทารกแรกเกิดใช้เวลาร้อยละ 70 ไปกับการนอนหลับ แล้วพวกเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างไรทั้ง ๆที่พวกเขานอนเยอะขนาดนี้

 

   นอกจากนี้การนอนหลับในทารกและเด็กเล็กต่างไปจากผู้ใหญ่ รูปแบบการนอนจะเปลี่ยนไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก ทารกแรกเกิดนอนหลับประมาณ 16 ถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยในตอนแรกพวกเขาจะนอนเยอะแบบคาดเดาไม่ได้ตลอดทั้งวัน และเมื่ออายุหกเดือนนาฬิกาชีวิตจะเริ่มประสานเข้ากับเวลากลางวันและกลางคืน เมื่อทารกอายุครบ 12 เดือน เด็กทารกจะหลับกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่จะงีบหลับระหว่างวัน 2-3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 ปีจะงีบหลับวันละครั้ง

 

นอนหลับเยอะส่งผลต่อการเรียนรู้ของทารก

 

   Manuela Friedrich  นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยHumboldt ที่ Berlin กล่าวว่า การงีบหลับสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของทารก การนอนเยอะเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้คำศัพท์ช่วงแรกของทารก การศึกษาในปี 2015 ทีมของManuela Friedrich ได้นำทารก 90 คน อายุระหว่าง 9 ถึง 16 เดือนพร้อมรูปภาพของสิ่งของที่ไม่รู้จัก เช่น สิ่งของที่ดูเหมือนdumbbells หรือTinkertoys ในขณะที่ดูภาพแต่ละภาพ เด็กๆ จะได้ยินชื่อของวัตถุ ซึ่งเป็นคำที่สร้างขึ้น เช่น “bofel” หรือ “zuser” และได้ทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อบันทึกการตอบสนองของเด็ก ๆ จากนั้น 1 หรือ 2 ชั่วโมงต่อมา นักวิจัยได้ทดสอบความทรงจำของเด็กทารกโดยแสดงภาพเหล่านั้นอีกครั้ง โดยจับคู่กับชื่อของวัตถุที่พวกเขาเคยได้ยินมาก่อนหรือคำที่แต่งขึ้นใหม่ เนื่องจากทารกยังเด็กเกินกว่าจะเอ่ยชื่อของวัตถุดังกล่าว นักวิจัยจึงตรวจสอบการบันทึก EEG เพื่อหาหลักฐานว่าเด็ก ๆ ได้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ก่อนหน้าหรือไม่ ในการทดสอบปรากฎว่าทารกจะรู้สึกประหลาดใจที่ได้ยินและเห็นภาพการจับคู่ที่ผิดจากการเรียนรู้เดิม

 

   การบันทึก EEG ได้พบว่าเด็ก ๆ ที่งีบหลับก่อนการทดสอบความจำจะจดจำคู่คำกับวัตถุที่พวกเขาเคยเห็นมาก่อนได้ ไม่เพียงเท่านั้นเด็กทารกที่งีบหลับยังจัดกลุ่มสิ่งของที่พวกเขาได้เรียนรู้เป็นหมวดหมู่เมื่อพวกเขาเห็นสิ่งของใหม่ๆ ที่คล้ายกับสิ่งของที่พวกเขาเคยเห็นมาก่อน การบันทึกคลื่นสมอง EEG บ่งบอกว่าเด็ก ๆ ตอบสนองกับคำศัพท์ที่เรียนรู้ก่อนหน้านี้ได้ด้วย Manuela Friedrich กล่าวว่า “ในขณะที่เด็กทารกกำลังนอนหลับ สมองของพวกเขาดึงเอาส่วนสำคัญของประสบการณ์ก่อนหน้านี้ออกมา”

 

 

นอนหลับเยอะส่งผลต่อการเรียนรู้ของทารก

ชื่อภาพ : Sleep a lot

 

 

   การงีบหลับอาจช่วยให้เด็ก ๆ รวบรวมความทรงจำในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังเรียนรู้ข้อมูลสำคัญจำนวนมหาศาล Simona Ghetti นักจิตวิทยาพัฒนาการจากมหาวิทยาลัย California กล่าวว่า “ตามหลักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการงีบหลับมีบทบาทพิเศษในการพัฒนาการรับรู้ในช่วงแรก  ๆ สมองที่กำลังพัฒนาเพราะการนอนเยอะจะช่วยให้เด็กทารกเข้าใจโครงสร้างประโยค Rebecca Gómez จาก Arizona ใน Tucson  ได้ทึการศึกษาเด็กอายุ 15 เดือนจำนวน 48 คนพบว่าเด็ก ๆ ที่งีบหลับดูเหมือนจะสามารถเข้าใจรูปแบบได้ดีขึ้น เช่น  การจับคำ เป็นต้น นักวิจัยมองว่าการนอนเป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำความเข้าใจไวยากรณ์ นอกจากนี้นักวิจัยได้วัดความสนใจของทารกจากการจ้องมอง เด็ก ๆ จะให้ความสนใจกับเสียงที่เกิดขึ้นด้วย จากงานวิจัยพบว่าการงีบหลับของทารกจะช่วยให้ทารกปรับตัวให้เข้ากับประโยคใหม่ที่เกิดขึ้นได้ Rebecca Gómez กล่าวว่าการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าการงีบหลับช่วยให้เด็กทารกคาดเดาสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ และนำไปใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้

 

โตแล้วทำไมไม่นอนเยอะเหมือนตอนเด็ก

 

   เมื่อการหลับสำคัญทำไมโตแล้วไม่นอนเยอะเหมือนตอนเด็ก เด็กๆจะงีบหลับน้อยลง หรือเลิกงีบหลับตั้งแต่อายุ 3 ถึง 6 ปี ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสมองที่อาจจะเปลี่ยนไป ณ จุดหนึ่งซึ่งต่างกันไปในเด็กแต่ละคน จากการทำงานของ Spencer และ Tracy Riggins ที่มหาวิทยาลัย Maryland in College Park จากการสแกนสมองด้วย MRI โดยให้ความสนใจกับฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นโครงสร้างของสมองที่สำคัญสำหรับการสร้างความทรงจำใหม่ๆ Spencer และ Tracy Riggins ตั้งสมมติฐานว่าฮิปโปแคมปัสทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บข้อมูลระยะสั้น สำหรับข้อมูลใหม่ที่เรียนรู้ระหว่างการตื่นตัว ในระหว่างการนอนหลับ ความทรงจำเหล่านั้นจะถูกถ่ายโอนหรือกระจายไปยังเปลือกสมองเพื่อการจัดเก็บที่ยาวนานขึ้น  Spencer ได้เปรียบเทียบฮิปโปแคมปัสเป็นเสมือนถัง ในช่วงวัยเด็กซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาถังเก็บความจำยังมีขนาดเล็ก ทำให้เด็ก ๆ อาจจะต้องลบความทรงจำบางส่วนออกด้วยการนอนหลับ เพราะเมื่อเด็ก ๆ หลับความทรงจำบางส่วนจะหายไปขณะนอนหลับ แต่เมื่อโตขึ้นฮิปโปแคมปัสพัฒนาขึ้น ความสามารถของมันก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฮิปโปแคมปัสจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น  จึงสามารถอธิบายได้ว่าทำไมยิ่งโต ความจำเป็นในการงีบหลับจะลดลง

 

ครูในโรงเรียนควรดูแลเด็กในวัยเรียนอย่างไร

 

   การวิจัยนี้อาจทำให้ครูเห็นการจัดลำดับความสำคัญของการนอนระหว่างวันให้มากขึ้น ทำให้ห้องเรียนเอื้อต่อการนอนหลับ เช่น การอนุญาตให้ครูปรับห้องให้มืดลงในช่วงงีบหลับ เพิ่มระยะเวลาการนอนหลับให้นานขึ้น ทำให้บรรยากาศห้องเรียนเอื้อต่อการหลับ ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าการนอนหลับพัฒนาสมองอย่างไรอาจส่งผลให้มีการดูแลเด็กในเรื่องของการนอนได้ดีขึ้น

 

อ้างอิง : https://knowablemagazine.org/article/mind/2022/how-learning-happens-brains-sleeping-babes

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS