รู้หรือไม่ ? ที่นั่งในห้องเรียนส่งผลต่อการเรียนรู้

A A
Sep 15, 2023
Sep 15, 2023
A A

 

รู้หรือไม่ ? ที่นั่งในห้องเรียนส่งผลต่อการเรียนรู้

 

เชื่อว่าในวัยเรียนของทุกคน มักจะมีจุดที่นั่งเรียนในอุดมคติ ที่เมื่อนั่งแล้วจะรู้สึกว่าการเรียนรู้ของวันนั้นจะไหลลื่นได้ทั้งวัน แต่สิ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ ก็คือที่นั่งในห้องเรียนนั้นส่งผลต่อการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน มีงานวิจัยทางการศึกษาอยู่มากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งที่นั่งในห้องเรียนและผลการเรียนของนักเรียน ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

 

การเลือกที่นั่งที่ส่งผลต่อการสร้างมนุษยสัมพันธ์

Yvonne van den Berg และ Antonius Cillessen จาก Radbound University ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อนี้ ว่านักเรียนที่มีอายุเฉลี่ย 11 ปี จำนวน 336 คน ใน 34 ห้องเรียน จากทั้งหมด 27 โรงเรียนของเนเธอร์แลนด์ โดยผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่นั่งตามขอบด้านข้างติดผนังห้องเรียน และด้านหลังของห้องเรียน มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเพื่อนร่วมชั้น เมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ตรงกลางห้องเรียน โดยงานการวิจัยยังบอกอีกว่า แม้นักเรียนที่อยู่กลางห้องจะได้รับความสนใจ เป็นที่รู้จักของเพื่อน ๆ เมื่อพวกเขาจะต้องย้ายไปนั่งที่ด้านข้าง หรือด้านหลังของห้องเรียนในเทอมถัดไป ก็ไม่ได้ทำให้มนุษยสัมพันธ์ที่มีต่อเขาลดลง ก็เพราะว่าเขาเป็นที่รู้จักของเพื่อน ๆ ไปแล้วในเทอมก่อน ดังนั้นเด็ก ๆ จึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ด้านหลัง หรือด้านข้างของห้องเรียนอยู่ตลอดทุกวิชา การหมุนเวียนเปลี่ยนที่นั่ง การนั่งเป็นกลุ่ม เปลี่ยนเอานักเรียนที่อยู่ด้านข้างติดผนังห้อง และด้านหลังห้อง มาอยู่ตรงกลาง ๆ บ้าง ก็เป็นเรื่องที่ช่วยได้ในแง่ของการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น

 

 

How to Concentrate on Studies

ชื่อภาพ : How to Concentrate on Studies

 

 

 

การเลือกที่นั่งที่ส่งผลต่อด้านสมาธิในการเรียน

 

อาการขาดสมาธิ เป็นหนึ่งในอาการของโรคสมาธิสั้นที่เด็กมักแสดงอาการออกมาให้เห็นทางพฤติกรรมด้วยอาการเหม่อลอย ไม่จดจ่ออยู่กับการเรียน และหันเหความสนใจจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ส่งผลให้เด็ก ๆ ทำงานไม่สำเร็จตามเวลาที่กำหนด ขาดความรอบคอบ และอาจส่งผลต่อความสามารถในการจัดการตนเอง รวมถึงการจัดการเวลาอีกด้วย จากสถิติในประเทศไทย ได้มีการศึกษาจัดเก็บข้อมูลของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร มีการรายงานผลพบว่า เด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษามีความชุกของโรคสมาธิสั้นถึงร้อยละ 5.01 และด้วยบริบทของโรงเรียนในประเทศไทย มักมีการจัดให้เด็กนั่งเรียนในห้องเรียนประจำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการเลือกตำแหน่งที่นั่งในห้องเรียนและการกระตุ้นอย่างเหมาะสมสำหรับเด็กที่มีภาวะขาดสมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยให้เด็กคงความสนใจกับการเรียนได้นานยิ่งขึ้น

ในเด็กปกติทั่วไปที่สามารถควบคุมตนเองและมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนได้ดี ตำแหน่งที่นั่งในห้องเรียนอาจไม่ได้ส่งผลต่อการทำกิจกรรมการเรียนมากขนาดนั้น แต่ในทางตรงข้าม เด็กที่มีภาวะขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการทำกิจกรรมในห้องเรียนได้นาน อาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกตำแหน่งที่นั่งในห้องเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถจดจ่อกับกิจกรรมในห้องเรียนได้ดีขึ้น โดยเทคนิคการเลือกตำแหน่งที่นั่งในห้องเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีภาวะขาดสมาธิ อ้างอิงจากงานวิจัย Scientific Reseach ได้เผยแพร่บทความวิชาการจากการสำรวจผลการเรียนของนักเรียนชั้น ป.6 ในประเทศเคนยา จำนวน 1,907 คน ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า นักเรียนที่นั่งแถวหน้ามีผลการเรียนที่ดีกว่านักเรียนที่นั่งอยู่ด้านหลัง เนื่องจากนักเรียนที่นั่งแถวหน้า ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมีแรงจูงใจ (Motivation) ในการเรียน อยากจะเรียนหนังสือและขาดเรียนน้อยมาก ๆ ซึ่งเจ้าแรงจูงใจ หรือแรงบันดาลใจนี้เอง ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีและที่สำคัญการเลือกที่นั่งใกล้ครูด้านหน้าชั้นเรียน เป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์การเรียนที่ดี ครูสามารถมองเห็น สังเกตพฤติกรรมของเด็กได้อย่างชัดเจน ซึ่งง่ายต่อการควบคุม และกระตุ้นเมื่อเด็กมีอาการขาดสมาธิ ส่งผลให้เด็กสามารถมีสมาธิจดจ่อต่อการเรียนได้นานมากขึ้น

 

การฝึกสมองให้มีสมาธิก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การเลือกทำเลที่นั่ง

 

หากชอบทำเลไหนจริง ๆ ก็ต้องมีสมาธิให้ได้ หลายงานวิจัยได้พูดถึงกลไกการทำงานของสมอง ว่าสมองจะรับข้อมูลประมาณ 30 – 50 นาที ไม่ควรเกิน 60 นาที ถ้าเราสามารถคุมสติตัวเองให้โฟกัสอยู่กับการเรียนในช่วงเวลานี้ได้ จากนั้นค่อยปล่อยให้สมองได้พักสักประมาณ 5 – 10 นาที เพื่อชาร์จแบตก่อนเข้าสู่การเรียนในชั่วโมงถัดไป

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าการนั่งตรงไหน คือการที่เราได้นั่งอยู่ในบรรยากาศที่ใช่มากกว่า เด็กหลังห้องไม่ใช่เด็กที่จะเกเรเสมอไป เพียงแต่ที่นั่งตรงนี้อาจเป็นมุมสงบ ที่ทำให้เราไม่ต้องเป็นจุดโฟกัสของใคร และบางคนก็เลือกที่จะนั่งหลังห้องในจุดที่มักจะโดนคนมองในแง่ลบว่าไม่ตั้งใจเรียน เพื่อผลักดันให้ตัวเองใฝ่รู้ และเต็มที่กับการเรียนมากกว่าเดิมก็ได้ ดังนั้นการเลือกที่นั่งก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งในห้องเรียนเท่านั้น แต่การเรียนให้ได้คะแนนที่ดีก็ขึ้นอยู่กับว่านักเรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนขนาดไหนมากกว่า

 

ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของอัตนัยต่อได้ที่

Website : www.attanai.com

Facebook : https://bit.ly/3nQNzZu

YouTube : https://bit.ly/3Wmvn9P

Instagram : http://bitly.ws/jpVm

Soundcloud : http://bitly.ws/jpW6

Spotify : https://spoti.fi/3CruII

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS