วิชาความตาย ศาสตร์การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิต

A A
Feb 22, 2022
Feb 22, 2022
A A

วิชาความตาย ศาสตร์การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิต

 

ศาสตร์การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิต วิชาความตาย มันคืออะไร วันนี้อัตนัยจะพามาร่วมหาคำตอบกัน

 

 

เคยคิดบ้างไหมว่าคุณอยากให้งานศพของคุณเป็นอย่างไร? เตรียมตัวอะไรบ้างหรือยังก่อนตาย? ก่อนตายเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเวลานั้นมาถึง?

พ่อแม่ปู่ย่าตายายมักจะเตรียมความพร้อมให้เรา หรือแม้แต่ตัวเราเองก็มักจะเตรียมความพร้อมให้ตัวเองทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน แต่งงาน วัยหนุ่มสาวยังเป็นวัยที่เพลิดเพลินกับการใช้ชีวิต ใฝ่ฝันที่จะอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษาที่ดี หรือแม้กระทั่งคู่ครองที่ดี แต่แทบไม่มีใครเลยที่จะคิดเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างดีเพื่อให้ตายอย่างมีคุณภาพ อาจเป็นเพราะเรื่องความตายกับค่านิยมความเชื่อของไทยยังคงเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดถึงอัปมงคลและเป็นลาง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนเห็นรายงานตัวเลขความตายของคนที่เจ็บป่วยจากโรคระบาดกันทุกวันจนเป็นเรื่องใกล้ตัว บางคนมีเวลาได้บอกลาแม้เพียงเล็กน้อย แต่บางคนก็ไปอย่างกะทันหันโดยที่คนในครอบครัวเองก็ยังไม่ทันได้เตรียมตัวหรือแม้กระทั่งเตรียมใจกับความสูญเสีย ความตายเป็นเรื่องที่เรารู้จักกับมันมาตลอด ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน และวัยชรา แต่เป็นเรื่องที่เรากลับเตรียมตัวกับมันน้อยที่สุด

ความตายเป็นเรื่องที่เรารู้จักกับมันมาตลอด แต่เป็นเรื่องที่เรากลับเตรียมตัวกับมันน้อยที่สุด

การศึกษาความตาย

แดเนียล เลวิตัน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้สอนหลักสูตรเกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับความตาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “thanatology” ในปี 1973 นิตยสาร Time รายงานว่าวิทยาลัยและโรงเรียนในอเมริกาประมาณ 70 แห่งเปิดสอนหลักสูตรในหัวข้อนี้ โดยรวมไว้ในวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือชีวิตครอบครัว เป้าหมายคือการเตรียมตัวสำหรับชีวิตให้ดีขึ้น กลัวความตายน้อยลง ให้นักเรียนเข้าใจและชื่นชมตัวเอง รวมถึงเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจในชีวิต เรียนรู้วิธีจัดการกับความโกรธและความคับข้องใจ เปลี่ยนแปลงทัศนคติรวมไปถึงพฤติกรรมในการแสดงออกที่มีต่อความตาย ไม่ประมาท เข้าใจความสำคัญและเห็นค่าของคนที่แวดล้อม ส่วนคนที่ใกล้ถึงวาระสุดท้ายของตัวเอง ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะตายอย่างสง่างามเพราะความตายเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณจะได้ทำในชีวิต

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ภาพจาก : https://www.washingtonpost.com

วิชาที่ว่าด้วยเรื่องของความตายจะหน้าตาเป็นแบบไหน

ครูสามารถเตรียมนักเรียนให้พร้อมรับมือกับความสูญเสียโดยสอนข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้เขาเรียนรู้และฝึกฝนทักษะรับมือ เพราะหากเรารอจนเด็ก ๆ ต้องเผชิญความตายของคนใกล้ตัวด้วยตัวเองอาจสายเกินไปที่เขาจะรับมือกับเรื่องเหล่านั้น ถึงแม้ว่าเราไม่อาจตอบคำถามของเด็กเกี่ยวกับความตายได้ทั้งหมด แต่ครูเองก็สามารถจัดหาแนวทางพื้นฐานเพื่อเป็นรากฐานสำหรับอนาคตให้พวกเขาได้

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

ซึ่งในห้องเรียนครูเองไม่จำเป็นต้องสร้างชั้นเรียนเกี่ยวกับความตายอย่างเป็นทางการ แต่ให้พวกเขาเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ปลาทองที่ตายในห้องเรียน แมลงที่ตายบนสนามเด็กเล่น ในชั้นเรียนครูจัดหัวข้อการสนทนาเกี่ยวกับความเศร้าโศกเพื่อให้นักเรียนสามารถแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวได้อย่างสบายใจและเรียนรู้ว่าความเศร้าโศกสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และส่งผลต่อผู้คนต่างกันอย่างไร รวมไปจนถึงการวางแผนงานศพที่ต้องจัดการซึ่งทำให้เด็กเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายรวมไปถึงความซับซ้อนในการจัดงาน ด้วยสาเหตุที่มาจากด้านวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกันที่ส่งผลให้งานศพแต่ละงานนั้นมีรูปแบบที่ต่างออกไป การพูดถึงความตายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การให้ความรู้โดยตรงแก่คนรุ่นใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้คนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย การแพทย์ และประเด็นด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายมากยิ่งขึ้น การทำให้ความตายเป็นปกติในโรงเรียน อาจส่งผลให้นักเรียนสามารถช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้นในการบรรเทาความกังวล และทำให้เห็นโอกาสที่จะใช้เวลาที่มีอยู่กับคนที่พวกเขารักอย่างมีคุณภาพ

จากนี้ไปความตายอาจไม่ใช่สิ่งอัปมงคลที่เราเคยได้เรียนรู้กันมา แต่อาจเป็นของขวัญที่เราจะโอบกอดในการใช้ชีวิตได้ตระหนักรู้และใช้ทุกวินาทีที่มีอย่างคุ้มค่าทั้งต่อร่างกายของเราเอง รวมถึงการมีอยู่ของคนที่รัก

เข้าใจชีวิตผ่านวิชา Beautiful Death

ความตายอาจดูไม่ใช่เรื่องอัปมงคลอีกต่อไป และอาจไม่ใช่เฉพาะวิชาพุทธศาสนาเท่านั้นที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ได้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็ได้เปิดสอนวิชา Beautiful Death เพื่อการเข้าใจชีวิตผ่านมุมมองการตายอย่างมีคุณภาพ โดยเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2552 พอถึงปี 2560 จึงได้เปิดเป็น “วิชาการศึกษาทั่วไป” (GenEd) โดยศาสตราจารย์ ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ ได้พูดถึงหลักสูตรนี้ว่าการตายอย่างมีคุณภาพต้องเริ่มฝึกฝนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ หมั่นบ่มเพาะความคิดและพฤติกรรมเชิงบวก ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อโลกที่เปรียบเสมือนหางเสือที่จะทำหน้าที่ในยามที่เรายังมีชีวิต โดยเรียนรู้ผ่านการเขียนความรู้สึก (Journal Writing) ใคร่ครวญและสำรวจอารมณ์ตัวเองเตรียมตัวเผชิญความตายและความจริงของชีวิตตามลำดับขั้นตอน นอกจากนี้ในหลักสูตรยังให้ทำความรู้จักความตายในหลากมิติจากวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป

จากนี้ไปความตายอาจไม่ใช่สิ่งอัปมงคลที่เราเคยได้เรียนรู้กันมา แต่อาจเป็นของขวัญที่เราจะโอบกอดในการใช้ชีวิตได้ตระหนักรู้และใช้ทุกวินาทีที่มีอย่างคุ้มค่าทั้งต่อร่างกายของเราเอง รวมถึงการมีอยู่ของคนที่รัก ครอบครัวและผู้ที่หวังดี เพราะความทรงจำอาจเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่เมื่อเราจากโลกนี้ไป เราเองก็ควรทำสิ่งที่คงเหลือไว้ให้เกิดขึ้นอย่างสวยงาม

 

อ้างอิง
https://thematter.co/social/what-is-death-education/12989
https://isha.sadhguru.org/us/en/wisdom/article/preparing-for-death-living-dying-gracefully
https://theconversation.com/death-why-children-should-be-taught-about-it-in-school-99541
http://www.deathreference.com/Da-Em/Death-Education.html
https://www.washingtonpost.com/lifestyle/magazine/daniel-leviton-1931-2011a-professor-of-death-and-teacher-to-the-end/2011/11/08/gIQAhRidwO_story.html
https://www.edweek.org/education/opinion-teaching-the-toughest-lesson-about-death/1992/03
https://www.edutopia.org/article/teaching-students-about-death-and-grief
https://www.chula.ac.th/highlight/48092/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS