ทำไมมนุษยชาติเรียนรู้อวกาศมากกว่าท้องทะเล

A A
Oct 4, 2024
Oct 4, 2024
A A

ทำไมมนุษยชาติเรียนรู้อวกาศมากกว่าท้องทะเล

 

   เรื่องราวของการสำรวจและการค้นพบโลกของมนุษย์มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การเดินเรือข้ามมหาสมุทรในยุคสำรวจจนถึงการก้าวเข้าสู่อวกาศในศตวรรษที่ 20 โลกใต้ผืนน้ำและห้วงอวกาศทั้งคู่ถือเป็นปริศนาที่รอการไข และต่างก็เป็นจุดหมายปลายทางที่ท้าทายไม่แพ้กัน แต่ทำไมมนุษยชาติกลับทุ่มทรัพยากรและความสนใจไปยังการสำรวจอวกาศมากกว่าท้องทะเล ทั้งที่มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ของโลกถึง 71% ในขณะที่อวกาศกลับอยู่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเราอย่างเห็นได้ชัด

 

   ก่อนอื่นเลยเราต้องบอกก่อนว่าโครงการสำรวจอวกาศแต่ละครั้งนั้นต้องการงบประมาณสูงเนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ เช่น จรวดที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการผลิตและการปล่อย สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน โดยงบประมาณที่ใช้ในการสร้างและบำรุงรักษาตั้งแต่เริ่มโครงการอยู่ที่ประมาณ 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ โครงการสำรวจอวกาศของ NASA ในปีงบประมาณ 2024 ได้รับงบประมาณประมาณ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร เช่น โครงการ Artemis ที่คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายถึง 93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025

 

   แต่สำหรับการสำรวจท้องทะเลนั้นมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างออกไป แม้จะไม่สูงเท่ากับการสำรวจอวกาศ แต่ก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับโครงการสำรวจที่มีอยู่ทั่วโลก การสำรวจใต้ทะเลลึกต้องใช้ยานดำน้ำลึกที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถทนต่อความกดอากาศที่สูงมากและอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ยังต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใต้น้ำที่มีความซับซ้อนเพื่อส่งข้อมูลกลับขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัยใต้ทะเลลึก Alvin ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นยานดำน้ำสำรวจใต้ทะเลลึก ใช้งบประมาณการสร้างและบำรุงรักษากว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ โครงการสำรวจทะเลลึกของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่นๆ เช่น โครงการของ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ก็ใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านการสำรวจทะเลลึกทั่วโลก โดยรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายในการสำรวจท้องทะเลทั่วโลกในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

   นั่นจึงทำให้เราตั้งคำถามว่า การสำรวจอวกาศที่มีค่าใช้จ่ายสูงและท้าทายแบบนี้ ทำไมมนุษยชาติถึงเลือกที่จะสำรวจมันต่อไป ?

 

 

space

 

 

อวกาศ…เขตแดนสุดท้ายที่มนุษยชาติต้องพิชิต


   คำว่า “การสำรวจ” มีบทบาทสำคัญในการสร้างอารยธรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 นำมาซึ่งการค้นพบโลกใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทะเลเป็นทั้งสื่อกลางในการค้าขายและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ แต่เมื่อเทียบกับการเดินทางสู่อวกาศในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว เราเห็นได้ว่าการแข่งขันอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ซึ่งเริ่มขึ้นในยุคสงครามเย็น เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผลกระทบเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก

 

   “Space Race” หรือการแข่งขันด้านอวกาศ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การพยายามก้าวเข้าสู่ห้วงอวกาศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงถึงความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีและอำนาจของแต่ละฝ่าย อวกาศจึงกลายเป็นสมรภูมิที่ใหม่กว่าและดูน่าท้าทายมากกว่า มหาสมุทรซึ่งถูกสำรวจมาแล้วในระดับหนึ่งในอดีต


   การที่มนุษยชาติมุ่งหน้าไปยังอวกาศมากกว่าท้องทะเลนั้น มีพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญ อวกาศถูกมองว่าเป็นความฝันและแรงบันดาลใจสำหรับมนุษย์ที่อยากก้าวไปให้ไกลกว่าโลก การเดินทางไปยังดวงจันทร์และการตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีชีวิตในอวกาศช่วยกระตุ้นความสนใจและจินตนาการอย่างกว้างขวาง ในขณะที่การสำรวจมหาสมุทรดูจะถูกละเลย เพราะท้องทะเลมักถูกมองว่าเป็นเพียงแหล่งทรัพยากร และการสำรวจทะเลในปัจจุบันยังไม่สามารถแสดงศักยภาพเชิงสัญลักษณ์เท่ากับการสำรวจอวกาศ 

 

   และเรื่องราวเหล่านี้เราก็สามารถพบเห็นมันได้บ่อยๆ ผ่านโมเมนต์ Pop Culture ดังๆที่ชี้ให้ภาพลักษณ์ของการสำรวจอวกาศและการสำรวจท้องทะเลมีการถ่ายทอดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน การสำรวจอวกาศมักถูกเชื่อมโยงกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ การเปิดประตูสู่อนาคต และความทะเยอทะยานในการขยายอาณาเขตของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็น Star Wars และ Star Trek ซึ่งสร้างโลกที่มนุษย์สามารถเดินทางข้ามดวงดาวได้อย่างอิสระ โดยเน้นไปที่การสำรวจดินแดนใหม่ ๆ และการเผชิญกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จัก ซีรีส์อย่าง The Expanse และ Interstellar ก็นำเสนอแง่มุมของการสำรวจอวกาศที่สมจริงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แสดงถึงเทคโนโลยีขั้นสูงและวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ออกนอกโลก ในขณะที่การสำรวจท้องทะเลมักถูกเชื่อมโยงกับภัยอันตรายและสิ่งลี้ลับ เช่น ภาพยนตร์อย่าง The Abyss ที่กล่าวถึงการสำรวจใต้ทะเลลึกซึ่งนำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตลึกลับ และ 20,000 Leagues Under the Sea จากนิยายของ Jules Verne ที่เล่าถึงกัปตัน Nemo ผู้ค้นพบสิ่งแปลกประหลาดใต้มหาสมุทร หรือแม้กระทั่ง Jaws ที่เน้นให้เห็นถึงความอันตรายของมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตที่แฝงอยู่ใต้น้ำ วรรณกรรมเหล่านี้มักแฝงความหวาดกลัวและความระมัดระวังเกี่ยวกับการสำรวจใต้ทะเล

 

   
เรื่องทั้งหมดนี้อาจสรุปให้เข้าใจง่ายได้ว่า มนุษยชาติมักหันไปทางสิ่งที่ท้าทายมากกว่า ในกรณีของอวกาศนั้น ความไม่รู้ทำให้เราเกิดความท้าทายที่มากกว่าท้องทะเล เราได้รู้จักมหาสมุทรมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่การขึ้นไปในอวกาศนั้นถือเป็นสิ่งใหม่และไม่คุ้นเคย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลือกที่จะลงทุนและศึกษาวิทยาการใหม่ๆ ในการส่งยานอวกาศหรือแม้แต่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการสำรวจอวกาศและท้องทะเลต่างก็มีความสำคัญในด้านของตนเอง อย่างไรก็ตาม อวกาศยังคงได้รับความสนใจและการลงทุนอย่างมาก เนื่องจากมีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาของมนุษยชาติ ในทางกลับกัน การสำรวจท้องทะเลยังคงมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องการการพัฒนาและความร่วมมือในระดับนานาชาติ

 

   เราอาจจะต้องมองย้อนกลับไปว่า การพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านอวกาศและท้องทะเลจะทำให้มนุษยชาติเข้าใจถึงระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการอยู่รอดของเรา และไม่ว่าเราจะมุ่งหน้าไปสำรวจดวงดาวหรือดำดิ่งลงใต้ท้องทะเลลึก เป้าหมายสุดท้ายก็คือการขยายขอบเขตความรู้เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม

 

ขอบคุณข้อมูล

https://www.linkedin.com/pulse/space-vs-ocean-science-behind-easier-journey-taton-david-bs

https://marinesanctuary.org/blog/why-we-need-to-explore-more-of-the-ocean/

https://environment.co/explored-more-of-space-than-the-ocean/

https://www.scientificamerican.com/article/which-is-more-dangerous-outer-space-or-the-deep-sea/

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS