ห้องคิง ห้องเรียนพิเศษหรือห้องเรียนแห่งความเหลื่อมล้ำ

A A
Feb 4, 2022
Feb 4, 2022
A A

ห้องคิง ห้องเรียนพิเศษหรือห้องเรียนแห่งความเหลื่อมล้ำ

 

หนึ่งในเป้าหมายทางการศึกษาที่ทุกประเทศอยากไปให้ถึงคือ Education for All การศึกษาที่เป็นไปเพื่อเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม บางประเทศไปถึงเป้าหมายนั้นแล้ว แต่บางประเทศอย่างบ้านเราเอง ถ้ามองกันดี ๆ แล้ว ระบบการศึกษาอาจกำลังเดินสวนทางกับเป้าหมายที่เราอยากให้เป็น เมื่อโรงเรียนยังมีการแบ่งแยกห้องคิง ห้องควีน, EP, Gifted ขีดเส้นแบ่งระหว่างเด็กเก่งกับไม่เก่ง เด็กที่พ่อแม่ร่ำรวยกับยากจน ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียนกับเรื่องที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนบนโลก

ห้องคิง ระบบการศึกษากำลังทำร้ายเด็ก?

งานวิจัยเมื่อปี 2560 ของสสวท.ว่าด้วยการประเมินผล PISA ของนักเรียนไทยระบุว่า การรับนักเรียนเข้าเรียนโดยใช้การคัดเลือกทางวิชาการ คือตัวแปรที่ส่งผลด้านลบต่อระบบการศึกษา ซึ่งประเทศที่มีคะแนน PISA สูง ๆ จะไม่นำมาใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือฟินแลนด์ โดยเฉพาะการแบ่งแยกนักเรียนตามคะแนนสอบ ให้เด็กเก่งอยู่ห้องคิง ห้องควีน เด็กไม่เก่งก็อยู่ห้องโหล่นั้น จะส่งผลเสียหลายอย่างต่อตัวเด็กมากกว่าที่เราคิด

1. เด็กได้รับโอกาสไม่เท่ากัน

เมื่อไรที่มีโอกาสดี ๆ เข้ามาถึงโรงเรียน โรงเรียนก็มักจะเลือกเด็กจากห้องเก่งมากกว่า เด็กไม่เก่งจึงไม่ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

2. ถูกตีตราจากโรงเรียน

การแปะป้ายเด็กกว่าคนนี้เรียนดี คนนั้นอ่อน สร้างวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เด็กรู้สึกมีค่าหรือด้อยค่า เด็กที่ถูกตีตราว่าไม่เก่งจะยิ่งรู้สึกแย่ การพัฒนาเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นไปได้ยากขึ้น

3. สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ผ่านสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย

การแบ่งแยกเด็กตามคะแนนอาจไม่ส่งผลกระทบมากนักกับเด็กที่เก่งมาก ๆ และเด็กที่อ่อนมาก ๆ นั่นก็เพราะเด็กที่เก่งก็จะเรียนดีอยู่ไม่ว่าจะอยู่ห้องไหน เช่นเดียวกับเด็กที่ไม่เก่ง ปัญหาคือเด็กที่อยู่กลาง ๆ ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ในประเทศล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาถ้าเรายังแบ่งแยกห้องตามคะแนนกันอยู่

ผลลัพธ์ก็คือเด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทางจิตใจ และสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้อย่างมาก ลองนึกภาพตามว่าถ้าเราเอาผลการสอบของเด็กมาเรียงกันจากน้อยสุดไปมากสุด แล้วตัดครึ่งตรงกลางเพื่อแบ่งเป็นสองห้อง คือ A (เด็กเก่ง) และ B (เด็กอ่อน) สมมติว่า ก และ ข สอบได้คะแนนไล่ ๆ กัน แต่ ก ได้มากกว่านิดหน่อยเลยได้ไปอยู่ห้อง A ส่วน ข ไปอยู่ห้อง B จากที่ ก เคยสอบได้คะแนนกลาง ๆ พอมาอยู่ห้องเก่งลำดับเลยตกเป็นที่โหล่ของห้อง แม้จะได้เรียนกับเพื่อนเก่ง ๆ แต่ก็ส่งผลต่อความมั่นใจของ ก อย่างมาก ซึ่งตามการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์นั้น ผลลัพธ์สุทธิ (หรือ Net Effect) จากการได้เพื่อนร่วมชั้นที่ดี แต่ตัวเองสอบได้ที่โหล่ของห้องนั้นมักจะเป็นลบมากกว่าบวก

ส่วน ข จากที่เคยสอบได้กลาง ๆ พอมาอยู่ห้องเด็กอ่อน เลยได้เป็นที่หนึ่งของห้อง แน่นอนว่ามีผลดีต่อสภาพจิตใจพอสมควร แต่การเป็นที่หนึ่งของห้อง B และการที่ไม่ได้เรียนกับเพื่อนที่เก่งกว่า ตามงานวิจัยเเล้วผลลัพธ์สุทธิมักมีค่าเท่ากับศูนย์ในระยะยาว

แต่ถ้าหากเด็ก ๆ ได้เรียนในห้องเรียนแบบคละ เด็กที่ได้คะแนนปานกลางจะได้โอกาสในการเรียนรู้จากเพื่อน ๆ มากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงสังคมเรามีทั้งคนที่เก่งมาก เก่งน้อยไม่เท่ากัน การแบ่งแยกห้องเรียนเฉพาะเด็กเก่งทำให้เด็กไม่ได้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง เด็กจะเสียโอกาสในการเรียนรู้ และโอกาสในการทำความเข้าใจเพื่อนที่ไม่เหมือนเรา ทั้งในเรื่องนิสัย ชนชั้น และวิธีคิด โอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจเพื่อนที่ไม่เก่ง เพื่อนที่ชอบแหกกฎ เพื่อนที่รู้สึกว่าโรงเรียนไม่เหมาะกับเขา หรือการศึกษาที่วัดคนที่เกรดมันไม่ได้เหมาะกับเขา ความเข้าใจแบบนี้มาพร้อมกับความรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว เพื่อนที่ไม่เหมือนเรา เขาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถสอนกันได้ผ่านตำรา แต่ต้องเรียนรู้กันเองจากประสบการณ์

เรื่องที่ไม่สามารถสอนกันได้ผ่านตำรา แต่ต้องเรียนรู้กันเองจากประสบการณ์

ความเข้าใจผิดของห้องเรียน Gifted

ด้าน อ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความเห็นในประเด็นห้องเรียนพิเศษอย่างห้อง Gifted ว่า บ้านเรามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แทนที่จะเป็นการคัดเด็กปัญญาเลิศเพื่อมาเรียนในโปรแกรมพิเศษที่พัฒนาเด็กให้สูงกว่าเดิม แต่เรากลับไปแยกเด็กที่มีผลการเรียนสูงที่ถูกคัดกรองด้วยผลการเรียนจากข้อสอบปกติ โดยไม่ได้คัดกรองว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กปัญญาเลิศจริงหรือเปล่า ห้องเรียน Gifted จึงกลายเป็นห้องของคนที่พร้อมจ่ายเพื่อให้ได้ครูที่เก่งกว่า มีเด็กต่อห้องน้อยกว่า ส่วนเด็กที่อยู่ในระดับชั้นเดียวกันที่ไม่ได้เรียนห้อง Gifted ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนกับครูเหล่านี้ ทั้งที่ครูเก่ง ๆ ควรได้สอนเด็กห้องที่ไม่เก่งด้วยเหมือนกัน เด็กที่ไม่เก่งจะได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถให้เก่งขึ้น

จะเกิดอะไรกับเด็กที่ไม่ได้อยู่ห้องพิเศษ

อ.อรรถพลมองว่า เด็กที่ไม่ได้อยู่ห้องเรียนพิเศษซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ในสังคมก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเหลื่อมล้ำ ยอมเป็นคนอยู่ข้างล่าง ตระหนักในสิทธิพิเศษของคนอยู่ข้างบน นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการมีโปรแกรมพิเศษเหล่านี้อยู่ในโรงเรียน มันทำให้เกิดสองมาตรฐาน และในระยะยาวเมื่อเด็กเติบโตขึ้น กลุ่มหนึ่งจะกลายเป็นชนชั้นกลางระดับบนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อีกกลุ่มจะถูกล็อกเอาไว้เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง สังคมที่เป็นแบบนี้ไม่เคยพาไปสู่ความยั่งยืน เป็นสังคมที่ไม่สามารถพาให้เศรษฐกิจมวลรวมโตได้

การแบ่งแยกเด็กออกจากกันจึงทำให้เกิดดาบสองคมคือ เด็กจะไม่ช่วยเหลือกันแม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมของคนเก่งเห็นแก่ตัวที่พยายามผลักดันให้ตัวเองสูงขึ้น ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จต้องก้าวผ่านให้ได้ก่อนเพื่อน อย่างในฟินแลนด์ เด็กจนเด็กรวยก็ต้องเรียนโรงเรียนเดียวกัน เพื่อทำให้เขาเป็นเพื่อนกัน โตขึ้นมาช่วยเหลือกัน

เด็กจนเด็กรวยก็ต้องเรียนโรงเรียนเดียวกัน เพื่อทำให้เขาเป็นเพื่อนกัน โตขึ้นมาช่วยเหลือกัน

แล้วการศึกษาไทยกำลังมุ่งไปทิศทางไหนกันแน่ ในเมื่อเราอยากเห็นเด็กทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจน เราอยากเห็นเด็กที่มีจิตใจดีงาม ช่วยเหลือดูแลกัน แต่ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่กำลังหล่อหลอมเด็กไปในทิศทางที่ตรงข้าม อาจถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนต้องทบทวนนโยบายกันใหม่ แล้วยกเลิกการแบ่งแยกห้องเรียนพิเศษ แล้วหันมาพัฒนาให้การศึกษาเป็นไปเพื่อเด็กทุกคนจริง ๆ

อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=CeIntJkDCGE
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/116500
https://thaipublica.org/2016/08/nattavudh-47/
https://www.the101.world/athapol-interview/
https://www.naewna.com/local/332202

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS