Harkness Method เรียนรู้ผ่านวงสนทนา สร้างการคิดเชิงลึก
- Harkness Method คือระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการสร้างคำถามเพื่อหาคำตอบร่วมกัน โดยผ่านการนั่งล้อมวงที่โต๊ะรูปไข่ ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและผ่อนคลายมากขึ้น โดยให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าหากันโดยครั้งหนึ่งจะมีการสนทนาในวงสนทนาประมาณ 12-15 คน เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
- ครูในชั้นเรียนของ Harkness Method จะลดข้อมูลและคำตอบที่ให้นักเรียนโดยตรง แต่จะมอบทรัพยากรให้กับนักเรียนซึ่งสามารถช่วยค้นหาข้อมูลและแนวคิดแทนได้ หรือช่วยนักเรียนค้นหาทรัพยากรที่จำเป็นในการเรียนรู้
- การสอนแบบ Harkness Method เป็นการเปิดโอกาสให้ครูมีอิสระในการกำหนดรูปแบบการสอนของตนเอง ครูเองยังได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากคำถาม ข้อถกเถียง ที่เกิดขึ้นในวงสนทนา Harkness จึงเป็นการเรียนรู้ที่ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการสอนอย่างสร้างสรรค์
ในระบบการศึกษาทุกคนคงคุ้นเคยกับภาพที่ครูสอนอยู่หน้าห้อง สอนให้เด็กท่องตาม และจดจำสิ่งที่สอน โดยครูเป็นผู้ให้ข้อมูลจากรุ่นสู่รุ่น เด็กในห้องเรียนในแต่ละชั้นเราจะพบห้องเรียนที่เงียบกริบ นักเรียนไม่กล้าตอบ เพราะกลัวคำตอบที่ตอบไปจะผิด และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้นักเรียนหมดพลังในการเรียนรู้ เพราะไม่เข้าใจความหมายของการเรียนรู้นั้น
Harkness Method คือวิธีการสอนที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษปี 1930
ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนแบบเดิม ๆ ที่ไม่มีครูบรรยายอยู่หน้าห้อง แต่กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการสร้างคำถามเพื่อหาคำตอบร่วมกัน โดยผ่านการนั่งล้อมวงที่โต๊ะรูปไข่ ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและผ่อนคลายมากขึ้น โดยให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าหากันโดยครั้งหนึ่งจะมีการสนทนาในวงสนทนาประมาณ 12-15 คน เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student–centered) นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการพูดคุย ตั้งคำถามและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยมีครูจะเป็นเพียงที่ปรึกษาของวงสนทนาเท่านั้น การให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายนี้จะทำให้นักเรียน เรียนรู้จักวิธีการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เพื่อน ๆ ตอบ นอกจากนี้การตอบคำถามจะช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแสดงความเห็น การมีเหตุและผล สร้างความมั่นใจให้นักเรียนที่ไม่มั่นใจในการถามหรือมีส่วนร่วมในการอภิปราย ได้มั่นใจมากขึ้นเพราะทุกคนต้องเผชิญหน้าเพื่อร่วมกันอภิปรายและได้สำรวจความคิดเห็นของตนเอง

ครูในชั้นเรียนของ Harkness Method จะลดข้อมูลและคำตอบที่ให้นักเรียนโดยตรง แต่จะมอบทรัพยากรให้กับนักเรียนซึ่งสามารถช่วยค้นหาข้อมูลและแนวคิดแทนได้ หรือช่วยนักเรียนค้นหาทรัพยากรที่จำเป็นในการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาแนวคิดและข้อมูลในแบบของตนเอง นักเรียนจะรู้สึกว่าชั้นเรียนเป็นอิสระและช่วยสร้างทักษะการฟังซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในปัจจุบัน แต่ Harkness ไม่ใช่แค่ “การสอนผ่านการอภิปราย” เพราะชั้นเรียนแบบนี้มักขับเคลื่อนด้วยครู ครูจะถามคำถามโดยให้นักเรียนตอบหน้าห้อง และไม่ใช่การโต้วาที เพราะการโต้วาทีคือการต่อสู้ ยึดมั่นในจุดยืนโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผล และหลักการ
วิธีการสอนแบบ Harkness Method ทำให้ครูไม่มีส่วนร่วมจริงหรือ
การสอนแบบ Harkness Method เหมือนครูจะไม่มีส่วนร่วมในการเรียนแต่จริง ๆ แล้วครูมีส่วนร่วมอย่างมากโดยครูจะมอบหมายเนื้อหาให้นักเรียนได้อ่าน และนักเรียนจะต้องจดบันทึกแต่ละหัวข้อและคำถามที่ครูได้กำหนดไว้ เมื่อนักเรียนมาเข้าชั้นเรียนครูจะแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ให้นักเรียนทั้ง ผู้ดำเนินรายการ ผู้เข้าร่วม ผู้สังเกตการณ์ และจดบันทึก ผู้ดำเนินรายการ มีหน้าที่จัดระเบียบการสนทนา ตัดสินใจว่าต้องการให้ใครพูด ผู้เข้าร่วม คือคนร่วมอภิปรายแสดงความเห็น ผู้สังเกตการณ์คือเฝ้าติดตามการสนทนาอย่างเงียบๆ คอยดูวิธีการพูดคุยของแต่ละคน และผู้จดบันทึก คือจดบันทึกจากการอภิปรายเกี่ยวกับข้อมูลและแนวคิดที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับการทดสอบ
การสอนแบบ Harkness Method เป็นการเปิดโอกาสให้ครูมีอิสระในการกำหนดรูปแบบการสอนของตนเอง ครูเองยังได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากคำถาม ข้อถกเถียง ที่เกิดขึ้นในวงสนทนา Harkness จึงเป็นการเรียนรู้ที่ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการสอนอย่างสร้างสรรค์
https://discussion.miami.edu/teaching-methods/harkness/index.html
https://katherinecadwell.wordpress.com/what-is-the-harkness-method/
https://research.eef.or.th/harkness-study-freedom-and-participation-of-learning/