ผู้ใหญ่มักคิดว่าวัยเด็กเป็นช่วงเวลาของความไร้เดียงสามีความสุขและไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตมากนัก แต่ที่น่าตกใจคือ 2-3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 6 ถึง 12 ปีสามารถเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงได้
คลินิค Child Mind Institute ในนิวยอร์กในนิวยอร์คพบว่า
7.1% ของเด็กอายุ 3-17 ปี (ประมาณ 4.4 ล้านคน) ได้รับการวินิจฉัยว่าเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
3.2% ของเด็กอายุ 3-17 ปี (ประมาณ 1.9 ล้านคน) ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า
New York time พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตในเด็กอายุระหว่าง 10 ถึง 14 ปีในปี 2018 และการศึกษาของ JAMA ปี 2019 พบว่าเด็ก ๆเข้าห้องฉุกเฉินมากขึ้นโดยสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้นจากปี 2007 – 2015 มากถึง 41% ในเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี
สำหรับในประเทศไทยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้สำรวจภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตายของวัยรุ่นไทยในโรงเรียนในภาพรวมของประเทศ และ 13 เขตสุขภาพ กลุ่มตัวอย่าง 5,345 คน พบวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า 17.5% และมีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย 49.8% พบวัยรุ่นที่มีความคิดอยากตาย 20.5% มีความคิดฆ่าตัวตาย 5.1% และเคยพยายามฆ่าตัวตาย 6.4%
สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่าในปี 2561 มีกลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็น 14.6% จากคนโทรเข้ามาทั้งหมด
ภาวะซึมเศร้าเกิดในเด็กได้อย่างไร
อาการซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่พรากความสุขไปจากชีวิตเด็ก ๆ ได้ อาจจะเกิดได้จากความสูญเสียเช่น การตายของสัตว์เลี้ยง การสูญเสียภายในครอบครัว การย้ายบ้าน การหย่าร้าง หากความรู้สึกเหล่านี้อยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจจะเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า หรือในทางชีววิทยา ภาวะซึมเศร้าสัมพันธ์กับระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินในสมองที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่าในบางพื้นที่ของสมอง องค์ประกอบทางพันธุกรรมก็มีส่วนหากเด็กที่มีพ่อแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาความผิดปกติถึงสี่เท่า
แล้วเราจะช่วยอะไรเด็ก ๆ ได้บ้าง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะสามารถช่วยเด็กได้คือการดูแล เอาใจใส่จากคนในครอบครัว คอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็ก ๆ เสมอ การร่วมมือกันระหว่างครอบครัวและโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษา นอกจากนี้การดูแลโภชนาการด้านอาหาร การพักผ่อน การทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมทางสังคมก็เป็นส่วนช่วยเสริมในการรักษา นอกจากนี้พบงานวิจัยที่วิเคราะห์ผลการศึกษาหลายชิ้น พบว่าการออกกำลังกายมีผลต่ออาการซึมเศร้าของเด็กได้ดีขึ้น
กีฬากับอาการซึมเศร้าสัมพันธ์กันอย่างไร
ภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับการหดตัวของฮิบโปแคมปัส ซึ่งเป็นบริเวณสมองที่มีบทบาทสำคัญในความจำและการตอบสนองต่อความเครียด การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬาแบบทีมส่งผลให้มีฮิบโปแคมปัสที่มากขึ้นและภาวะซึมเศร้าน้อยลงในเด็กชายอายุ 9 ถึง 11 ปี ลิซ่า กอร์แฮม หัวหน้าทีมวิจัยและหัวหน้าสาขาวิชาประสาทวิทยาด้านความรู้ความเข้าใจ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในกีฬาหรือการเล่นกีฬาเป็นทีมและอย่างอื่นที่ไม่ใช่กีฬาเช่น ดนตรี หรือ ศิลปะก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮิปโปแคมปัสเช่นกัน โดยมีส่วนช่วยให้ ฮิปโปแคมปัสในชายและหญิงแข็งแรงขึ้น และยังช่วยลดสภาวะซึมเศร้าในเด็กชายอีกด้วย
โดยศึกษาจากการกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 4,191 คน อายุ 9-11 ปี จากการศึกษาสมองวัยรุ่นและการพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของบุตรหลานในการเล่นกีฬารวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ จากการสแกนสมองพบว่าปริมาตรของฮิปโปแคมปัสได้เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นข้อดีจากการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า นอกจากนั้นการศึกษานี้อาจส่งผลต่ออาการซึมเศร้าที่คล้ายคลึงกันในเด็กอายุ 15 ปี ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเข้าร่วมกีฬาทำให้ปริมาณฮิปโปแคมปัสเพิ่มขึ้นและภาวะซึมเศร้าลดลง หรืออาจเป็นได้ว่าเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่ค่อยเล่นกีฬาส่งผลให้ฮิปโปแคมปัสที่น้อยลงด้วย สถานการณ์ทั้งสองอาจมีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก
โมนิกา แจ็คแมน นักกิจกรรมบำบัดที่ Little Lotus Therapy รัฐฟลอริดา ได้อธิบายว่า กีฬาประเภททีมเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการควบคุมตนเอง ยับยั้งอารมณ์อยู่แล้วเนื่องจากผู้เล่นต้องปฏิบัติตามกฎของเกม ร่วมมือกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังส่งผลถึงความรู้จักความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และในขณะที่เด็กที่มีความซึมเศร้าพัฒนาการทางด้านสังคมอาจจะน้อยกว่าเด็กทั่วไป การเล่นกีฬาแบบทีมอาจจะทำให้พัฒนาการทางด้านสังคมของเด็ก ๆ กลับมาอีกครั้ง สำหรับกีฬาที่ไม่ใช่กีฬาอย่างทีมเช่น เวทเทรนนิ่ง กีฬากอล์ฟ หรือว่ายน้ำ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ เล่นเพียงลำพัง ผลประโยชน์จากการขัดเกลาทางสังคมอาจจะน้อยกว่ากีฬาหรือกิจกรรมประภททีม และถึงแม้งานวิจัยนี้จะพบว่าการเล่นกีฬาแบบทีมส่งผลให้ฮิปโปแคมปัสเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเพียงเด็กผู้ชายเท่านั้นที่อัตราการซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กชายและเด็กหญิงมีแรงกดดันที่แตกต่างกันต่อการนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
แต่ไม่ว่าด้วยวิธีใดสิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองหรือคุณครูควรทำคือ ส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมและการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้มีโอกาสเชื่อมต่อทางอารมณ์และสังคม โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เด็ก ๆ จำนวนมากใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจนลืมโลกของความเป็นจริงจนทำให้ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะของการแก้ปัญหาหรือความร่วมมือกันในการทำงานเป็นทีม อย่างไรก็แล้วแต่หนทางที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เกรดการเรียนแค่เพียงอย่างเดียว สุขภาพใจของเด็ก ๆ เองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันชีวิตให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอนาคตเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
- https://nyti.ms/30VHNN7
- https://bit.ly/3vIswdS
- https://bit.ly/3nrdCFq
- https://bit.ly/3mdKfXu
- https://nyti.ms/3bdk1hv
- https://bit.ly/3EiLV8i
- https://bit.ly/3nwCMlJ
- https://bit.ly/3nvCsny
- https://bit.ly/3bdi5FK
- https://bit.ly/3GmoX1U