Motivation Theory พลังจากใครบางคน..อาจเปลี่ยนคนเป็นให้เป็นอัจฉริยะ

A A
Oct 11, 2024
Oct 11, 2024
A A

Motivation Theory

พลังจากใครบางคน…อาจเปลี่ยนคนให้เป็นอัจฉริยะ

 

 

อัจฉริยะเกิดขึ้นได้เพราะคนรอบข้าง

คำจำกัดความสั้นๆของบทความที่คุณกำลังจะได้อ่าน

 

จริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนล้วนมีความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ในสมองของตนเองทั้งนั้นแหละ ซึ่งหลายครั้งความเป็นอัจฉริยะนี้มักถูกเข้าใจว่าเป็นผลมาจากพันธุกรรมบ้างก็ดีหรือความสามารถของตัวเองล้วน ๆ บ้างก็ดี แต่อย่างไรก็ตามกลับมีปัจจัยภายนอกมากมายที่ช่วยให้สกิลอัจฉริยะของเราถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้ บรรดาทักษะต่าง ๆ ความสามารถในการคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สิ่งเหล่านี้แหละล้วนมีรากฐานที่สัมพันธ์กับคนรอบตัวเราแบบที่เราก็ลืมคิดไปเลย 

 

อัจฉริยะอย่าง Albert Einstein และ Steve Jobs ที่เรามักจะพูดถึงกันบ่อย ๆ ในแง่มุมของความเป็นอัจฉริยะด้วยความสามารถเฉพาะตัว แต่การศึกษาลึกซึ้งที่ลงไปด้านจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ของสมอง ชี้ให้เห็นว่าอัจฉริยะเหล่านี้ล้วนได้รับการสนับสนุนและแรงผลักดันจากคนใกล้ตัวล้วน ๆ

 

สมองมนุษย์ถูกกระตุ้นให้เกิดความเป็นอัจฉริยะได้อย่างไร? จากคนรอบข้าง

 

อย่างที่ครูวิทยาศาสตร์ มักจะบอกกับเราเสมอว่าสมองมนุษย์เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนที่สุดในจักรวาล ประกอบด้วยเซลล์ประสาทหลายพันล้านเซลล์ที่เชื่อมต่อกันผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “ซินแนปส์” (synapses) การสร้างและการเชื่อมต่อของซินแนปส์เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยทารกและต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โดยมีสมองส่วนหน้าหรือ “Prefrontal Cortex” เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหา การพัฒนาของสมองส่วนนี้ในช่วงวัยเด็กมีความสำคัญยิ่งในการสร้างพื้นฐานของความเป็นอัจฉริยะ

 

การศึกษาในด้านประสาทวิทยาให้นิยามเรื่องนี้ไว้ว่า สมองของมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวสูง (Neuroplasticity) ซึ่งก็คือการที่สมองสามารถสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงใหม่ ๆ ตามการฝึกฝนและประสบการณ์ใหม่ ๆ ยิ่งสมองได้รับการกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมากเท่าไร การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อใหม่ ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์ได้ดีขึ้น

 

สอดคล้องกับทฤษฎีแรงจูงใจ (Motivation Theory) ที่เป็นหัวใจหลักของเรื่องที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ที่อธิบายว่า แรงผลักดันจากภายนอกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน ครู หรือแม้กระทั่งมนุษย์ป้าข้างบ้าน ล้วนเป็นสิ่งที่ผลักดันให้คนเราพยายามพัฒนาถีบตัวเองให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ

 

โดยทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยนักจิตวิทยาที่สนใจศึกษาเรื่องแรงกระตุ้นหรือ “แรงจูงใจ” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่การกระทำเล็กน้อยในชีวิตประจำวันจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่

 

หนึ่งในนักจิตวิทยาที่เป็นที่รู้จักในด้านนี้คือ Abraham Maslow ซึ่งพัฒนาทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น (Maslow’s Hierarchy of Needs) ทฤษฎีนี้อธิบายว่าแรงจูงใจของมนุษย์มีรากฐานอยู่ที่ความต้องการพื้นฐานที่เรียงลำดับจากขั้นต่ำสุด เช่น ความต้องการทางกายภาพ ไปจนถึงขั้นสูงสุด ความต้องการในทะลุขีดจำกัดศักยภาพสูงสุดของตนเอง 

 

ทฤษฎีนี้พยายามหาคำตอบว่า อะไรคือปัจจัยที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยจนค้นพบว่ามีแรงจูงใจใหญ่ ๆ ทางจิตวิทยา 2 ประเภทด้วยกันที่พลักดันศักยภาพของคนเราสู่ความเป็นอัจฉริยะ ได้แก่ แรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ที่หมายถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะความสนใจหรือความพึงพอใจที่มาจากตัวกิจกรรมนั้นเอง คนที่มีแรงจูงใจภายในมักมีความคิดสร้างสรรค์และต้องการพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องการรางวัลจากภายนอก ในขณะที่แรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) คือการที่บุคคลทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะได้รับผลตอบแทนหรือรางวัลจากภายนอก เช่น การยอมรับจากคนอื่น เงิน หรือชื่อเสียง แรงจูงใจประเภทนี้สามารถกระตุ้นให้บุคคลทำสิ่งต่าง ๆ ได้แม้ว่าจะไม่ใช่ความสนใจที่แท้จริงของเขาก็ตาม

 

บทบาทของคนรอบข้างในการสร้างความอัจฉริยะ

 

แน่นอนว่าครอบครัว เป็นสถาบันแรกที่มีผลต่อการพัฒนาสมองและความเป็นอัจฉริยะของมนุษย์ การสนับสนุนจากพ่อแม่ไม่เพียงแค่ช่วยให้เด็กมีความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ แต่ยังเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น Thomas Edison หนึ่งในนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่แม่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังความรักในวิทยาศาสตร์ เมื่อเอดิสันถูกครูที่โรงเรียนบอกว่าเขาเป็น “เด็กโง่” ที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ตามปกติ แม่ของเขาก็ลาออกจากการทำงานเพื่อมาสอนเขาที่บ้าน แรงจูงใจภายนอกจากการสนับสนุนและความเชื่อมั่นของแม่ช่วยกระตุ้นให้เขาสามารถกลายเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่

 

 

Motivation Theory

 

 

Wolfgang Amadeus Mozart อัจฉริยะที่สร้างผลงานดนตรีระดับโลกมาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือพ่อของเขาเอง Leopold Mozart ที่เป็นทั้งครูดนตรีและผู้จัดการทางดนตรีให้แก่ลูกชายของเขา พ่อของโมซาร์ทไม่เพียงแต่สอนลูกในเรื่องการเล่นดนตรี แต่ยังพาเขาไปแสดงดนตรีในยุโรปเพื่อแสดงความสามารถให้โลกเห็น แรงจูงใจภายนอกจากการได้รับการยอมรับในเวทีสังคมดนตรีและการสนับสนุนจากพ่อ ทำให้โมซาร์ทสามารถสร้างผลงานทจนเป็นไอคอนแห่งวงการดนตรีคลาสสิก

 

เราจะเห็นได้ว่าเรื่องราวเล็ก ๆ อย่าง ทฤษฎีแรงจูงใจ ช่วยอธิบายให้เราเห็นว่าว่าคนรอบข้างมีบทบาทสำคัญแค่ไหนในการสร้างอัจฉริยะสักหนึ่งคน เมื่ิอใครก็ตามที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ครู หรือสังคมรอบข้าง พวกเขาก็มีแรงจูงใจมากเพียงพอในการพัฒนาความสามารถของตนจนกลายเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ที่ใคร ๆ ก็ต้องจารึกอย่างอัจฉริยะเหล่านี้นั่นเอง

 

ขอบคุณข้อมูล

https://uk.indeed.com/career-advice/career-development/maslow-motivation-theory

https://www.talkingaboutorganizations.com/e03/

https://www.simplilearn.com/theories-of-motivation-article

https://www.verywellmind.com/theories-of-motivation-2795720

https://achology.com/motivation/psychology-theories-for-motivation/

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS