วิ่งมาราธอนสะท้อนอะไรในการศึกษา

A A
Oct 26, 2021
Oct 26, 2021
A A

“ถ้าคุณอยากวิ่ง คุณวิ่งแค่กิโลเดียวก็พอ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ คุณค่อยไปวิ่งมาราธอน” ข้อความผ่านตัวละครในภาพยนตร์ รัก 7 ปี ดี 7 หน การวิ่งให้อะไรมากมายขนาดนี้เชียวหรือ?

     ในงาน TedTalk คุณAndrew Johnston อาจารย์คณะบริหารธุรกิจที่ Red Rocks Community College จัดทำคลาส Change through Challenge ข้อสอบปลายภาคเรียน โดยคุณต้องวิ่งมาราธอนให้จบ Andrew บอกว่า “ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำสิ่งใหญ่โตชั่วคราว หากแต่ขึ้นอยู่กับสิ่งเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอต่างหาก”

     มาราธอน คือ การวิ่ง 42.195 กิโลเมตร ซึ่งต้องอาศัยการซ้อมแบบที่เขาเรียกกันว่า “กัดไม่ปล่อย” เพราะการไปถึงมาราธอนได้นั้น ต้องซ้อมตามตารางที่วางไว้อย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจจะมากกว่า มีวันพัก มีวันปกติ วิ่งเร็ว หรือเป็นวันที่วิ่งยาวหลายสิบกิโล เพื่อให้กล้ามเนื้อเคยชินกับระยะทาง อัตราการเต้นของหัวใจ การเผาผลาญไขมัน ที่ทุกอย่างต้องสอดประสานเข้าด้วยกัน นาน 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระยะทางในการวิ่ง ทุกอย่างล้วนต้องทำอย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน และ มีวินัยอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ความสำคัญกับก้าวเล็ก ๆ ในทุก ๆ วัน และใส่ใจกับรายละเอียดของร่างกายในทุก ๆ ส่วน

     การวิ่งมาราธอนไม่ได้ใช้แค่เพียงร่างกาย แต่เป็นการใช้ทั้งร่างกาย สมอง และหัวใจ ขับเคลื่อนทุกอย่างไปพร้อมกัน การซ้อมวิ่งมาราธอนเปรียบเสมือนกับการวิ่งผลักกำแพงของตัวเองออกไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เรามีพัฒนาการในทุก ๆวัน เคี่ยวเข็ญร่างกายให้เคยชินกับทุกความอ่อนล้า ความเจ็บ ความท้อแท้ จนกว่าจะถึงวันวิ่งจริง มาราธอนจึงเป็นการต่อสู้กับหัวใจตัวเองที่ยิ่งใหญ่ เป็นหนทางอันโดดเดี่ยว มีแค่เสียงหัวใจ ลมหายใจ และฝีเท้าเท่านั้นที่คุยกับเราตลอดระยะเวลา 42.195 กิโลเมตร

     ที่มหาวิทยาลัย Bangor ในประเทศอังกฤษ นักศึกษาจิตวิทยาปีที่สาม ต้องผ่านการเรียนรู้โมดูล BORN TO RUN: ACHIEVE YOUR GOAL โดยวัตถุประสงค์ของโมดูลนี้เพื่อให้นักศึกษาตระหนักถึงศักยภาพในตัวเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ตัวเองเคยจินตนาการไว้ เป็นการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวกและการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งทักษะและหลักการที่เรียนรู้นี้สามารถนำไปใช้กับทุกสถานการณ์ในชีวิตในโลกอนาคตที่ท้าทายและคาดเดาไม่ได้ เป้าหมายของโมดูลนี้ไม่ใช่การวิ่งมาราธอนให้สำเร็จเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการสร้างผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และสามารถเอาชนะความท้าทายนั้นได้ ในโมดูลนี้ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่วิ่งมาราธอนสำเร็จ บทเรียนในโมดูลนี้จึงแสดงถึงความเพียร ความยืดหยุ่น และการยอมรับความล้มเหลว ว่าอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จนั้น

     เช่นเดียวกันกับที่วิทยาลัยไฮแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้การวิ่ง Half Marathon เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร นักเรียนจากวิทยาลัยไฮแลนด์ Heather Archer บอกว่า การวิ่งทำให้เขารู้ว่าเมื่อมีสุขภาพที่แข็งแรง ส่งผลให้จิตใจและทัศนคติการใช้ชีวิตนั้นดีขึ้น Half Marathon ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนหลายคน บางคนเริ่มวิ่งและวิ่งอย่างต่อเนื่องจนเป็นวินัยถึงทุกวันนี้ และบางคนสามารถลดน้ำหนักไปได้มากถึง 70 ปอนด์

     มาราธอนไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กโตเท่านั้นที่ Lockwood Avenue Elementary ในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย นำโปรแกรม Marathon Kids มาใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า การวิ่งทำให้ชีวิตของเด็ก ๆ นั้นง่ายขึ้น เพิ่มพลังบวก ช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักตั้งเป้าหมาย เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง อีกทั้งยังพบว่า การวิ่งทำให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลายจากการเรียนและรับมือกับความเครียดในชีวิตได้ดีขึ้น

 

มาราธอน

 

แล้วมาราธอนสอนสะท้อนอะไรในการศึกษา?
#ก้าวเล็กแต่สำคัญ
     การวิ่งมาราธอนสิ่งสำคัญก่อนจะถึงเส้นชัยที่ 42.195 กิโลเมตร คือ ก้าวเล็ก ๆ ที่พาเคลื่อนตัวไปถึงจุดหมาย การเรียนก็เช่นกัน ความรู้เล็ก ๆ หรือการเรียนรู้ระหว่างทางนั้นมักมีประโยชน์ต่อเราในขั้นสุดท้ายเสมอ การซ้อมวิ่งมาราธอนเปรียบเสมือนการแบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วนเล็ก ๆ แล้วค่อยทำไปในทุกวัน เพราะความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ปลายทางเท่านั้น แต่กุญแจของความสำเร็จคือการพัฒนาหัวใจผ่านการฝึกฝนและลงมือทำอย่างสม่ำเสมอต่างหาก

#มาราธอนทำให้เราฝึกฝนและฝึกฝืน
     ในเมื่อเราไม่สามารถวิ่งมาราธอนได้ภายในสองสัปดาห์ เราก็ไม่สามารถรับทักษะที่ซับซ้อนได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์เช่นกัน การวิ่งมาราธอนเป็นการฝึกให้เราเป็นคนใหม่ คนที่จะไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่มีข้อแม้ และรู้ว่ามีเป้าหมายที่รอเราอยู่ การได้เหรียญรางวัลในการวิ่งไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าเราชนะใคร แต่เป็นการชนะใจตัวเองอย่างแท้จริง การวิ่งมาราธอนจึงเป็นการฝึกให้เราเคี่ยวกรำตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ได้จากการวิ่งมาราธอนนี้เองสามารถนำไปใช้กับทุก ๆ เรื่องในชีวิตเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งในการสอบ เป็นไปได้ที่จะสามารถอ่านเนื้อหาที่จะสอบทั้งหมดได้ในคืนก่อนนอน แต่ต่อจากนั้นคุณเองจะลืมทุกสิ่งและนำไปใช้ไม่ได้อีกเลย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวสำหรับการสอบ มีการฝึกฝน วางแผน อดทนต่อความขี้เกียจที่พบเจอบ้างระหว่างทางเช่นเดียวกับการซ้อมมาราธอนเมื่อทั้งหมดถูกวางแผนและจัดระเบียบไว้อย่างดี เราเองก็จะไม่ต้องโหมอ่านหนังสือทั้งหมดในคืนก่อนสอบ มีเวลาพักผ่อนเต็มที่มีสติและสมาธิเต็มที่กับการสอบนั้น

#มาราธอนเป็นเรื่องของความมุ่งมั่น
     เมื่อเราซ้อมวิ่งอย่างต่อเนื่อง เราจะรู้สึกได้ถึงร่างกาย ความเร็ว ฝีเท้า ลมหายใจที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป เราจะเหนื่อยยากขึ้น วิ่งได้ดีขึ้น นานขึ้น และไปได้ไกลขึ้น หากเราสามารถเอาชนะตัวเองที่กำลังอ่อนแอ ขี้เกียจได้ เราเองก็จะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น การศึกษาก็เช่นเดียวกัน

     “ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นปลูกต้นไม้คือ 25 ปีก่อน และช่วงเวลาที่ดีที่สุดรองลงมาคือการเริ่มต้นวันนี้” ประโยคหนึ่งที่ เอเลียด คิปโชเก นักวิ่งที่จบมาราธอนต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในปี 2019 กล่าวให้กับนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ถึงการเริ่มต้นลงทุนกับเวลา หากคุณต้องการความสำเร็จในอนาคต นั่นคือคุณต้องมุ่งมั่น ให้เวลา อดทน รอคอย ความมีวินัยที่วันหนึ่งจะงอกเงยเป็นความสำเร็จในสักวัน

#สูตรความสำเร็จในทุกสิ่ง
     แรงจูงใจ + วินัย = ความสม่ำเสมอ คือหัวใจหลักและเป็นสูตรสำเร็จในทุกสิ่ง การวิ่งมาราธอนเองก็ใช้สูตรนี้ มาราธอนเป็นกิจกรรมปัจเจกอย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีการซ้อมวิ่งกันเป็นกลุ่ม แต่หนทางการเดินทางนั้นช่างโดดเดี่ยว เป็นการแข่งขันกับตัวเองที่กำลังออกรบกับความรู้สึกหลายอย่างในจิตใจหรือความเจ็บปวดของร่างกาย การศึกษาก็เช่นกัน ยิ่งเรามีวินัยในการเก็บสะสมความรู้มากเท่าไหร่ ความรู้ก็ย่อมเกิดกับตัวเรามากเท่านั้น

     การศึกษาจึงเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนกว่าที่จะได้คำว่าเป็น Finisher ทุกอย่างล้วนถูกวางแผน ฝึกฝน เคี่ยวกรำตัวเอง ร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่ทรยศเรา หากเราใช้มันแบบไหนมันก็จะแสดงผลออกมาเป็นแบบนั้น การศึกษาก็เช่นกัน

อ้างอิง
https://bit.ly/2Ztqra8
https://bit.ly/3mcEZ6u
https://bit.ly/3Egw8XD
https://bit.ly/3Cg9XAp
https://bit.ly/3jAfwlG
https://bit.ly/3ChMJtx
https://nyti.ms/2XNYBEM
https://bit.ly/3pLfco2

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS