เมื่อสงครามเกิดขึ้น เด็กคือเหยื่อที่บอบช้ำที่สุด
สงคราม… คำสั้น ๆ ที่มาพร้อมกับความเจ็บปวด การพลัดพราก ความสูญเสีย และความอดอยาก สถานการณ์ความขัดแย้งที่รัสเซียตัดสินใจใช้กำลังเข้าบุกยูเครนส่งผลให้ชาวยูเครนนับล้านต้องกลายเป็นผู้อพยพในชั่วเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ไม่ใช่แค่สองประเทศนี้เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ผู้คนทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือเด็ก นักเรียนและนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งของสองประเทศ สงครามสร้างบาดแผลและส่งผลกระทบอะไรกับพวกเขา คนที่เป็นอนาคตและความหวังของประเทศ แล้วเราช่วยอะไรเด็กกลุ่มนี้ได้บ้างไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่ ครู หรือหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม
ความโดดเดี่ยวของนักศึกษาชาวรัสเซีย
Lydia นักศึกษาชาวรัสเซียวัย 21 ปีที่มาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้ เธอบอกว่าจะพยายามไม่พูดอะไรมากที่มหาวิทยาลัย เพราะกลัวว่าหากเพื่อนได้ยินสำเนียงแล้วจะรู้ว่าเป็นคนรัสเซียก็จะยิ่งกล่าวหาเธอถึงสงครามที่เกิดขึ้น นักศึกษารัสเซียที่อังกฤษหลายคนก็ไม่ได้สนับสนุนประธานาธิบดีปูตินเหมือนกับเธอ แต่ Lydia ก็ยังกลัวว่าเพื่อนในชั้นเรียนจะไม่เข้าใจ เมื่อครูพูดเรื่องรัสเซียบุกยูเครนในชั้นเรียน มันทำให้เธอรู้สึกละอายใจและอยากจะหายตัวไปเลย การเป็นนักศึกษารัสเซียที่มีแต่เพื่อนที่พูดภาษาอังกฤษช่วยให้เธอพัฒนาภาษาได้เร็ว แต่เมื่อเผชิญกับสถานการณ์นี้มันกลับสร้างความโดดเดี่ยวให้เธอเป็นอย่างมาก เธอไม่มีใครให้พูดคุยเรื่องนี้ด้วย และก็รู้สึกว่าเพื่อน ๆ ไม่น่าจะเข้าใจว่าเธอรู้สึกอย่างไร
แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยเองจะต้องช่วยเหลือนักศึกษาชาวยูเครนก่อน แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งนักศึกษารัสเซียอย่าง Lydia ที่อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว แต่ไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ มหาวิทยาลัยในอังกฤษมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านอารมณ์กับนักศึกษาชาวยูเครนที่เผชิญกับความทุกข์ยากอย่างหนัก และยังช่วยในเรื่องเงิน วีซ่า รวมถึงให้คำแนะนำว่าจะพาพ่อแม่มาอยู่ด้วยที่อังกฤษอย่างไร
ผลกระทบของสงครามต่อเด็ก
ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่าขณะนี้มีผู้ลี้ภัยชาวยูเครน 2.5 ล้านคน ซึ่งครึ่งหนึ่งในนี้เป็นเด็ก งานวิจัยจากสถาบันวิจัยสันติภาพในกรุงออสโลเมื่อปี 2019 คาดว่าเกือบ 2 ใน 3 ของเด็กทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้ง เด็กมากกว่า 415 ล้านคน (มากกว่า 1 ใน 6 คน) อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ความขัดแย้งในระยะไม่เกิน 50 กิโลเมตร
แน่นอนว่าสงครามส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ ความเสี่ยงด้านร่างกายที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญคือ การโดนกระสุน โดนระเบิด หรือหายใจเอาควันหรือเถ้าถ่านที่จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
ส่วนเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตนั้น จากการศึกษาพบว่าเด็กและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือหนีออกจากพื้นที่สงครามมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการเด็ก บ่อยครั้งที่เด็กเหล่านี้จะมีความบอบช้ำและความทุกข์ใจ ฝันร้าย ไม่มีสมาธิ หวาดกลัวอย่างมาก และวิตกกังวลสูง การเจอกับสงครามซ้ำ ๆ ในช่วงที่เด็กกำลังมีพัฒนาการอาจทำให้เกิดโรค PTSD (โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง) มีภาวะซึมเศร้า และมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพอย่างรุนแรง PTSD ยังส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบกับครอบครัว แสดงความโกรธและความเกลียดชังต่อผู้อื่น ใช้สารเสพติด และการทำร้ายตนเอง ซึ่งความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เด็กเจอกับความรุนแรงแบบไหน หรือเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจบ่อยแค่ไหน
นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ยังเน้นย้ำว่าการโตมาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งก็สามารถทำร้ายเด็กทางอ้อมได้เช่นกันจากการที่โรงเรียนโดนระเบิด ครูหายตัวไป หรือเด็กถูกกีดกันไม่ให้เข้าเรียน เพราะกลัวจะถูกให้เกณฑ์ทหารหรือมีการใช้ความรุนแรง งานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการที่เด็กไม่ได้ใช้เวลาที่โรงเรียนไว้ว่าจะส่งผลต่อโอกาสในอนาคตของเด็ก เด็กที่เจอภาวะสงครามจะมีปัญหาด้านการอ่านมากกว่า เข้าถึงตลาดแรงงานได้น้อยลง หางานที่ต้องใช้ทักษะสูง ๆ ได้น้อยกว่า และมีรายได้น้อยกว่าเด็กที่ไม่เคยเจอสงครามอย่างเห็นได้ชัด
ช่วยเหลือผู้ใหญ่ = ช่วยเหลือเด็ก
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการพัฒนาเด็กบอกว่าวิธีดูแลเด็กในช่วงสงครามที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งคือการให้ความช่วยเหลือผู้ใหญ่ คล้าย ๆ กับการสาธิตความปลอดภัยบนเครื่องบินที่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้ใหญ่จะต้องสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อนแล้วถึงค่อยสวมให้เด็ก ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดว่าเด็ก ๆ จะมีชีวิตรอดและเดินไปข้างหน้าอย่างไรหลังสงครามก็คือผู้ใหญ่ที่คอยดูแลพวกเขานั่นเอง ถ้าพ่อแม่บอบช้ำมากก็จะไม่สามารถดูแลลูก ๆ ได้ ความต้องการของผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องเด็ก
เด็กที่อยู่ในช่วงทารกจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าผู้ใหญ่ปล่อยปละละเลยเด็กในช่วงนี้ก็อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกได้ หากพ่อแม่บอบช้ำหรือซึมเศร้าอย่างหนักจนไม่สามารถยิ้มหรือเล่นกับเด็กได้ นี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อสมองของเด็กแม้ว่าเด็กจะยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ร่างกายจะเกิดความเครียดที่มากเกิน เกิดการอักเสบ และความดันโลหิตก็จะสูงขึ้น
เด็กไม่เพียงแค่ต้องการผู้ใหญ่ในแง่คนคอยปกป้องดูแลเท่านั้น แต่เด็กยังอยากรู้ว่าตัวเองจะแสดงออกถึงความหวาดกลัวได้แค่ไหน อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่มั่นคงนี้ พวกเขาจะรู้สึกได้รับการปกป้องมากที่สุดในครอบครัวและชุมชนที่เข้มแข็ง
แบบแผนยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กในช่วงสงคราม
แม้ว่าในภาวะสงครามจะมีความยากลำบาก แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าแบบแผนยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กอยู่ เพราะแบบแผนจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและมีความเป็นอยู่ที่ดี ครอบครัวชาวยูเครนบางส่วนพยายามหาวิธีให้เด็ก ๆ ได้เล่นและหาครูมาสอนในหลุมหลบภัย แม้ว่าเด็กจะไปโรงเรียนไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้ แต่การรักษาแบบแผนบางอย่างไว้จะมีประโยชน์และปกป้องเด็ก ๆ ได้มาก ฉะนั้นในค่ายผู้ลี้ภัยเองก็ควรจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็ก ให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวและอยู่กับความปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเล่นหรือการเรียนก็ตาม
ความช่วยเหลือที่ถูกส่งผ่านกระดาษห่อขนมปัง
อาลา เอล-คาห์นี นักจิตวิทยาด้านมนุษยธรรม เล่าถึงงานของเธอในการช่วยเหลือครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในซีเรียเมื่อหลายปีก่อน เธอตั้งคำถามว่าเราจะช่วยเหลือพ่อแม่ในการมอบการเลี้ยงดูที่อบอุ่นและปลอดภัยแก่ลูก ๆ ในภาวะสงครามได้อย่างไร เพราะสุขภาวะของเด็กขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นหลักมากกว่าความเลวร้ายจากตัวสงครามเอง
สิ่งแรกที่เธอทำในการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ลี้ภัยคือ การเข้าไปถามตรง ๆ ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรบ้าง มีอุปสรรคในการเลี้ยงดูลูกอย่างไร อยากให้ช่วยเหลืออะไร สิ่งที่ดูมหัศจรรย์และสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากหลังจากได้พูดคุยกับครอบครัวเหล่านี้คือ ครอบครัวมีกำลังใจดีมาก และพยายามช่วยเหลือลูกทุกวิถีทาง แม้ว่าจะต้องเจออุปสรรคมากมาย เธอเจอพ่อแม่ที่ไปขอความช่วยเหลือคนที่ทำงานใน NGO ครูในค่ายลี้ภัย พ่อแม่จากครอบครัวอื่น รวมถึงหมอ แต่น่าเสียดายที่ความพยายามเหล่านี้มักไร้ประโยชน์เสียส่วนใหญ่ เพราะหมอและคนอื่นในค่ายก็มักจะยุ่งตลอดเวลา หรือไม่ก็ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงดูเด็กขั้นพื้นฐาน
เมื่อการให้ความช่วยเหลือในระดับปัจเจกแทบเป็นไปไม่ได้ เธอจึงปรึกษาเจ้าหน้าที่ NGO แล้วก็ได้ไอเดียว่าการแจกใบปลิวน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ใบปลิวนี้ไม่ใช่การเที่ยวมาเดินแจกเหมือนทั่ว ๆ ไป แต่เป็นใบปลิวที่อยู่ในรูปแบบกระดาษห่อขนมปังซึ่งจะถูกส่งไปให้ครอบครัวในพื้นที่ขัดแย้งของซีเรีย โดยแผ่นแรกจะเป็นข้อมูลและคำแนะนำขั้นพื้นฐานในการเลี้ยงดูลูกที่จะช่วยให้พ่อแม่รับมือกับสถานการณ์ที่จะต้องเจอ สิ่งที่ลูกๆ อาจเจอเมื่อกลับสู่สภาวะปกติ รวมถึงข้อมูลในการช่วยเหลือตนเองและลูก ๆ เช่น การใช้เวลาพูดคุยกับลูก แสดงออกถึงความรักให้มากขึ้น และใจเย็นกับลูกให้มากขึ้น ส่วนกระดาษอีกแผ่นจะเป็นแบบสอบถาม ให้เขียนข้อเสนอแนะ
ผลลัพธ์ที่ได้นั้นเกินคาด แค่สัปดาห์เดียวก็สามารถแจกใบปลิวได้ถึง 3,000 แผ่น และยังได้รับการตอบรับถึง 60% เธอมองว่าวิธีนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะส่งมอบการปฐมพยาบาลด้านจิตใจที่ให้ทั้งความอบอุ่น ความปลอดภัยและการเลี้ยงดูที่เปี่ยมไปด้วยความรักกับครอบครัวผู้อพยพ หลายครอบครัวส่งข้อความกลับมา หนึ่งในนั้นคือ “ขอบคุณที่ไม่ลืมพวกเราและลูก ๆ”
ผู้ลี้ภัยนับล้านที่ต้องอพยพไปในหลายประเทศในยุโรปก็อยู่ร่วมสังคมกับเรา เขาอาจกลายเป็นเพื่อนบ้านเรา ลูก ๆ เขาก็เข้าโรงเรียนเดียวกับลูกของเรา มีนักเรียนไทยและคนไทยอีกหลายคนที่อาศัยอยู่ในสองประเทศนี้ สงครามจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนทั่วโลกกำลังต่อสู้กับสงครามราคาน้ำมัน ข้าวของแพงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อในบ้านเราพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี การให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ลี้ภัยหรือคนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องได้รับความสำคัญจากผู้วางนโยบายหลายภาคส่วน ทั้ง NGO WHO UNHCR รวมถึงเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนของสังคมก็ตาม
อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/aala_el_khani_what_it_s_like_to_be_a_parent_in_a_war_zone?language=th
https://www.theguardian.com/education/2022/mar/06/russians-at-uk-universities-lonely-and-guilty-as-they-fear-for-the-future
https://theconversation.com/war-devastates-the-lives-of-children-what-the-research-tells-us-and-what-can-be-done-168157
https://abcnews.go.com/International/mental-health-effects-ukraine-war-zone-children/story?id=83203801