อากาศร้อน แต่ การศึกษาร้อนกว่า

A A
Nov 4, 2022
Nov 4, 2022
A A

อากาศร้อน แต่ การศึกษาร้อนกว่า

  • ลองจินตนาการว่า…เรานั่งอยู่ในตู้อบ8 ชั่วโมง ต่อ วัน

    5 วัน ต่อ สัปดาห์

    40 สัปดาห์ ต่อ ปี

    นี่..คือตัวเลขที่ลูกหลานของเราต้องเผชิญเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี

    บทความนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่า “ภูมิอากาศ” ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้มากแค่ไหน 

    ประเทศไทย อย่างที่เรารู้กันเองภายในว่าต่อให้ฤดูไหน ๆ ผ่านมามันก็เป็นแค่ชื่อเรียกเท่านั้น 

    ฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน เป็นเพียงชื่อเรียกบังหน้าของฤดูร้อน ฤดูร้อนกว่า และฤดูร้อนโคตร ๆ 

    แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

    ประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อน อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรเพียงเล็กน้อย โดยตำแหน่งที่ตั้งที่มีค่าละติจูดต่ำ ก็จะมีอุณหภูมิสูงกว่าตำแหน่งพื้นที่อื่น ทำให้บ้านเรามีภูมิอากาศร้อนที่อบอ้าว ร้อนชื้น แบบเดียวกับทุ่งหญ้าสะวันนา

    แล้วจะส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างไร ก็เราโตมาแบบนี้ อากาศก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำไมจะเรียนไม่ได้ ?

    คำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณเข้าใจวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    รายงานอุณหภูมิโลกจากศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกในปี 2020 ติด 3 อันดับแรกของปีที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นอันดับสองรองจากปี 2016 เท่านั้น โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 20 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม จากยานพาหนะโดยสารในปริมาณที่มากพอจะขึ้นไปสร้างปราการบางๆบนชั้นบรรรยากาศ เปลี่ยนประเทศไทยเป็นตู้อบได้เลยในเวลากลางวัน  

    สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงภัยคุกคามต่อการเรียนรู้ของบุตรหลานเราอีกด้วย 

 

ยิ่งอากาศร้อน..การเรียนยิ่งแย่

แน่นอนว่าสภาพอากาศย่อมส่งผลต่ออารมณ์ของคนเรา วันที่อากาศร้อนจัด จะเป็นตัวกระตุ้นความเครียดในทางอ้อม พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้ความรุนแรงอีกทั้งยังส่งผลให้เราไม่มีสมาธิ สิ่งเหล่านี้เกิดจากสารเคมีในร่างกายชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า“เซโรโทนีน” (Serotonin) ที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลตรงต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ ในงานวิจัยของอาจารย์ Joshua Goodman และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ติดตามผลการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 10 ล้านคนทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงระยะเวลา 13 ปี พบว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 0.55 เซลเซียส ในแต่ละปี นั้นมีผลต่อการเรียนรู้ที่ลดลง 1% โดยวันที่อากาศเย็น จะไม่ส่งผลเสียให้กับผลการเรียน แต่ในวันที่วัดอุณหภูมิได้สูงเกินกว่า21 องศาเซลเซียส เมื่อเปลี่ยนโหมดมาเป็นอากาศร้อนจะเริ่มสังเกตถึงผลกระทบเชิงลบได้ และจะสังเกตเห็นผลการเรียนรู้ที่ลดลงได้อย่างชัดเจนเมื่อวัดอุณหภูมิได้สูงเกินกว่า 32 องศาเซลเซียส

อีกงานวิจัยของทีมมหาวิทยาลัย Harvard ที่ขยับกลุ่มเป้าหมายขึ้นไปเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบว่ายังมีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของสมองเมื่อทำงานร่วมกับสภาพอากาศร้อน งานวิจัยนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างต่อเนื่องช่วงปี 2018  จัดกลุ่มทดลองนักศึกษาในบอสตัน เมืองหลวงของรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยนักศึกษากลุ่มแรกพักอยู่ในหอที่มีเครื่องปรับอากาศ และกลุ่มที่ 2 พักอยู่ในหอที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ จากนั้นจึงให้นักศึกษาทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบเพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อม พบว่านักศึกษาที่อยู่ในหอที่มีเครื่องปรับอากาศมีคะแนนในเกณฑ์ปกติ เทียบเท่ากับผู้ที่ไม่ได้มีอาการสมองเสื่อม แต่นักศึกษาที่อยู่ในหอที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศมีคะแนนเทียบเท่ากับผู้ที่มีอาการบ่งชี้ว่าเข้าข่ายสมองเสื่อม  งานวิจัยนี้ได้ขยายความไปต่อในเชิงลึกได้อีกว่าแม้คลื่นความร้อนจะเคลื่อนผ่านพื้นที่ในหอพักไปแล้ว แต่ความร้อนยังคงอยู่ภายในอาคารต่อไปอีกประมาณ 48 ชั่วโมง เพราะโครงสร้างอาคารในบอสตันถูกออกแบบมาเพื่อให้เก็บความร้อนเอาไว้ในหน้าหนาว มีเพดานต่ำ ทำให้อาคารไม่ระบายความร้อนในหน้าร้อน…ทำให้เรารู้ว่าปัจจัยที่ทำงานร่วมกับสภาพอากาศร้อนแล้วทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเราลดน้อยถอยลง ไม่ใช่สิ่งอื่นไกล…อาคารหรือห้องเรียนของลูกเรานั่นเอง

 

Hot Classroom

 

  แล้วห้องเรียนของลูกเรา…เป็นยังไง

ตามระเบียบกระทรวงการศึกษา ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา พ.ศ. 2549 ได้กำหนดคค่ามาตรฐานขั้นต่ำของเรียนไว้ที่จำนวนนักเรียน 1 คน ต่อ พื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งเป็นระยะที่พอดีจะนั่งเรียนแต่อาจไม่มีพื้นที่พอจะเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ ตัวเลขนี้ยังไม่รวมความกว้างระหว่างพื้นถึงเพดานห้องภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 2.6 เมตร ซึ่งคำว่าไม่ต่ำกว่า แปลว่า เกินได้ จากการสำรวจพบว่าแทบไม่มีอาคารเรียนไหนไหนสร้างไว้สูงกว่าตัวเลขขั้นต่ำนี้ เพราะอีกนัยหนึ่ง ยิ่งสร้างเยอะ ก็ ยิ่งเพิ่มงบประมาณ

เมื่ออากาศร้อนเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ ปรับปรุงอาคารก็ยุ่งยาก…แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

แนวทางการปรับตัวสู้สภาพอากาศที่ร้อนสำหรับโรงเรียน หากมองไปที่ปัญหาสุขภาพผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ การปรับตารางวิชาที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งสามารถช่วยได้ โดย ให้มีความยืดหยุ่น ตามสภาพอากาศเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุดของวัน ปรับเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มของนักเรียนให้มีส่วนผสมของ UV protection ที่มีคุณลักษณะระบายเหงื่อได้ดี สำหรับช่วงฤดูร้อนแทน หรือง่ายที่สุดคือการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อสร้างบรรยากาศสีเขียวและร่มเงาภายในโรงเรียน ซึ่งประเด็นนี้ทางกระทรวงการศึกษายังไม่มีการออกนโยบายอย่างจริงจังเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน บทความนี้จึงเป็นเพียงแว่นขยายที่ช่วยให้ทุกคนได้เห็นประเด็นนี้ในภาพที่ใหญ่ขึ้น ได้ส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนจะส่งผลการเรียนรู้ของลูกหลาน ณ วันที่ประเทศไทยอาจร้อนถึง 50 องศาเซลเซียสในอนาคตอันใกล้

 

 

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3dYIool
https://bbc.in/3fF7CZv
https://bit.ly/3E98r6X
https://bit.ly/3LYGbG3

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS