เรื่องกินเรื่องใหญ่ = อาหารกลางวัน (ปัญหา) เรื่องใหญ่?

A A
Nov 2, 2022
Nov 2, 2022
A A

เรื่องกินเรื่องใหญ่ = อาหารกลางวัน (ปัญหา) เรื่องใหญ่?

 

  • อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของชีวิต อาหารมื้อหนึ่งอาจไม่ได้เพียงแค่ต่อชีวิตเด็กคนหนึ่งออกไป แต่มันอาจเป็นส่วนผสมหนึ่งของอนาคตที่ซ่อนอยู่ของเด็กคนนั้น
  • หลายประเทศเผชิญกับปัญหาเรื่องอาหารกลางวันในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เมื่อบทบาทของรัฐไม่สามารถเยียวยาปัญหานี้ได้ทันท่วงที องค์กรและชุมชนจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้
  •  

ข้าวกลางวันที่เรากินกันทุกวันนี้ราคาประมาณเท่าไร ลองคิดแบบประหยัดต้นทุนหน่อย สมมติถ้าเราต้องทำอาหารกลางวันให้ลูกวัยประถมฯ ด้วยเงิน 28 บาท คิดว่าเมนูที่เราจะทำได้ภายใต้งบอันจำกัดนี้จะออกมาเป็นอะไรได้บ้าง นี่อาจเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับพ่อบ้านแม่บ้านเลยทีเดียว เงิน 28 บาท กับเมนูที่ต้องตอบโจทย์โภชนาการสำหรับเด็ก และที่สำคัญควรต้องอร่อย เพราะไม่งั้นอาจถูกเด็ก ๆ เมินเอาได้ ถ้าเราคิดว่า นี่คือโจทย์ที่เว่อร์เกินจริง ประเทศของเรากำลังใช้โจทย์นี้กับเด็กทั่วประเทศอยู่ เพราะจำนวนเงิน 28 บาท คือ งบอุดหนุนค่าอาหารกลางวันรายหัวของเด็กปฐมวัย และเด็กประถมฯ ต่อคนต่อวัน และถ้าเราคิดว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่แล้ว (ซึ่งมันก็ใหญ่จริง ๆ ) ประเทศอื่น ๆ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารกลางวันเด็กไม่ต่างกัน ทำไมปัญหานี้ถึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ และทำไมเราถึงไม่ควรเพิกเฉยกับอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้ลูกหลานของเรากิน แน่ล่ะเรื่องกินเรื่องใหญ่ เพราะอาหารที่ดีก็มีส่วนส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น

 

ปัญหาอาหารกลางวันในอเมริกา

ในบ้านเราอาจจะเคยได้ยินข่าวดราม่าอาหารกลางวันที่ดูไม่ได้มาตรฐานโภชนาการสำหรับเด็ก จนเราอาจจะนึกว่าปัญหาแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาหรือเปล่า ถ้ามองไปยังประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ปัญหานี้เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่ท้าทายระบบราชการ องค์กรเอกชน มูลนิธิ และชุมชนทั่วประเทศเลยก็ว่าได้ สารคดี Eat Up ในปี 2019 ได้บอกเล่าเรื่องราวอาหารกลางวันของเด็กอเมริกันที่มีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และความยากลำบากของการเตรียมอาหารปรุงสดที่ได้โภชนาการให้กับเด็ก ๆ แม้อาหารการกินจะดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แถมมูลค่าทางธุรกิจของอาหารกลางวันก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่ทำไมอาหารที่ได้โภชนาการสำหรับเด็กถึงดูเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินสำหรับผู้ใหญ่

ย้อนกลับไปในอดีต โรงเรียนในอเมริกาไม่ได้มีครัวไว้สำหรับปรุงอาหารให้เด็ก เพราะเด็กจะกลับไปกินข้าวกลางวันที่บ้าน เมื่อครัวไม่ใช่สิ่งจำเป็นของโรงเรียนในยุคนั้น มันจึงกลายเป็นปัญหาต่อมาในยุคนี้ เพราะโรงเรียนจะไม่สามารถทำอาหารเองได้ สิ่งที่โรงเรียนมี คือ ที่อุ่นอาหารกับตู้แช่แข็งเท่านั้น นั่นแปลว่า อาหารที่เด็กอเมริกันในบางโรงเรียนกิน คือ อาหารแช่แข็งที่นำมาอุ่นให้ แม่ครัวบอกว่า นี่เป็นวิธีมาตรฐานทั่วไป ส่วนใหญ่เด็กในเมืองก็กินอาหารแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ถ้าถามถึงโภชนาการของอาหารแช่แข็งล่ะ เขาก็บอกว่า อาหารเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางโภชนาการของกระทรวงเกษตร และแนวทางการบริโภคของอเมริกา เป็นนัยว่า ถึงหน้าตาอาจจะดูไม่ดีต่อสุขภาพ แต่จริง ๆ มันก็ดีอยู่

 

อาหารแช่แข็งกลายเป็นอาหารกลางวันของเด็กอเมริกาในหลายโรงเรียน

อาหารแช่แข็งที่โรงเรียนนำมาอุ่นให้
ภาพจาก eatupfilm.com

แต่ถ้าเราถามเด็ก ๆ ซึ่งเป็นคนกินอาหารเหล่านี้ทุกวันล่ะ พวกเขาชอบหรือเปล่า เด็ก ๆ ตอบตรงกันว่า อยากได้อาหารดีกว่านี้ เด็กหลายคนถึงกับยอมไม่กินอาหารที่โรงเรียนจัดให้ จะกินเฉพาะชีสสติ๊ก และนมเป็นมื้อเที่ยงเท่านั้น ลองนึกภาพดูว่า มีเด็ก 20 ล้านคนทั่วอเมริกาที่พึ่งพาอาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียนทุกวัน อาหารที่โรงเรียนจึงเป็นมื้อที่สำคัญ เด็ก ๆ น่าจะคาดหวังอาหารที่ปรุงสดใหม่ และมีรสชาติอร่อยถูกใจ เพราะมื้อนั้นอาจเป็นมื้อแรก และมื้อเดียวของวันสำหรับเด็กที่ยากจน เรื่องแบบนี้จะกลายเป็นแค่ฝันของเด็กอเมริกันหรือเปล่า ทำไมการสร้างห้องครัวที่มีอุปกรณ์เพียบพร้อมจึงเป็นเรื่องยากนัก คำตอบของเรื่องนี้อาจไม่ต่างจากหลาย ๆ ปัญหาในบ้านเราที่มาจากระบบราชการ และเม็ดเงินมหาศาลที่ธุรกิจเอกชนจะทำรายได้จากอาหารกลางวันของเด็ก ๆ 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ระบบการให้เงินสนับสนุนค่าอาหารของเด็กที่นั่นเป็นอย่างไร ทันทีที่เด็กคนหนึ่งรับอาหารมาจากโรงเรียน รัฐบาลก็จะจ่ายเงินคืนให้ แปลว่า หากเด็กทุกคนรับอาหารไป โรงเรียนก็จะเบิกเงินกลับคืนมาได้มากขึ้น คล้าย ๆ กับยิ่งเสิร์ฟเยอะเท่าไรก็จะยิ่งได้งบเยอะเท่านั้น แม่ครัวโรงเรียนแห่งหนึ่งบอกว่า โรงเรียนสามารถเบิกคืนได้คนละ 3 ดอลลาร์ 28-29 เซนต์ ลองคิดเล่น ๆ ดูว่า ถ้ามีเด็ก 57,000 คน โรงเรียนหลายแห่งจะได้เงินคืนมาเท่าไร แน่นอนว่า การที่เด็กรับอาหารไป ไม่ได้แปลว่า เด็กทุกคนจะกินอาหารนั้น บางคนก็เอาไปทิ้ง 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีเงื่อนไขในเรื่องโภชนาการด้วยว่า เมนูต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้างถึงจะสามารถเบิกงบได้ ฉะนั้น อาหารที่นักเรียนกินกันในบางโรงเรียนจึงเป็นอาหารที่มาจากร้านอาหารกลาง เป็นอาหารแปรรูปที่บรรจุหีบห่อสำเร็จซึ่งทำเงินได้มหาศาล บริษัทหลายแห่งเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้ามาทำเงินจากธุรกิจผลิตอาหารให้โรงเรียน เงินที่รัฐบาลจ่ายให้โรงเรียนจึงไม่ได้เป็นค่าอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงค่าหีบห่อพลาสติก ค่าขนส่ง โลจิสติกส์ ค่าดำเนินการที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งโรงเรียนเสียเงินเหล่านี้ไปฟรี ๆ แทนที่จะนำเงินส่วนนี้มาซื้อเนื้อไก่ หรือผักสด ๆ ไว้ปรุงอาหารให้กับเด็กด้วยตัวเอง

จิลล์ ชาห์ ประธานมูลนิธิครอบครัวชาห์ มองเห็นความสำคัญของภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมที่จะมีส่วนผลักดันให้ระบบราชการที่นั่นเกิดการเปลี่ยนแปลง เธอจึงทำมูลนิธิที่เน้นเรื่องการศึกษาและการดูแลสุขภาพขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โรงเรียนได้มีครัวของตัวเองไว้ทำอาหารให้เด็ก ๆ เธออยากเห็นแต่ละเมืองทำแบบนี้ได้ภายใต้เงินอุดหนุนของรัฐบาล และหลังจากที่ได้ทดลองโครงการนำร่อง โดยให้เด็ก ๆ ได้ออกแบบเมนูอาหารด้วยตัวเอง รวมถึงห้องครัวที่อยากได้แล้ว เธอพบว่า เด็ก ๆ ชอบอาหารที่ทางโรงเรียนเตรียมให้มากกว่าแมคโดนัลด์เสียอีก มีการเลือกวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อย่างขนมปังเบอร์เกอร์ก็ใช้เป็นโฮลเกรน เนื้อโซเดียมต่ำ ชีสที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ 

อาหารกลางวันจากสารคดี Eat Up

เมนู Tacos ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ

เบอร์เกอร์เพื่อสุขภาพ เมนูอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดเตรียมเอง

เด็ก ๆ ชอบแฮมเบอร์เกอร์ที่ทางโรงเรียนเตรียมให้มากกว่าแมคโดนัลด์เสียอีก
ภาพจาก eatupfilm.com

 

การทำงานของจิลล์อาจคล้ายกับคนอีกจำนวนมากบนโลกนี้ที่มี Passion อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในสังคม แม้จะดูเป็นงานที่ยากอยู่ เพราะเธอคิดว่า ระบบราชการไม่ใช่จะเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ คนที่ทำงานการกุศลอาจทำหน้าที่กระตุ้นให้ระบบราชการกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้นได้ แต่คนเหล่านี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนอะไรทุกอย่างเองได้ เขาแค่พยายามหาอาหารให้เด็กเฉย ๆ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การร่วมมือกัน ซึ่งไอเดียและการลงทุนลงแรงของเธอก็เห็นผลในทันที เพราะปีแรกหลังโครงการนำร่องจบลง เมืองบอสตันก็ได้ติดตั้งครัวในโรงเรียน 30 แห่งทั่วเขต และมีเป้าหมายจะติดตั้งอีก 32 แห่งในปีถัดมา 

 

ปัญหาอาหารกลางวันในไทย

ข้ามฝั่งมาที่บ้านเรากันต่อ เงินอุดหนุนอาหารกลางวันที่เด็กปฐมวัยและเด็กประถมฯ ได้ต่อหัวตกวันละ 28 บาทเท่านั้น ท่ามกลางเศรษฐกิจเงินเฟ้อ ภารกิจการเตรียมอาหารให้เด็กด้วยงบจำกัดจึงเป็นเรื่องยากพอ ๆ กับงานสอน ในอดีตเงินอุดหนุนอาหารกลางวันเคยอยู่ที่ 21 บาท/คน/วัน ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก งบก็จะน้อยตามรายหัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องสรรจัดงบอุดหนุนเพิ่ม ซึ่งจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นมานี้ก็เพิ่มขึ้นแค่ 4 บาท/คน/วันเท่านั้น และถ้าย้อนกลับไปในปี 2551 งบอุดหนุนเคยอยู่ที่ 13 บาท/คน พอปี 2564 ก็ขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 20 บาท/คน จะเห็นได้ว่า ในเวลา 14 ปี งบค่าอาหารขึ้นมาเพียง 7 บาทเท่านั้น หลายโรงเรียนจึงต้องพยายามพึ่งตัวเองด้วยการจัดโครงการปลูกผัก เลี้ยงปลา บางโรงเรียนก็ทำอาหารมังสวิรัติให้เด็กกินทุกวันพระ บ้างก็ได้เงินอุดหนุนจากชุมชนให้โรงเรียนได้จัดเตรียมอาหารที่มีโภชนาการกับเด็กได้มากขึ้น

 

เด็กไทยทานอาหารกลางวันจากถาดหลุม

 

โรงเรียนบ้านเพชรน้ำผึ้ง จ.อุทัยธานี เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เคยเป็นข่าวตามสื่อจากเมนูอาหารกลางวันสุดสร้างสรรค์ด้วยงบ 20 บาท ซึ่งเป็นงบค่าอาหารที่โรงเรียนได้ในตอนนั้น เด็ก ๆ ได้กินอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นซูชิ พิซซ่า ฉู่ฉี่ปลาดอลลี่ บะหมี่เป็ดย่าง เครป สปาเก็ตตี้ แน่นอนว่า ลำพังงบ 20 บาท คงไม่สามารถเสกเมนูเหล่านี้ขึ้นมาได้ แต่พลังของชุมชน ผู้ปกครอง และองค์กรเอกชนที่เห็นว่า เด็ก ๆ เหล่านั้น คือ ลูกหลานของตัวเอง ทำให้โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ถึงปัญหาเรื่องอาหารกลางวันเด็กในบ้านเราจะไม่ได้เหมือนกับอเมริกาเสียทีเดียว แต่ดูเหมือนว่า ความร่วมมือที่จิลล์บอกไว้ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ หนทางที่ทำให้โรงเรียนหลายแห่งอยู่รอดได้ท่ามกลางเงื่อนไขที่จำกัด

เมื่ออาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของชีวิต อาหารมื้อหนึ่งอาจไม่ได้เพียงแค่ต่อชีวิตเด็กคนหนึ่งออกไป แต่มันอาจเป็นส่วนผสมหนึ่งของอนาคตที่ซ่อนอยู่ของเด็กคนนั้น แล้วเราอยากเห็นอนาคตของพวกเขาเป็นอย่างไร อาจจะไม่ต้องรีบมองไกลไปถึง  5 ปี 10 ปี แค่ลองมองดูจานข้าวที่พวกเขากินแต่ละมื้อ พอบอกกันได้ไหมว่าเห็นอะไรในนั้น

 

อ้างอิง
https://vipa.me/th/play/eat-up/878922
https://www.youtube.com/watch?v=hJ-HAIa9An8
https://www.facebook.com/mustshareofficial/posts/645320626093352/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS