คนยุคมิลเลเนียล และเจน Z กำลังมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนทุกรุ่น

A A
Sep 9, 2022
Sep 9, 2022
A A

คนยุคมิลเลเนียล และเจน Z

กำลังมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนทุกรุ่น

 

  • คนเจน Z กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ มีมุมมองที่ไม่ดีต่อชีวิต และยังมีระดับสุขภาวะทางอารมณ์ และสังคมที่ค่อนข้างต่ำ
  • ในยุค 90 ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นถือว่า ลดน้อยลง แม้แต่ช่วงต้นทศวรรษปี 2000 สุขภาพจิตของวัยรุ่นยุคนั้นก็จัดว่า ดีกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ที่อายุเท่ากัน แต่เมื่อปี 2012 พบว่า วัยรุ่นเริ่มมีความโดดเดี่ยว และซึมเศร้ามากขึ้น
  • แม้ตัวเลขจะบ่งบอกชัดถึงปัญหาสุขภาพจิตของคนเจน Z ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า โอกาสที่คนเจนนี้จะไปปรึกษาแพทย์ หรือหาทางรักษากลับมีน้อยกว่าคนรุ่นอื่น โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลถึง 1.6-1.8 เท่า
  •  

เราเคยมีความสุขกันมากกว่านี้ใช่หรือเปล่า ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน การนอนหลับให้สนิทในแต่ละคืนอาจเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้ความพยายามสักเท่าไร ความวิตกกังวลอาจแวะเวียนมาเยือนบ้างนาน ๆ ครั้ง แต่ไม่นานมันก็จะหายไป ข้อมูลจากหน่วยงานหลายแห่งพบว่า เด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนยุคมิลเลเนียล และเจน Z กำลังเจอกับปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงกว่าคนเจนอื่น แม้เราจะยังพูดไม่ได้ 100% ว่า การใช้สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตจะเป็นสาเหตุของปัญหานี้หรือไม่ แต่เราก็เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่เด็กใช้ไปกับหน้าจอที่มากขึ้น กับความสุขที่ลดลง

 

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กยุคใหม่

รายงานจากหน่วยงานหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Sapien Labs ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร McKinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก และสมาคมสุขภาพจิตอเมริกัน ต่างพบข้อมูลอันน่าตกใจของกลุ่มเจน Z ในทิศทางเดียวกันว่า

เด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ เด็ก ๆ ไม่ได้มีมุมมองที่ดีต่อชีวิต อีกทั้งยังมีระดับสุขภาวะทางอารมณ์ และสังคมที่ค่อนข้างต่ำ

 

Gen Z มีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุด
ภาพจาก apa.org

 

รายงานฉบับเดือนพฤษภาคม 2022 โดย Sapien Labs เปิดเผยข้อมูลการประเมินความฉลาดทางสุขภาพจิต (MHQ) ของคนหลายกลุ่มอายุ โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี พบว่า คนหนุ่มสาว อายุ 18-25 ปี เดิมทีเป็นกลุ่มคนที่เคยมองโลกในแง่ดี และมีความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด ณ ตอนนี้กลับตรงข้าม สภาพจิตใจของพวกเขาย่ำแย่ ข้อมูลดังกล่าวนี้มาจากการตอบคำถามจากแบบประเมิน 84 ข้อ ผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องให้คะแนนพฤติกรรมที่ดี และไม่ดีต่อสุขภาพตัวเอง เช่น การนอนหลับ การควบคุมตนเอง การปรับตัว การแก้ปัญหา ความรู้สึกสิ้นหวัง ความคิดซ้ำ ๆ อารมณ์แปรปรวน และความหงุดหงิด 

คะแนน MHQ มีตั้งแต่ -100 ถึง 200 ถ้าคะแนนต่ำกว่า -50 คือ “ไม่มีความสุข” สูงกว่า 150 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ ในปี 2021 หลังจากที่นักวิจัยได้ข้อมูลจากผู้ทำแบบประเมินจากทั้งหมด 34 ประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้พบว่า ในสหรัฐอเมริกา คนหนุ่มสาวอายุ 18 -24 ปี มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 20-30 หมายความว่า พวกเขาคิดว่า ตัวเองอยู่รอดได้ ขณะที่คนอายุ 65-74 ปี ได้คะแนนเฉลี่ยราวๆ 115 คะแนน

ทั้งนี้ คำถามในแบบประเมินแต่ละข้อนั้น จะมีคะแนนให้เลือกทั้งหมด 9 ระดับ ระดับที่ 9 แปลว่า รุนแรงที่สุด ข้อมูลพบว่า คนหนุ่มสาวให้คะแนนความกลัว และความวิตกกังวลของตัวเองมากกว่า 7 ส่วนคะแนนความรู้สึกสิ้นหวังอยู่ที่ต่ำกว่า 7

 

คนหนุ่มสาวมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า 50%
อาการเมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต
ภาพจาก sapienlabs.org

 

เด็กเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เมื่อไร

อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะสงสัยว่า แล้วปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นเริ่มส่งสัญญาณให้เราเห็นตั้งแต่เมื่อไร ย้อนกลับไปในยุค 90 ช่วงนั้นภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นถือว่า ลดน้อยลง แม้แต่ช่วงต้นทศวรรษปี 2000 ก็มีรายงานว่า สุขภาพจิตของวัยรุ่นยุคนั้นดีกว่าคนรุ่นก่อน ๆ ที่อายุเท่ากันเสียอีก จนกระทั่งปี 2012 วัยรุ่นเริ่มมีความโดดเดี่ยว และซึมเศร้า การศึกษาหนึ่งพบว่า ความเหงาของวัยรุ่นเพิ่มขึ้นพร้อมกับการใช้สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต แม้ผู้วิจัยจะไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุได้ แต่พวกเขาก็เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอที่เพิ่มขึ้น กับความสุขของวัยรุ่นที่ลดลง

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด เด็ก ๆ ก็มีการพบปะทางสังคมแบบตัวต่อตัวน้อยลง แต่มีปฏิสัมพันธ์ผ่านออนไลน์มากขึ้น ช่วงกลางทศวรรษ ​​​​2010 นักเรียนม.ปลาย เคยใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในงานปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ แต่ถ้าย้อนกลับไปช่วงปลายทศวรรษ 1980 พวกเขาใช้เวลาเฉลี่ย 6 ชั่วโมง ยิ่งถ้าเรามาดูข้อมูลของคนรุ่นใหม่แล้ว พวกเขายิ่งใช้เวลากับเพื่อนน้อยลงกว่าวัยรุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 7 ชั่วโมง/สัปดาห์ เลยทีเดียว ช่วงทศวรรษ 1990 มีนักเรียนม.ปลายประมาณ 8% เท่านั้น ที่บอกว่าตัวเองไม่ได้พบปะเพื่อนฝูงในช่วงสัปดาห์ทั่วไป แต่พอปี 2015 จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 20% เห็นได้ว่า พฤติกรรมทางสังคมของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ยิ่งผู้ทำแบบประเมินมีการศึกษาสูงมากเท่าไร คะแนนความฉลาดทางสุขภาพจิตก็จะยิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการศึกษาสูงขึ้น รายได้ก็จะสูงขึ้นตาม เมื่อมีรายได้สูงขึ้น เราก็สามารถจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น

 

การศึกษาสูงยิ่งสูงยิ่งมีสุขภาพจิตดี

 

ด้านบริษัทที่ปรึกษา McKinsey เองก็ได้ข้อมูลที่คล้ายคลึงกันจากชุดการสำรวจ และสัมภาษณ์ผู้บริโภค โดยพบว่า

เด็กเจน Z มีมุมมองต่อชีวิตในเชิงบวกน้อยที่สุด รวมถึงยังมีระดับสุขภาวะทางอารมณ์ และสังคมที่ต่ำกว่าคนรุ่นก่อน 1 ใน 4 ของเจน Z ที่ตอบแบบสำรวจบอกว่า มีความทุกข์ทางอารมณ์มากขึ้น (25%) ซึ่งเป็นเกือบ 2 เท่าของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นมิลเลนเนียล และเจน X (13% ในแต่ละระดับ) และมากกว่าเบบี้บูมเมอร์ 3 เท่า (8%)

ถ้าดูข้อมูลลึกลงไปเราพบว่า เด็กเจน Z มีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ความผิดปกติทางจิต หรือมีการใช้สารเสพติดมากกว่าเจน X หรือเบบี้บูมเมอร์ และยังมีแนวโน้มที่จะมีความคิด วางแผน หรือพยายามฆ่าตัวตายในช่วงปลายปี 2019 ถึงปลายปี 2020 มากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ  2-3 เท่า นอกจากนี้ เด็กเจน Z ยังมีความต้องการทางสังคมที่ไม่ได้รับการตอบสนองมากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ อีกด้วย โดย 58% บอกว่า มีความต้องการทางสังคมที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างน้อย 2 อย่าง หรือมากกว่านั้น ขณะที่คนรุ่นก่อนมีเพียง 16% 

ความต้องการทางสังคมที่ไม่ได้รับการตอบสนองเหล่านี้คืออะไรบ้าง มันก็คือ รายได้ การจ้างงาน การศึกษา อาหาร ที่อยู่อาศัย การคมนาคมขนส่ง การสนับสนุนทางสังคม และความปลอดภัย ข้อมูลยังพบอีกว่า ผู้ที่มีสุขภาพจิตไม่ดีมีแนวโน้มที่จะมีความต้องการขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้รับการตอบสนองมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพจิตดีถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มที่จะมีความต้องการขั้นพื้นฐานที่ไม่ครบถ้วน 3 อย่างหรือมากกว่านั้น ซึ่งมากกว่าคนที่มีสุขภาพจิตดี 4 เท่า

แม้ตัวเลขจะบ่งบอกชัดถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กเจน Z ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า โอกาสที่เด็กเจนนี้จะไปปรึกษาแพทย์ หรือหาทางรักษากลับมีน้อยกว่าคนรุ่นอื่น โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลถึง 1.6-1.8 เท่า

Gen Z หาหมอน้อยกว่าคนรุ่นอื่นเมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต
ภาพจาก mckinsey.com

 

แม้สังคม และเทคโนโลยีจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ตัวเลขของเด็กรุ่นใหม่จากทั่วทุกมุมโลกกำลังบอกเราว่า ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เป็นแค่ปัญหาทั่วไปของคนยุคนี้ มันยังคงรอการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้ทุกอย่างพัฒนาไปได้ไกลขนาดไหน เราก็ไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าเรื่องพื้นฐานอย่างที่สุดอย่าง “สุขภาพจิต” ยังคงเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ยังคงเผชิญอยู่

 

 

อ้างอิง

https://www.discovermagazine.com
https://www.mckinsey.com/
https://www.apa.org/monitor/2019/01/gen-z

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS