ภาวะ Period Poverty กับผ้าอนามัยฟรีทำให้การศึกษาดีขึ้นได้อย่างไร

A A
Sep 23, 2022
Sep 23, 2022
A A

ภาวะ Period Poverty

กับผ้าอนามัยฟรีทำให้การศึกษาดีขึ้นได้อย่างไร

 

 

  • ผ้าอนามัยคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนทุกคน ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายจนส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน หรือ Period Poverty
  • ภาวะ Period Poverty ส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลก ยูเนสโกประมาณการว่าเด็กหญิง 2.2 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 50 ของเด็กหญิงวัยเรียนไม่มีผ้าอนามัยใช้ จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่มีรายได้น้อยเกือบ 2 ใน 3 หรือคิดเป็น 64% ของผู้หญิงไม่สามารถซื้ออุปกรณ์สุขอนามัยประจำเดือนที่จำเป็นมีผู้หญิง 1 ใน 5 ต้องเจอปัญหานี้ทุกเดือน หลายคนต้องใช้ผ้าขี้ริ้ว กระดาษทิชชู ผ้าอ้อมเด็ก ในการทำเป็นผ้าอนามัย
  • โรงเรียนหลายแห่งในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ แคนาดา อินเดีย อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาได้มีสวัสดิการให้นักเรียนโดยนโยบายเหล่านี้ส่งผลให้ชีวิตเด็ก ๆ ได้เข้าถึงสุขอนามัยที่ปลอดภัยในเวลาที่มีประจำเดือนส่งผลให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าเรียนได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย
  •  

ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้เปิดนโยบายนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรี  เพื่อลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงแก้ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขอนามัยของผู้มีประจำเดือน ในเว็บไซต์ของผู้ว่าฯชัชชาติได้บอกว่าผ้าอนามัยคือปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนทุกคน ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายจนส่งผลให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ความจนประจำเดือน หรือ Period Poverty คือความไม่สามารถในการเข้าถึงผ้าอนามัย เช่น ไม่สามารถซื้อได้ หรือเข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอเพราะปัญหาทรัพยากรด้านการเงิน

 

Period Poverty2

 

Period Poverty เป็นปรากฎการณ์ที่ส่งผลต่อทั่วโลกจึงทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยมีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรี

ภาวะ Period Poverty ส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลก ยูเนสโกประมาณการว่าเด็กหญิง 2.2 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 50 ของเด็กหญิงวัยเรียนไม่มีผ้าอนามัยใช้ ซึ่งทำให้สาว ๆ ในวัยเรียนพลาดเวลาเรียนไปอย่างน่าเสียดาย จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่มีรายได้น้อยเกือบ 2 ใน 3 หรือคิดเป็น 64% ของผู้หญิงไม่สามารถซื้ออุปกรณ์สุขอนามัยประจำเดือนที่จำเป็นมีผู้หญิง 1 ใน 5 หรือ 21% ต้องเจอปัญหานี้ทุกเดือน หลายคนต้องใช้ผ้าขี้ริ้ว กระดาษทิชชู ผ้าอ้อมเด็ก ในการทำเป็นผ้าอนามัย คนที่มีประจำเดือนมาครั้งละมาก ๆ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ตามสุขอนามัยอย่างที่ควรจะเป็น เพราะนั่นหมายถึงจำนวนเงินที่ต้องเสียไปในแต่ละครั้งที่ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย แต่หากไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยเลยโดยยืดระยะเวลาการใช้ออกไปอีกอาจทำให้ไม่สบายตัว ระคายเคืองที่ปากช่องคลอด และเกิดอาการติดเชื้อจนอาจส่งผลถึงชีวิต

 

การขาดการเข้าถึงผ้าอนามัยหรือภาวะ Period Poverty อาจส่งผลเสียต่อการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการเล่นกีฬาและกิจกรรมในโรงเรียนทุกวัน ซึ่งทำให้นักเรียนไม่มีสมาธิในชั้นเรียน รู้สึกไม่สบายหรือรู้สึกไม่มั่นใจในการออกกำลังกาย ส่งผลให้ขาดเรียนไปเลย ประมาณ 50% ของเด็กนักเรียนหญิงในเคนยาไม่มีสิทธิ์เข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่าเด็กผู้หญิงจำนวนมากอาจขาดเรียน ในอินเดียผู้หญิงประมาณ 12% จาก 335 ล้านคนในอินเดียไม่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน การศึกษาโดย PHS Group ในประเทศอังกฤษกับคนผู้หญิง 250 คน ชี้ให้เห็นว่า 35% ของเด็กผู้หญิงอายุ 13-18 ปี ได้หยุดเรียนเพราะการมีประจำเดือน โดย 11% ของคนที่ขาดเรียนเนื่องจากไม่มีผ้าอนามัย การขาดเรียนอาจส่งผลกระทบต่องาน ชีวิตในอนาคต ทั้งหมดเป็นเพราะประจำเดือนสิ่งที่พวกเขาควบคุมไม่ได้ และปัญหา Period Poverty สามารถส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตจนอาจมีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลางหรือถึงขั้นรุนแรง

 

Period Poverty2

 

จะเห็นได้ว่าคนที่มีประจำเดือนไม่เพียงต้องแบกรับภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยเท่านั้นยังมีภาระครอบคลุมถึงปัญหาอื่น ๆ ในด้านสุขภาพ สุขอนามัย และสังคมอีกด้วย

 

ผ้าอนามัยปัญหาปัจเจกที่ส่งผลต่อระดับประเทศ

ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ แคนาดา อินเดีย และอีกหลายประเทศได้ยกเลิกภาษีการขายทั้งหมดสำหรับผ้าอนามัย สกอตแลนด์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ให้ผู้มีประจำเดือนได้ใช้ผ้าอนามัยฟรีเป็นประเทศแรกของโลก ในสหราชอาณาจักร มีนโยบายกำหนดให้โรงเรียนและสถานที่สาธารณะต้องจัดหาผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์สำหรับผู้หญิงรวมถึงพยายามยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัย นโยบายนี้ช่วยให้ผู้หญิงจำนวนมากสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยที่ถูกสุขอนามัยได้มากขึ้น และทำให้ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ 

โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นไปจนถึงมหาวิทยาลัยได้เริ่มผลักดันให้มีการเข้าถึงอุปกรณ์ประจำเดือนฟรีในห้องน้ำ ปัจจุบันโรงเรียนของรัฐทั้งหมดในรัฐนิวยอร์กมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือนฟรี ทั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย ตามที่กฎหมายกำหนด ในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย รัฐบาลได้จัดหาผ้าอนามัยสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และโรงเรียนพิเศษของรัฐบาล เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัย หรือ ผ้าอนามัยได้ฟรี

สุขภาวะทางเพศที่ดีส่งผลต่อการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี

โครงการนำร่องในนิวยอร์กเรื่องการจัดหาผ้าอนามัยฟรีพบว่าการเข้าเรียนของเด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้น 2.4% ที่โรงเรียนมัธยมหลังจากทำโครงการนำร่องผ้าอนามัยในโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าสวัสดิการจากรัฐที่ดีมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการศึกษา นอกจากนี้การช่วยสนับสนุนความเท่าเทียมด้านมนุษยชน โดยให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงสุขอนามัยที่ปลอดภัยในเวลาที่มีประจำเดือนส่งผลให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าเรียนได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย ความเท่าเทียมทางเพศในการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจการศึกษาของผู้หญิงเองก็ส่งผลให้มีส่วนผลักดันในการพัฒนาโลกใบนี้เช่นเดียวกัน

นโยบายของผู้ว่าฯ คนใหม่อาจเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบของประเทศไทยที่จะพัฒนาความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

 

อ้างอิง

https://bit.ly/3cwOECy
https://n.pr/3ojArM7
https://bit.ly/3opvSzP
https://bit.ly/3oo2vh8
https://bit.ly/3IYKdfX
https://bit.ly/3IWrkKu
https://bit.ly/3IY15TZ
https://bit.ly/3zn3a94

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS