เมื่อค่านิยมความงามถูกท้าทาย #Realsizebeauty

A A
Dec 15, 2021
Dec 15, 2021
A A

        คำว่า Beauty standard ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ และถูกจำกัดใช้เฉพาะแวดวงนางงามเท่านั้น ถูกใช้ต่อ ๆ กันมานานร่วม 3,000 ปีเปรียบเสมือนค่ากลางของมาตรฐานความงาม โดยแตกต่างกันไปแต่ละชนชั้น ชนชาติ ช่วงเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านั้นสะท้อนถึงความเป็นมาเป็นไปสังคมในแต่ละยุค

ยุควิคตอเรีย (1837-1901) อยากสวย…ต้องพลีชีพ
        สตรียุคนี้นิยมใส่คอร์เซ็ทรัดบริเวณเอวอย่างแน่นหนา เพื่อให้มีรูปร่างแบบทรงนาฬิกาทราย ที่สำคัญมาตรฐานความงามของยุคนี้ไม่เพียงถูกกดทับอิสตรีให้อยู่ภายใต้ระบอบสังคมชายเป็นใหญ่ ยังนำพาอันตรายมาต่อสุขภาพกายและจิตใจอีกด้วย เพราะเอวบางร่างน้อยไม่เพียงพอต่อการยืนอยู่ในแวดวงสังคมได้ ใบหน้าที่งดงามก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเครื่องสำอางในยุคนั้นผลิตจากสารตะกั่ว ปรอท รวมไปถึงพืชอันตราย นิยามความงามของยุคนี้จึงเป็นยุคที่เสี่ยงตายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (1960) ความอ้วน..แบบไม่อ้วน
        หลังจากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและความโศกเศร้าเสียใจจากเหตุการณ์สงคราม ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าสู่ยุคแห่งการเฉลิมฉลอง ผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถือเป็นยุคทองของฮอลลีวูด มีดาวค้างฟ้าเกิดขึ้นมากมาย “มาริลิน มอนโร” หนึ่งในแฟชั่นไอคอนตลอดกาล เธอนำมาตรฐานความงามใหม่ออกมาสู่โลก โดยยึดค่านิยมเอวทรงนาฬิกาทรายตามฉบับสมัยวิกตอเรีย แต่เน้นสัดส่วนหน้าอกใหญ่และสะโพกที่ผายเกินจริง จนทำให้ดูกลายเป็นคนอ้วนแต่เอวเล็ก จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าเธอสรุปแล้วเป็นคนอ้วนหรือเปล่า ถือเป็นข้อสังเกตได้อย่างนึงว่าช่วงสมัยนั้นความงามกับความอ้วนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด เป็นยุคที่เวทีความงามประชันขาอ่อนเริ่มเฟื่องฟู หญิงสาววัยใสจากทุกมลรัฐต่างหมายมั่นจะเป็นผู้ครองมงกุฎเพชรเม็ดงาม ก่อนที่ค่านิยมทางความงามจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ความงามฉบับโลกยุคใหม่
        คำจำกัดความของโลกยุคใหม่ในที่นี้คือยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ มาตรฐานความสวยถูกวางกรอบผ่านบริบทมากมายในสังคม การถ่ายทอดผ่านสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์และโฆษณาตามป้ายสาธารณะต่าง ๆ ชี้นำมาตรฐานความสวยที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างแยบยล ว่าจะต้องมีสีผิวแบบนั้นหรือหุ่นแบบนี้ เพื่อแฝงเป้าหมายทางการตลาดนำไปสู่การบริโภคสินค้าตนเอง ความงามพิมพ์นิยมเหล่านี้สร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจมากมายอย่างคาดไม่ถึง ตั้งแต่การก่อตัวของอุตสาหกรรมความงามและศัลยกรรม ธุรกิจฟิตเนส และบ่อเกิดของกีฬาที่ต้องพึ่งหน้าตาและสรีระอันสวยงามอย่างยิมนาสติก ในยุคสมัยรุ่นพ่อแม่เรานี้จะเห็นได้มีเวทีประกวดต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก ใช้รูปร่างหน้าตาเป็นเกณฑ์ คำตัดสินสุดท้าย ลงดาบว่า คนที่ชนะคือคนที่สวยที่สุด ซึ่งกรอบมาตรฐานความงามฉบับนี้ทะยานตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ เมื่อฉันอยากสวยแบบคนนั้น อยากรูปร่างดีแบบคนนี้ ความงามที่ถูกต้องด้วยเรือนร่างที่มีวินัยภายใต้คำว่า “นางงาม”

ใครว่า “นางงาม” เป็นเรื่องเล็ก ๆ
        เวทีการประกวดเหล่านี้ แสงสีและความยิ่งใหญ่ตระการตาจากการลงทุนเงินทางโปรดักชันจำนวนมหาศาล แลกกับผลประโยชน์จากผู้สนับสนุนหลักรายต่าง ๆ ที่ตบเท้าเข้ามาโปรโมทสินค้าท่ามกลาง Spotlight ของเวทีการประกวด และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเสมือนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศเจ้าภาพไปในตัว
การได้ยินเสียงชื่อประเทศของตัวเองถูกประกาศ ถือเป็นความภูมิใจของคนในชาติ ประเทศแถบละติน จึงมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการประกวด การจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดนางงาม เด็กสามารถใส่ส้นสูงมาฝึกเตรียมพร้อมประกวดได้ตั้งแต่ 4 ขวบ หลักสูตรการฝึกมีตั้งแต่การวางบุคลิก การยืน การเดิน วิธีการแต่งหน้า ควบคุมอาหารและลดน้ำหนัก จริตจิกกล้องต่าง ๆ ที่มาตรฐานนางงามต้องมี ส่งให้ประเทศเวเนซูเอลากลายประเทศมหาอำนาจทางนางงามไปโดยปริยาย การันตีด้วยผู้ครองมงกุฎนางงามจักรวาลถึง 7 คน เป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลกขณะนี้ แต่ความงามไทย ๆ เองก็ไม่แพ้ใคร เปิดประตูพาสาวงามเข้ารอบมาแล้วกว่าครึ่งทศวรรษนับตั้งแต่คุณปุ๋ย พรทิพย์ นาคหิรัญกนก เข้ารับตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของไทยในปี ค.ศ. 1988

สิทธิเสรีภาพ และ ความหลากหลายทางเพศ
        คลื่นลูกใหญ่ท้าประจันค่านิยมบนยอดภูเขาน้ำแข็ง
        การประกวดนางงาม ตั้งอยู่บนค่าความเชื่อเรื่องสตรีนิยมที่ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศและการเป็นประกวดด้านความสวยงามเพียงอย่างเดียว สมัยก่อนถือเป็นเรื่องยากจากการก้าวข้ามคำว่า “เพศที่ 3” แต่ปัจจุบันยุคสมัยที่เปลี่ยนไปการเติบโตของ Social Media ทำให้เรื่องราวของผู้หลากหลายทางเพศถูกเพิ่มเป็นบทสนทนาปลายเปิด อัตลักษณ์ สิทธิ และเสรีภาพ ถูกถ่ายทอดผ่านหลายแพลตฟอร์ม กลุ่มคนเหล่านี้เติบโตจนเป็นที่ยอมรับในสังคมได้มากขึ้น แม้กระทั่งบนเวทีนางงามเอง

        เวทีประกวดนางงามประเภทสองภายใต้ชื่อ Miss International Queen ถูกจัดขึ้นครั้งแรกปี 2004 ณ โรงละครทิฟฟานีโชว์ พัทยา เพื่อถ่ายทอดศักยภาพทั้งด้านบุคลิกภาพและความสามารถในด้านต่างๆ จุดประกายเหล่าสาวงามทั่วโลกบินลัดฟ้าเพื่อมาเป็นกระบอกเสียงส่งต่อแรงบันดาลใจดี ๆ กับเหล่าคนข้ามเพศทั่วโลก นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการนางงาม เมื่อผู้ได้รับตำแหน่ง Miss มีชื่อต้นนำหน้าด้วย Mr. เป็นยุคที่ค่านิยมความงามอันแข็งแกร่งบนยอดภูเขาน้ำแข็งถูกท้าทายอย่างแท้จริง

ประกวดนางงาม

มาตรฐานความงามที่เริ่มสั่นคลอน
        Miss Universe เป็นเวทีการประกวดที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดมองว่าในอนาคตมันสามารถเป็นอะไรได้มากกว่านี้ จึงใช้เวลา 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามกลไกทางสังคม เปิดกว้างมากขึ้น เฟ้นหานางงามที่ครบเครื่องมากขึ้น หน้าตา การศึกษา ทัศนคติที่ดีสามารถเป็นต้นแบบได้ เป็นแรงบันดาลใจของคนอื่น โดยไม่ติดอยู่ในกรอบจำกัดของการเป็นเพศหญิงแต่กำเนิด มาตรฐานความงามนี้ถูกสั่นคลอนอีกครั้งบนเวที Miss Universe 2018 เมื่อการปรากฏตัวของ “Angela Ponce” มาถึง สาวงามผู้เข้าประกวดจากประเทศสเปนในฐานะ “ผู้หญิงข้ามเพศคนแรกบนเวที Miss Universe” แม้ว่าเธอจะไม่สามารถคว้าตำแหน่งและมงกุฎมาสวมได้สำเร็จ แต่สำหรับเธอแล้วเป้าหมายของการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่ารางวัลชนะเลิศ

        “ความหวังของฉันสำหรับวันพรุ่งนี้ ก็คือการได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยที่ทุกคนเข้าใจได้ว่าพวกเราคือมนุษย์ และพวกเราต้องทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ถ้าฉันสามารถมอบสิ่งเหล่านี้กับโลกได้ ฉันไม่จำเป็นจะต้องชนะ Miss Universe ฉันเพียงแค่ต้องยืนอยู่บนเวทีนี้” ช่วงนึงจากบทสัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ Insider

Miss Universe 2018

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก : https://www.popsugar.com/beauty/Angela-Ponce-Miss-Universe-2018-45607506

การเปิดกว้างทั้งในเรื่องเพศสภาพและสีผิวเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นผ่านเวทีประกวด ด้วยความงามในแบบฉบับของตนเองบวกกับไหวพริบการตอบคำถามที่สะท้อนทัศนคติได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ Zozibini tunzi สาวงามผิวสีตัวแทนจากประเทศแอฟริกาใต้ คว้าตำแหน่ง Miss Universe 2019 มาครองได้สำเร็จ นับแต่นั้นเป็นต้นมาเราได้เห็นเวทีการประกวดนางงาม สะท้อนอะไรบางอย่างที่มากกว่าความงามฉบับพิมพ์นิยม ผู้เข้าประกวดสามารถเป็นกระบอกเสียงได้อย่างแท้จริง มีความกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเมืองและสิทธิมนุษยชนบนเวทีประกวดอย่างตรงไปตรงมา นิยามความงามตามกระแสหลักถูกผ่อนปรนลง น้ำหนัก ส่วนสูง จึงไม่สำคัญเท่ากับทัศนคติของผู้เข้าประกวดเอง

#Realsizebeauty มีบางอย่างน่าสงสัย
        แอนชิลี สก็อต-เคมมิส สาวลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียน วัย 22 ปี ผู้คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์สที่อิสราเอลเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เธอเป็นกระบอกเสียงสื่อสารไปยังสาว ๆ คนรุ่นใหม่ให้ภูมิใจในสัดส่วนของตนเองผ่านแคมเปญ RealSizeBeauty เพื่อทลายการตั้งมาตรฐานความงามเดิม ๆ ในสังคม แต่มันก็ยังไม่เสียงดังพอที่จะส่งให้เธอไปถึงมงกุฎและสายสะพายได้สำเร็จ

ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลายของสังคมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชื่นชอบนางงามแล้วกลับมองว่าแคมเปญ Realsizebeauty ของแอนมีขึ้นอยู่อย่างถูกต้องแต่เพียงถูกใช้ผิดบริบทเท่านั้นเอง ความสวยที่ไม่จำเป็นต้องระบุสเปค คุณจะอ้วนจะผอมเท่าไหร่ก็ได้ขอแค่มีความมั่นใจเท่านั้น ไม่สมควรถูกใช้บนเวทีประกวดนางงาม มันคือทัศนคติฝั่งตรงข้ามความยุติธรรมต่อผู้เข้าประกวดคนอื่นอีกกว่า 70 ประเทศที่ฝึกฝนดูแลตัวเองมาอย่างดีภายใต้มาตรฐานความงามที่ถูกต้องและเรือนร่างที่มีวินัย

ไม่ว่ามันคือการก้าวเส้นหรือล้ำเส้นทางมายาคติความงาม
        วันนี้ที่ค่านิยมความงามถูกท้าทายอีกครั้งด้วย #realsizebeauty ข้อความสั้น ๆ ที่ถูกส่งถึงเด็กผู้หญิงทั่วโลกผ่านเวทีการประกวดนางงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ถึงปีนี้จะตกรอบไม่ได้ชัยชนะกลับมาปีหน้ามาเราเริ่มกันใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่การันตีได้แน่นอนคือหลังจากนี้จะมีคนอย่างน้อยอีกหนึ่งคนบนโลกที่จะรู้สึกมั่นใจต่อรูปร่างตัวเองมากขึ้น ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น และเป็นกระบอกเสียงให้คนอื่นต่อ ๆ ไป เพื่อหวังว่าวันหนึ่งค่านิยมทางความงามที่ถูกท้าทายโดยนางงามเหล่านี้ จะเปิดประตูกว้างมากขึ้นอีกสักหน่อย อย่างน้อยก็ให้กว้างมากพอที่เสียงของพวกเธอจะเล็ดลอดเข้าไปเพียงเพื่อจะบอกว่า

“โลกใบนี้จะสวยงามและยิ่งใหญ่…ส่วนหนึ่งมาจากความหลากหลายของผีเสื้อ”

อ้างอิง
https://bit.ly/3dSekad
https://bit.ly/3pXYcJR
https://bit.ly/3F140sy

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS