ระบบทุนนิยม ความสัมพันธ์ที่ย้อนแย้งกับการนอน

A A
Dec 19, 2021
Dec 19, 2021
A A

ระบบทุนนิยม ความสัมพันธ์ที่ย้อนแย้งกับการนอน

 

รู้หรือไม่ว่า CEO ระดับชั้นนำของโลก บุคคลที่ประสบความสำเร็จเค้าใช้เวลากับการนอนเฉลี่ยวันละกี่ชั่วโมง

  • Elon Musk ซีอีโอของ Tesla และ SpaceX นอนวันละ 6 ชั่วโมง
  • Tim Cook ซีอีโอของ Apple ใช้เวลานอน 7 ชั่วโมง
  • Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ใช้เวลานอน 7 ชั่วโมง
  • Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group ใช้เวลา 5–6 ชั่วโมงต่อคืน
  • Jack Dorsey ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ใช้เวลา 7 ชั่วโมง
  • บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง
  • Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Amazon.com ใช้เวลา 7 ชั่วโมง

การนอนคือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของคนทำงาน สำหรับ CEO ที่ประสบความสำเร็จเค้าใช้เวลานอนเฉลี่ย 6-7 ชั่วโมงต่อคืนมีตารางการนอนที่สม่ำเสมอ แล้วคุณละใช้เวลากับการนอนมากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลจากมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติหรือเว็บไซต์ thensf.org ระบุไว้ว่าชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมโดยเฉลี่ยของคนในวัย 18 ปีขึ้นไปควรนอน 7-8 ชั่วโมง แต่สภาวะทางสังคมบีบรัดให้การใช้ชีวิตของคนผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ผลสำรวจจาก National Sleep Foundation Sleep in America พบว่าผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18-54 ปีมีจำนวนชั่วโมงการนอนเฉลี่ยเหลือ 6.4 ชั่วโมงต่อคืนในวันธรรมดาและ 7.7 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มการนอนที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนที่นอนน้อยเพราะมีพฤติกรรมนอนดึกอาจมีสาเหตุจากการกลับบ้านดึก การนำงานกลับมาทำที่บ้าน การมีมือถือเป็นเพื่อน หรือการมีโทรทัศน์ในห้องนอน ส่งผลให้อดนอนและนอนน้อยลง 1.5-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 

สังคมแบบระบบทุนนิยมคือศัตรูของการนอน

เรากำลังอยู่ในโลกของทุนนิยม โลกที่เต็มไปด้วยความต้องการทางผลผลิตทางธุรกิจพร้อม ๆ กับการเสพเทคโนโลยีแบบ over dose ซึ่งเบียดบังความธรรมดาของชีวิตไปนั่นคือการนอน หนังสือ 24/7: Late Capitalism and the Ends of Sleep เขียนโดย JONATHAN CRARY ได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับกับทุนนิยมตอนปลายไว้ว่า ระบบทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความต้องการผลผลิตที่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้ที่ทำงานเปิดไฟ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน เอื้ออำนวยให้คนทำงานตื่นตัวกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง บวกกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง มันคือการคูณสองที่ลดทอนชั่วโมงการนอนให้น้อยลงไปทุกที คุณเคยสังเกตตัวเองมั้ยว่าคุณกำลังติดกับดักกับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณทำงาน WFH สุขภาพการนอนของคุณเป็นอย่างไรบ้าง อยากทำหลายสิ่งให้เสร็จทันกำหนด คุณไม่สนใจเวลาว่าจะดึกแค่ไหน คุณไม่สนใจการนอนซึ่งมันทำให้กัดกร่อนชั่วโมงการนอนของคุณไป บวกกับคนบางกลุ่มที่ต่อด้วยการเสพโลกโซเชียล การชอปปิ้งออนไลน์ ความบันเทิงออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกลทางธุรกิจของระบบทุนนิยมเช่นกันที่สูบชีวิตที่แสนจะธรรมดาและการพักผ่อนที่ไม่ใช่ทุนนิยมไป

นอนเยอะ = ขี้เกียจ
“นอนกินบ้านกินเมือง” “นอนเยอะขี้เกียจสันหลังยาว” เคยได้ยินวลีนี้กันมั้ยครับ การนอนเยอะมันคือสัญลักษณ์ของคนขี้เกียจจริงหรือ Donald Trump อดีตประธานาธิบดีสหรัฐใช้เวลากับการนอนเพียง 3 ชั่วโมง เค้าเคยให้สัมภาษณ์สมัยยังทำธุรกิจว่า เขานอนน้อยเพราะต้องการล้ำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอและไม่เข้าใจว่าคนที่ใช้เวลานอนหลับมากจะแข่งขันกับคนที่นอนน้อยกว่าได้อย่างไร
สังคมในปัจจุบันนี่ล่ะคือตัวดีที่หล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมของคนว่าการนอนเยอะเป็นอุปสรรคของการทำงานในการสร้างผลผลิตทางธุรกิจ การนอนทำให้เวลาทำงานเวลาในการพัฒนาตัวเองน้อยลง ทุกนาทีมีค่าสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ หลายคนรู้สึกผิดที่ไม่ได้ “ผลิต” ทุกนาทีของวันหรือรู้สึกแย่เมื่อได้ยินว่า “คนที่ประสบความสำเร็จ” คือตื่นนอนตอนตี 5 และทำงานจนถึงเวลานอน เพื่อความมั่นคงในชีวิตของสังคมแบบทุนนิยม คำพูดเหล่านี้กดดันให้ต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำทำให้ลดชั่วโมงการนอนไป

นอนน้อยกับผลลัพธ์ที่จะตามมา

 

นอนน้อยกับผลลัพธ์ที่จะตามมา
โรคอ้วนจากการนอนดึกเพราะการนอนดึกทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดแถมยังทำให้ฮอร์โมนเกรลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิวเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ฮอร์โมนเลปตินซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความอิ่มลดลง หากสังเกตตัวเองเมื่อนอนดึกเราจะรู้สึกหิว หิวก็จะกิน กินแล้วก็นอน นอกจากนี้ทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลพวงมาจากโรคอ้วน รวมทั้งส่งผลกระทบและยังมีปัญหาระหว่างวันในการทำงานเช่น การตัดสินใจ หงุดหงิดง่าย การตอบสนองที่ช้าลง
เกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย โดยนักวิจัยได้ประเมินระยะเวลาการนอนหลับจากกลุ่มตัวอย่าง 8,000 คนเมื่ออายุ 50 ปีและติดตามกลุ่มดังกล่าวโดยเฉลี่ย 25 ​​ปี พบว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อคืนเมื่ออายุ 50 และ 60 ปี ผู้ที่อายุเฉลี่ยนอน 6 ชั่วโมงต่อคืนในวัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น

นอนน้อยไม่ใช่เรื่องใหญ่ แค่จัดตารางใหม่ในชีวิตประจำวันเหมือน CEO
Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Amazon.com ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ว่าการนอนเต็มอิ่ม 8 ชั่วโมงทำให้เขาตื่นตัวพร้อมทำงาน มีสมองปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรับมือกับความท้าทายที่จะต้องเจอในวันทำงานได้อย่างดี เราควรรู้จักตัวเองว่าควรทำงานถึงตอนไหนและเลือกกลับบ้านพักผ่อนนอนเติมพลังเพื่อไปสู้ในวันใหม่ดีกว่า
ลองหันมาสนใจตนเองเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนและจัดตารางการใช้ชีวิตให้เหมือน CEO โดยเฉลี่ยเข้านอนในเวลาที่สม่ำเสมอ ถอดปลั๊กการสื่อสารทุกช่องทางก่อนเข้านอน รักษาวินัยกับตารางการออกกำลังกายและการนอนหลับซึ่งส่งผลที่ดีต่อสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงาน

    • เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ปรับการนอนให้เร็วขึ้น ไม่ควรเกิน 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นนาทีทองของการนอนหลับในเวลากลางคืน
    • ใช้เวลาอยู่กับแสงจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะกลางแจ้งหรือในที่ร่ม เพราะแสงกลางวันช่วยให้เราตื่นตัว
    • ปิดอุปกรณ์สื่อสารหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน สร้างบรรยากาศในห้องให้มืด เย็น สบาย และพร้อมสำหรับการนอนหลับ
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยเพิ่มแรงขับในการนอนตอนกลางคืน รวมทั้งช่วยลดความเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้น

โครงสร้างทางสังคมคือส่วนหนึ่งที่ทำให้การนอนของคนลดลง เกิดความรู้สึกผิดหากนอนเยอะไป อย่าให้ความคิดนี้เกิดขึ้นกับตัวคุณเพราะความผิดนี้มันเกิดจากความคาดหวังของโครงสร้างในระบบทุนนิยม ลองเบรกตัวเองปรับวิถีการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับสังคมนี้เพื่อให้สุขภาพการนอนของคุณเป็นบวกเปลี่ยนเช้าวันใหม่ของคุณให้มีแต่ความกระปรี้กระเปร่า นั่นหมายถึงการรักตัวเองและสร้างวินัยให้กับตนเอง
ขอให้ทุกท่านนอนหลับฝันดี ราตรีสวัสดิ์ Zzzzz……

อ้างอิง
https://medium.com/beingwell/re-set-how-sleep-optimizes-your-memory-270b1ba3e138
https://www.thensf.org/back-to-school-sleep-tips/
https://my.clevelandclinic.org/health/articles/11429-common-sleep-disorders
https://www.flolabcollab.com/blog/2019/6/3/why-capitalism-doesnt-want-you-to-sleep
https://www.springerin.at/en/2014/4/die-letzte-zuflucht/
https://wealthmeup.com/พักผ่อน-นอนหลับ-บริหาร/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS