สรุปให้รู้ ตามทันโลกอนาคตการศึกษา ep.30 จับตามองอนาคตการศึกษาเอเชีย

A A
Jul 5, 2024
Jul 5, 2024
A A

สรุปให้รู้ ตามทันโลกอนาคตการศึกษา ep.30

จับตามองอนาคตการศึกษาเอเชีย

 

 

   ผู้คน สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สิ่งขับเคลื่อนสำคัญที่พาโลกแห่งการศึกษาก้าวไปอีกขั้น โดยเฉพาะการเติบโตของตลาดการศึกษาเอเชียที่น่าจับตามองอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

   จากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาวิทยาลัยในเอเชียมากกว่า 700 แห่งที่เข้าร่วมคัดเลือกการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ Times Higher Education (THE) 2024[1] พบว่ามาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยในเอเชียสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่พิเศษคือในปีนี้มาตรฐานที่ใช้มาจัดอันดับนอกจากเรื่องหลักสูตรการสอนต่าง ๆ และงานวิจัยแบบเดิมแล้วยังนำหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)[2] ทั้ง 17 รูปแบบที่มีจุดมุ่งหมายในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมของผู้คนทั่วโลกเข้ามาประเมินผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยผ่านการวิจัยและการสอน การติดต่อธุรกิจ การกำหนดนโยบาย และผ่านการดูแลทรัพยากรอีกด้วย[3] 

   ด้วยเงื่อนไขในปีนี้ทำให้มีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งถูกค้นพบคุณค่าและองค์ความรู้ที่หลากหลายมากกว่าแค่วัดผลหลักสูตรการสอนหรืองานวิจัยระดับอุดมศึกษาแบบทั่วไป เช่น มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ได้รับยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกในจากหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในหัวข้อที่ 14 (SDG14 Life Below Water) ด้วยหลักสูตรปริญญาที่สร้างสรรค์ การวิจัยใน School of Ocean Futures และเรือนเพาะชำฟื้นฟูแนวปะการังอันล้ำสมัยในฮาวาย หรือมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้ครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกในหัวข้อที่ 11 (SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) เป็นต้น มหาวิทยาลัยหลากหลายจากทั่วโลกที่มีมุมโดดเด่นในตัวของแต่ละแห่ง การเพิ่มมาตรฐานที่หลากหลายมาใช้เป็นเกณฑ์การจัดอันดับทำให้เพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้นอีกด้วย

 

การจัดอันดับมหาลัยส่งผลกระทบอย่างไรกับตลาดการศึกษา

 

   การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเผิน ๆ ในขั้นแรกการจัดอันดับอาจจะไม่ได้มีทุกมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วมมาตั้งแต่ต้น ในครั้งแรกที่มีการจัดอันดับในปี 2019 มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพียง 400 แห่งเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการดำเนินงานเหล่านี้มีการปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ มีมหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมคัดเลือกมากขึ้นทุกปี ในปี 2024 นี้มีมหาวิทยาลัยจำนวน 2,152 แห่งจาก 125 ประเทศ/ภูมิภาค สมัครใจเข้ารับการประเมินเป็นสถิติใหม่ที่เพิ่มจากปีก่อนถึง 26 %[1] 

   ข้อเท็จจริงของความสำเร็จนี้ทำให้เห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังนำผลของการจัดอันดับแต่ละปีมาใช้เป็นประโยชน์ ทั้งกับเหล่านักเรียนที่ต้องการเลือกศึกษาต่อและเป็นข้อมูลสำคัญของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในการรับรู้ วัดผล เปรียบเทียบ สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เป็นเครื่องมือเฉพาะตัวในการชี้นำนโยบาย การลงทุน และการตัดสินใจร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

อนาคตตลาดการศึกษาเอเชียน่าจับตามองอย่างไร?

 

   การจัดอันดับในครั้งนี้ตลาดการศึกษาเอเชียก้าวหน้าอย่างมาก เห็นได้ชัดที่สุดคือ มหาวิทยาลัยชิงหัวและปักกิ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ไต่อันดับขึ้นมาในช่วง 15 อันดับแรกของโลกอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่อันดับ 12 และ 14 ตามลำดับในปีนี้ โดยรวมแล้วสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีมหาวิทยาลัยมากถึง 7 แห่งติดอยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก[5]

 

 

ภาพ 7 อันดับมหาวิทยาลัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

 

   ศาสตราจารย์ Futao Huang จากสถาบันวิจัยการศึกษาระดับสูงแห่งมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่าได้ทำนายจากการก้าวกระโดดของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าจะมีผลกระทบในเชิงบวกต่อประเทศในเอเชียจากการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถและความร่วมมือด้านวิจัยระหว่างประเทศ เอเชียจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านของการวิจัยทางวิชาการใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า

 

   ศาสตราจารย์ Ming Cheng จากการศึกษาระดับสูงของมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ฮัลแลมในสหราชอาณาจักร มองว่าปัจจุบันภาษาอังกฤษอาจค่อย ๆ สูญเสียความโดดเด่นไปในฐานะภาษาของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเติบโตของเอเชียที่นำโดยจีนในด้านการศึกษาระดับโลกอาจไปได้ถึงขั้นการเปลี่ยนภาษากลางของโลกวิทยาศาสตร์ได้เลย และอาจทำให้เอเชียกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของงานวิจัยและนวัตกรรมนี่ยังเป็นแค่ความสำเร็จเพียงประเทศเดียว ยังไม่นับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ติดใน 100 อันดับแรกของโลกเช่นกัน

 

 

ตารางเปรียบเทียบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเอเชีย

 

 

   แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีมหาลัยไหนไต่ขึ้นไปใน 100 อันดับแรกได้แต่ก็มี 3 แห่งที่อยู่ใน 200 อันดับแรกคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันดับที่ 117 มหาวิทยาลัยมหิดลอันดับที่ 139 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีอันดับที่ 192 ทั้ง 3 แห่งได้เลื่อนขึ้นจากอันดับ 201-250 เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้มหาลัยอื่น ๆ ในอาเซียนก็มีเสถียรภาพการศึกษาที่พัฒนาขึ้น ได้เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความที่เป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ประชากรมากกว่า 670 ล้านคน เป็นคนหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงหนึ่งในสามถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาการศึกษาในเอเชีย

 

   Tan Eng Chye อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) กล่าวว่า “การศึกษาระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ มหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมานานกำลังขยายตัวในขณะที่สถาบันใหม่กำลังเติบโตขึ้น การวิจัยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบทั้งในด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม นโยบาย และชุมชน ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำหรับอนาคตและการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน” [5]

 

   หากคิดตามคำทำนายของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ตลาดการศึกษาเอเชียในอนาคตคงขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นด้วยคุณภาพของวิชาการและงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีจีนเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ แนวโน้มเหล่านี้ไม่ได้มีผลกับแค่ในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น เพราะการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้นการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาต้องปรับตัวให้รวดเร็วไปพร้อมกันด้วย คุณวาดฝันการศึกษาที่เอเชียเป็นผู้นำไว้อย่างไรบ้าง แลกเปลี่ยนไปด้วยกันกับพวกเราอัตนัย 

 

อ้างอิง

[1]https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2024/world-ranking  

[2]https://www.weforum.org/agenda/2015/09/what-are-the-sustainable-development-goals/

[3]https://www.weforum.org/agenda/2024/06/university-impact-rankings-2024-sustainable-development-goals/  

[4]https://www.weforum.org/agenda/2024/05/2024-top-ranking-universities-asia/  

https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/asia-university-rankings-2024-results-announced 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS