ไขคดีฆาตกรรมจากรอยเลือด

A A
Mar 13, 2022
Mar 13, 2022
A A

ไขคดีฆาตกรรมจากรอยเลือด

 

 

ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว…

ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าทำไมคดีฆาตกรรมปริศนาถึงมีแรงดึงดูดชวนให้ติดตาม อาจเป็นความน่าสะพรึงกลัว อะดรีนาลีนที่พลุ่งพล่าน ไม่ก็ความชอบในการไขปริศนา ไม่น่าแปลกใจที่ถูกนำมาเป็นพล็อตใน หนังสือ หนัง และซีรีส์ เป็นประจำ

 

เมื่อพูดถึงการไขคดี ก็มักต้องมีฉากการใช้นิติวิทยาศาสตร์ (forensic science) มาช่วยด้วยใช่ไหมครับ ใครที่ดูซีรีส์อย่าง CSI หรือ Dexter น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี วันนี้เราจะมารู้จักหนึ่งการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ อย่างการวิเคราะห์รอยเลือด (Bloodstain Pattern Analysis, BPA)

การวิเคราะห์รอยเลือดบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์และตำแหน่งที่เกิด ลำดับของเหตุการณ์ หรือ ลักษณะของอาวุธที่ใช้ ซึ่งรอยเลือดที่เกิดขึ้นก็มีหลายแบบ ตั้งแต่ที่กระเด็นจากอาวุธตามแรงเหวี่ยง ที่หยดจากบาดแผลตามแรงโน้มถ่วง หรือ กระจายตามแรงกระแทก (impact spatter) ซึ่งก็จะมีลักษณะแยกย่อยต่างกันไปตามความเร็วอีก ถ้าแรงกระแทกมีความเร็วสูง (อย่างกระสุนปืน) เลือดก็จะกระจายเป็นฝอยขนาดเล็กกว่า 1 มม. แต่หากเป็นความเร็วปานกลาง (อย่างโดนค้อนทุบ) หยดเลือดก็จะมีขนาด 1-4 มม. ซึ่งทำให้เรานำไปวิเคราะห์หาตำแหน่งเกิดเหตุได้ โดยวิธีวิเคราะห์ที่ว่านี้ก็ใช้บทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ง่ายๆ ที่เราทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี บทเรียนที่หลายคนถามว่าจะเรียนไปทำไม อย่าง…ตรีโกณมิติ!

สมมติว่าเราเจอรอยเลือดบนพื้นตามรูปด้านล่างแล้วลากเส้นตามแนวยาวของแต่ละรอยเลือดไปตัดกัน เราก็จะพอบอกได้ว่าจุดกำเนิดน่าจะมาจากบริเวณไหน และแต่ละรอยเลือดห่างจากจุดกำเนิดตามแนวราบเท่าไหร่

ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเล็ก

คราวนี้ถ้าอยากรู้ต่อล่ะว่าจุดกำเนิดอยู่สูงจากพื้นเท่าไหร่ จะทำอย่างไร

เลือดเป็นของเหลวที่มีความหนืด ถ้าหยดตั้งฉากกับพื้นก็จะเกิดเป็นรอยวงกลม แต่ถ้าทำมุมกระแทกกับพื้น (angle of impact) ก็จะเกิดเป็นรอยวงรี ยิ่งมุมกระแทกยิ่งแคบ วงรีก็จะยิ่งยาว

Angle of impact

เราสามารถประมาณหามุมกระแทก จากความยาว a และความกว้าง b ของรอยเลือด เพราะถ้าสมมติให้เม็ดเลือดที่อยู่ในอากาศเป็นทรงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง b พอกระทบพื้น ระยะ b ก็จะกลายเป็นด้านกว้างของรอยเลือด ส่วนความยาว a ก็จะขึ้นกับมุมกระแทก (ดูรูปด้านล่าง) ดังนั้นค่า sine ของมุมกระแทกจะต้องเท่ากับ b/a และมุมกระแทกก็จะหาได้จาก θ = sin-1 (b/a)

Angle of impact

พอรู้มุมกระแทก θ และระยะห่างจากจุดกำเนิดตามแนวราบ d แล้ว ถ้าสมมติต่อว่าเลือดกระเด็นเป็นเส้นตรงจากจุดกำเนิด เราก็จะประมาณความสูงจากพื้นได้เป็น h = d x tan (θ)

ถ้าเป็นสมัยก่อน นักนิติวิทยาศาสตร์ก็จะตั้งเสาขึ้นมาจากบริเวณจุดกำเนิด แล้วขึงเชือกจากรอยเลือดแต่ละรอยมายังเสาตามมุมที่คำนวณได้ (แต่ละรอยมุมกระแทกไม่เท่ากัน ระยะห่างก็ไม่เท่ากัน) แต่สมัยนี้มักทำในแบบจำลองคอมพิวเตอร์

บอกก่อนนะครับว่าวิธีที่ว่านี้เป็นวิธีแบบประมาณซึ่งมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก เพราะความจริงแล้วเลือดไม่ได้กระเด็นเป็นเส้นตรง แต่เป็นเส้นโค้งเนื่องจากแรงโน้มถ่วง

Angle of impact

ความคลาดเคลื่อนจากการสมมติว่าเลือดกระเด็นเป็นเส้นตรง ทำให้ความสูงของจุดกำเนิดที่ประเมินได้สูงกว่าความเป็นจริง ยิ่งระยะห่างจากจุดกำเนิดยิ่งมาก (ค่า d มาก) ความคลาดเคลื่อนก็ยิ่งมาก ระยะห่าง 1 เมตร อาจทำให้การประเมินความสูงผิดไปถึง 45 ซม. ซึ่งก็มากพอให้ได้ข้อสรุปที่ผิดเพี้ยน เช่น จากผู้เคราะห์ร้ายกำลังนั่ง กลายเป็นกำลังยืน

งานวิจัยของ นิค ลาน (Nick Laan) เมื่อปี 2014 ปรับแก้การคำนวณแบบง่ายที่เล่ามา โดยใส่วิถีโค้งเข้าไปในการวิเคราะห์ แต่จะทำได้ก็ต้องรู้ปริมาตรของเม็ดเลือดและความเร็วที่เม็ดเลือดกระแทกพื้นด้วย ปริมาตรเม็ดเลือดนั้นประเมินได้ไม่ยาก เพราะสามารถดูจากรอยเลือดและใช้ 3D สแกนช่วยได้ ความเร็วนี่สิที่เป็นปัญหา เขาจึงต้องหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของรอยเลือดกับความเร็ว (ยิ่งตกกระทบเร็ว รอยเลือดก็ยิ่งมีขนาดใหญ่) โดยใช้ปริมาตรเลือดมาพิจารณาร่วมด้วย

หลังจากพัฒนาสูตรวิเคราะห์แบบวิถีโค้งได้สำเร็จ ลานก็จำลองเหตุการณ์ค้อนกระแทกเพื่อทดสอบผล ปรากฏว่าสูตรของเขาระบุความสูงของจุดกำเนิดได้อย่างแม่นยำ ใครสนใจก็ตามไปดูได้ที่ [1]

ผลวิเคราะห์รอยเลือดถูกใช้ประกอบการพิจารณาในศาลอเมริกาตั้งแต่ปี 1957 แต่ระยะหลังๆ มานี้ก็ถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ ไม่แน่ว่างานวิจัยของ นิค ลาน อาจช่วยเรียกความเชื่อมั่นของการวิเคราะห์รอยเลือดให้กลับมาอีกครั้ง

อ้างอิง

  1. https://www.youtube.com/watch?v=sCXfosxgyrI
  2. https://plus.maths.org/content/solving-crimes-maths
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Bloodstain_pattern_analysis
  4. https://www.youtube.com/watch?v=n1TvZvRoFi4

Tag

Share

Tag

Share

RELATED POSTS