พัฒนาการทางสมองของลูกในวัยเด็กจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความรวยหรือจนของพ่อแม่จริงหรือไม่

A A
Mar 27, 2022
Mar 27, 2022
A A

พัฒนาการทางสมองของลูกในวัยเด็กจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความรวยหรือจนของพ่อแม่จริงหรือไม่

 

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่า ถ้าครอบครัวที่ยากจนได้รับเงินเพิ่มขึ้น เด็ก ๆ ในครอบครัวเหล่านี้จะมีพัฒนาการทางสมองเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

 

 

  • เมื่อสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้คนไทยมีลูกมากขึ้น เพื่อเพิ่มประชากรวัยแรงงานในอนาคต แต่การที่จะเลี้ยงดูเด็ก 1 คนให้เกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อแม่ทุกคน
  • งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เด็กที่แม่มีเงินมากกว่าจะมีกิจกรรมทางสมองที่มีความถี่สูงกว่าเด็กที่แม่มีเงินน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเด็กจะมีทักษะการคิดและการเรียนรู้ที่มากกว่า

ถ้าวันหนึ่งเรามีเงินน้อยลงจากที่เคยมี ชีวิตจะเปลี่ยนไปขนาดไหน อาจไม่ต้องใช้เวลานานในการตอบคำถามนี้ เพราะนี่อาจเป็นสถานการณ์ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาด สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ เงินไม่ได้หมายถึงแค่คุณภาพชีวิตของตัวเองเท่านั้น แต่มันคือคุณภาพชีวิตลูกในทุกแง่มุมอีกด้วย นักวิจัยกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่า ถ้าครอบครัวที่ยากจนได้รับเงินเพิ่มขึ้น เด็ก ๆ ในครอบครัวเหล่านี้จะมีพัฒนาการทางสมองเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ การวิจัยนี้เพิ่งได้ผลการทดลองเบื้องต้นมาเมื่อต้นปี ผลลัพธ์มันไม่ได้เกี่ยวกับคนเป็นพ่อแม่และเด็ก ๆ เท่านั้น แต่มันอาจนำไปสู่สเกลที่ใหญ่ระดับประเทศในเชิงนโยบายที่เราจะช่วยเด็กนับล้านให้มีโอกาสมีอนาคตที่ดีได้

ความต่างจากงานวิจัยในอดีต

จริง ๆ แล้วงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าความยากจนมีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก เด็กที่พ่อแม่ยากจนจะมีอัตราการเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนจบมัธยมปลายในระดับที่ต่ำกว่าปกติ แต่งานวิจัยที่เริ่มขึ้นในปี 2018 โดย คิมเบอร์ลี โนเบิล จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ร่วมด้วยทีมวิจัยที่มีทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสังคม และนักประสาทวิทยาจะต่างไปจากงานวิจัยในอดีต แต่ก่อนเรารู้แค่ว่าความยากจนสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง แต่ก็ยังพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่ามันเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ งานวิจัยนี้จึงออกมาแบบมาเพื่อหาคำตอบในประเด็นนี้โดยเฉพาะ

เงินมาก เงินน้อย สมองเด็กพัฒนาต่างกันหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ทีมวิจัยหาแม่ที่มีรายได้น้อยจำนวน 1,000 คน เข้าร่วมการทดลองจากนิวยอร์ก นิวออร์ลีนส์ มินนีแอโพลิส – เซนต์พอล และโอมาฮา ส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำและคนละติน จากนั้นก็จะสุ่มให้เงินแม่ 2 กลุ่มทันทีที่คลอด กลุ่มแรกจะได้เงิน 333 ดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนอีกกลุ่มจะได้ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน เมื่อคำนวณเป็นเงินที่ได้ต่อปีแล้วถือว่าแตกต่างกันมาก กลุ่มแรกจะได้ 3,996 ดอลลาร์ ขณะที่อีกกลุ่มได้ 240 ดอลลาร์ โดยที่ทั้งสองกลุ่มจะใช้เงินอย่างไรก็ได้

การทดลองนี้จะกินระยะเวลา 4 ปี ทีมวิจัยจะไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อทำการวัดกิจกรรมทางสมองของเด็ก ๆ โดยใช้คลื่นไฟฟ้าสมอง ส่วนแม่ก็จะต้องตอบแบบสอบถาม ขณะที่ทีมวิจัยก็จะคอยสังเกตตอนที่แม่และลูกอยู่ด้วยกัน

ในเดือนกรกฎาคม 2020 เด็กทารกในการวิจัยก็มีอายุ 1 ขวบ ทีมวิจัยทำการบันทึกกิจกรรมทางสมองกับเด็ก ในช่วงก่อนหรือหลังอายุ 1 ขวบ โดยใช้คลื่นไฟฟ้าสมองกับเด็ก 435 คน น่าเสียดายที่ว่ายังไม่สามารถตรวจวัดเด็กได้ทั้งหมด 1,000 คน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด โดย 40% เป็นเด็กที่แม่ได้เงิน 333 ดอลลาร์ต่อเดือน และอีก 60% เป็นเด็กที่แม่ได้เงิน 20 ดอลลาร์ต่อเดือน

นักวิจัยพบว่าโดยเฉลี่ยเด็กที่แม่ได้เงิน 333 ดอลลาร์ต่อเดือนจะมีกิจกรรมทางสมองที่มีความถี่สูงมากกว่ากลุ่มเด็กที่แม่ได้เงิน 20 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยปกติเด็กที่มีกิจกรรมทางสมองที่ไวกว่ามีแนวโน้มจะมีทักษะที่สำคัญต่อการคิดและการเรียนรู้ที่มากกว่า

ฉะนั้น เงิน 333 ดอลลาร์ต่อเดือนที่แม่กลุ่มหนึ่งได้ไปจะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในบ้านของเด็ก ๆ แม้ว่านักวิจัยจะยังไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไรบ้าง และส่งผลต่อกิจกรรมทางสมองของเด็กอย่างไร แต่เราก็รู้กันว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่ำมักจะมีความเครียดสูง ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองของเด็ก

สิ่งที่น่าสนใจจากการวิจัยนี้คือ ทำไมนักวิจัยเลือกถึงเลือกแม่ที่เพิ่งคลอดลูก แล้วตามทดสอบเด็กไปจนกระทั่งเด็กอายุ 4 ขวบ นั่นเป็นเพราะการพัฒนาสมองไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงชีวิตของเรา แต่มันจะมีเวลาทองในช่วงสั้น ๆ ที่สมองจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเวลาที่ว่านี้ก็คือวัยเด็กนั่นเอง ขณะนี้ทีมวิจัยยังคงรวบรวมข้อมูลว่าแม่ใช้เงินอย่างไร และสภาพแวดล้อมแบบไหนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางสมองในเด็ก

แม้ว่านี่ยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่บ่งบอกถึงความแตกต่างในการพัฒนาสติปัญญาและอารมณ์ในเด็ก แต่เราจะได้เห็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อเด็กโตพอที่จะแสดงความสามารถทางสติปัญญา ภาษา หรือควบคุมตนเองได้มากขึ้น สุดท้ายแล้ว หากผลการวิจัยยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลที่ได้จากปีแรก และถ้านักวิจัยรู้ว่าการใช้เงินของแม่แบบไหนที่ทำให้สมองลูกพัฒนาได้แล้วล่ะก็ งานวิจัยนี้อาจนำไปสู่นโยบายพัฒนาสวัสดิการเงินช่วยเหลือสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กแต่ยากจน เพราะการมีรายได้ต่ำไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยเดียวหรือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก แต่มันอาจเป็นนโยบายที่ทำได้ง่ายและให้ผลลัพธ์ที่ดีในหลายประเทศ อย่างน้อยเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนก็ไม่ได้หมดโอกาสที่จะมีอนาคตที่ดีไปเสียทีเดียว ถ้าเราหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ครอบครัวเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที หรือในช่วงโอกาสทองที่สมองจะเติบโตและพัฒนาได้เร็วที่สุด

อ้างอิง
https://www.ted.com/talks/kimberly_noble_how_does_income_affect_childhood_brain_development
https://www.nbcnews.com/health/health-news/poverty-hurts-early-brain-development-giving-families-cash-can-help-rcna13321
https://www.newscientist.com/article/2305683-giving-low-income-us-families-4000-a-year-boosts-child-brain-activity/

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS