คนพูดได้หลายภาษาไม่ได้มีพรสวรรค์ พวกเขาแค่เจอวิธีที่จะสนุกไปกับมัน

A A
Jul 21, 2023
Jul 21, 2023
A A

คนพูดได้หลายภาษาไม่ได้มีพรสวรรค์ 

พวกเขาแค่เจอวิธีที่จะสนุกไปกับมัน

 

 

“คนรู้หลายภาษาไม่ใช่อัจฉริยะ เราไม่มีทางลัดในการเรียนภาษา เราแค่เจอหนทางที่จะสนุกไปกับการเรียน”

 

คุณอ่านประโยคนี้แล้วคิดอย่างไร คุณอาจจะไม่เชื่อก็ได้ เพราะคุณก็สนุกกับการเรียน แต่ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องสักที ยังไม่นับภาษาที่ 3 ที่กำลังฝึกอยู่อีก ทำไมการเรียนภาษาใหม่สำหรับบางคนถึงเป็นเรื่องง่าย แต่กับอีกหลายคนช่างเป็นเรื่องยากซะเหลือเกินทั้ง ๆ ที่พยายามมานานหลายปี เป็นไปได้ว่า คุณอาจจะยังไม่เจอองค์ประกอบที่เอื้อให้การเรียนภาษาประสบผลสำเร็จเท่านั้นเอง ซึ่งคนที่มาย้ำเรื่องนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Lýdia Machová ที่ปรึกษาด้านภาษา ผู้ที่กล่าวประโยคข้างต้นนั่นเอง แน่นอนว่า เธอเป็นหนึ่งในคนที่พูดได้หลายภาษา แต่เธอก็ไม่เคยรู้เลยว่า เคล็ดลับอยู่ที่ไหนกันแน่ จนกระทั่งได้มาพบกับคนที่เป็นเหมือนเธออีกหลายคน และได้ค้นพบหลักการสำคัญ 4 ข้อที่ทุกคนมีเหมือนกัน ข่าวดี คือ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราทำได้จริง แค่เพียงเต็มใจที่จะทำ

 

คุณสมบัติที่คนพูดได้หลายภาษามีเหมือนกั

 

Lýdia เป็นคนที่ชอบเรียนภาษาใหม่มากถึงขั้นเรียนทุก 2 ปี ขณะที่เธอเล่าเรื่องราวนี้บนเวที TED Talks ในปี 2018 ก็เป็นช่วงที่เธอกำลังเรียนภาษาที่ 8 อยู่ คนชอบถามเธอบ่อย ๆ ว่ามีเคล็ดลับอะไร และผู้คนก็มักจะผิดหวังเมื่อได้คำตอบว่า “ไม่รู้ ฉันก็แค่ชอบเรียนภาษา” จนวันหนึ่งเธอไปหาคำตอบจากคนที่พูดได้หลายภาษาเหมือนเธอในงานที่บรรดาผู้หลงใหลในภาษามาพบปะกันเพื่อฝึกฝนภาษาต่างๆ งานแบบนี้มีจัดขึ้นทั่วโลก แล้วเธอก็ได้พบหลักสำคัญ 4 อย่างที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ

 

1. รู้สึกสนุกที่จะเรียน

หากเราไม่สนุกในสิ่งที่ทำ เราคงไม่สามารถทำอะไรบางอย่างได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน 

Lýdia เล่าให้ฟังถึงสีหน้าที่ดูตื่นเต้นของคนที่เธอเจอในงานเมื่อพวกเขาเล่าถึงการเรียนภาษาในแบบของตัวเอง บางคนเอาผังไวยากรณ์หลากสีให้ดู การ์ดช่วยจำที่ทำเอง สถิติการเรียนคำศัพท์ในแอปต่างๆ การอ่านตำราอาหารภาษาต่างประเทศ ทุกคนใช้วิธีที่ต่างกัน แต่ทุกคนเลือกวิธีที่ตัวเองรู้สึกสนุกที่จะทำในทุกวัน มันอาจฟังดูเป็นเรื่องเบสิก แต่นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากจริง ๆ 

 

Lýdia เรียนภาษาสเปนด้วยการอ่าน Harry Potter แม้จะเคยอ่านมาหลายรอบแล้วและเป็นหนังสือเล่มโปรด แต่ช่วงแรกก็แทบไม่เข้าใจเลย เธอยังคงอ่านไปเรื่อย ๆ และเมื่ออ่านจบก็เข้าใจได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ต่อมาเมื่อเรียนภาษาเยอรมัน เธอใช้วิธีดูซิตคอมเรื่อง Friends ตอนแรกก็ไม่เข้าใจอะไรเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าคำไหนเป็นคำไหน แต่ก็ดูไปเรื่อยๆ และหลังจบซีซั่น 2 หรือ 3 ก็เริ่มเข้าใจบทสนทนา ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาขยายความเพิ่มเติมถึงการฝึกภาษาด้วยวิธีนี้กันว่า มีข้อดีและน่าสนใจอย่างไรในยุคที่สตรีมมิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

 

แล้วคนอื่น ๆ ล่ะ เรียนภาษากันอย่างไรบ้าง Benny จากไอร์แลนด์ เริ่มจากการสนทนาเลยตั้งแต่วันแรก เขาเรียน 2-3 วลีจากหนังสือสอนภาษาท่องเที่ยว แล้วก็ไปฝึกกับเจ้าของภาษาทันทีผ่านเว็บไซต์ โดยไม่สนใจว่าจะพูดผิดเป็นร้อย ๆ ครั้งต่อวัน เป็นการเรียนจากคำชี้แนะนั่นเอง

 

ส่วน Lucas จากบราซิล มีวิธีเรียนภาษารัสเซียที่เราอาจนึกไม่ถึง เขาเรียนรู้วิธีสร้างบทสนทนาแบบง่าย ๆ ด้วยการสุ่มเพิ่มเพื่อนชาวรัสเซียเป็นร้อยๆ คนใน Skype แล้วก็เปิดแชทคุยกับคนหนึ่งในนั้น แล้วทักว่า “สวัสดี” ในภาษารัสเซีย คนนั้นก็ตอบว่า “สวัสดี เป็นไงบ้าง” Lucas ก็ก็อปปี้ข้อความนี้แล้วส่งไปให้อีกแชท อีกคนตอบมาว่า “สบายดี ขอบคุณ แล้วคุณล่ะ” Lucas ก็ก็อปปี้ข้อความนี้แล้วส่งกลับให้คนแรก ไม่นานเขาก็เริ่มพิมพ์เองได้ เพราะทำแบบนี้มาเยอะแล้ว รู้แล้วว่า ปกติคนรัสเซียเริ่มคุยกันอย่างไร

 

2. ใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ 

หากเราเคยพยายามเรียนภาษา แต่ไม่ได้ผล อาจเป็นไปได้ว่า เรากำลังใช้วิธีที่ผิด และเราก็ไม่เคยลองหาวิธีใหม่เมื่อมันไม่ได้ผล Lýdia ยกตัวอย่างของการพยายามท่องจำคำศัพท์แบบเร่งด่วนเพื่อใช้สอบวันรุ่งขึ้นว่า วิธีนี้จะทำให้เราจำได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ผ่านไป 2-3 วันก็จะลืม แต่ถ้าอยากจำได้นาน ๆ เราต้องใช้วิธีทวนซ้ำ ๆ ในช่วง 2-3 วัน ใช้วิธีการทำซ้ำแบบเว้นระยะ 

 

3. จัดการรูปแบบการเรียนของตัวเอง 

หลายคนมักจะมีปัญหาเรื่องเวลา แต่จริง ๆ แล้วเราแบ่งเวลาได้ถ้าวางแผนล่วงหน้า เช่น ยอมตื่นเช้ากว่าปกติ 15 นาที เพื่อทบทวนคำศัพท์ และยังมีหลายอีกสิ่งที่เราทำได้โดยไม่ต้องหาเวลาเพิ่ม เพราะสามารถแทรกลงไปในชีวิตประจำวันได้เลย เช่น ฟัง Podcast ตอนขับรถหรือตอนทำงานบ้าน

 

 

การฟัง Podcast ตอนขับรถช่วยฝึกภาษาได้

ชื่อภาพ : การฟัง Podcast ตอนขับรถช่วยฝึกภาษาได้

 

 

 

4. มีความอดทน

อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางภาษากล่าวว่า เราสามารถเรียนรู้ทักษะการสื่อสารขั้นพื้นฐานได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่การจะเชี่ยวชาญพื้นฐานของภาษานั้นต้องใช้เวลาหลายเดือน และในช่วงแรกของการเรียนภาษา หนังสือรวมวลีและแบบฝึกหัดออนไลน์จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้เรารู้จักคำศัพท์ และยังสร้างความมั่นใจในการสนทนาขั้นพื้นฐานกับเจ้าของภาษา ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้ภาษา อีกอย่างที่สำคัญมาก คือ ถ้าอยากก้าวหน้าเร็ว เราต้องกล้าที่จะพูด

 

นอกจากนี้ กุญแจที่ทำให้เราเก่งภาษาต่างประเทศอย่างรวดเร็วยังอยู่ที่การเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับภาษานั้น เช่น การอ่าน ฟังวิทยุ พูดคุยกับผู้คน และการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาหรือเจ้าของภาษาเป็นประจำยังเหมือนเป็นการให้คนอื่นตรวจสอบ และแก้ไขความก้าวหน้าของเราอีกด้วย พยายามเน้นที่การใช้ภาษาก่อน แล้วค่อยโฟกัสเรื่องไวยากรณ์ทีหลัง

 

ดูซีรีส์ วิธีฝึกคนพูดได้หลายภาษายอดฮิต

 

กลับมาที่แนวทางการฝึกฝนภาษาที่หลายคนนิยมใช้ คือ การดูซีรีส์ แม้เราจะดูเกือบทุกวัน แต่คนส่วนมากอาจมองว่า ซีรีส์เป็นแหล่งความบันเทิงมากกว่ากว่าแหล่งฝึกทักษะภาษา เราจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ สำหรับ Lýdia เองก็ประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาเยอรมันด้วยวิธีนี้ เราน่าจะมาเจาะลึกกันกันหน่อยว่า ทำไมการดูซีรีส์ถึงเป็นวิธีฝึกภาษาที่น่าสนใจ

 

1. ทำให้เราคุ้นเคยกับภาษาผ่านการฟัง

เราจะเก่งภาษาไม่ได้เลย หากไม่สัมผัสกับภาษานั้นในทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ ภาษาไม่ได้มีแค่การเขียนเท่านั้น แต่การพูดและการฟังก็มีความสำคัญเช่นกัน สังเกตง่าย ๆ หลายครั้งเมื่อเราได้ยินเพลงภาษาต่างประเทศแล้วเอาออกจากหัวไม่ได้ แม้ว่าจะฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม นั่นเป็นเพราะสมองเราถูกโปรแกรมให้เก็บข้อมูลที่ได้จากการฟังโดยที่เราไม่รู้ตัว และเราคงเคยได้ยินที่คนพูดกันบ่อย ๆ ว่า ถ้าอยากเก่งภาษาเร็วก็ให้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศเสียเลย นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการเอาตัวเข้าไปอยู่กับภาษานั้น ๆ อย่างเต็มตัวนั่นเอง

 

2. เป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลิน

คนเราดูซีรีส์ในเวลาว่าง เราให้ค่ามันเหมือนรางวัล สมองจึงหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมาในยามที่เราได้ปล่อยใจให้ว่างและสนุกไปกับมัน ช่วงเวลาแบบนี้นี่แหละที่สมองพร้อมจะเรียนรู้ แต่หากเราเต็มไปด้วยความกดดัน เมื่อนั้นการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ล้วนเป็นสิ่งที่ยาก ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน สมองจะไม่ซึมซับความรู้ใหม่ ๆ เหมือนกับตอนที่เราจ้องตำราแล้วก็ยังไม่รู้ว่า ตัวเองอ่านอะไรอยู่

 

3. เรียนรู้การออกเสียงคำศัพท์ที่ถูกต้อง

หลายคำที่เราเห็นอาจไม่ได้ออกเสียงเหมือนอย่างที่เราคิด การดูซีรีส์ช่วยให้รู้ว่า จะออกเสียงคำเหล่านั้นให้ถูกต้องได้อย่างไร 

 

4. ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ 

แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากพูดแล้วฟังดูเหมือนพจนานุกรม ซีรีส์ช่วยให้เราเห็นภาษาพูดที่มนุษย์ใช้กันจริง ๆ ที่มีทั้งคำสแลงและสำนวนในชีวิตประจำวัน

 

5. มีภาพและเสียงช่วยให้เข้าใจบริบท

หลายคนกังวลว่า การฝึกภาษาด้วยวิธีนี้จะทำให้ดูไม่รู้เรื่อง แล้วหมดสนุกกับซีรีส์เอาได้ง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเมื่อเรามีทั้งภาพและเสียงประกอบกัน สองอย่างนี้จะช่วยให้เราเข้าใจบริบทได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับ Podcast ที่มีแต่เสียงอย่างเดียว

 

นอกจากหลักการที่ว่ามาทั้งหมด หากเราคิดว่า การเรียนภาษายังเป็นเรื่องยากอยู่  Steve Kaufmann ชายที่พูดได้ 20 ภาษา ยังย้ำว่า การเรียนรู้เป็นงานของสมอง มันไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากเรียนรู้ และจะเรียนรู้เสมอเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น และได้สัมผัสกับสิ่งนั้นมากพอ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุด 2 อย่างในการเรียนภาษา คือ เวลากับแรงจูงใจ เราใช้เวลากับมันมากพอแล้วหรือยัง และมีแรงจูงใจมากพอที่จะไม่ยอมแพ้ไปก่อนหรือเปล่า สำหรับ Steve แล้ว การเรียนภาษาเป็นการได้มาซึ่งคำศัพท์และวลีต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะมาจากอะไรได้ถ้าไม่ใช่การฟังและอ่านเยอะ ๆ มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจมากพบว่า เด็กวัยหัดเดินอายุเพียง 1 ขวบที่ยังพูดไม่ได้สามารถรู้ได้แล้วว่า ภาษารูปแบบไหนเป็นภาษาแม่ของเขา โดย 90% ของโครงสร้างพื้นฐานของภาษาที่เด็กเข้าใจมาจากการฟังนั่นเอง 

 

ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่เคยเรียนภาษาใหม่แล้วยอมแพ้ เพราะคิดว่ายากเกินไป หรือคิดว่าไม่มีพรสวรรค์ในเรื่องนี้ เชื่อได้เลยว่า คนที่พูดได้หลายภาษาทั่วโคงอยากให้เราลองพยายามอีกครั้งหนึ่ง เราอาจได้ค้นพบวิธีการสนุก ๆ ที่ไม่เคยลองมาก่อน รู้ตัวอีกทีเราก็อาจกลายเป็นหนึ่งในคนเหล่านี้แล้วก็ได้

 

อ้างอิง

https://www.ted.com/talks/lydia_machova_the_secrets_of_learning_a_new_language

https://www.bbc.com/worklife/article/20150302-secrets-to-learning-a-language

https://bigthink.com/smart-skills/learn-a-new-language/

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS