วิชานี้เรียนแล้วได้อะไร ในยุคที่ใคร ๆ ก็สนใจแต่คำว่า “ทักษะ”

A A
May 5, 2022
May 5, 2022
A A

วิชานี้เรียนแล้วได้อะไร ในยุคที่ใคร ๆ ก็สนใจแต่คำว่า “ทักษะ”

 

“เรียนวิชานี้ไปแล้วได้อะไร”

“ทำงานแล้วไม่เห็นเคยได้ใช้ความรู้ของวิชานี้เลย

 

รายชื่อวิชาหลายวิชา ถูกแชร์ตามสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมกับการตั้งคำถามถึงสิ่งที่จะได้รับเมื่อเรียนวิชาเหล่านี้ ยังไม่นับรวมถึงรายการทักษะมากมายที่จำเป็นต้องใช้ หรือรู้ไว้ชีวิตอาจดีกว่าในโลกยุคนี้ แต่โรงเรียนอาจไม่เคยสอนมาก่อนถูกพูดถึงนับไม่ถ้วนเต็มฟีด จนน่าเก็บมาคิดว่า ความสมดุลของทั้งสองฝั่งมันอยู่ที่ตรงไหน วิชาที่เรียนแล้วมีแต่ความรู้แต่ไม่ได้ใช้ มันควรต้องยกเลิกไปเลยหรือเปล่า การสอนแบบเดิมที่ครูเน้น “ความรู้” กับสิ่งที่เด็กยุคใหม่อยากได้ “ทักษะ” อะไรสำคัญกว่ากัน

 

ความรู้ยังเป็นเรื่องจำเป็นหรือเปล่า

หลายคนคงเคยตั้งคำถามกับบางวิชาที่เคยเรียนว่ามันจำเป็นไหม อย่างวิชากระบี่กระบอง คณิตศาสตร์ในบางเรื่อง เช่น แคลคูลัส ลูกเสือ เนตรนารี นักศึกษาวิชาทหาร หรือการว่ายน้ำท่าผีเสื้อ ถ้ามองให้ดีแล้ว เราจะเห็นว่าวิชาที่เอ่ยมานี้มีทั้งเรื่องที่เป็น “ความรู้ “ และเรื่องที่เป็น “ทักษะ” คำถามที่เราเจอกันบ่อยและเป็นเรื่องที่เบสิกที่สุดคือ ความรู้ประเภทท่องจำ หรือดูเป็นนามธรรม แบบที่ยังไม่รู้ว่าจะได้เอาไปใช้เมื่อไร มันยังเป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์อยู่หรือเปล่า

แคลคูลัสเป็นหนึ่งในคณิตศาสตร์ที่เด็กส่ายหน้ามากที่สุด เราเรียนไปโดยไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไรต่อในตอนนั้นนอกการการทำข้อสอบ เมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ใช้แคลคูลัส แต่มันก็มีประโยชน์กับหลายอาชีพที่หากนึกย้อนไป เด็กบางคนก็อาจคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าจะมีโอกาสได้ใช้จริง 

 

 

แคลคูลัสเป็นพื้นฐานของสูตรการคำนวณหลายอย่าง เช่น สูตรหาพื้นที่รูปทรงต่าง ๆ หาปริมาตร ความเร็ว ความเร่ง การถ่ายเทความร้อน การเติบโตของประชากรก็มีการใช้สมการเชิงอนุพันธ์ในการอธิบาย ทฤษฎีการบริโภคของลูกค้าก็มีการประยุกต์ใช้เพื่อหาค่าเฉพาะที่ต้องการ หรือในทางการแพทย์ก็มีการเอาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเติบโตของเซลล์มะเร็งและอัตราการติดเชื้อไวรัสของเซลล์มะเร็งเทียบกับเวลาที่จุดหนึ่ง เพื่อคำนวณหาระยะเวลาการกำจัดเซลล์มะเร็งด้วยไวรัส อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานการคำนวณที่เอามาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คำนวณเรื่องการเงิน การธนาคาร วงโคจรของดาว คำนวณกระแสน้ำ หาเส้นแรงในอาคารรูปทรงแปลก ๆ การออกแบบโครงสร้าง การออกแบบเครื่องยนต์ โทรศัพท์มือถือ ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จนถึงการออกแบบยานอวกาศ

นักประวัติศาสตร์อาจมองว่าวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาไม่ได้จำเป็นกับเขาเลย หมออาจจะคิดว่าตัวเองก็ไม่ค่อยได้ใช้ความรู้จากวิชาพละสักเท่าไร แต่ย้อนกลับไปเมื่อพวกเขาเหล่านี้เป็นนักเรียน ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่าตัวเองโตขึ้นแล้วจะทำอาชีพอะไร ความรู้ที่เขาเรียนไปตอนนั้นบางเรื่องได้เอามาใช้ตอนนี้ แต่บางเรื่องก็ต้องทิ้งไป นั่นแปลว่าความรู้ที่เราเรียนกันมานั้น ถ้ามันไม่ได้มีประโยชน์แบบที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ มันก็อาจมีประโยชน์ในอนาคต 

การเรียนเพื่อให้ได้ความรู้จึงยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมันคือพื้นฐานให้เราเอาไปใช้ต่อในอนาคต และเราก็จะเรียกมันมาใช้ในยามจำเป็น เหมือนกับการท่องสูตรคูณที่แม้เราจะมีเครื่องคิดเลขให้ใช้ แต่ชีวิตจะง่ายขึ้นทันทีถ้าเราตอบได้ในเสี้ยววินาทีว่า 8×9 = 72 โดยที่ไม่ต้องเปิดแอปเครื่องคิดเลข หรือไล่ท่องตั้งแต่ 8×1=8 8×2 = 16 ให้เสียเวลา

ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว “ความรู้” เหล่านี้อาจเทียบได้กับส่วนผสมของเค้ก ส่วนการกระบวนการขั้นตอนที่ทำให้ส่วนผสมทั้งหมดกลายเป็นเค้กก้อนหนึ่งก็คือ “ทักษะ” เราทำเค้กไม่ได้ถ้าไม่มีส่วนผสม เช่นเดียวกันถ้ามีส่วนผสมครบทุกอย่าง แต่มันถูกวางไว้เฉย ๆ เราก็ไม่มีทางได้เค้กที่เป็นรูปเป็นร่างแน่ ๆ ทั้งสองอย่างจึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

 

 

ทักษะนี้ในเรื่องหนึ่ง ทักษะนี้ในเรื่องอื่น

วิชาที่เด็กยุคใหม่อยากให้มีจะเห็นได้ว่าหลายวิชาเป็นเรื่องของทักษะ เช่น การบริหารเงิน การออม การเอาตัวรอด การเสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน เพราะเรามองไปถึงการใช้งานจริงที่ต้องได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยอาจจะลืมไปว่าทักษะบางอย่างที่เกิดขึ้นมันไม่ได้ผุดขึ้นมาเฉย ๆ แต่มันมาจากความรู้ที่เรามีในเรื่องนั้น ๆ มากพอ แล้วเกิดการผสมผสาน เชื่อมโยงกันผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนใช้งานได้จริง

งานวิจัยจำนวนมากบอกว่าทักษะคือการที่เรารู้ลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่การมีทักษะเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีทักษะเดียวกันนี้ในเรื่องอื่นด้วย เช่น เรามีทักษะการวิเคราะห์ที่ดีมากตอนเล่นหมากรุก ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้ามีคนโยนเรื่องประวัติศาสตร์มาให้แล้วเราจะวิเคราะห์ได้ดี เพราะมันเป็นคนละบริบทกัน ทักษะที่เรามีจะสัมพันธ์กับบริบทใดบริบทหนึ่งเท่านั้น เมื่อพูดถึงเรื่องของทักษะในบริบทการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้วอาจมีอีกหลายประเด็นครูเข้าใจผิดในเรื่องทักษะกับความรู้ เช่น

    • ครูประเมินความก้าวหน้าของเด็กโดยใช้บันไดทักษะจากคนละบริบทกัน
    • ทักษะและความรู้สามารถประเมินแยกกันได้
    • การให้ความสำคัญกับทักษะการอ่านจะช่วยพัฒนาความเข้าใจในเรื่องการอ่านได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการอนุมานและการอ่านจับใจความโดยทั่วไปเกือบทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ของเด็กในเนื้อหานั้น ๆ มากกว่า
    • ตัดเนื้อหาในหนังสือเรียนหรือบทเรียน แล้วมาให้ความสำคัญกับทักษะ เพราะคิดว่าวิธีนี้จะช่วยเด็ก
    • การทดสอบความจำเด็กว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้างนั้นเป็นเรื่องที่เสียเวลา การเรียนรู้แบบท่องจำเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ แต่ความจริงแล้วความรู้เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการฝึกทักษะ
    • ครูเลือกหลักสูตรที่เน้นแต่ความรู้ล้วน ๆ เพราะคิดว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการพัฒนาทักษะบางอย่างที่ถ่ายโอนกันได้ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในความเป็นจริงความคิดสร้างสรรค์ของเช็กสเปียร์ในด้านภาษาศาสตร์ก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นนักคณิตศาสตร์ที่สร้างสรรค์ด้วย

 

ความรู้และทักษะ เสาหลักของการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อเด็กและสังคมต่างต้องการทักษะที่ใช้งานได้จริง คำถามจึงกลับมาที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ว่าเราจะพัฒนาความรู้ไปเป็นทักษะได้อย่างไร เหมือนกับการเอาไข่ แป้ง น้ำตาล เนย ที่เป็นส่วนผสมของเค้กมาตีเข้าด้วยกัน แล้วอบให้เป็นเค้กแสนอร่อยที่ใคร ๆ  ก็อยากชิม

รายงานในปี 2020 ของ World Economic Forum ว่าด้วยอาชีพในอนาคต พบว่า 5 ทักษะที่นายจ้างมองหามากที่สุดในปี 2025 คือ

1. การคิดเชิงวิเคราะห์และนวัตกรรม
2. การเรียนรู้เชิงรุกและกลยุทธ์การเรียนรู้
3. การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
4. การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการวิเคราะห์
5. มีความคิดสร้างสรรค์และคิดริเริ่ม

ท้ายที่สุดแล้ว ความรู้และทักษะต่างก็ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาที่เข้มแข็งที่สร้างความท้าทายให้กับเด็ก และผลักดันให้พวกเขาบรรลุศักยภาพของตัวเอง เด็กไม่สามารถสร้างทักษะได้จากความว่างเปล่า ความรู้จึงเป็นรากฐานของการเรียนรู้ ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องการเวลาและโอกาสในการฝึกฝนทักษะที่จะช่วยให้พวกเขานำเอาความรู้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทย์สำคัญในการจัดการเรียนรู้ของครูจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างความรู้และทักษะที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจตัวเองและโลกที่เปลี่ยนไป

 

อ้างอิง

https://www.edvantic.com/blog/knowledge-vs-skills-what-education-must-provide
https://schoolsweek.co.uk/the-many-skills-mistakes/
https://blog.pearsoninternationalschools.com/knowledge-vs-skills-what-do-students-really-need-to-learn/
https://www.brandthink.me/content/schoolsubjects

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS