ทำไมเด็กชอบไดโนเสาร์

A A
May 25, 2022
May 25, 2022
A A

ทำไมเด็กชอบไดโนเสาร์

 

        ความชอบไดโนเสาร์ของเด็กทั่วโลกมาจากไหน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ของเล่นเด็กยุคใหม่จะมหัศจรรย์พันลึกขนาดไหน แต่ทำไมความสนใจของเด็กส่วนมากถึงยังคงวนเวียนอยู่กับไดโนเสาร์

 

สัตว์โลกล้านปีที่สูญพันธุ์ไปเกือบ 70 ล้านปีก่อน บางคนมีโมเดลไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ บางคนมีตุ๊กตา หนังสือภาพ ผ้าห่มลายไดโนเสาร์ตัวโปรด แต่เมื่อโตขึ้นความชอบเหล่านี้ก็ค่อย ๆ จางหายไป อาจจะมีบ้างที่ความสนใจในวัยเด็กแปรเปลี่ยนเป็นอาชีพที่รักอย่าง “นักบรรพชีวินวิทยา” ในวันที่พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่

เมื่อพูดถึงความหลงใหลของเด็กที่มีต่อไดโนเสาร์แล้ว พ่อแม่และครูหลายคนคงจะเคยรู้สึกทึ่งกับความมหัศจรรย์ของเด็กเล็กที่สามารถจดจำชื่อไดโนเสาร์ยาว ๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราจำไม่ได้ รู้ว่าพวกมันกินอะไร และอาศัยอยู่ที่ไหน พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกแน่นอนว่าเด็กเริ่มชอบไดโนเสาร์ตั้งแต่เมื่อไร แต่เด็กเกือบ 1 ใน 3 มักจะชอบไดโนเสาร์ และจะเป็นเด็กอายุ 2-6 ขวบ งานวิจัยพบว่าสิ่งที่เด็กสนใจมากที่สุดคือ ยานพาหนะ เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ รองลงมาก็คือไดโนเสาร์ ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็นของเล่นทุกยุคทุกสมัยของเด็กหลาย ๆ คน

 

     

 

ไดโนเสาร์กับโลกวิทยาศาสตร์

งานวิจัยด้านจิตวิทยาปี 2008 ระบุว่าความสนใจเรื่องไดโนเสาร์ของเด็กเล็กถือเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งบอกถึงความสนใจอย่างแรงกล้าของเด็ก เมื่อเด็กเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ เขาจะมีความรู้ที่ผู้ใหญ่ไม่มากนักจะรู้ และยังเป็นการเติมเต็มความปรารถนาที่จะตอบคำถามของตัวเองอีกด้วย เราอาจจะสังเกตเห็นว่าเด็กมีความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์อย่างมาก บางคนจำข้อมูลสารพัดของไดโนเสาร์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเด็กอายุ 3-4 ปี เป็นวัยที่กำลังพัฒนาทักษะทางภาษาตามธรรมชาติ พวกเขาเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ทุกวัน เด็กจึงใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ ไปกับการดูหนังสือไดโนเสาร์ได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ เพราะเป็นไปตามพัฒนาการตามปกติ

นักวิจัยเชื่อว่าความหลงใหลที่เด็กมีต่อไดโนเสาร์นั้นมาจากสัญชาตญาณความสงสัยใคร่รู้และชื่นชอบการค้นหาของเด็ก ไดโนเสาร์เป็นเหมือนประตูสู่วิทยาศาสตร์ และเป็นวิทยาศาสตร์ที่เด็กเข้าถึงได้ พวกเขาเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมานี้เคยมีชีวิตอยู่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจกฎคณิตศาสตร์หรือเคมีใด ๆ ขณะเดียวกันด้วยความที่ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มันจึงตอบโจทย์โลกสมมติของเด็กที่ช่วงวัยหนึ่งเขาจะชอบเล่นตามจินตนาการ ไดโนเสาร์จึงไม่ต่างอะไรจากยูนิคอร์นหรือนางฟ้าที่อยู่ในโลกจินตนาการเช่นเดียวกัน

ความสนใจนี้ทำให้เด็กพยายามจดจำข้อมูลเกี่ยวกับไดโนเสาร์ให้มากที่สุด พวกเขามีคำถามมากมายที่พ่อแม่ตอบไม่ได้ ฉะนั้น เด็กเลยต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง กระบวนการนี้จึงเป็นการฝึกฝนทักษะทางวิทยาศาสตร์โดยไม่รู้ตัว และยังทำให้เด็กเกิดความมั่นใจจากการหาความรู้อย่างอิสระอีกด้วย

งานวิจัยในปัจจุบันชิ้นหนึ่งบ่งชี้ว่าเด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะสนใจไดโนเสาร์มากกว่าเด็กผู้หญิง นักวิจัยคิดว่าน่าจะเป็นเพราะการศึกษาเรื่องไดโนเสาร์ต้องใช้การคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็คือความสามารถของสมองในการจำแนกข้อมูล โดยธรรมชาติแล้วสมองของเด็กผู้ชายมักจะเป็นระบบมากกว่าเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายจึงสนุกกับเรื่องราวของไดโนเสาร์มากกว่า สังเกตได้ว่าเด็กที่ชอบไดโนเสาร์จะแสดงความสนใจผ่านการเล่นสมมติ และชอบที่จะคิดแบบวิทยาศาสตร์ เด็กผู้หญิงที่ชอบไดโนเสาร์ เมื่อโตขึ้นอาจจะยังสนใจวิทยาศาสตร์อยู่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างเพศในสายงานวิทยาศาสตร์ได้

Kelli Chen นักกิจกรรมบำบัดจิตเวชเด็กที่ Johns Hopkins กล่าวว่า 

ความสนใจอย่างแรงกล้าคือตัวกระตุ้นความมั่นใจให้กับเด็ก และยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางสติปัญญา การศึกษาพบว่าการที่เด็กสนใจอะไรอย่างมากแบบต่อเนื่อง เช่น ไดโนเสาร์ จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาความรู้ ได้ทำอะไรที่มีความต่อเนื่องมากขึ้น และมีทักษะการประมวลผลข้อมูลที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ คือเด็กจะเป็นผู้เรียนที่ดีและฉลาดขึ้น

งานวิจัยในหลายทศวรรษก็สนับสนุนประเด็นนี้ และยังมีการศึกษาอีก 3 ชิ้นที่พบว่าเด็กโตที่มีความสนใจอย่างแรงกล้ามักจะฉลาดกว่าเด็กทั่วไปโดยเฉลี่ย

นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงอายุที่เด็กจะพัฒนาความสนใจอย่างแรงกล้าจะทับซ้อนกับช่วงพีคของวัยที่เด็กจะเล่นตามจินตนาการคือตั้งแต่อายุ 3-5 ปี ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2007 นักวิจัยที่ติดตามพ่อแม่ของเด็ก 177 คน พบว่าความสนใจนี้กินเวลาเพียง 6 เดือนถึง 3 ปีเท่านั้น

 

การสร้างตัวตนของเด็กผ่านไดโนเสาร์

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเด็กอายุ 3-4 ปี จะเป็นช่วงวัยที่หลงใหลสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก เด็กจะมีการเล่นตามจินตนาการจากสิ่งที่ตัวเองหลงใหล เช่น นางฟ้า สัตว์ประหลาด หรือไดโนเสาร์ แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปในช่วง 3 เดือนแรกที่เด็กเพิ่งเกิด เขาจะยังไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเองเลย เมื่ออายุได้ 18 เดือนถึง 3 ปี เด็กถึงจะเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเอง แต่ยังคงสับสนกับโลกภายนอกอยู่ จนเมื่ออายุได้ 3 ปี พวกเขาจะรับรู้ว่าตัวเองมีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ และอยากจะทดลองอะไรบางอย่าง เด็กจะเริ่มสร้างตัวตนขึ้นมา และสร้างสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่พวกเขาสร้างขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

 

ไดโนเสาร์ เครื่องมือสร้างอำนาจเหนือผู้ใหญ่

สิ่งที่น่าสนใจคือความมั่นใจที่เด็กได้มาจากความสนใจในเรื่องไดโนเสาร์นั้นมันมีอำนาจชนิดที่ผู้ใหญ่อาจไม่ทันสังเกตเห็น เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าด้วยประสบการณ์ชีวิตของเด็กที่ยังมีไม่มากนัก เด็กจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแล หรือการให้คำแนะนำของผู้ใหญ่มาโดยตลอด ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จึงเป็นไปในลักษณะที่เด็กต้องเป็นคนฟังคำสั่ง หรือได้รับการอนุญาตจากผู้ใหญ่อยู่เสมอ แต่พอเป็นเรื่องไดโนเสาร์ที่ผู้ใหญ่ไม่ได้รู้ลึกเท่าเด็ก เพราะเราไม่ได้สนใจในเรื่องนี้แล้ว สถานะระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จึงกลับกัน ผู้ใหญ่กลายเป็นคนรับฟังและชื่นชมเด็ก ๆ เมื่อพวกเขาเล่าถึงไดโนเสาร์ที่ตัวเองรู้จักให้ผู้ใหญ่ฟัง

ความชื่นชมที่เรามีให้กับเด็กที่รู้ลึกรู้จริงเรื่องไดโนเสาร์นั้นต่างไปจากความชื่นชมเมื่อเด็กทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ได้ถูกต้อง หรือทำตัวน่ารักตามที่เราคาดหวัง แต่เราชื่นชมเพราะเขามีความรู้มากกว่า และเป็นความชื่นชมแบบไม่มีข้อกังขา ไดโนเสาร์จึงกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างอำนาจให้กับเด็กในฐานะคนที่มีความรู้มากกว่า มีประสบการณ์เยอะกว่า อำนาจนี้เองทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจในตนเองมากขึ้น และยิ่งสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์มากขึ้นไปอีก

 

 

 

 

แต่อะไรทำให้เด็กที่เคยหลงใหลไดโนเสาร์อย่างมากค่อย ๆ สนใจเพื่อนดึกดำบรรพ์ของเขาน้อยลง สาเหตุนั้นมีหลายอย่าง ทั้งช่วงวัย ความสนใจที่เปลี่ยนไปตามช่วงวัย และสภาพแวดล้อม เด็กส่วนมากจะค่อย ๆ เลิกสนใจไดโนเสาร์และโลกในจินตนาการเมื่ออายุราว ๆ 5-6 ปี และจะเริ่มหันมาสนใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น เริ่มสนใจคนอื่น และสนใจว่าทำอย่างไรถึงจะเข้ากับคนอื่นได้ ซึ่งต่างกับเด็กวัย 3-4 ปี ที่จะสนใจตัวเองกับครอบครัวที่ใกล้ชิด ข้อมูลยังพบว่าการที่เด็กไม่อยากเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะนั้นมีหลายสาเหตุ และหนึ่งในนั้นคือ โรงเรียน เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว พวกเขาถูกคาดหวังว่าจะต้องเรียนวิชาที่โรงเรียนกำหนดให้ได้ตามเป้า ซึ่งอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ให้กับความสนใจด้านใดด้านหนึ่งของเด็ก อีกทั้งยังมีการสันนิษฐานว่าระบบการเรียนในโรงเรียนและแรงกดดันจากเพื่อน ๆ ทำให้เด็กต้องสนใจอะไรที่เป็นสากลมากขึ้น ความสนใจในเรื่องไดโนเสาร์และเรื่องอื่น ๆ ที่หลากหลายจึงมีน้อยลง

 

แหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ที่น่าสนใจ

หากลูก ๆ ของคุณเป็นหนึ่งในเด็กที่หลงรักไดโนเสาร์แบบหัวปักหัวปำ พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้สนับสนุนพวกเขาให้เต็มที่ ทั้งสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ หรือพาไปเรียนรู้นอกสถานที่ตามพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ หลายจังหวัดในบ้านเราโดยเฉพาะภาคอีสาน มีการขุดค้นพบซากโครงกระดูกไดโนเสาร์หลายแห่ง เราขอแนะนำ 5 สถานที่เหล่านี้

1.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี

สัมผัสไดโนเสาร์เสมือนจริงที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

2.อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง จ.ขอนแก่น

ความพิเศษของที่นี่คือซากกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ถือเป็นซากกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่มีการขุดค้นพบในประเทศไทย

3.พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์

เดิมคือศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นแหล่งขุดค้นที่มีห้องปฏิบัติการทางธรณีวิทยาใหญ่ที่สุดในอาเซียน

4.สวนอุทยานไดโนปาร์ค (Dino Park) ณ พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปี จ.หนองบัวลําภู

สวนกลางแจ้งที่มีไดโนเสาร์จำลองขนาดใหญ่ และไข่ไดโนเสาร์กว่า 30 ฟอง สามารถขยับปาก ส่งเสียงร้อง กระพริบตา หันซ้ายขวา และส่ายหางไปมาได้

5.แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์ ท่าอุเทน จ.นครพนม

ในอดีตที่นี่เคยพบรอยเท้าไดโนเสาร์เยอะที่สุดในประเทศไทย

อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะมองไดโนเสาร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถึงพวกมันจะสูญพันธุ์ไปเกือบ 70 ล้านปีก่อน แต่มันยังคงมีชีวิตโลดแล่นอยู่กับเด็กทุกยุคทุกสมัย เป็นเพื่อนที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ในหลาย ๆ ด้านอย่างที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง หากลูก ๆ ของคุณมีทีท่าว่าจะหลงรักไดโนเสาร์เหมือนกับเด็กอีกหลายล้านคนทั่วโลก นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าพวกเขาได้เจอสิ่งที่จุดประกายการเรียนรู้เข้าให้แล้ว

 

อ้างอิง
https://www.thecut.com/2017/12/a-psychological-explanation-for-kids-love-of-dinosaurs.htm
https://edition.cnn.com/2021/09/24/health/dinosaur-psychology-children-wellness-scn/index.html
https://www.soulschoolsociety.org/post/kidsdinopower
https://jurassicparkterror.net/why-do-kids-like-dinosaurs/
https://www.altv.tv/content/altv-news/61a6f792652f3ccbe2c998c0

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS