สุนทรียศาสตร์อย่างมีชนชั้น
มองบริบทการศึกษาเมืองผู้ดีผ่านซีรีส์ Bridgerton
Brigerton ซีรีส์ชื่อดังจาก Netflix ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก
เรื่องนี้ถูกดัดแปลงจากนวนิยายที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมชนชั้นสูงที่เราไม่สามารถเห็นได้มากนักในภาพยนตร์ซีรีส์สมัยนี้ ช่วงฤดูหาคู่ของสาวแรกรุ่นที่ถึงวัยต้องแต่งงาน โดยมีดยุคหนุ่มโสดในโหมดมีบรรดาศักดิ์ รวย ฉลาด ถึงเนื้อเรื่องจะแอบแฝงความน้ำเน่าเบา ๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมด้วยการศึกษา
อย่างที่เราให้การถ่ายทอดความงดงามของประเทศอังกฤษในซีรีส์ Bridgerton โดยมีฉากหลังเป็นยุค Regency ในช่วง 1811-1820 หลังการปฏิบัติอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ ทำให้คนมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น โหยหาสุนทรียศาสตร์ท่ามกลางการก่อตัวของชนชั้นแรงงาน จนกลายเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรมและการเข้าสังคม
สิ่งที่เราจะได้เห็นในซีรีส์นี้นอกจากความอลังการของเสื้อผ้าอาภรณ์แล้ว เราจะได้เห็นวิถีชีวิตขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่หลอมรวมประเทศนี้เข้าไว้ด้วยกัน จนเป็นคำพูดติดปากของคนทั่วโลกว่า “เมืองผู้ดี” และสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกถ่ายทอดผ่านการศึกษาทั้งสิ้น
นิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อย พูดจาดี ตรงต่อเวลา เชิดชูเกียรติยศศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล คือคุณสมบัติของผู้ดีแห่งเกาะอังกฤษมีมาแต่ไหนแต่ไร โดนรากฐานทั้งหมดนี้มาจากการขัดเกลาของสังคมและสถาบันศึกษา โดยเฉพาะชนชั้นสูงของอังกฤษสมัยนั้นจะได้รับการศึกษาตั้งแต่วัยเยาว์ ในระดับประถม มัธยม ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว
หลาย ๆ ครั้งที่ซีรีส์เรื่องนี้เอ่ยถึงเรื่องราวของการศึกษาที่ดีสำหรับชนชั้นสูง ชื่อหนึ่งถึงมักจะปรากฏให้เราได้ยินบ่อย ๆ คือ “Eton College”
ตัวอย่างเช่นฉากของ Gregory Bridgerton ฐานะลูกชายคนเล็กของบ้าน ที่จะต้องเดินตามรอยเท้าพี่ชายของเขาและรักษาประเพณีของตระกูลไว้ นั่นคือรวมถึงการมุ่งมั่นเข้าเรียนที่ Eton College ให้ได้ ซึ่ง Netflix ซีรีส์เรื่องนี้ถึงจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่แต่ก็อ้างอิงตรงตามประเพณีนิยมที่ผู้รากมากดีชาวอังกฤษยุค Regency สมัยนั้นมักจะทำกัน
สุภาพบุรุษ Bridgerton ต้องเรียนที่ Eton College
Eton College มีความโดดเด่นด้านทั้งตามหลักความเป็นโรงเรียนชายล้วนที่ดูดีทั้งด้านวิชาการและด้านกีฬา นอกจากนี้นักเรียนทุกคนจะต้องศึกษาเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษ มารยาท การเข้าสังคม ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ อย่างวิธีการเลือกช้อนให้เหมาะสมกับการตักซุปอีกด้วย ในแง่ของความเป็นสุภาพบุรุษ Eton เด็กชายทุกคนจะถูกปลูกฝังนิสัยผู้ดีจากการเป็นนักเรียนกินนอนประจำ นักเรียนทุกคนจะมี “บ้าน” เป็นของตัวเองซึ่งสมาชิกในแต่ละบ้านจะมีจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันได้ปรับตัวและทำกิจกรรมกับคนอื่นในบ้าน
ข้อมูลคร่าว ๆ ที่สามารถอ่านได้ทั่วของวิทยาลัย Eton College คือ โรงเรียนประจำมัธยมชายล้วนที่มีฐานะเป็น “โรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดในโลก” อายุเก่าแก่ประมาณ 600 ปีนับตั้งแต่วันก่อตั้งโดย King Henry VI ใน ค.ศ. 1440 และยังเป็นโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับจากประมุขทั่วโลก เป็นสถานที่ศึกษาของเจ้าชายเจ้าหญิงเชื้อราชวงศ์และขุนนางชั้นสูงมาทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุผลนี้การคัดกรองคุณภาพของเด็กชายที่จะมาร่วมเรียนกับเหล่าเชื้อพระวงส์จะเป็นเรื่องที่เข้มงวดตามไปด้วย การสอบเข้าของที่นี่มีการสอบหลากหลายวิชา ซึ่งจะมีการสอบวัดศักยภาพ และหลักการคิดเชิงวิพากษ์สอดแทรกอยู่ด้วย ถึงแม้จะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ คำถามก็ยังออกแนวให้เด็กได้แสดงความคิด เพื่อเป็นการกรองคุณภาพของเด็กเบื้องต้นว่าแต่ละคนมีแนวโน้มความถนัดด้านไหนนั่นเอง
เราจะเห็นได้ว่าการคิดเชิงวิพากษ์ที่เราได้ยินกันบ่อยในห้องเรียนปัจจุบัน เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมานานแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุค Regency ศตวรรษที่ 18 เป็นยุคหลังการบุกเบิกของนิวตัน แต่ด้วยสภาพพื้นฐานทางด้านสังคมและการเงินของคนอังกฤษยุคนั้น มีความแตกต่างกันมากในสมัยนั้น เด็กชนชั้นแรงงานบางครอบครัวมีโอกาสเข้าเรียนเพียง 1 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ในวันอาทิตย์จึงเกิดโรงเรียนประเภทที่เรียกว่า One day a week school จากสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จึงทำให้โรงเรียนประเภทสามัญศึกษาหลาย ๆ แห่งต้องปิดไป และโรงเรียนที่ที่ยั่งอยู่รอดอย่าง Eton College ก็มีเพื่อพัฒนาความรู้วิทยาการใหม่เพื่อตอบโจทย์คนที่จ่ายไหวเท่านั้น ทำให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิชาที่มีตรรกะเหตุผลและความคิดเชิงวิพากษ์เป็นองค์ประกอบ จึงเป็นเหมือนอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงไปโดยปริยาย
ฉะนั้นเราก็อาจเรียกได้ว่า Eton College เป็นสถาบันแรก ๆ ที่หยิบเอา Critical thinking มาใช้ในระดับมัธยมศึกษา นับตั้งแต่นั้นมานั้นกระบวนการคิดและการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยนักคิดแขนงต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้จนกระทั่งในศตวรรษที่ 21 ที่เราอยู่กันในตอนนี้ และที่สำคัญมีงานวิจัยหลายฉบับออกมารองรับแล้วว่า คนที่ฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ตั้งแต่เด็ก จะมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลให้ความสำคัญกับกระบวนการ ตัดสินใจจากข้อมูลและเหตุผล ตั้งคำถามและหาคำตอบอยู่บนพื้นฐานของความจริง รวมถึงมีการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินและประเมิน จึงเป็นเหตุผลที่หลักสูตรการศึกษาใหม่เน้นส่งเสริมให้เด็ก ๆ ฝึกคิดอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณมากขึ้น ตามรอยนักคิดนักการศึกษาผู้โด่งดังจากยุคก่อน
ยุค Regency ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 20 ปี แต่ก็เป็นปีทองสำคัญที่ศิลปวัฒนธรรมมีความรุ่งโรจน์มากยุคหนึ่ง สุนทรียศาสตร์ถูกยกระดับเป็นคุณสมบัติชั้นสูงที่ถูกถ่ายทอดในรูปแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สถาปัตยกรรม งานวรรณกรรม และบทประพันธ์ดนตรีอย่าง Beethoven ก็อยู่ในยุคนี้เช่นกัน จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งกวีโรแมนติกก็ว่าได้ เรื่องราวภูมิหลังวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ยุคนี้ก็ถูกถ่ายทอดลงบนซีรีส์ Bridgerton เช่นกัน อย่างที่เราให้ในบทบาทของ Benedict Bridgerton ชายรองของตระกูล ที่มีความหลงใหลในการวาดภาพและใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินที่ดีขึ้น จึงเลือกเรียนต่อที่ Royals Academy of Art สถาบันศิลปะชั้นสูง แทนที่จะเรียนด้านการบริหารจัดการตามแบบที่สุภาพบุรุษชั้นสูงในยุคนั้นเขาทำกัน
ฉากทัศน์ที่เราได้เห็นบนซีรีส์นี้ทำให้เราได้เห็นนิยามอังกฤษของความเป็น “เมืองผู้ดี” หลากหลายธรรมเนียมการปฏิบัติดั้งเดิมที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ประเพณีน้ำชายามบ่าย มารยาทบนโต๊ะอาหาร การผสมผสานของสุนทรียศาสตร์ทางศิลปะกับวิถีชีวิตผู้ดีมีการศึกษา ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยไปบ้าง แต่แก่นแท้ของความเป็นผู้ดียังมีอยู่ครบถ้วน แก่นแท้ที่มีรากเหง้าจาก “สุนทรียศาสตร์ของสังคมชนชั้น”
อ้างอิง
https://www.royalacademy.org.uk/article/bridgerton-royal-academy-schools-summer-exhibiton
https://screenrant.com/bridgerton-season-2-benedict-art-school-quit-future/
https://julia-quinn-universe.fandom.com/wiki/Benedict_Bridgerton
https://screenrant.com/things-that-should-happen-in-bridgerton-season-3-based-on-the-books/
http://old-book.ru.ac.th/e-book/e/EF305 (48) /EF305 (48) -1.pdf