Adjustment Disorder เด็กไทยในวันที่ความเครียดมาเคาะประตูบ้านแบบไม่รู้ตัว

A A
Nov 23, 2023
Nov 23, 2023
A A

 

Adjustment Disorder เด็กไทยในวันที่ความเครียดมาเคาะประตูบ้านแบบไม่รู้ตัว

 

เมื่อพูดว่า วัยรุ่นไม่ว่ายุคไหนก็มีเรื่องที่ท้าทายในชีวิตตลอดไม่ต่างกัน ทั้งเรื่องความกดดันในเรื่องการเรียน ไปจนถึงการเข้าสังคมอย่างไรก็ตาม ในอดีตตัวเลขคนที่มีปัญหาซึมเศร้าไม่ได้มากอย่างในปัจจุบันนี้ จึงเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ น่าจะมีส่วนและเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ และน่าสนใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเด็กไทยในแบบเดียวกันหรือไม่  

“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” สำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานอาจจะฟังประโยคนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องแบกภาระความรับผิดชอบต่างๆ สิเหนื่อยกว่า แต่รู้ไหมว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าวัยรุ่นนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม มีพ่อแม่หรือญาติที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือจิตเวช ก็ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าวัยรุ่นได้มากกว่าคนอื่น หรือเรื่องของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไทรอยด์ต่ำ ก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือแม้กระทั่งปัจจัยด้านจิตใจ เช่น แนวคิดที่ต้องการเป็นคนสมบูรณ์แบบ ความคาดหวังจากพ่อแม่ให้ลูกต้องเก่งในทุกด้าน แล้วถ้าไม่สามารถทำได้ตามที่หวังก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หรือมาจากความเชื่อในบางวัฒนธรรมว่าเกิดเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง 

สำหรับวัยรุ่นแล้วการเข้าสังคมเป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญ หากความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี พ่อแม่ไม่เข้าใจหรือสร้างความกดดันต่างๆ ให้ลูก หรือวัยรุ่นบางคนมีปัญหาโดนเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้งหรือมีปัญหาความรักในวัยเรียน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็ส่งผลให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

 

Adjustment Disorder

ชื่อภาพ : Adjustment Disorder

 

 

ความเครียดในวัยรุ่น…มักมาแบบไม่รู้ตัว

 

ลองนึกย้อนดูเล่น ๆ นะครับ ในช่วงชีวิตของเราตั้งแต่การเรียน และการทำงานที่ผ่านมา มีอะไรที่เข้ามาทำให้เราเครียดไปแล้วบ้าง สำหรับบางท่านอาจจะเป็นการบ้านที่ต้องทำให้ทันเช้าวันจันทร์  อาจจะเป็นการงานชิ้นใหญ่ที่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง หรือการมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมห้องหรือครู ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจน และส่งผลให้เราเครียดได้ทั้งนั้น แต่เชื่อไหมว่ามันมักจะไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเครียดเสียด้วยซ้ำ


งานวิจัยจาก Oxford University ในปี 2021 ทดลองศึกษาคนทำงานในกลุ่ม High Performer ที่เครียดกับงานจนตัวเองรู้สึกว่าทั้งชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวกำลังพัง มีจุดประสงค์เพื่อมองหาสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มีร่วมกันที่ทำให้คนเราเครียดกับงานขึ้นมากสุดท้ายแล้วนักวิจัยก็ค้นพบว่า คนเหล่านี้แทบจะไม่มีสาเหตุร่วมกันเลย แต่สิ่งที่เขาค้นพบกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่านั้น โดยในช่วงแรกของการสัมภาษณ์เขาพบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถระบุได้ว่าอะไรที่ทำให้เขาเครียดกับงานขนาดนี้ และยิ่งพยายามขุดคุ้ย ก็จะพบแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญอะไร เช่น สายตาไม่เป็นมิตรของเพื่อนร่วมงาน หรือการประชุมเกินเวลาเป็นต้น และยิ่งสัมภาษณ์ ไปเรื่อย ๆ ก็เจอแบบนี้เรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่นึกสาเหตุชัด ๆ ไม่ออก และยิ่งขุดคุ้ยก็จะเจอแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้คิดว่าสำคัญอะไร นั่นทำให้แทนที่จะค้นพบสาเหตุชัด ๆ ว่าอะไรที่ทำให้คนทำงานเครียด พวกเขากลับพบแบบแผนบางอย่าง


แบบแผนนั้นคือการที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่มีเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องใดที่ทำให้เครียดจนชีวิตพัง แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เจ้าตัวแทบจะไม่รับรู้ในตอนแรก แต่ค่อย ๆ สะสมและกัดกินชีวิตไปเรื่อย ๆ จนแม้แต่ชีวิตเรื่องพังแล้วก็ยังไม่สามารถระบุได้ เรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้เราเรียกว่า Adjustment Disorder



โดยความน่ากลัวของ Adjustment Disorder คือการที่แทนที่จะเป็นเรื่องชัด ๆ ใหญ่ ๆ ที่ทำให้เรารู้ตัวว่าเครียดได้อย่างไม่ต้องสงสัย และจัดการกับมันได้ตรงจุด แต่ Adjustment Disorder นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราไม่รู้ตัวว่าเป็นภัย หรือเป็นเรื่องที่เรารับมือได้ง่าย ๆ จนไม่ได้อะไรกับมันมาก ถ้าเทียบความเครียดทั่วไปเหมือนเสือโคร่งที่เป็นภัยอย่างเห็นได้ชัดและกระตุ้นให้เราหนี หรือสู้กับมันอย่างตั้งใจ Adjustment Disorder จะเป็นเหมือนแบคทีเรียที่เราค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่มันก่อโรคให้เรา


มันคือเรื่องที่เราไม่คิดว่าจะส่งผลกับชีวิตเรา รับมือได้ไม่ยาก มาเร็วไปเร็ว และหลายครั้งมักจะเกิดจากคนใกล้ตัวมากกว่าคนไกล ตัวอย่างเช่น ความรู้สึกว่าต้องดูแลการทำรายงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มก็เป็น Adjustment Disorder อย่างหนึ่งที่เป็นความกดดันเล็ก ๆ ที่อยู่กับเราตลอด หรือการต้องเรียนเกินเวลาจากคาบปกตินิดหน่อย 10 – 15 นาที ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เรามักจะไม่คิดมากกับมันและทำ ๆ ไปก็จบแล้ว แต่ความเครียดเหล่านั้นมักไม่จบ


นั่นเป็นเพราะด้วยความเล็กน้อยของมันนี้สมองเราจึงไม่สามารถที่จะรับมือกับมันได้เหมือนเหตุการณ์ชัด ๆ เช่น การโดนครูต่อว่า เพราะนั่นเราโทษครูได้ เราระบายความอึดอัดให้เพื่อนร่วมชั้นให้ฟังได้ หรือเลือกที่จะปล่อยวางเรื่องนี้ก็ได้ แต่กับ Adjustment Disorder สมองไม่รับรู้เรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่าเป็นความเครียด และกลายเป็นเรื่องตกค้างที่เราไม่สามารถจัดการได้ง่าย ๆ และที่แย่กว่านั้นคือเรารับมือกับไม่ใช่แค่วันละเรื่องสองเรื่อง แต่เป็นสิบ ๆ เรื่องต่อวัน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีทำให้เราติดต่อกันได้ง่ายมากขึ้น เด็ก ๆ เริ่มใช้มือถือเป็นสื่อกลางเพื่อสื่อสารในห้องเรียนมากขึ้น นั่นทำให้ Notification เกี่ยวกับการเรียน 1 อันก็นับได้เป็น Adjustment Disorder ได้ทันที จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แม้แต่เด็กในยุคนี้หลาย ๆ คนรู้สึกเหมือนจะ Burnout ตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไม


และในทางร่างกายนั้น Adjustment Disorder ก็ส่งผลกับเราในทางกายภาพโดยตรงในแบบเดียวกับความเครียดอื่น ๆ แต่เบากว่า ตั้งแต่เพิ่มความดัน อัตราการเต้นหัวใจ และฮอร์โมนความเครียด Adjustment Disorder จึงส่งผลเสียต่อร่างกายเราโดยตรงในขณะที่สมองเราไม่สามารถจัดการกับมันได้ด้วยวิธีเดียวกับความเครียดที่เป็นเรื่องเป็นราวชัด ๆ

 

ถ้าถามว่าเด็กวัยรุ่นเครียดไม่รู้ตัวเรื่องอะไรมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง “การเรียน”

 

เพราะเป็นวัยหัวเลี้ยงหัวต่อสำคัญที่ต้องตัดสินใจเพื่ออนาคตของตนเอง วัยรุ่นจึงมีความกังวลด้านการเรียนมากที่สุด โดยเด็กมัธยมส่วนใหญ่ กังวลเกี่ยวกับการเรียนต่อ ทั้งกลัวสอบไม่ติด อ่านหนังสือไม่ทัน และยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร รองลงมาคือเครียดเรื่องผลการเรียน ที่อาจไม่เป็นตามความคาดหวัง ในบางรายยังมีปัญหากับครูผู้สอน หรือถูกบังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่ได้ชอบอีกด้วย รวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน ซึ่งเด็กมัธยมและเด็กมหาวิทยาลัย มีความเครียดเกี่ยวกับเพื่อนที่ค่อนข้างคล้ายกัน คือจะเกิดความเครียด หากไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้ หรือถูกเพื่อนไม่สนใจ รวมถึงหลาย ๆ คนยังกลัวการพบเจอสังคมใหม่ ๆ อีกด้วย

แล้วอะไรจะช่วยให้วัยรุ่นผ่านพ้นความเครียดเหล่านี้ไปได้

ส่วนประกอบสำคัญของเรื่องนี้ คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งครูในโรงเรียน ต้องให้ความเข้าใจ ยอมรับเด็กในตัวตนของเด็กจริง ๆ โดยไม่สร้างความคาดหวังที่กลายเป็นความกดดันจนเกินไป เด็กควรมีวิธีการจัดการกับความเครียดได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น ได้เล่นกีฬาที่ชอบ อ่านหนังสือ เล่นสนุกกับเพื่อนตามความเหมาะสม

จริง ๆ แล้ววัยรุ่นยังมีความเครียดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม หรือการเมือง จริงอยู่ที่ความเครียดเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ใคร ๆ ก็ต้องพบเจอกัน แต่หากพบว่าความเครียดมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เสียสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ การเข้าพบและปรึกษาจิตแพทย์ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

 

สุดท้ายแล้วจากวัยรุ่นเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มีแต่เราเท่านั้นที่จะต้องค่อย ๆ เรียนรู้ไป   เพราะว่ารูปแบบทางความคิดและการรับรู้เกี่ยวกับมุมมองชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความสามารถและระยะเวลาในการฟื้นพลังบวกให้กับตัวเองจึงไม่เท่ากันไปด้วย 

อาการเครียดแบบไม่รู้ตัวก็ไม่ต่างอะไรกับไข้หวัด ใคร ๆ ก็เป็นได้ และเราสามารถรักษาให้หายได้ จะด้วยวิธีจิตบำบัดให้ใจแข็งแรงหรือใช้ยา เพราะฉะนั้นทุกคนต้องมีความหวังว่าเราจะรับมือกับภาวะนี้ได้ และมีความสุขกับการมีชีวิต

 

ถ้าถามว่าทำไมเป็นวัยรุ่นถึงเหนื่อย ? คำถามนี้ก็ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเราเอง

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS