ล้มเหลว = เรียนรู้ รู้จัก Productive Failure ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ให้เด็กแก้โจทย์ยากจนอยากยอมแพ้

A A
Sep 27, 2023
Sep 27, 2023
A A

 

ล้มเหลว = เรียนรู้ รู้จัก Productive Failure 

ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ให้เด็กแก้โจทย์ยากจนอยากยอมแพ้

 

 

  • Productive Failure คือ การเรียนรู้ที่ครูโยนโจทย์ยากให้นักเรียนเป็นอย่างแรก ให้นักเรียนได้เจอกับความล้มเหลวเมื่อแก้โจทย์ไม่ได้ ก่อนที่ครูจะสอนหลักการตามมาทีหลัง เพราะความล้มเหลวจะนำไปสู่การเรียนรู้เชิงลึกในที่สุด
  • โจทย์ที่จะใช้ในการเรียนรู้แบบนี้ไม่ใช่โจทย์อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นโจทย์ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน
  • งานวิจัยพบว่า การที่นักเรียนได้แก้โจทย์ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเรียนทฤษฎีจากครูจะให้ผลดีกว่าการได้เรียนกับครูที่ดีเป็นเวลา 1 ปี เกือบ 2 เท่า
  • การนำ Productive Failure มาใช้ในห้องเรียนไม่ควรทำทุกสัปดาห์ ครูต้องดูว่า ทฤษฎีนี้จะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและถ่ายโอนความรู้ได้ตรงไหน แล้วจึงเลือกแนวคิดที่อยากให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเชิงลึกมาออกแบบการเรียนรู้โดยใช้ทฤษฎีนี้

 

“ความล้มเหลว คือ ครูที่ดี” เราคงเคยได้ยินประโยคนี้กันจนชินหู นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมีจุดเริ่มมาจากความล้มเหลวกันแทบทุกคน แข่งแล้วแพ้ แต่ก็พัฒนากลยุทธ์ ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามลิมิตที่เคยมี เพราะรู้ว่าความสำเร็จรออยู่อีกด้านของความล้มเหลว เมื่อความล้มเหลว คือ ครูที่ดี ทำไมเราถึงต้องรอมันเกิดล่ะ ทำไมเราไม่ตั้งใจออกแบบมันขึ้นมาเสียเลยเหมือนกับการออกกำลังกายที่เรายอมเล่นท่ายาก เพราะรู้ว่า กล้ามเนื้อจะแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าอาจล้มเหลวในช่วงแรกก็ตาม จะเป็นอย่างไรถ้าเราตั้งใจออกแบบให้ความล้มเหลวอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะถ้าความล้มเหลวเป็นครูได้จริง นักเรียนก็น่าจะต้องประสบความสำเร็จสิ

 

หลายคนอาจมีคำถามขึ้นแล้วว่า มันจะได้ผลกับเรื่องนี้จริงเหรอ คำตอบก็คือ ได้ยิ่งกว่าได้ เพราะมีงานวิจัยที่ได้รับการยืนยันมาแล้วว่า ได้ผลดีกว่าเมื่อเทียบกับการเรียนรู้จากครูที่ดีโดยเฉลี่ยถึง 2 เท่า และวิธีที่ว่านี้เรียกว่า Productive Failure การเรียนรู้ที่ครูโยนโจทย์ยากให้นักเรียนเป็นอย่างแรก ให้เขาได้เจอกับความล้มเหลวเมื่อแก้โจทย์ไม่ได้ ก่อนที่จะสอนหลักการตามมาทีหลัง เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คล้ายกับการให้โจทย์ที่นักเรียนต้องใช้การคูณและการหาร ก่อนที่นักเรียนจะได้เรียนเรื่องนี้จริง ๆ จากครูนั่นเอง หากครูจะนำทฤษฎีนี้ไปออกแบบการเรียนรู้ในห้องเรียน ผู้คิดค้นทฤษฎีมีคำแนะนำไว้อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

 

จากปัญหาที่ครูทุกคนเคยเจอ สู่จุดกำเนิดของ Productive Failure 

 

ครูหลายคนคงเคยเจอปัญหาคล้าย ๆ กันที่บางครั้งนักเรียนไม่เข้าใจสิ่งที่ครูอธิบาย  แม้ว่าจะอธิบายอย่างชัดเจนที่สุดแล้วก็ตาม ครูเลยอธิบายใหม่ทั้งหมด แต่นักเรียนก็ยังไม่เข้าใจเหมือนเดิม เราเชื่อว่า การสอนแบบบรรยายเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งนักเรียนก็ไม่ได้เรียนรู้ดีนักจากการสอนแบบนี้ นี่เป็นปัญหาที่ Manu Kapur ศาสตราจารย์ด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และอุดมศึกษาที่ ETH ในเมือง Zurich สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีนี้เคยเจอมาก่อนในสมัยที่เขาเป็นครูสอนเลขม.ปลาย จนสุดท้าย Manu ได้ลงมือทำการทดลองทางความคิดเพื่อหาคำตอบว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไรกันแน่ มาลองฟังการทดลองนี้ แล้วคิดไปด้วยกันดู

 

สมมติว่า เราไปดูหนังในโรงหนัง คนที่นั่งถัดจากเราไปเป็นผู้กำกับชื่อดัง เมื่อดูจบถามว่า เมื่อกี้เราได้ดูหนังเรื่องเดียวกับผู้กำกับคนนั้นหรือเปล่า แน่นอนว่า ต้องดูเรื่องเดียวกันอยู่แล้ว คำถามต่อมา คือ เราเห็นสิ่งเดียวกับที่ผู้กำกับเห็นไหม เราอาจเริ่มฉุกคิดและตอบว่าไม่ เพราะในความเป็นจริง ต่อให้ดูหนังเรื่องเดียวกัน ผู้กำกับจะเห็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่งานวิจัยในหลายร้อยปีที่ผ่านมา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้กล่าวไว้ ผู้เชี่ยวชาญจะเห็นอะไรต่างจากคนที่ยังไม่มีประสบการณ์ เห็นโครงสร้างที่ลึก และคุณลักษณะที่สำคัญได้มากกว่า เพราะการมองเห็นไม่ได้เป็นแค่เรื่องการรับรู้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด Manu เพิ่งตระหนักในความผิดพลาดของเขาที่เผลอคิดเอาเองว่า นักเรียนจะเห็นอะไรเหมือนอย่างที่เขาเห็น เขาเพิ่งเข้าใจว่า งานแรกของการเป็นครู คือ การไม่สอน แต่เป็นการเตรียมให้คนที่ยังไม่มีประสบการณ์ได้ “เห็น” อะไรบางอย่างของสิ่งที่จะสอน แล้วถึงค่อยสอนทีหลัง แม้ว่าการสอนนักเรียนในสิ่งครูรู้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเตรียมให้ได้เห็นก่อน แล้วค่อยสอนทีหลังเป็นเรื่องสำคัญกว่า นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบการเรียนรู้เสียใหม่ที่เรียกว่า Productive Failure โดยสลับลำดับการสอนจากที่เคยเริ่มด้วยการบรรยายมาเป็นการให้นักเรียนได้ทำโจทย์ที่ท้าทายก่อน และเป็นโจทย์ที่ยากมากจนนักเรียนล้มเหลว เพราะสุดท้ายแล้วความล้มเหลวนี่แหละที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เชิงลึก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ครูอยากสร้างให้เกิดขึ้น

 

ทำให้นักเรียน “เห็น” ด้วยการโยนโจทย์ยากแบบ Productive Failure 

 

การทำให้นักเรียนได้เห็นอะไรบางอย่างก่อนที่จะสอนเรื่องนั้นจริง ๆ เป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่ท้าทายอย่างมาก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Productive Failure ถึงต้องสลับลำดับการสอนเสียใหม่ เอาโจทย์ยากมาให้นักเรียนทำก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้คิด และเห็นอะไรบางอย่างจากโจทย์นั้น คำถาม คือ แล้วผิดไหมถ้าเราสอนด้วยการบรรยายเพียงอย่างเดียว คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้นอกจากตัวครูเองว่า เป้าหมายที่อยากให้นักเรียนได้คืออะไร การบรรยายเพียงอย่างเดียวอาจช่วยให้นักเรียนสอบผ่านได้ แต่ไม่ได้ช่วยพัฒนาความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และการถ่ายโอนความรู้ในระยะยาว ทีนี้เราสงสัยกันไหมว่า สมมติโจทย์นั้นทำให้นักเรียนเห็นอะไรบางอย่างแล้ว กระบวนการเรียนรู้จะดำเนินไปอย่างต่อ นักเรียนจะล้มเหลวจริง ๆ ไหม ถ้าเขาทำโจทย์ยากนั้นไม่ได้ คำตอบอยู่ที่โจทย์ของเรา เราสร้างการเรียนรู้อันทรงพลังได้ หากโจทย์นั้นได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี แล้วการออกแบบโจทย์ที่ดีต้องทำอย่างไรกัน

 

 

โจทย์แบบ Productive Failure ช่วยสร้างการเรียนรู้เชิงลึก

ชื่อภาพ : Productive Failure

 

 

ออกแบบโจทย์ที่กระตุ้นการเรียนรู้ หัวใจของ Productive Failure

 

เป้าหมายของ Productive Failure คือ การออกแบบประสบการณ์ที่นักเรียนจะได้เจอกับความล้มเหลวในวิธีที่ปลอดภัยและคัดเลือกมาแล้ว ฉะนั้น โจทย์ที่จะใช้ในการเรียนรู้แบบนี้ไม่ใช่โจทย์อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นโจทย์ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน ต้องทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมและรู้ได้เอง โดยที่ครูรู้ว่า วิธีแก้โจทย์ที่นักเรียนคิดมานั้นอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุดหรือยังเป็นวิธีที่ผิด โดยปกตินักเรียนอาจใช้เวลา 35-40 นาทีในขั้นตอนนี้ ครูต้องไม่รีบเข้าไปเฉลยหรือช่วยคิด แม้ว่าพฤติกรรมนี้แทบจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเลยก็ตาม เพราะบางครั้งความตั้งใจดีของครูอาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ แต่หากครูสามารถทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องของ Productive Failure ได้แล้วล่ะก็ เท่ากับเราได้กระตุ้นความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ และยังช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงช่องว่างของความรู้ตนเองอีกด้วยว่า รู้และไม่รู้อะไร

 

แล้วกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากนักเรียนพยายามแก้โจทย์ โดยที่รู้ว่า สิ่งที่คิดนั้นยังไม่ถูกต้องมีความสำคัญอย่างไรต่อการเรียนรู้ของเขา Manu ให้คำตอบว่า นักเรียนจะเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไป ยอมรับแนวทางใหม่ ๆ มากขึ้น และทำโจทย์ด้วยความสนใจ เข้าใจวิธีแก้โจทย์ที่ถูกต้องหรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ครูจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ด้วยการอธิบายโจทย์และวิธีแก้โจทย์ที่ถูกต้อง เปรียบเทียบวิธีคิดของนักเรียนกับวิธีคิดที่ถูกต้อง และชี้ให้เห็นว่า อะไรที่สำคัญ อะไรที่ได้ผล และทำไมถึงเป็นอย่างนั้น จากนั้นจึงบูรณาการความรู้ใหม่กับความรู้เดิมของนักเรียนที่ได้รับการกระตุ้นมา จะเห็นได้ว่า ครูเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยนักเรียนต่อจิ๊กซอว์ความรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้นี้

 

ผลลัพธ์อันน่าทึ่งของ Productive Failure 

 

ทฤษฎีการเรียนรู้นี้ได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพด้วยงานวิจัยของ Manu ว่า ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ในปี 2021 เขาได้ทำการวิเคราะห์อภิมานการศึกษาการวิจัย 53 เรื่อง ที่รายงานการเปรียบเทียบเชิงทดลองระหว่าง Productive Failure กับการสอนเแบบเดิมจำนวน 166 รายการ เพื่อหาปริมาณและทำความเข้าใจผลกระทบโดยเฉลี่ยต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมัธยมฯ และนักศึกษาปริญญาตรี โดยประเมินความเข้าใจและความสามารถในการประยุกต์ใช้แนวคิดทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และการแพทย์ของนักเรียนและนักศึกษา ผลพบว่า การที่นักเรียนได้แก้โจทย์ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเรียนทฤษฎีจากครูจะให้ผลดีกว่าการได้เรียนกับครูที่ดีเป็นเวลา 1 ปี เกือบ 2 เท่า และถ้าใช้การสอนแบบ Productive Failure ด้วยหลักการที่เที่ยงตรงอาจให้ผลมากกว่าการเรียนกับครูที่ดีถึง 3 เท่าเลยทีเดียว นี่จึงทำให้ Productive Failure กลายเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายในห้องเรียนทั่วโลก ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมถึงระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่ได้รับการยกย่องว่า มีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย

 

เมื่อ Manu นำ Productive Failure ไปใช้กับการสอนในหลายบริบทและขอบเขต ตั้งแต่คอร์สเล็ก ๆ ที่มีนักเรียน 10 คน จนถึงชั้นเรียนพื้นฐานที่มีนักเรียนหลายร้อยคน ไม่ว่าจะสอนในบริบทไหน เขาจะสอน 3-5 แนวคิดหลักเท่านั้น ผลลัพธ์ไม่เพียงแค่น่าประทับใจเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับการค้นพบในการวิเคราะห์อภิมานอีกด้วย

 

ข้อแนะนำเมื่อใช้ Productive Failure ในห้องเรียน

 

หากครูกำลังคิดจะนำทฤษฎีนี้ไปใช้ในห้องเรียน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือภาษา Manu แนะนำไม่ให้ทำทุกสัปดาห์ แต่ต้องดูว่า ทฤษฎีนี้จะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและถ่ายโอนความรู้ได้ตรงไหน ฉะนั้น ในเทอมหนึ่งครูอาจเลือกสัก 3-5 เรื่องที่อยากให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเชิงลึก แล้วออกแบบกิจกรรมเหล่านั้นโดยใช้แนวทางนี้ และถ้าอยากให้นักเรียนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในระยะยาว เราจำเป็นต้องบูรณาการเข้ากับหลักสูตรของโรงเรียนอย่างมีความหมาย เพราะการที่ครูจะเปลี่ยนให้นักเรียนมีความสามารถในการจัดการกับความไม่แน่นอน หรือเต็มใจที่จะยืนหยัดอดทนได้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ อาจเป็นเดือน หรือเป็นปีเลยก็ได้ ดังนั้น หากครูใช้แนวทางนี้กับหัวข้อเดียวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นักเรียนจะไม่ได้ประโยชน์ในระยะยาว แต่จะได้ประโยชน์ในระยะสั้นแค่เรื่องความรู้ ความเข้าใจ และการถ่ายโอนเท่านั้น

 

ถ้าเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนของครู คือ การเรียนรู้เชิงลึกของนักเรียน Productive Failure อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยครูในเรื่องนี้ได้ สิ่งสำคัญที่เราต้องพึงระลึกไว้ คือ คำตอบที่ถูกต้องไม่ใช่เป้าหมายของการเรียนรู้แบบนี้ แต่การเรียนรู้เชิงลึกต่างหากที่เป็นปลายทางสำคัญ และหากเราไม่สอนให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะล้มเหลวในวันนี้ เขาอาจล้มเหลวที่จะเรียนรู้ในวันหนึ่งข้างหน้าก็เป็นไปได้

 

อ้างอิง

https://www.timeshighereducation.com/campus/using-productive-failure-activate-deeper-learning

https://www.edutopia.org/article/if-youre-not-failing-youre-not-learning

https://www.youtube.com/watch?v=VOKJmg34wME

https://www.nytimes.com/2022/04/05/science/education-learning-challenge.html

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS