ประเทศที่พัฒนาแล้วดูจากอะไร?

A A
Sep 30, 2023
Sep 30, 2023
A A

 

ประเทศที่พัฒนาแล้วดูจากอะไร?

 

ความจริงแล้วเราสามารถจำแนกเรื่องนี้ได้อย่างง่ายว่าประเทศไหนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาเเล้ว เเละประเทศไหนอยู่ในกลุ่มที่กำลังพัฒนา ผ่านทางระบบคมนาคมที่มีความทั่วถึง มีมหาวิทยาลัยติดอยู่ในอันดับต้น ๆ เป็นประเทศอุตสาหกรรม มีความปลอดภัย ประชากรมีรายได้เฉลี่ยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ มีความเท่าเทียมกันของคนส่วนใหญ่ในสังคม

ถึงแม้จะไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าเงื่อนไขการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีอะไรบ้าง แต่เงื่อนไขหนึ่งที่ชัดเจนคือประชาชนมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ราว 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 500,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 41,500 บาทต่อเดือนนั่นเอง

เเต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเเค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการชี้วัดมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเเต่ละองค์กรจะมีเงื่อนไขการวัดที่ต่างกัน เช่น ฮังการี เม็กซิโก ตุรกี ซึ่งได้รับการยอมรับจาก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาเเล้ว เเต่ยังไม่ถูกยอมรับจาก CIA ส่วน IMF ก็มีการจัดอันดับด้วยเงื่อนไขที่ต่างออกไป แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทุกองค์กรใช้เป็นตัวชี้วัดเหมือนกัน นั่นก็คือ “HDI”

 

HDI คืออะไร?

 

Human Development Index (HDI) เป็นค่ามาตรฐานที่ United Nations หรือ UN เป็นผู้วางเงื่อนไขไว้ โดยหลัก ๆ เเล้วจะพูดถึงบริบทของ “คุณภาพชีวิต” ผ่านตัวเลขของ การเกิด การตาย การศึกษา สิ่งเเวดล้อม รายได้ประชาชน และความเท่าเทียมกันในสังคม

โดยตัวชี้วัดนี้จะแสดงให้เห็นว่าคนในประเทศนั้น ๆ อ่านออกเขียนได้เเค่ไหน นักเรียนจะต้องดรอปออกจากโรงเรียนเยอะไหม ประชากรมีอายุยืนยาวเท่าไร อัตราการตายของเด็กเเรกเกิดต่ำหรือเปล่า สุขภาพดีเเค่ไหน คุณภาพสิ่งเเวดล้อมอยู่ในระดับที่ดีหรือเปล่า รายได้ของประชากรมีความสมเหตุสมผลมากน้อยเเค่ไหน เป็นต้น ซึ่งก็คือปัจจัยที่สำคัญ ต่อการใช้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งจริง ๆ จึงไม่มีตัวเลขชี้วัดที่ตายตัวเพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับบริบทของเเต่ละประเทศ

 

ถ้าถามว่าค่า HDI สะท้อนอะไรบ้าง คำตอบ คือ มันสะท้อนให้เห็นถึง “ระบบ” ที่ผูกติดกับตัวเลข

เช่น คุณภาพการรักษาพยาบาล โอกาสที่เท่าเทียมกันของการศึกษา ถ้าประเทศไหนมี HDI น้อย ไม่ได้หมายความว่าประชากรไม่มีการศึกษา แต่ผู้คนอาจจะขวนขวายหาความรู้เองเเบบไร้ทิศทางมากกว่า รู้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ เเละจะไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ ในด้านของระบบสาธารณสุข ก็จะไม่เข้าใจการควบคุมจำนวนบุตร หรือหลักการดูเเลสุขภาพที่ถูกต้อง เป็นไปได้ที่จะหาวิธีอื่นในการรักษา เช่น การไปหาหมอดูตามความเชื่อของตนนั่นเอง

ถ้าประเทศไหนอยู่ในอันดับสูง ๆ ก็จะมี “ปัจจัยพื้นฐานของการใช้ชีวิต” ที่ดี มีการศึกษาที่ดี อาหารเพียงพอถูกโภชนาการ มีการควบคุมการมีบุตร มีการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึง เเละเข้าใจการดูเเลตัวเองอยากถูกวิธี โดยรายงานล่าสุดจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program) ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่โดยใช้หลักเกณฑ์ HDI ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ถ้าดัชนีมีค่าใกล้เคียง 1 แสดงว่ามีระดับการพัฒนามนุษย์ระดับสูง ซึ่งผู้ที่ครองแชมป์ปีนี้ได้แก่ “นอร์เวย์” 

จากการคำนวณค่า HDI ของนอร์เวย์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นประเทศน่าอยู่ที่สุดของโลก มีค่าเฉลี่ยมากถึง 0.944 จัดเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเพียง 5 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนที่ $63,909 (อันดับที่6) จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก มีจำนวนปีการศึกษาต่อคนอยู่ที่ 17.6 ปี (อันดับที่6) อีกทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของผู้เกษียณอายุจะได้รับเงินบำนาญ นอกจากนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเพียง 2 คนต่อ 1,000 คน ถือเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำที่สุดอีกด้วย

ซึ่งการจัดอันดับในครั้งนี้ประเทศส่วนใหญ่ใน 10 อันดับแรกล้วนเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ขณะที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนรั้งอันดับที่ 4 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในย่านอาเซียนอย่างสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 12 มีดัชนีอยู่ที่ 0.939 ขณะที่บรูไนอยู่อันดับที่ 51 มีดัชนีอยู่ที่ 0.829 และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 62 มีดัชนีอยู่ที่ 0.803 ในขณะที่ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในเกณฑ์สูงมาก (≥ 0.800) เป็นครั้งแรก รั้งอันดับที่ 66 โดยมีดัชนีอยู่ที่ 0.800 แบบพอดิบพอดี

 

“ประเทศที่พัฒนาแล้ว” เขาพัฒนาประชากรกันอย่างไร?

เรามักได้ยินรายงานข่าวเกี่ยวกับภาคการศึกษาของฟินแลนด์ว่ายอดเยี่ยมระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับประเทศที่น่าอยู่เป็นอันดับของโลก 1 อย่าง “นอร์เวย์” ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิกเช่นเดียวกับฟินแลนด์ แต่กลับไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงมากนัก ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วนอร์เวย์ก็ทุ่มเท และทุ่มทุนสร้างภาคการศึกษาอย่างจริงจังไม่ต่างกัน โดยจุดเด่น คือ ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมสำหรับนักเรียนที่มีภูมิหลังทางสังคม และเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้สถานะทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีส่วนร่วมในการศึกษาของนักเรียน โดยหลายประเทศผู้เรียนจะต้องอาศัยค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นหลัก แต่ในกรณีนี้นักเรียนในนอร์เวย์จ่ายในสัดส่วนที่น้อยกว่า เช่น ระดับปฐมวัยจะจ่ายเอง 14% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนในระดับอุดมศึกษาจะจ่ายเอง 6% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD ด้วยกันที่ต้องจ่ายเองสูงถึง 30% ของค่าเล่าเรียนทั้งหมด ขณะที่ค่าตอบแทนของครู และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ทำงานในสถาบันการศึกษา ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน คิดเป็น 78% ของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด

ถ้าหากเราจะสรุปว่า “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” มักจะลงทุนด้านการศึกษาเป็นหลักก็คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างเกินจริง

เพราะ…การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีจะรู้ว่าการลงทุนในการศึกษา การใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เน้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพการศึกษา และสร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน เพื่อรักษาสถานะความเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ให้คงอยู่ต่อไป

 

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS