เจาะลึกแนวคิดโรงเรียน Summit โรงเรียนแห่งอนาคตที่เด็กนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

A A
Oct 4, 2023
Oct 4, 2023
A A

 

เจาะลึกแนวคิดโรงเรียน Summit 

โรงเรียนแห่งอนาคตที่เด็กนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

 

  • โรงเรียน Summit โรงเรียนแห่งอนาคตในสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน โดยใช้แนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ไม่มีการบ้าน ใช้การเรียนรู้แบบ Project Based Learning ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง และเกิดทักษะในการริเริ่มลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้จริง
  • แม้จะเป็นที่กังขาในช่วงแรกว่า โรงเรียนแบบนี้จะพลิกโฉมการศึกษาแบบเดิมได้หรือไม่ แต่อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียนที่นี่สูงถึง 98% และสำเร็จการศึกษามากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 2 เท่า

 

โรงเรียนในฝันของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร?

ไม่มีการบ้าน 

ไม่ต้องหิ้วหนังสือเรียนมาโรงเรียน เพราะความรู้หาได้จากทุกที่

นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข 

ไม่ต้องมีหลักสูตรบังคับ อยากลองทำอะไรก็ลงมือได้เลย

นักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง

 

ไม่ว่าเราจะตอบคำถามนี้ในฐานะอะไร ครู พ่อแม่ หรือนักเรียน เราอาจมองว่า นี่เป็นคำถามชวนฝันเอามาก ๆ และไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้จริงแน่ ๆ ไม่แปลกหรอกที่เราจะมีความคิดเช่นนั้น เพราะแนวคิดโรงเรียนในฝันที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กทุกคน และตอบโจทย์ทักษะที่โลกปัจจุบันต้องการนั้นเป็นฝันลึก ๆ ที่เราก็มีความกังขาไม่น้อยว่า โรงเรียนแบบนี้จะพลิกโฉมการศึกษาได้จริงแค่ไหน ภาพการศึกษาที่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของโลก ส่วนใหญ่เรายังคงเห็นภาพคล้าย ๆ กัน คือ เด็กแต่ละคนต้องเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดมา โดยที่ไม่รู้ว่า ตนเองกำลังเดินไปในทิศทางใด สุดท้ายแล้ว เด็กไม่มีเป้าหมายในชีวิต ขาดทักษะที่จำเป็น และไม่สามารถริเริ่มทำอะไรด้วยตนเองได้ เราเฝ้าถามคำถามเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรากำลังป้อนการศึกษาแบบไหนให้เด็กของเราอยู่ ทำอย่างไรถึงจะออกจากวังวนเดิม ๆ ทำอย่างไรให้โรงเรียนในฝันไม่อยู่แค่ในฝัน แต่เกิดขึ้นจริงและตอบโจทย์สิ่งที่เด็ก และโลกยุคปัจจุบันต้องการได้ 

 

วันนี้โรงเรียนในฝันเกิดขึ้นจริงแล้วในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2007 ‘Summit’ เป็นโรงเรียนที่ถือกำเนิดจากความหวังและความฝันของ Diane Tavenner ที่อยากเห็นนักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง และเกิดทักษะที่นำไปใช้จริงได้ในอนาคต เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของที่นี่ โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีการบ้าน ไม่ใช้หนังสือเรียน แต่นักเรียนทุกคนมีเป้าหมายในการเรียนรู้ แม้จะใช้แนวคิดที่ไม่เหมือนที่ไหน แต่อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของนักเรียนสูงถึง 98% และสำเร็จการศึกษามากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 2 เท่า โรงเรียน Summit วางแนวทางการจัดการเรียนรู้อย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งนักเรียนและสังคม อะไรทำให้ Diane กล้าที่จะออกแบบโรงเรียนที่แตกต่าง และประสบความสำเร็จจนเกิดโรงเรียนในเครือทั้งหมด 11 แห่งในรัฐแคลิฟอร์เนียและวอชิงตัน 

 

หลายคนคงคิดเหมือนกันว่า การศึกษาที่เป็นอยู่ตอนนี้คล้ายกับเราให้ความช่วยเหลือเด็กมากเกินไปจนเขาขาดทักษะที่จะริเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง เรามีสูตรอาหารพร้อมส่วนผสมเตรียมไว้ให้ หน้าที่ของเด็ก คือ การลงมือทำตามขั้นตอนที่กำหนดเท่านั้น จะว่าไปไอเดียแรกเริ่มของรงเรียน Summit ถือได้ว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในห้องครัวที่บ้านของ Diane นี่เอง เธอและสามีอยากฝึกให้ลูกชายหัดทำอาหารให้ครอบครัวทานสัปดาห์ละครั้ง แต่สุดท้ายแทนที่ลูกชายจะได้เรียนรู้การทำอาหารด้วยตนเอง เธอและสามีกลับลงมือทำอาหารให้เสียเอง แทนที่จะให้แค่คำชี้แนะ พอรู้ตัวดังนั้น สองสามีภรรยาจึงปล่อยให้ลูกชายได้ลงมือทำเอง แม้จะมีผิดพลาดบ้างในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งคู่ก็เห็นพัฒนาการในตัวลูกชาย 

 

บทเรียนทำอาหารในบ้านกลายเป็นสิ่งสะท้อนให้ Diane ที่เคยเป็นครูมาก่อนเห็นถึงปัญหาของการเรียนรู้ในปัจจุบันที่ผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือเด็กมากเกินไป ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะครอบครัวเธอเท่านั้น แต่ระบบการศึกษาของสหรัฐฯ ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน และไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ที่เดียวเท่านั้น จริง ๆ แล้วนี้เป็นปัญหาในหลายประเทศเลยด้วยซ้ำ โรงเรียน Summit จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมแนวทางการศึกษาแบบใหม่ที่นักเรียนได้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีครูเดินถือหนังสือเรียนเข้าห้อง แล้วสั่งว่าให้เปิดไปหน้านั้นหน้านี้อีกต่อไป

 

ความพิเศษของ Summit ที่ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น

 

ด้วยแนวทางการศึกษาที่ไม่เหมือนใคร สิ่งที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากที่นี่จึงคล้ายกับการทำอาหารที่ทุกคนจะมีส่วนผสมของตนเองแต่จะไม่มีสูตรให้ ทุกคนต้องเรียนรู้การทำเมนูต่าง ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งหากนักเรียนประสบปัญหาก็สามารถขอคำแนะนำจากครูพี่เลี้ยงได้ตลอด นักเรียนเป็นคนนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง โรงเรียนสร้างโอกาสให้เขาได้ล้มไปข้างหน้าโดยเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง

 

Project Based Learning เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ Summit เลือกใช้ Diane มองว่า การเรียนรู้แบบนี้เป็นการเรียนรู้จากโลกจริง นักเรียนได้ลงมือทำและถามคำถามที่เขาอยากรู้ โดยนักเรียนจะเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจ และขอความช่วยเหลือจากครูได้ไม่จำกัดวิชา เมื่อไม่มีข้อจำกัด โครงงานของนักเรียนจึงครอบคลุมองค์ความรู้หลากหลายแขนง เช่น นักเรียนม.3 ศึกษาการให้เงินอุดหนุนการเกษตรในสหรัฐฯ โดยนำเสนอโครงงานด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ว่า เงินอุดหนุนการเกษตรข้างต้นเป็นภาษีที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างไร นักเรียนบางคนก็นำไอเดียจากเกม Sim City มาทำโครงงานออกแบบเมืองใหม่ที่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอต่อนักออกแบบผังเมืองโดยตรง ฉะนั้น เมื่อจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ โรงเรียนจึงไม่มีการบ้านและไม่ต้องใช้หนังสือเรียนเหมือนโรงเรียนทั่วไป

 

 

โรงเรียน Summit จัดการเรียนรู้ด้วย Project based learning

ชื่อภาพ : โรงเรียน

 

 

แม้ว่าการทำโครงงานของนักเรียนจะขับเคลื่อนด้วยตัวนักเรียนเป็นหลัก แต่ Summit ไม่ได้ปล่อยให้นักเรียนเดินไปโดยลำพัง เพราะยังมีครูพี่เลี้ยงมากประสบการณ์ที่เป็นมากกว่าแค่ครูที่ปรึกษาคอยชี้แนะแนวทางให้นักเรียนอยู่ตลอด มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเป้าหมายกับนักเรียน ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับการทำงานของตนเอง และยังให้คำแนะนำกับนักเรียนแต่ละคนอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ หากนักเรียนมีปัญหาส่วนตัว ครูพี่เลี้ยงจะตั้งคำถามกระตุ้นการสะท้อนคิดโดยใช้องค์ความรู้จิตวิทยาการปรึกษาให้นักเรียนเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ และหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง

 

ที่สำคัญครูพี่เลี้ยงจะดูแลนักเรียนคนเดิมไปทุกปี ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาต้องเขียนจดหมายแนะนำตัวให้นักเรียนยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย จดหมายแต่ละฉบับจึงมีความพิเศษสำหรับนักเรียนคนนั้นโดยเฉพาะ ไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันทุกฉบับจนอาจทำให้นักเรียนถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพราะเหตุว่า จดหมายไม่ได้ทำให้นักเรียนดูมีความโดดเด่นพอที่จะเข้าเรียนเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

แม้ว่านี่จะเป็นแนวคิดที่ฉีกไปจากเดิมเมื่อเทียบกับโรงเรียนทั่วไปที่ครูอาจใช้ Project Based Learning ในการจัดการเรียนรู้บ้าง แต่ในช่วงแรกของการทดลอง โรงเรียน Summit ต้องเผชิญกับความไม่มั่นใจจากครู ผู้บริหาร และพ่อแม่จากที่อื่นที่มองว่า การใช้การจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้เป็นหลักถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ครูส่วนมากในโรงเรียนทั่วไปจึงยังสอนนักเรียนในแนวทางเดิมที่ตนเองคุ้นเคยมากกว่า

 

นอกจากหลักสูตรปกติแล้ว โรงเรียน Summit ยังมีโปรแกรมพิเศษอีกอย่าง เป็นโปรแกรมการเรียนรู้ 8 สัปดาห์ที่นักเรียนจะเลือกสาขาวิชาที่ตนเองสนใจและสามารถถามคำถามที่อยากรู้ได้ ซึ่งอิสรภาพแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในระบบการศึกษาของรัฐฯ เห็นได้ว่า แนวทางทั้งหมดที่โรงเรียนนำมาใช้ให้สิทธิเสรีภาพแก่นักเรียนอย่างเต็มที่ในการเลือกเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง

 

ด้วยความพิเศษของโรงเรียนแห่งนี้ Bill Gates ยังถึงกับเอ่ยปากว่า ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน การจัดการเรียนรู้แบบนี้ทำให้นักเรียนพร้อมต่ออนาคตอย่างแท้จริง ทั้งการเข้ามหาวิทยาลัย การทำงาน และการมีชีวิตที่ดี เมื่อแนวคิดของโรงเรียนแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างสิ้นเชิง คำถามที่ใคร ๆ อยากรู้คงหนีไม่พ้น โรงเรียนนี้เหมาะกับทุกคนไหม Diane ตอบคำถามนี้ว่า นี่ไม่ใช่คำถามที่ดีสักเท่าไรนัก แต่คำถามที่ถูกต้องควรเป็นการถามตัวเราเองว่า “ทำอะไรที่ได้ผล เพื่อใคร ภายใต้สถานการณ์ใด” ต่างหาก ซึ่งที่สุดแล้วก็หมายถึงการถามถึงนักเรียนแต่ละคนของเรานั่นเอง

 

สุดท้ายแล้วหากเรายังเชื่อว่า โรงเรียนในฝันก็คงเป็นได้แค่ในฝันนั่นแหละ โรงเรียนในเครือ Summit คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงแน่ ๆ เรื่องราวนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่จุดประกายให้เราได้เห็นว่า โรงเรียนในฝันที่พลิกโฉมการศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงจากความเชื่อมั่นและความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของเหล่านักการศึกษาที่ไม่ยอมจำนนให้กับระบบการศึกษาแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา 

 

อ้างอิง

https://bigthink.com/the-learning-curve/school-no-homework-summit-public-schools/ 

https://bookscape.co/all-about-summit-schools

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS