ฟอนต์อ่านยากอาจช่วยให้สมองเราจดจำเนื้อหาได้ดีกว่า

A A
Dec 4, 2021
Dec 4, 2021
A A

        เราอาจเชื่อกันมาตลอดชีวิตว่า ฟอนต์ที่อ่านง่ายจะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดี แต่งานวิจัยในปี 2010 พบว่า ฟอนต์ที่อ่านยากๆ อย่าง Bodoni, Comic Sans, Haettenschweiler หรือ Monotype Corsiva กลับช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ Arial หรือ Times New Roman ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ฟอนต์อ่านยากมีประโยชน์ต่อคนเป็น Dyslexia
        งานวิจัยพบว่าฟอนต์มีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้ของเราในขณะที่อ่าน แต่สิ่งที่เราอาจจะไม่เคยรู้เลยก็คือ ฟอนต์ที่อ่านยากอาจมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด งานวิจัยอีกชิ้นในปี 2013 ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้วยว่า ฟอนต์แบบนี้ยังมีประโยชน์กับนักเรียนที่เป็นโรคบกพร่องทางการอ่าน (Dyslexia) ถึงแม้อาจจะฟังดูขัดแย้งกันชอบกล แต่ในความเป็นจริงคือการที่สมองต้องประมวลผลมากขึ้นในการอ่านอาจช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งนั้นมากขึ้น เราจึงจดจำได้มากขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าฟอนต์แบบนี้จะทำให้เรามีส่วนร่วมกับเนื้อหาได้ยากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทำให้เราเสียสมาธิไป ดังนั้น ฟอนต์ลักษณะนี้จึงทำให้เกิด “ความยากที่พึงประสงค์” คือต้องใช้ความพยายามในการอ่านมากขึ้น แต่ก็จะยิ่งจำได้มากขึ้นด้วย

งานวิจัยพบฟอนต์ Sans Forgetica ช่วยให้จำได้ 57%
        เมื่อฟอนต์อ่านยากให้ประโยชน์ในเรื่องการจดจำข้อมูลได้ดี ทีมนักออกแบบและนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัย RMIT จึงออกแบบ Sans Forgetica ฟอนต์อ่านยากที่ทำให้สมองต้องประมวลผลมากยิ่งขึ้น ความพิเศษคือฟอนต์นี้จะเอียงไปด้านซ้าย แทนที่จะเป็นฟอนต์ตรงๆ หรือเอียงขวา และเพิ่มความยากด้วยลักษณะเส้นที่ไม่ได้มาเป็นเส้นทึบแบบฟอนต์ทั่วไป แต่มีความเว้าแหว่ง กระตุ้นให้สมองต้องคิดว่าคือตัวอักษรอะไร แน่นอนว่าเบื้องหลังการออกแบบ Sans Forgetica ไม่ทิ้งแนวคิดเรื่องความยากที่พึงประสงค์

งานวิจัยพบฟอนต์ Sans Forgetica ช่วยให้จำได้ 57%

นอกจากฟอนต์จะดูแหวกแนวไปจากเดิมแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความจำได้ดี ถึงจะดูผิดขนบจากฟอนต์ทั่วไปอยู่สักหน่อย แต่ก็ไม่ได้อ่านยากจนถึงขั้นอ่านไม่รู้เรื่อง จากรายงานของ the Guardian พบว่า เมื่อทำการทดสอบกับนักเรียน 400 คน นักเรียนจะจดจำข้อความที่ใช้ฟอนต์ Sans Forgetica ได้ 57% และจำข้อความที่ใช้ฟอนต์ Arial ธรรมดาได้ 50%

Sans Forgetica ถูกใช้งานเมื่อปี 2018 เพื่อช่วยนักเรียนในการจดจำคำตอบ วลี หรือข้อความสั้นๆ โดยปกติเวลาเราอ่าน เรามักจะจำโครงร่างของคำมากกว่าที่จะอ่านทีละตัวอักษร สมองเราจะแค่เปรียบเทียบรูปร่างของคำนั้นกับความทรงจำของเราว่าคำนั้นควรเป็นอย่างไร ฉะนั้น ฟอนต์แบบ Sans Forgetica จึงเหมาะกับข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เช่น คำสำคัญ วลี หรือประโยคสั้นๆ ประโยคเดียว เหมาะสำหรับการทำโฆษณา หรือพาดหัวเรื่อง แต่ไม่เหมาะกับเนื้อหาที่ยาวๆ

ฟอนต์แบบไหนช่วยเพิ่มความจำได้ดี
นอกจากความอ่านยากอ่านง่ายของฟอนต์แล้ว ลักษณะเฉพาะของฟอนต์ เช่น รูปแบบ ขนาด และสี ก็มีบทบาทต่อการจดจำข้อมูลด้วยเช่นกัน ฟอนต์ที่ใหญ่อาจทำให้จดจำได้ดีกว่า แต่ฟอนต์ที่เล็กก็จะทำให้เกิดความยากที่พึงประสงค์ ข้อความที่มีความแตกต่างของสีที่สูงมากอาจทำให้อ่านยากกว่าข้อความทั่วไป

หากเราอยากจดจำข้อมูลให้ได้มากขึ้น การเลือกใช้ฟอนต์ตัวหนาหรือตัวเอียงเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญจะช่วยได้มาก เพราะเราจะจำอะไรได้ดีก็ต่อเมื่อเราเห็นว่าข้อมูลนั้นสำคัญ นักวิจัยพบว่า ไม่ว่าขนาดฟอนต์จะใหญ่เล็กแค่ไหนก็ตาม ข้อความตัวหนาจะช่วยให้จำได้ดีกว่าข้อความตัวเอียง หรือข้อความปกติ แต่ถ้าข้อความทั้งหมดเป็นตัวหนา การเน้นย้ำจะหายไปทันที ผู้อ่านจะไม่รู้ว่าอะไรคือข้อความสำคัญ

การออกแบบฟอนต์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศาสตร์ด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ ที่ให้ผลมากกว่าแค่การรับรู้เนื้อหา นอกจากจะมีประโยชน์ต่อนักเรียนที่เป็นโรคบกพร่องทางการอ่านแล้ว ในอนาคตอาจมีการประยุกต์ใช้การวิจัยเรื่องฟอนต์กับการช่วยให้คนเราจดจำข้อมูลทางการแพทย์ ระเบียบความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานอย่างวันเกิดคนในครอบครัวอีกด้วย

 

อ้างอิง
https://www.discovermagazine.com/mind/how-fonts-affect-learning-and-memory
https://sansforgetica.rmit.edu.au/
https://www.itsnicethat.com/news/sans-forgetica-memory-boosting-typeface-graphic-design-041018

Tag

Share

Tag

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS