จริงเหรอที่นักวิทยาศาสตร์ต้องสติเฟื่อง ศิลปินต้องบ้า

A A
Dec 1, 2021
Dec 1, 2021
A A

ในวัฒนธรรมป็อปเราอาจจะคุ้นภาพของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องกับกระดานสมการที่ดูสลับซับซ้อน ทำไมเราถึงติดภาพของนักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน หรือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ กับอาการผิดปกติบางอย่าง โดยเฉพาะอาการป่วยทางจิต อะไรทำให้นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง จอห์น แนช หรือแม้แต่ แวน โก๊ะ ศิลปินเอกยุคอิมเพรสชันนิสม์ ถึงมีอาการทางจิตกันทั้งคู่ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวข้องอะไรการป่วยทางจิตของคนเหล่านี้หรือเปล่า หรือเป็นไปได้ไหมว่า การป่วยทางจิตทำให้คน ๆ นั้นมีความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่าคนทั่วไป

ความสัมพันธ์ของการป่วยทางจิตและความอัจฉริยะ

งานศึกษาหลายชิ้นพบว่า การป่วยทางจิตและความอัจฉริยะมีความเกี่ยวข้องกัน โดยคนไอคิวสูงมีแนวโน้มจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิต วิตกกังวลในอัตราที่สูงกว่าคนทั่วไป แต่ในทางกลับกัน ไม่ได้แปลว่าคนที่ป่วยทางจิตทุกคนจะเป็นอัจฉริยะเสมอไป

เห็นได้จากงานวิจัยของ ดร.คอนนี สตรอง และ ดร.เทเรนซ์ เคตเทอร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ จะมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์มากกว่าคนทั่วไป พวกเขาทำการทดสอบบุคลิกภาพ อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มควบคุมที่มีสุขภาพดี 47 คน ผู้ป่วยไบโพลาร์ที่รักษาแล้ว 48 คน ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่รักษาแล้ว 25 คน และยังทำการทดสอบในกลุ่มควบคุมที่มีสุขภาพดีและมีความคิดสร้างสรรค์ 32 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่เรียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การเขียนเชิงสร้างสรรค์และศิลปกรรม

ผลการวิจัยในช่วงแรกชี้ให้เห็นว่าศิลปินที่มีสุขภาพดีจะมีบุคลิกภาพคล้ายกับคนเป็นโรคไบโพลาร์

มากกว่าคนทั่วไป คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นโรคไบโพลาร์มักเปิดกว้าง มีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์แปรปรวน และมีอาการทางประสาทมากกว่ากลุ่มควบคุมที่มีสุขภาพดี

สิ่งที่งานวิจัยนี้ค้นพบมีความคล้ายคลึงกับงานวิจัยในปี 1987 ของ แนนซี แอนเดรียเซน นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์และการเป็นโรคไบโพลาร์ เธอพบหลักฐานว่า กลุ่มนักเขียนเชิงสร้างสรรค์จะเป็นโรคไบโพลาร์เพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะแค่ตัวนักเขียนเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย ซึ่งหนึ่งในนี้คือ เคิร์ต วอนเนกัต นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาชีวประวัติบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อดูว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นโรคทางจิตเวช

โดยในปี 1972 คอลิน มาร์ตินเดล ทำการศึกษากวีชาวอังกฤษและฝรั่งเศสจำนวน 42 คน พบว่า 45% ของคนกลุ่มนี้มีอาการป่วยทางจิต ต่อมาในปี 1992 อาร์โนลด์ ลุดวิก ก็ทำวิจัยที่ให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจเอามากๆ เขาศึกษาศิลปินและนักเขียนในศตวรรษที่ 20 จำนวน 1,004 คน พบว่า 74% ของคนกลุ่มนี้มีอาการทางจิตบางช่วงของชีวิต ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 32%

 

นักเขียน อาชีพเสี่ยงโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์

นักเขียน อาชีพเสี่ยงโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์

ยังมีงานวิจัยอีกสองสามชิ้นที่ศึกษากลุ่มศิลปินร่วมสมัย นักเขียน และนักดนตรี โดยในปี 1974 แนนซี แอนเดรียเซน ก็ได้ทำงานวิจัยอีกชิ้น ครั้งนี้เธอศึกษาคณาจารย์ 30 คน ที่เข้าร่วมเวิร์กช้อปนักเขียน พบว่า 80% ของนักเขียนเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ ขณะที่กลุ่มควบคุมจะเป็นโรคอยู่ที่ 30%

ส่วนในปี 1989 เคย์ เรดฟิลด์ เจมิสัน ก็ทำการศึกษานักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง และศิลปินทัศนศิลป์ 47 คน พบว่า 38% เคยรักษาความผิดปกติทางอารมณ์ รวมถึงไบโพลาร์ มาก่อน ซึ่งพอเปรียบเทียบแล้ว ประชากรอังกฤษทั่วไปที่เคยได้รับการรักษาความผิดปกติทางอารมณ์มีเพียง 15% เท่านั้น

อาร์โนลด์ ลุดวิก ยังศึกษาตัวอย่างนักเขียนหญิง 59 คน ที่เข้าร่วม Women Writers Conference พบว่า นักเขียนจะมีปัญหาทางจิตเวชมากกว่าคนที่ไม่ใช่นักเขียนถึง 4 เท่า ข้อมูลสำมะโนของสำนักงานสหรัฐฯ พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า โดยรวมแล้วอัตราการฆ่าตัวตายของศิลปินในสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 3 เท่า

แม้ว่างานวิจัยหลายชิ้นจะให้ผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกันว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือฉลาดมาก ๆ จะมีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ควรเหมารวมว่าคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้จะต้องมีอาการทางจิตบางอย่าง ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะสติเฟื่อง หรือศิลปินจะต้องบ้า เพราะนั่นก็เป็นเพียงภาพจำที่เกิดมาจากอิทธิพลสื่อที่เราดูกันจนชินตาเท่านั้นเอง

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS