Outdoor Education เรียนนอกตำราแบบนิวซีแลนด์ ประเทศที่ไม่เคยให้เด็ก ๆ เป็นโรคขาดธรรมชาติ

A A
Sep 22, 2023
Sep 22, 2023
A A

 

Outdoor Education

เรียนนอกตำราแบบนิวซีแลนด์ ประเทศที่ไม่เคยให้เด็ก ๆ เป็นโรคขาดธรรมชาติ

 

เคยได้ยิน “โรคขาดธรรมชาติ” กันไหม ?

 

โรคขาดธรรมชาติ หรือ Nature Deficit Disorder ถูกพูดถึงครั้งแรกในปี ค.ศ.2005 

ในหนังสือ The Nature Principle และ Last Child in the Woods โดย Richard Louv ระบุไว้ว่า เด็กที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้านหรือห้องเรียนให้ได้สัมผัสจับต้องกับธรรมชาติอย่าง ต้นไม้ ดิน หญ้า ลำธาร หรือสวนสาธารณะ แต่ใช้เวลาอยู่กับการเล่นมือถือ เกม คอมพิวเตอร์ หรือเรียนพิเศษจนหมดวัน จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง และคิดสร้างสรรค์ไม่เป็น ถึงแม้ว่าโรคขาดธรรมชาตินี้จะยังไม่ได้มีการระบุทางการแพทย์ว่าเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชเด็ก แต่ก็เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการที่คนเราใช้เวลาอยู่กลางแจ้งน้อยลง จะส่งผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก ๆ ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน ๆ บางคนก็มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมต่อไป 

อย่างที่เรารู้กันว่าเซลล์สมองจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ในครรภ์ เกิดเป็นเนื้อสมอง และเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกันเอง สร้างเป็นข่ายใยเส้นประสาทจำนวนมาก โดยสมองนั้นเริ่มพัฒนาจากด้านหลังมาด้านหน้า ตามลำดับขั้นของการได้ยิน การมองเห็น การสัมผัส การควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปสู่กล้ามเนื้อมัดเล็ก และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามช่วงอายุ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของคนเรา เด็ก ถูกกระตุ้นให้พัฒนาผ่าน “การเล่น”  ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตในทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา 

ซึ่งปกติแล้ว “การเล่น” ที่เราพูดถึงในยุคก่อนโลกออนไลน์ คือการได้ออกไปเล่นนอกบ้าน เล่นดิน เล่นทราย เก็บดอกไม้ ใบหญ้า มาเล่นตามจินตนาการ สร้างสรรค์รูปแบบการเล่นไปตามธรรมชาติสิ่งแวดล้อมใกล้ ๆ  ตัว แต่ปัจจุบัน “การเล่น” ของเด็กเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากการเล่นโดยใช้ร่างกายเคลื่อนไหว ออกแรง ก็หันมาเล่นกับหน้าจอมากขึ้น จนแทบจะไม่ได้สัมผัสธรรมชาติเลย จนเริ่มเข้าสู่ภาวะ “โรคขาดธรรมชาติ” นั่นเอง

 

นิวซีแลนด์ ระบบการศึกษาที่ไม่เคยให้เด็ก ๆ ขาดธรรมชาติ

 

นิวซีแลนด์ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติสูง โดยคนนิวซีแลนด์จะได้รับการปลูกฝังให้รักและอยู่ร่วมกับธรรมชาติเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โรงเรียนมัธยมในนิวซีแลนด์หลาย ๆ แห่ง จะมีหลักสูตรที่เรียกว่า “Outdoor Education” ซึ่งเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยทำกิจกรรมต่าง ๆ ท่ามกลางความสวยงามของนิวซีแลนด์ ซึ่งโปรแกรมนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนมีการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม รวมไปถึงมีความรู้สึกใส่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

 

การศึกษาภาคบังคับในนิวซีแลนด์นั้น จะถูกกำหนดอยู่ที่อายุ 6–16 ปี นั่นหมายความว่า เด็กนักเรียนที่อายุครบ 5 ปี สามารถเริ่มเข้าเรียนได้ และหลักสูตรนอกห้องเรียน หรือ Outdoor Education จะเปิดสอนให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับ Year 10 เป็นต้นไป โดยห้องเรียนท่ามกลางธรรมชาติเหล่านี้ จะมีตั้งแต่ การเรียนวาดแผนที่ ส่องสัตว์ ไปจนถึงการปีนผา 

 

 

โรคขาดธรรมชาติ

ชื่อภาพ : Outdoor Education

 

 

Outdoor Education ช่วยปลูกจิตสำนึกสร้างความฉลาดทางธรรมชาติ

 

ตามทฤษฎีพหุปัญญาที่ว่าด้วยความฉลาดทั้ง 8 ด้านของมนุษย์ โดย Howard Gardner เชื่อว่าความฉลาดของมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายที่ผสมผสานกันจนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ได้แก่ ด้านภาษา ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านการเข้าใจตนเอง ซึ่งรวมไปถึงการเข้าใจธรรมชาติด้วยนั่นเอง

 

ถ้าถามว่าทำไมเด็ก ๆ ต้องมีความฉลาดด้านธรรมชาติ ก็ต้องบอกก่อนว่าในหลากหลายงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เด็ก ๆ ที่เติบโตในภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ อย่างบราซิล เดนมาร์ก รวมไปถึงนิวซีแลนด์ จะมีนิสัยชื่นชอบการผจญภัย ชอบอยู่กลางแจ้ง หลงใหลในความงดงามของธรรมชาติ แหลมคมด้านประสาทสัมผัส สังเกตเห็นรูปแบบและคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งต่าง ๆ ได้ดี ทำให้สามารถแยกแยะสิ่งมีชีวิตในหมวดเดียวกันได้

 

ผลการวิจัยโดยนักระบาดวิทยาด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาสเซลท์ (Hasselt University) ประเทศเบลเยียม ระบุว่า พื้นที่สีเขียวจากธรรมชาตินั้นสัมพันธ์กับความฉลาดของเด็ก ๆ โดยพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น 3.3% ภายรัศมี 3 กิโลเมตรรอบสถานศึกษาจะช่วยเพิ่ม IQ ของเด็กได้ถึง 2.6% เลยทีเดียว โดยค่าเฉลี่ย IQ อยู่ที่ 105

วิจัยนี้ศึกษาข้อมูลจากเด็กช่วงอายุ 10-15 ปีมากกว่า 600 คน ที่พักอาศัยอยู่ในเบลเยียม และงานวิจัยนี้ยังบอกด้วยว่า 4% ของเด็ก IQ ต่ำกว่า 80 อยู่ในย่านที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สีเขียวสัมพันธ์กับการรับรู้ เช่น ทักษะเรื่องการจดจำและการเรียน โดยอีกงานวิจัยจากวารสาร Plos Medicine ระบุว่า การอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติช่วยลดระดับความเครียด เด็ก ๆ ได้เล่นกับเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และในพื้นที่สีเขียวยังเป็นสภาพแวดล้อมที่สงบอีกด้วย การสร้างพื้นที่สีเขียวในชั่วโมงการเรียนรู้ จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก

ห้องเรียนกลางแจ้งลักษณะนี้ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่เดนมาร์กตั้งแต่ปี 1950 ก่อนจะได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียซึ่งได้เริ่มตามรอยทดลองจัดการเรียนการสอนแบบนี้มากขึ้น นับตั้งแต่เข้าสู่สหัสวรรษใหม่หลังปี 2000 เป็นต้นมา โดยในระบบการศึกษาของไทย เรามักคุ้นเคยกับกิจกรรมที่เรียกว่า การทัศนศึกษา (Field Trip) ซึ่งแม้จะถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมของรูปแบบการเรียนรู้นอกชั้นเรียนเหมือนกัน มีความเป็น Active Learning เหมือนกัน แต่กิจกรรม Outdoor Education จะมีความเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนการสอนในรูปแบบต่อเนื่องมากกว่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมประจำปีหรือประจำภาคการศึกษาที่เด็ก ๆ ได้มีโอกาสออกไปเรียนรู้และเที่ยวเล่นสนุก จัดแค่ 1-2 ครั้ง แต่เป็นกิจกรรมที่สามารถสอดแทรกหรือเกิดขึ้นในทุก ๆ ชั่วโมงการเรียน ออกแบบให้เกิดขึ้นในชั่วโมงเรียนตามวัตถุประสงค์ของการสอนหรือตามเป้าหมายความรู้ที่คุณครูอยากพัฒนาให้เด็ก ๆ

 

ถ้าจะสรุปง่าย ๆ Outdoor Education ก็คือการเรียนการสอนในอีกรูปแบบใหม่ที่ชวนคุณครูและเด็ก ๆ ออกมาจากโลกของตัวหนังสือ ไอเดีย หรือการสอนบรรยายอย่างเดียวในรูปแบบเดิมและชวนกันออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมผ่านการเกิดขึ้นของประสบการณ์จริงภายนอกด้วยนั่นเอง

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/environment/2020/aug/24/children-raised-greener-areas-higher-iq-study?fbclid=IwAR3FjUTTbPv-88FuW6NTg4aY9QoTAFCZpicWiJynzpdec-qTpijQ6sOp3Y4

https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.1503402112

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS