Bloom’s Taxonomy
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
“การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด” ประโยคอมตะนิรันดร์กาลที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยและทุกคนทุกอาชีพ เพราะประโยคที่แสนจะเรียบง่ายนี้แฝงไปด้วยแรงขับเคลื่อนบางอย่างที่คอยกระตุ้นให้เราพิจารณาวิธีคิดและหมั่นหาแนวทางความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ และวันใดวันหนึ่งในอนาคตเรา แรงขับเคลื่อนเหล่านี้ก็อาจทำให้เรากลายเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการเรียนรู้ที่เปลี่ยนโลกการศึกษาตามรอย Bloom’s Taxonomy ก็เป็นได้
ก่อนหน้านี้ช่วงเกือบ 100 ปี เมื่อเราพูดถึงระบบการศึกษาและการเรียนการสอน มักมีนิยามว่าเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ครูผู้สอนต้องทำให้นักเรียนปฏิบัติตามคำสั่ง นักเรียนมักถูกกำหนดให้ทำงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าโดยไม่มีโอกาสได้สร้างสรรค์หรือคิดเอง และตัวหลักสูตรการสอนก็เน้นไปที่การท่องจำข้อมูลเสียมากกว่า แทนที่จะสนับสนุนการคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ….และหลังจากนั้นไม่นาน Bloom’s Taxonomy ก็ถือกำเนิดขึ้น
Bloom’s Taxonomy ทฤษฎีการศึกษายุคคาบเกี่ยวสงคราม
เรื่องราวทฤษฎีการเรียนรู้นี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1956 จากบทความ “Taxonomy of Educational Objectives: The Classification of Educational Goals” โดย Benjamin Bloom นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ได้ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งตั้งแต่จุดเริ่มต้นการคิดค้นจนได้ถึงได้รับการเผยแพร่ ทฤษฎีนี้ถูกคิดค้นขึ้นในจุดที่อ่อนไหวมากที่สุดจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เนื่องจากนานาประเทศกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในขณะที่แผลบอกช้ำเดิมจากสงครามโลกครั้งก่อนยังไม่ทันฟื้นตัว ดังนั้นเราจะได้เห็นช่วงที่สภาพแวดล้อมของระบบการศึกษาแปรผันไปตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่นสภาพสังคมในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่โลกต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งแรก สภาพสังคมในยุคนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การศึกษาจึงเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สงคราม การเรียนรู้มักเกี่ยวข้องกับทักษะทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมพร้อมในสู่สมรภูมิรบ หลังจากสงครามโลกครั้งแรกจบลง โลกต้องเผชิญกับการฟื้นตัวและการปรับตัวอีกครั้ง ระบบการศึกษาจึงเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างสังคมที่มั่นคงขึ้น จนกระทั่งได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆในสงครามโลกครั้งที่สอง หลายๆประเทศใช้ประสบการณ์จากสงครามครั้งก่อนมาประยุกต์ใช้ การเรียนรู้ด้านทักษะทางสงคราม เริ่มมีการคิดกลยุทธ์เชิงวิเคราะห์เพื่อวางแผนเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบการศึกษาจึงถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะผลักดันให้นักเรียนมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ทำให้แนวคิดตามหลัก Bloom’s Taxonomy จึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
Bloom’s Taxonomy อย่างที่คนในแวดวงการศึกษารู้จักกันดีในปัจจุบันว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดลำดับระดับของการคิดและการเรียนรู้ โดยเน้นการส่งเสริมการคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ที่มีคุณค่าในสถานการณ์การศึกษาต่างๆ ซึ่งต้นแบบแรกของ Taxonomy ได้รับการจัดเรียงอย่างชัดเจนเป็น 3 ระดับหลักๆ คือ ระดับความรู้ (Knowledge), ระดับความเข้าใจ (Comprehension), และระดับการประยุกต์ใช้ (Application) ก่อนจจะตามมาด้วยระดับความสามารถที่สูงขึ้น จนมีทั้งหมด 6 ระดับ ได้แก่
1.การรู้ (Remembering): การจดจำข้อมูลและข้อความ เช่น การระบุ, การเรียกชื่อ, การเรียนรู้ข้อมูลใหม่ เช่น การจดจำหมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่บ้านของคุณ
2.การเข้าใจ (Understanding): การเข้าใจความหมายและเนื้อหาของข้อมูล เช่น การอธิบายด้วยคำของคุณเอง, การสรุปเนื้อหาของหนังสือหรือบทความ, การนำข้อมูลมาใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่าง เช่น การเข้าใจวิธีการทำอาหารจากสูตร
3.การประยุกต์ใช้ (Applying): การใช้ความรู้ในสถานการณ์หรือปัญหาที่แตกต่าง เช่น การใช้วิธีการทำอาหารที่เรียนรู้เพื่อทำอาหารจริง
4.การวิเคราะห์ (Analyzing): การแยกแยะและวิเคราะห์ส่วนประกอบของข้อมูล เช่น การเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่เหมือนกัน เพื่อหาความแตกต่าง
5.การสร้าง (Creating): การรวบรวมส่วนประกอบเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ เช่น การเขียนเรื่องราว, การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่, การสร้างโปสเตอร์หรือสื่อสิ่งพิมพ์
6.การประเมิน (Evaluating): การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของข้อมูลหรือสิ่งต่างๆ เช่น การวิจารณ์ผลงานศิลปะ, การประเมินผลของโครงการ
การคิดวิเคราะห์ตามแบบ Bloom’s Taxonomy ทำงานร่วมกับสมองในหลายส่วน โดยเฉพาะอยู่ที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลการเรียนรู้ อย่างสมองส่วนกลาง (Central Executive) สมองส่วนกลางที่ควบคุมจัดการกับข้อมูลทั้งหมดที่มาเข้าสู่ระบบประมวลผลของสมอง การใช้ Bloom’s Taxonomy ช่วยกระตุ้นสมองส่วนกลางให้ทำงานในการวางแผน การควบคุม และการดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการคิดเชิงสร้างสรรค์ รวมไปถึงสมองส่วนประสาทเฉพาะ (Specific Neural Regions) ที่การใช้ Bloom’s Taxonomy ช่วยกระตุ้นการทำงานขอสมองด้านการประมวลผล เช่น สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ นั่นเอง
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้ไม่มี Bloom’s Taxonomy
ห้องเรียนขาดความเป็นระบบและไม่มีการวางแผนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เป็นผลพวงแรกของเหตุการณ์สมมตินี้และผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ ขาดความชัดเจนในการจัดการเรียนรู้ เพราะการที่ไม่มี Bloom’s Taxonomy อาจทำให้ผู้สอนไม่มีเครื่องมือที่จำเป็นในการวางแผนและออกแบบการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การสอนอาจไม่มีลำดับโครงสร้างที่ชัดเจน ผู้เรียนอาจไม่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะการคิด การที่ไม่มี Bloom’s Taxonomy อาจส่งผลให้การประเมินผลการเรียนรู้มีความแตกต่างและไม่สม่ำเสมอ ทำให้การวัดผลไม่เป็นที่เชื่อถือและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
เพราะหัวใจหลักของ Bloom’s Taxonomy คือการมีโครงสร้างที่ชัดเจนและระเบียบ โดยมีระดับความคิดแบ่งออกเป็นหลายระดับ เริ่มตั้งแต่การจดจำและการแบ่งแยกข้อมูล ไปจนถึงการวิเคราะห์และการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนการสอนในแทบทุกระดับ
อย่างที่เราบอกไปในตอนต้นว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเร่งรีบในการพัฒนาทักษะทางการคิดของบุคคล เนื่องจากสภาพการแข่งขันที่เข้มงวด การใช้ Bloom’s Taxonomy จะช่วยกระตุ้นการคิดเชิงสูงของนักเรียนโดยการให้คำถามที่ส่งเสริมการคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์แนวทางในการเรียนรู้ที่นำไปสู่การคิดเชิงสร้างสรรค์ ฉะนั้นหากเราจะมองว่า Bloom’s Taxonomy จึงเป็นหนึ่งในทฤษฎีการเรียนรู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ถึงจะไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกอบกู้เศษซากโลกจากสงครามโดยตรง แต่มันเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยในการพัฒนาความคิด ทักษะ และความรู้ของบุคคลในสังคม สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา คิดนวัตกรรม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาที่มนุษยชาติเผชิญอยู่
อ้างอิง
https://tophat.com/blog/blooms-taxonomy-history-important/
https://www.britannica.com/topic/Blooms-taxonomy
https://www.eidesign.net/understanding-basics-blooms-taxonomy-application-elearning/