เรากำลังสอนวิชาเลขแบบละครซิตคอมอยู่หรือเปล่า

A A
Jul 24, 2023
Jul 24, 2023
A A

เรากำลังสอนวิชาเลขแบบละครซิตคอมอยู่หรือเปล่า

 

  • การสอนวิชาเลขแบบซิตคอมเป็นการสอนให้นักเรียนคาดหวังว่า จะแก้โจทย์ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เหมือนซิตคอมที่ทุกอย่างถูกเฉลยในเวลา 22 นาที
  • บางครั้งหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดออกแบบโจทย์ให้นักเรียนเพียงแค่แทนค่าตามสูตรก็สามารถแก้โจทย์ได้โดยที่นักเรียนไม่ต้องมีความรู้อะไร ซึ่งไม่เหมือนกันการแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่ซับซ้อนกว่า
  • การชำแหละโจทย์คณิตศาสตร์จากโจทย์เดิม แล้วสร้างโจทย์ใหม่เป็นแนวทางที่ครูสามารถเปลี่ยนแปลงการสอนแบบซิตคอม เพื่อฝึกให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างที่ครูมุ่งหวังได้

 

ชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของครูหน้าตาเป็นอย่างไร ครูยังสนุกกับการสอนอยู่ไหม แล้วนักเรียนล่ะ พวกเขาตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้ขบคิดตีโจทย์ปัญหาให้แตกหรือเปล่า สำคัญที่สุด คือ นักเรียนได้สิ่งที่ครูอยากมอบให้หรือไม่ เขาสามารถนำคณิตศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ไหม ไม่ว่าคำตอบของครูจะเป็นแบบไหน ไม่ว่าอะไรจะเป็นอุปสรรคหรือปัญหาของการสอนคณิตศาสตร์ของครูอยู่ในตอนนี้ เชื่อไหมว่า อย่างน้อยที่สุดเรานี่แหละที่สามารถปฏิรูปห้องเรียนคณิตศาสตร์ได้ด้วยตัวเอง ปรับรูปแบบการสอนใหม่ได้ทั้งหมดแม้ว่าจะยังใช้หนังสือเรียนเล่มเดิม ทั้งนี้คือเรื่องราวที่ครูชาวอเมริกันที่ชื่อ Dan Meyer ออกมาบอกเล่ากับครูทั่วโลก คำถามของเขา คือ ทุกวันนี้เรายังสอนนักเรียนให้คาดหวังว่า จะเจอปัญหาแบบในซิตคอมที่ทุกอย่างถูกเฉลยในเวลา 22 นาที อยู่หรือเปล่า หากเรายังคงใช้การสอนแบบนี้อยู่ มันจะส่งผลอย่างไรต่อนักเรียน และครูผู้สอนเองที่สักวันจะต้องเกษียณในโลกที่ขับเคลื่อนโดยนักเรียนที่เป็นผลผลิตทางการศึกษาของเรา

 

เคยไหมที่เราแนะนำหนังดี ๆ ซีรีส์เด็ด ๆ หรือหนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลงให้คนที่เราชอบมาก ๆ แล้วรอดูว่า เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามคาด เมื่อคน ๆ นั้นไม่ชอบสิ่งที่เราแนะนำเอาเสียเลย Dan เปรียบเทียบความรู้นี้กับการเป็นครูคณิตศาสตร์ระดับมัธยมฯ ของเขาที่เหมือนกับการพยายามขายของที่ตลาดไม่ได้อยากซื้อ แต่บังเอิญมีกฎหมายบังคับ ทำให้เขารู้สึกเหมือนแพ้ตั้งแต่ยังไม่ออกรบ ถ้าครูเคยรู้สึกเหมือน Dan อย่างน้อยครูก็ไม่ได้ตัวคนเดียวแน่ ๆ นี่อาจเป็นความรู้สึกที่อยู่เบื้องลึกของครูคณิตศาสตร์ทั่วโลกก็เป็นได้

 

Dan ยกตัวอย่างหนึ่งว่า สมมติเราให้นักเรียนทำข้อสอบปลายภาค แล้วครูคิดว่า นักเรียนที่สอบผ่านมีไม่เกิน 25% สิ่งนี้สะท้อนถึงอะไร เราอาจจะคิดว่า มันชี้วัดนักเรียนหรือครู แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น มันชี้วัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ต่างหาก ก่อนที่จะไปหาคำตอบว่า มันชี้วัดเรื่องนี้ได้อย่างไร เราต้องกลับมาทบทวนกันก่อนว่า คณิตศาสตร์ที่เราเรียนกันอยู่แบ่งออกเป็น 2 จำพวก 

 

1. การคำนวณ 

พอเราอายุมากขึ้น เราอาจหลงลืมเรื่องพวกนี้ได้ แต่ก็สามารถกลับมาทบทวนใหม่ได้ เช่น การแยกตัวประกอบพหุนามกำลังสองที่มีสัมประสิทธินำมากกว่าหนึ่ง 

2. การนำไปประยุกต์ใช้ 

เป็นสิ่งที่สอนยาก แต่เป็นสิ่งที่เราอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้ แม้เขาจะไม่ได้เรียนต่อในด้านคณิตศาสตร์ก็ตาม 

 

5 สัญญาณบ่งบอกบอกว่า ครูต้องปรับการสอนวิชาเลขอย่างเร่งด่วน

 

แล้วการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบไหนที่เราควรต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่เป็นอยู่นี้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วหรือยัง คำตอบอยู่ที่นักเรียนของเรา ลองสังเกตดูสิว่า เขามีข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อนี้หรือเปล่า

 

1. การขาดแรงกระตุ้น 

นักเรียนไม่ริเริ่มด้วยตนเอง เมื่อครูอธิบายเสร็จ มีนักเรียน 5 คน ยกมือขอให้อธิบายใหม่อีกรอบทันที

2. นักเรียนขาดความพยายาม

3. นักเรียนคืนความรู้

ครูต้องกลับมาสอนเรื่องเดิมที่เคยสอนไปแล้วใหม่ทั้งหมดในอีก 3 เดือนถัดมา

4. นักเรียนไม่ชอบโจทย์ปัญหา

5. นักเรียนรอสูตรสำเร็จอย่างใจจดจ่อ 

จะได้เอามาใช้ในโจทย์ได้ทันที

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียน 5 อย่างนี้ เดวิด มิลช์ ผู้สร้างรายการโทรทัศน์มองว่า อาจเป็นผลพวงจากสื่อที่เราเสพที่ส่งผลต่อวิถีประสาทของเรา เช่น การดูซิตคอมที่ทำให้ระบบการคิดของเราคาดหวังว่า จะมีแต่ปัญหาง่าย ๆ จนเราไม่มีความอดทนเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ หรือไม่อดทนเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราคาดหวังว่า จะมีแต่ปัญหาแบบ

ซิตคอมที่ทุกอย่างถูกเฉลยภายใน 22 นาที หากเราจะโทษสื่ออย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะยังมีอีกหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นอาจมาจากการสอนของเราเองที่ยังสอนแบบซิตคอมที่ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ในเวลาที่รวดเร็ว ในความเป็นจริงแล้วโลกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น หากมองในภาพใหญ่ นี่เป็นปัญหาที่น่ากลัวเลยทีเดียว อนาคตและคุณภาพชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรในวันที่เราอายุมากขึ้นหรือเกษียณแล้ว เมื่อคนที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้ต่อไป คือ นักเรียนของเราที่ไม่อดทนต่อการแก้ปัญหาที่ยาก

 

มาลองขยายภาพให้ชัดเจนขึ้นหน่อยดีกว่า การสอนแบบซิตคอมมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ถ้าลองเปิดโจทย์ในหนังสือเรียนที่สอนเรื่องการให้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ และวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน เราอาจเห็นว่า ไม่ต่างจากการดูซิตคอมสักเท่าไร Dan ยกตัวอย่างหนังสือเรียนฟิสิกส์เล่มหนึ่งที่มีตัวเลข 3 จำนวนอยู่ในโจทย์ แค่นักเรียนนำตัวเลขเหล่านั้นไปแทนค่าในสูตรก็จะได้คำตอบออกมาทันที แต่ในชีวิตจริงเมื่อเราต้องแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง โอกาสที่จะมีข้อมูลครบถ้วนกองอยู่ตรงหน้า ไม่มีข้อมูลไหนที่เราต้องตัดออก หรือไม่มีปัญหาข้อมูลไม่พอให้เราต้องหาเพิ่ม มันเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนกัน หนังสือเรียนและแบบฝึกหัดที่ไม่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีจะใช้วิธีการเปลี่ยนตัวเลข หรือเปลี่ยนบริบทของโจทย์เล็กน้อย ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้งัดเอาศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ เขาอาจจะทำโจทย์ได้โดยไม่ต้องมีความรู้ฟิสิกส์เลยก็ได้ สิ่งที่เราทำจึงคล้ายกับเรามีคำถามที่น่าสนใจให้ แล้วเราก็มีคำตอบให้ โดยที่เราคอยปูทางตรงเรียบ ๆ จากคำถามสู่คำตอบ เมื่อนักเรียนตอบได้ เราก็ดีใจที่เขาสามารถก้าวผ่านรอยแยกเล็ก ๆ ระหว่างทางที่เราปูไว้ได้ 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่ Dan มองว่า ถูกหลงลืมไปในหลักสูตรคณิตศาสตร์ปัจจุบัน คือ การใส่ข้อมูลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องลงมาด้วย เพื่อให้นักเรียนต้องคิดวิเคราะห์ว่า ข้อมูลนั้นจำเป็นต่อการนำไปใช้หรือไม่

 

วิธีการชำแหละโจทย์วิชาเลขแบบเดิมให้เป็นโจทย์ใหม่

 

เมื่อเราเห็นโจทย์ในหนังสือ สิ่งที่ Dan แนะให้ครูทำ คือ ให้ชำแหละโจทย์คณิตศาสตร์นั้น แล้วสร้างโจทย์ใหม่ขึ้นมาจากโจทย์เดิม เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างที่เรามุ่งหวังได้ เขายกตัวอย่างโจทย์นิยามความชันโดยใช้สกีที่มีความสูงที่ต่างกัน 4 ระดับ คำถามคือจุดไหนคือจุดที่ชันที่สุด ในหนังสือเรียนเราจะเห็นการลากเส้นเชื่อมต่อนักสกีที่นั่งอยู่ในกระเช้า 4 คน (กำกับด้วย A B C D) ที่ระดับความสูงต่างกันไว้ด้วยกันให้นักเรียนได้เห็นในครั้งเดียว แต่หากเราชำแหละโจทย์นี้ใหม่ เราจะสามารถสร้างชั้นเรียนคณิตศาสตร์ที่เสริมการสนทนาได้ โดย Dan จะให้นักเรียนดูรูป แล้วถามเลยว่า ช่วงไหนที่ชันที่สุด คำถามนี้จะนำไปสู่การสนทนาทันที เพราะรูปนี้ถูกสร้างขึ้นให้คิดได้ 2 คำตอบ ก็จะได้นักเรียน 2 กลุ่มที่มีคำตอบต่างกัน ให้เขาจับคู่ สอบถามกัน จากนั้นนักเรียนก็จะเริ่มตั้งชื่อนักสกี 4 คนเป็น A B C D เพื่อให้เรียกง่ายขึ้น แทนที่จะเรียกว่า คนล่างซ้ายหรือคนกลาง เมื่อเราเริ่มให้นิยามของความชัน เราก็จะเริ่มนึกถึงค่าตัวเลข เพื่อนิยามให้ชัด ๆ ว่าความชันหมายถึงอะไร นักเรียนก็จะเริ่มวางโครงสร้างการคิดเชิงคณิตศาสตร์ขึ้นมา จะเห็นได้ว่า การชำแหละโจทย์ใหม่ไม่ได้บอกทุกสิ่งทุกอย่างกับนักเรียน แต่จะทำให้เขาค่อย ๆ คิดไปทีละขั้นตอน หัดถามคำถามไปเรื่อย ๆ ซึ่งต่างจากการโยนโจทย์ให้นักเรียนแบบให้เขาเห็นหมดทุกอย่างตามหนังสือเรียน

 

 

ชำแหละโจทย์เลข

ชื่อภาพ : โจทย์เลข

 

 

หรือแม้แต่โจทย์ที่ถามว่า ต้องใช้เวลานานเท่าไรถึงจะเติมน้ำในถังได้เต็ม ครูต้องชำแหละโจทย์ด้วยการลบขั้นตอนย่อยจากโจทย์ ๆ ออกเสียก่อน แล้วให้นักเรียนริเริ่มและสร้างขั้นตอนย่อย ๆ เหล่านั้นขึ้นมาเอง ถ้าให้สมจริงขึ้นอีกเราน่าจะถ่ายภาพถังน้ำของจริง หรืออัดวิดีโอคนเติมน้ำลงถังเลยก็ได้ จะเห็นได้ว่า จากโจทย์บนหน้ากระดาษพร้อมภาพประกอบแบบ 2 มิติ เราทำให้เห็นภาพ สมจริง และน่าสนุกได้มากขึ้น เมื่อนักเรียนได้ดูวิดีโอถังที่กำลังถูกเติมอยู่ นักเรียนทุกระดับความสามารถจะต้องใช้ไหวพริบเหมือนกัน นักเรียนที่กลัวคณิตศาสตร์จะร่วมบทสนทนามากขึ้น ที่สำคัญเราจะไม่ข้ามไปดูเฉลยล่วงหน้า

 

 

เปลี่ยนโจทย์เลขในหนังสือให้จับต้องได้จริง

ชื่อภาพ : โจทย์เลขเติมน้ำลงถัง

 

มาถึงตรงนี้ เมื่อเทียบกระบวนการนี้กับแบบเดิม แบบไหนสร้างการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ และการให้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ที่เราต้องการได้มากกว่า เห็นได้ชัดว่า การออกแบบโจทย์ปัญหาที่ดีสามารถพลิกโฉมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ ซึ่งหากเรายื่นโจทย์ให้นักเรียนทำโดยที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างไปด้วย นักเรียนอาจพลาดโอกาสที่จะได้ฝึกฝนทักษะสำคัญ เมื่อการชำแหละโจทย์สำคัญขนาดนี้ Dan จึงใช้เวลา 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเตรียมการสอนด้วยการดึงสิ่งที่น่าจะกระตุ้นความสนใจจากโจทย์ปัญหาประมาณนี้จากหนังสือเรียน แล้วสร้างโจทย์นั้นขึ้นใหม่ เพื่อให้ปัญหาข้อนั้นสร้างกระบวนการให้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ และสนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของเขา คือ ไม่ว่าเขานำเสนอเรื่องอะไร นักเรียนจะร่วมบทสนทนามากขึ้น 3-4 นาที ห้องเรียนมีบรรยากาศที่สนุกขึ้นมาก

 

ทางด้านผู้ปกครองในสหรัฐฯ 60 % มองว่า หากชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของลูกสร้างบทเรียนที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเด็ก และทำให้เด็กมีส่วนร่วมได้ ลูกของเขาก็น่าจะประสบความสำเร็จในวิชานี้ แบบสำรวจนี้ทำขึ้นโดย Global Strategy Group บริษัทรับทำ PR และวิจัยที่ได้จัดทำแบบสำรวจ และการสนทนากลุ่มกับนักการศึกษาและผู้ปกครองในนามของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates 

 

Bill Gates มหาเศรษฐีระดับโลกเจ้าของมูลนิธิดังกล่าวมองว่า คณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเข้าใจโลก เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจทุกอย่างตั้งแต่ระบบภาษี การกระจายรายได้ไปจนถึงกีฬาและวิชามากมายที่ผู้คนชื่นชอบ หากเราไม่รู้คณิตศาสตร์ เราจะไม่เห็นคุณค่าความสวยงามของสิ่งเหล่านี้เลย

 

เมื่อดูความเห็นผู้ปกครอง ครู และประชาชนทั่วไปจากการสำรวจนี้พบว่า พวกเขาเห็นว่า ชั้นเรียนคณิตศาสตร์ในอุดมคติควร “เกี่ยวข้องกับโลกแห่งความจริง” มากกว่า “ท้าทายและเข้มงวด” และยังมองว่า ชั้นเรียนจะสร้างการมีส่วนร่วมได้มากขึ้นหาก

  1. บทเรียนเชื่อมโยงกับงานอดิเรกและความสนใจของนักเรียน
  2. บทเรียนช่วยให้นักเรียนจากทุกภูมิหลังเชื่อมโยงกับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ 
  3. บทเรียนมีความเฉพาะเจาะจงกับนักเรียน ปรับแต่ง และลงมือปฏิบัติจริง

 

เมื่อครูและผู้ปกครองต่างก็หวังจะเห็นเด็กของเรามีทักษะทางคณิตศาสตร์ที่นำไปใช้ได้จริงในทิศทางเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอน ชำแหละโจทย์เสียใหม่อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูยากในตอนแรกสำหรับครูที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่นี่อาจเป็นนิยามใหม่ของการสอนแบบซิตคอมในอีกความหมายว่า เป็นห้องเรียนที่สนุกสนานจนนักเรียนอยากจะเข้าเรียนวิชานี้ทุกวันเลยก็เป็นได้ หากเขาได้พบคุณค่าและเห็นความเชื่อมโยงของวิชานี้กับชีวิตจริง

 

อ้างอิง

https://www.ted.com/talks/dan_meyer_math_class_needs_a_makeover

https://www.edweek.org/teaching-learning/what-parents-say-would-make-math-class-more-relevant/2023/04

 

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS