อนาคตของห้องสมุดจะเป็นอย่างไร…ในอีก 20 ปีข้างหน้า

A A
Dec 1, 2023
Dec 1, 2023
A A

 

อนาคตของห้องสมุดจะเป็นอย่างไร…ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

 

   ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าข้อมูลต่าง ๆ ความรู้มหาศาลนั้น สามารถสืบค้นได้เพียงแค่จิ้มหน้าจอ นั่นจึงเป็นคำถามว่า ในอนาคตห้องสมุดเรายังจำเป็นอยู่ไหม ? แล้วห้องสมุดจะต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด 

 

   เรากำลังพูดถึงห้องสมุดแห่งอนาคตที่ไม่ได้แปลว่าตัวหนังสือหรืออาคารเท่านั้น แต่ห้องสมุดต้องกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ดังนั้นเราจึงเห็นการปรับตัวของห้องสมุดเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก และได้เห็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้บริการมากขึ้น หรือจะให้เรียกว่า “ยุคปฏิวัติห้องสมุด” ก็คงไม่ใช้คำกล่าวอ้างอ้างเกินจริง

 

แล้วห้องสมุดไหนจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิวัติครั้งนี้ล่ะ 

 

   ขอยกตัวอย่างประเทศผู้นำแห่งโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาที่เห็นความสำคัญของการปรับตัวครั้งนี้ตั้งแต่ปี 2013 กับการเปิดตัวห้องสมุดไร้หนังสือแห่งแรกของโลก เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม และทลายอุปสรรคด้านการอ่านออกเขียนได้ และขยายนิยามครอบคลุมถึงทักษะดิจิทัลด้วย

 

   BiblioTech ให้บริการอีบุ๊คกว่า 25,000 รายการ หนังสือเสียง 400 รายการ รวมทั้งภาพยนตร์ ดนตรี รายการโทรทัศน์ นิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูล และซอฟต์แวร์การศึกษา มีอุปกรณ์อ่านอีบุ๊ค 600 เครื่อง อุปกรณ์อ่านอีบุ๊คสำหรับเด็ก 200 เครื่อง ไอแพด 40 เครื่อง และคอมพิวเตอร์กว่า 50 เครื่อง

   นอกเหนือไปจากการจัดหาอุปกรณ์ไฮเทค สิ่งที่ห้องสมุดสำหรับอนาคตจำเป็นต้องตระหนักคือการสร้างพื้นที่ที่มีฟังก์ชั่นทางสังคมให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน พื้นที่ 4,000 ตารางฟุตของ BiblioTech สามารถจัดอบรม ประชุม ติวหนังสือ ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็ก มีห้องสำหรับการทำโครงงานเป็นกลุ่ม และห้องพักผ่อน คล้ายกับแนวคิด Third Place ที่เริ่มมีอิทธิพลต่อการออกแบบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางธุรกิจมากขึ้น

   เมื่อห้องสมุดไม่มีหนังสือ บทบาทของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจึงไม่ใช่บรรณารักษ์ที่ต้องวนเวียนอยู่กับการจัดชั้นหนังสือ หากแต่มีหน้าที่หลักในการทุ่มเทเวลาแนะนำการใช้งานห้องสมุดให้แก่ผู้ใช้บริการแบบตัวต่อตัว ได้แก่ วิธีการใช้อุปกรณ์ วิธีการค้นคว้าข้อมูล วิธีการดาวน์โหลดทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์

   พื้นที่ห้องสมุดได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้ดูสะอาดตาและมีสีสันสดใส คำนึงถึงด้านสุนทรียภาพ สร้างบรรยากาศที่เชิญชวนให้ผู้ใช้บริการใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นานๆ และที่สำคัญคือจะต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

 

 

อนาคตของห้องสมุดจะเป็นอย่างไร

ชื่อภาพ : Future of Library

 

 

ห้องสมุดในระยะเวลาช่วง 10 ปีมานี้

 

   มีนักคิดนักปฏิบัติในวงการห้องสมุดหลายคนได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพในอนาคตของห้องสมุดอย่างน่าสนใจ เช่น การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตั้งแต่การจัดเรียงหนังสือบนชั้น การสืบค้นและนำมามอบให้ผู้ใช้บริการ การทำการเช็คสต็อกหนังสือ การนำมาใช้ศึกษาในเชิงโปรแกรม ไปจนถึงการนำมาใช้ต้อนรับผู้ใช้บริการ 

 

   ในด้านการจัดการพื้นที่ของสมุดในอนาคต นอกจากการเน้นพื้นที่จัดเก็บสื่อดิจิทัลแล้ว สถาปัตยกรรมของห้องสมุดก็สำคัญไม่แพ้กัน เราอาจจะได้เห็นโครงสร้างที่โอบรับกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เช่น หลังคาสีเขียว มีแผงโซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บน้ำฝน โดยคุณสมบัติเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออนไซต์เท่านั้น แต่เพิ่มคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้ด้วย

 

   เราจะเห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจเดิมของห้องสมุดถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานที่ว่า เนื้อหาทั้งหมดของห้องสมุดถูกเก็บรักษาไว้ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ และผู้ใช้บริการจะต้องเดินทางไปยังห้องสมุดเมื่อพวกเขาต้องการรับบริการด้านเนื้อหาหรือสารสนเทศ แต่โมเดลธุรกิจนี้กำลังถูกแทรกแซงโดยสื่อดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้บริการของห้องสมุดได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงของดิจิทัลในทุกด้าน ทุกคนมีสมาร์ทโฟนซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการเข้าถึงสื่อสังคม การค้นคว้าบนอินเทอร์เน็ต และห้องสมุดมีจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่เคยถูกพบเห็นหรือสัมผัสเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

   นอกจากนี้ มีการทำนายว่าในปี 2043 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า เรื่องการถือครองลิขสิทธิ์จะหมดไป เราจะเห็นได้ว่าดังจะเห็นได้ว่างานเขียนหลายชิ้นบนสื่อออนไลน์อนุญาตให้ผู้อื่นนำผลงานของตนไปใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องทำสัญญากับเจ้าของผลงาน เพียงแต่มีการอ้างอิงที่มาของเนื้อหาเท่านั้น ขณะที่โมเดลธุรกิจของห้องสมุดสมัยก่อนคือการซื้อหนังสือมาจากสำนักพิมพ์ แต่ในบริบทปัจจุบันห้องสมุดสามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ โดยนำเนื้อหาจากผู้เขียนเผยแพร่โดยตรงให้กับผู้อ่าน จึงเกิดเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับห้องสมุดอนาคต โดยมีตัวย่อว่า GLAM (Gallery Library Archives and Museum) ซึ่งในอังกฤษและอเมริกานิยมใช้คำนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งเรียนรู้มีแนวโน้มที่จะเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมทั้งหอศิลป์ ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการทุกด้านของผู้ใช้บริการ สามารถทำงานข้ามพื้นที่กันได้ เพราะฉะนั้นห้องสมุดในอนาคตจะมีบทบาทกว้างขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ห้องสมุดจะเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางดิจิทัล จะต้องมีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และมีผู้ที่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย

   สุดท้ายแล้วถ้าเราจะสรุปคำจำกัดความจริงๆของเป้าหมายของห้องสมุดแห่งอนาคต เราคงจะบอกได้ว่าสถานที่แห่งนี้คือสถานที่มีประโยชน์ใช้สอยรอบด้าน ไม่จำกัดแค่เฉพาะการอ่านหนังสือ ต้องดึงดูดสายตา สามารถปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญสำหรับผู้คน ชุมชน และมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของการศึกษาและการแบ่งปันความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS