เจาะลึกระบบการศึกษา ‘คิวบา’
ประเทศที่ผลิตแพทย์มากที่สุดในโลก
เหนือขึ้นไปเพียง 150 กิโลเมตรจากรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นที่ตั้งของประเทศหมู่เกาะ พื้นที่ 109,883 ตารางกิโลเมตร กับประชากรเพียง 11 ล้านคน เราอาจจะรู้จักประเทศเล็ก ๆ นี้ผ่านท้ายรถบรรทุกสิบล้อที่มีอดีตนักปฏิวัติเชกูวาร่า ติดสะบัดอยู่ที่บังโคลนหลัง หรือจะเป็นความฉูดฉาดของงานศิลปะ และซิการ์คุณภาพดี
เรากำลังพูดถึงไข่มุกเม็ดงามแห่งทะเลแคริบเบียน “คิวบา”
แต่เราอาจไม่รู้เลยว่านอกจากภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว คิวบาคือประเทศที่มีระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งสุดในโลก โดยประชากร 1,000 คน จะมีแพทย์อยู่ถึง 8.2 คน หรือเท่ากับแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเพียง 122 คน ในขณะที่เรามักจะมองว่าสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือประเทศแถบยุโรปตะวันออก มีความทันสมัยก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องการแพทย์
หากลองเปรียบเทียบดูข้อมูลสัดส่วนของประเทศอื่น ๆ
เยอรมนี แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 238 คน
สหรัฐอเมริกา แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 385 คน
ไทย แพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 1,250 คน
นั่นทำให้ คิวบา เป็นประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรมากที่สุดในโลก
หรืออธิบายง่าย ๆ คือ หากเราเดินเตร็ดเตร่อยู่ในประเทศคิวบา เราสามารถเห็นแพทย์อย่างน้อย 1 คน แทบทุก ๆ 1 กิโลเมตร อย่างนั้นเลยก็ว่าได้
ชื่อภาพ : cuba medical student
อะไรทำให้ ‘คิวบา’ เติบโตด้านการแพทย์ได้มากขนาดนี้
ตั้งแต่ปี 1959 กลุ่มปฏิวัติคิวบาโค่นล้มรัฐบาลทหารของ ฟุลเฆนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) สำเร็จ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ขึ้นครองอำนาจแทนและ
เปลี่ยนคิวบาเป็นรัฐสังคมนิยม คิวบาเคยมีประชากรแพทย์จำนวนมากกระจุกกันใน
เมือง แต่บุคลากรเหล่านี้กลับลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ จนทั้งประเทศ
เหลือจำนวนแพทย์ราว 3 พันคนเท่านั้น แถบชนบทมีอัตราการตายที่สูงมาก
การแพทย์คิวบาอยู่ตกอยู่ในหายนะอยู่หลายปี
รัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบาจึงต้องลงมือวางรากฐานการแพทย์ใหม่เพื่อฟื้นฟูสาธารณสุขให้กลับมาดังเดิม นักปฏิวัติชื่อดังอย่าง เช กูวาร่า (Che Guevara) ผู้มีดีกรีเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้ประกาศว่ารัฐบาลจะรับประกันสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลให้เข้าถึงประชาชนทุกคน
ปัจจุบันคิวบาคือประเทศที่มีการศึกษาด้านการแพทย์ที่ดีที่สุดในละตินอเมริกา ซึ่งมาจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยอัตราการรู้หนังสือของเด็ก และเยาวชนอยู่ที่ 99.8% ในจำนวนนี้เด็กคิวบามีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ
ศักยภาพด้านการแพทย์ของคิวบานอกจากจะแสดงให้เห็นผ่านทางจำนวนหมอแล้วยังเป็นเรื่องของการเรียนการสอนแพทย์ด้วย
คิวบาไม่มีปัญหาเรื่องนักศึกษายากจนไม่สามารถเข้าเรียนแพทย์ได้ หรือปัญหาเรื่องการกีดกันคนกลุ่มน้อยไม่ให้เข้าเรียนแพทย์ ในสังคมคิวบาโรงเรียนแพทย์เป็นสถานที่เปิดประตูต้อนรับนักศึกษาทุกคนตราบที่พวกเขามีแนวคิดทางการเมืองไม่ต่างจากท่านผู้นำ เหตุผลเดียวที่จะทำให้หนุ่มสาวชาวคิวบาไม่สามารถเข้าเรียนแพทย์ได้ คือเมื่อพวกเขามีแนวคิดทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย ขัดแย้งกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดีขณะที่ปิดกั้นคนของตัวเองที่มีความคิดประชาธิปไตย แต่คิวบากลับเปิดกว้างต้อนรับนักศึกษาอเมริกันที่ถูกกีดกันจากระบบทุนนิยม ไม่ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ของอเมริกาเองเพราะฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาไม่เอื้ออำนวยให้เรียนแพทย์ได้
แม้จะถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร แต่คิวบายังได้รับการสนับสนุนทางไกลจากสหภาพโซเวียตด้านเงินทุน เม็ดเงินจำนวนมหาศาลถูกทุ่มไปกับการพัฒนาด้านการแพทย์และการศึกษา การศึกษาในคิวบาถือเป็นการบริการสาธารณะฟรี ผู้คนจากทั่วประเทศจึงมีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษากันอย่างถ้วนหน้า รัฐยังคอยประชาสัมพันธ์การเรียนต่อด้านการแพทย์จนจำนวนนักศึกษาแพทย์ และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากคิวบาได้เปิดประตูโรงเรียนได้เปิดโรงเรียน Latin American School of Medicine ในฮาวานา ต้อนรับนักศึกษาจากต่างประเทศให้มาเรียนแพทย์ฟรี โดยแม้ข้อแม้ว่าเมื่อเรียนจบนักศึกษาเหล่านั้นต้องกลับไปเป็นแพทย์รับใช้คนจนในประเทศของตนเอง มีนักศึกษาจาก 27 ประเทศเป็นนักเรียนทุนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยมี 88 คน เป็นนักเรียนอเมริกัน แน่นอนว่าพวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี หรือมีเชื้อสายของชนพื้นเมืองในอเมริกา ทุก ๆ ปี คิวบาจะหาทางโหมกระหน่ำประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาของ Latin American School of Medicine ให้กับนักเรียนชาวอเมริกันฟัง ด้วยความหวังว่าจำนวนนักศึกษาอเมริกันที่มาเรียนแพทย์ในคิวบาจะเพิ่มขึ้น
เด็ก ๆ ในคิวบาจะได้รับการศึกษาฟรีจนถึงเกรด 9 ตั้งแต่ปี1950 โรงเรียนถูกสร้างขึ้นมากมาย จากหลักพัน กลายเป็นหลักหมื่นทั่วประเทศ
เมื่อมองย้อนไปในวิถีชีวิตชาวคิวบาก็จะพบว่าพวกเขาผูกพันกับการแพทย์มาตั้งแต่เด็ก ในชุมชนแต่ละแห่งจะมีศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นที่เปิดให้ความรู้ด้านการแพทย์ และรักษาสุขภาพ ยังมีคลินิกประจำชุมชนที่เรียกว่า ‘โพลีคลินิก’ (Polyclinic) ที่นี่ชาวบ้านสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และรับการรักษาได้ฟรี
จนขณะนี้ชาวคิวบา มีอายุขัยเฉลี่ยสูงถึง 79 ปี ใกล้เคียงกับชาวอเมริกัน และมากกว่าชาวไทยที่มีอายุขัยเฉลี่ย 77 ปีเนื่องจาก รัฐบาลทุ่มเทการลงทุนในการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแพทย์ และพยาบาลเพื่อให้รองรับกับนโยบาย ที่ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขคิวบาดีขึ้นเรื่อย ๆ
อ้างอิง
https://www.wired.com/2016/03/students-ditching-america-medical-school-cuba/
https://www.bmj.com/content/346/bmj.f1777/rr