ทำไมร้านกาแฟถึงกลายเป็นที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์

A A
Oct 30, 2021
Oct 30, 2021
A A

     ไหนใครชอบไปนั่งจิบกาแฟ แบกโน้ตบุ้คไปนั่งทำงานเคล้าเสียงเพลง ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ที่ร้านกาแฟบ้าง ไม่แปลกถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกว่าร้านกาแฟมีบรรยากาศพิเศษบางอย่างที่ชวนให้ความคิด

     มันไหลลื่นดีกว่านั่งทำงานที่บ้านคนเดียว เชื่อไหมว่าไอเดียดี ๆ ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่นวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักจะมีร้านกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้น ทำไมไอเดียดี ๆ ของเราถึงเกิดขึ้นที่นี่ สภาพแวดล้อมแบบไหนกันที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ของเรา คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมแบบนี้ให้เกิดขึ้นกับที่อื่นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ที่ทำงาน หรือที่ไหนๆ บนโลกก็ตาม

     ไม่ใช่แค่ปัจจุบันเท่านั้นที่ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตของคนทั่วไปในการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน ย้อนกลับไป 500 ปีก่อนที่อังกฤษ ร้านกาแฟก็เป็นสถานที่ที่ความคิดต่างๆ เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น นั่นก็เป็นเพราะโครงสร้างและองค์ประกอบของร้านกาแฟนี่เองที่ไม่เพียงเป็นสถานที่ที่ซื้อขายเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีภูมิหลังต่างกันได้มารวมตัวกัน คนที่เชี่ยวชาญกันคนละเรื่องได้มานั่งพูดคุย แชร์ไอเดียกัน พูดง่ายๆ คือเป็นพื้นที่ที่ความคิดจะมามีเซ็กส์กันได้ (Matt Ridley ได้พูดไว้ใน When ideas have sex ที่ TEDGlobal 2010) ร้านกาแฟจึงเป็นเหมือนเตียงสมรสของคนหลากหลายแบกกราวนด์นั่นเอง 

     อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือวรรณกรรมเยาวชนระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่าง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ก็ถูกเขียนขึ้นโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง ที่ร้านกาแฟเช่นเดียวกัน นอกจาก เจ.เค.แล้วก็ยังมีนักเขียนนิยายแนวอาชญากรรมชื่อดังอีกหลายคนอย่าง Ian Rankin และ Alexander McCall Smith ที่ก็ใช้ร้านกาแฟเป็นที่สร้างสรรค์ผลงานเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดไหนเกิดขึ้นแบบ “ปิ๊งแว้บ” 

     ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าที่เราเข้าใจว่าความคิดที่เกิดขึ้นมัน “ปิ๊งแว้บ” ขึ้นมา เหมือนจู่ๆ ก็ผุดขึ้นทันทีทันใด แท้จริงแล้วไม่มีความคิดไหนเกิดขึ้นมาโดดๆ แบบนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ จากเรื่องราวของการสร้างตู้อบเด็กทารกแรกเกิดในแอฟริกา เรารู้กันว่าอัตราการตายของเด็กในประเทศแถบนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ทิโมธี เพรสเตโร เจ้าของบริษัท Design that matters และทีมของเขาคิดอยากจะช่วยคนในแถบนี้ แต่ติดปัญหาตรงที่ถ้าส่งตู้อบเด็กแรกเกิดที่มีมูลค่า 40,000 ดอลลาร์ไปให้ ตู้นี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้แค่ 1-2 ปีแรกเท่านั้น แต่พอใช้ไปนานเข้า ชิ้นส่วนต่างๆ ก็จะทยอยพัง สุดท้ายก็อยู่ในสภาพที่พังจนซ่อมไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่มีอะไหล่สำรองและผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่นั้น 

     ทิโมธีและทีมจึงเริ่มมองหาว่า ประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรอะไรที่เหลือเฟือบ้าง เขาพบว่าผู้คนเชี่ยวชาญเรื่องการซ่อมรถ เลยได้ไอเดียว่าจะสร้างเครื่องอบทารกแรกเกิดจากเศษชิ้นส่วนรถยนต์ล้วนๆ สุดท้ายแล้วเจ้าเครื่องนี้ก็เกิดขึ้นจริงๆ ใช้งานได้จริงเหมือนเครื่องราคา 40,000 ดอลลาร์ทุกอย่าง แน่นอนว่าคนในแถบแอฟริกาจะผลิตออกมากี่เครื่องก็ได้ พวกเขามีทั้งชิ้นส่วนและความเชี่ยวชาญพร้อมมือ และนี่แหละคือตัวอย่างว่าไอเดียเกิดขึ้นได้อย่างไร เราชอบคิดว่าความคิดที่ก้าวกระโดดของเรานั้นเหมือนเครื่องอบเด็กแรกเกิดอันใหม่ ราคา 40,000 ดอลลาร์ แต่จริงๆ แล้วความคิดเกิดจากอะไรก็ตามที่อยู่แถวนั้น เราเอาความคิดมาจากคนอื่น แล้วเราก็ถักร้อยมันในรูปแบบใหม่ 

 

ร้านกาแฟ

 

การทดลองหาจุดก่อกำเนิดของความคิด

     นอกจากร้านกาแฟที่ผู้คนหลากหลายได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนไอเดียกันแล้ว สถานที่ไหนอีกบ้างที่เป็นจุดก่อกำเนิดความคิดต่างๆ ของผู้คน สุดยอดนักวิจัย เควิน ดันบาร์ เคยหาคำตอบเรื่องนี้ด้วยการไปที่ห้องทดลองวิทยาศาสตร์รอบโลก แล้วถ่ายวิดีโอทุกคนขณะที่กำลังทำงาน ยิบย่อยแค่ไหนก็ถ่าย นั่งอยู่หน้ากล้องจุลทรรศน์ คุยกับเพื่อนร่วมงานหน้าตู้กดน้ำ เขาบันทึกการสนทนาทั้งหมดและดูว่าความคิดที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นตอนไหน สุดท้ายแล้วเขาค้นพบว่าสภาพแวดล้อมอย่างโต๊ะประชุมนี่แหละที่ความคิดได้ก่อกำเนิดขึ้น โต๊ะประชุมคือที่ที่ทุกคนมารวมตัวกัน แลกเปลี่ยนข้อค้นพบล่าสุด นี่จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

หาพื้นที่ให้ความตงิดใจของแต่ละคนได้มาเจอกัน

     หลายครั้งเราเล่าเรื่องราวการเกิดขึ้นของนวัตกรรมในกรอบที่สั้นกว่าความเป็นจริง เราอยากเล่าชั่วขณะที่ “ปิ๊งแว้บ” หรือ “คิดออกแล้ว” ให้ทุกคนได้รู้ แต่ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์จริงๆ ความคิดดีๆ จะมีช่วงเวลาฟักตัวที่นานมาก สตีเวน จอห์นสัน นักเขียน Bestseller ด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เรียกช่วงเวลาแบบนี้ว่าการตงิดใจอย่างช้าๆ (The Slow Hunch) เขาบอกว่า บางครั้งความคิดดีๆ ก็ลอยอ้อยอิ่งนานหลายสิบปีอยู่ในจิตสำนึกของผู้คน แต่ตอนนั้นยังไม่มีเครื่องมือที่จะค้นพบมัน หรือเรายังแก้ไม่ตก

     ชาร์ลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติเคยเล่าถึงตอนที่เขาค้นพบทฤษฎีนี้ว่าเป็นช่วงเวลา “ใช่เลย” แบบคลาสสิก แต่ภายหลังนักวิจัยที่ชื่อ โฮวาร์ด กรูเบอร์ ได้ย้อนไปดูสมุดบันทึกของดาร์วินในช่วงนั้น เขาพบว่าดาร์วินจดทุกอย่างละเอียดยิบ รวมถึงความตงิดใจเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย แท้จริงแล้วทฤษฎีการเลือกโดยธรรมชาติเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายเดือนก่อนวันที่ดาร์วินบอกว่ามันวาบเข้ามาในหัวเสียอีก เพียงแต่ตอนนั้นเขายังตกผลึกได้ไม่เต็มที่เท่านั้นเอง

     แล้วเราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมให้ความคิดดีๆ เหล่านี้ฟักตัวนานๆ ได้อย่างไร เราต้องให้ความตงิดใจของเราได้มีปฏิสัมพันธ์กับความตงิดใจของคนอื่น เรามีความคิดครึ่งหนึ่ง คนอื่นมีความคิดอีกครึ่งหนึ่ง ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ความคิดจะประกอบเป็นสิ่งใหม่ที่ใหญ่และดีกว่าเดิม เหมือนกับการประดิษฐ์เม้าส์คอมพิวเตอร์ ไม่มีใครบนโลกนี้รู้ว่าต้องทำอย่างไรแม้แต่เจ้าของบริษัทเอง พวกเขารู้แค่ว่าจะบริหารธุรกิจอย่างไร พนักงานที่ประกอบชิ้นส่วนทุกอย่างเข้าด้วยกันก็ยังไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่าจะขุดเจาะบ่อน้ำมันเพื่อเอามาทำพลาสติกได้อย่างไร เราล้วนแต่รู้อย่างละนิดอย่างละหน่อย แล้วเอาความรู้เหล่านี้มาประกอบเข้าด้วยกัน สิ่งที่มนุษย์เราทำคือการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ

     เมื่อรู้แล้วว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนที่อยู่เบื้องหลังความคิดดีๆ ไอเดียเจ๋งๆ เหล่านี้ คงน่าเสียดายไม่น้อยถ้าเราปล่อยให้ความคิดหายไปโดยไม่เปิดโอกาสให้พวกมันได้มาเจอกัน ห้องเรียน ที่ทำงาน หรือที่ไหนๆ บนโลกก็กลายเป็นเตียงสมรส  เป็นร้านกาแฟให้ความคิดของเราและความคิดของคนอื่นได้มาสังสรรค์กันได้ไม่ยากอีกต่อไป ถ้าเรารู้หลักการง่ายๆ แค่นี้

อ้างอิง:

 

Share

Authors

Authors

RELATED POSTS